ประสานเสียงอัด มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใช้ผิดเจตนารมณ์ กระทบเสรีภาพออนไลน์

นักกฎหมายชี้ การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ฟ้องคดีหมิ่นประมาทนั้นผิดเจตนารมณ์ สร้างผลกระทบต่อจำเลย เสนอตัดเรื่องนี้ออกจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เลย SEAPA ระบุ การผลักภาระให้จำเลยพิสูจน์ว่าข้อมูลส่วนไหนเท็จหรือจริง ทำ
งานเสวนา "ชีวิตออนไลน์ ไปทางไหนดี?" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ที่ร้าน NE8T ราชเทวี จัดขึ้นในโอกาสที่ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงมาร่วมสนทนาเกี่ยวกับปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขกฎหมายตามที่ควรจะเป็น
อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่ควบคุมเนื้อหาในโลกออนไลน์กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท มาตรานี้นำมาสู่การฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักเคลื่อนไหว หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เท่าที่ทราบอย่างน้อย 43 คดี
อานนท์กล่าวว่า การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฟ้องคดีหมิ่นประมาท ทำให้คดีมีอัตราโทษสูงขึ้น เพราะการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาปกติมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และทำให้ผู้ต้องหาที่จะประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์สูงขึ้น เป็นภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหา การฟ้องคดีหลายครั้งก็เป็นการฟ้องเพื่อขู่ หรือเพื่อปิดปากไม่ให้นักต่อสู้ออกมาเคลื่อนไหว
คณาธิป ทองวีระวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นต์จอห์น กล่าวว่า เล่าว่า Cyber Crime Convention ของยุโรป จะกำหนดความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาในโลกออนไลน์ไว้แค่เรื่องภาพลามกเด็กเท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทออนไลน์ด้วย แต่ในไทยเราต้องมาคุยกันเรื่องของมาตรา 14 เรื่องหมิ่นประมาทออนไลน์ที่ส่งผลกระทบเยอะมาก 
คณาธิป เล่าว่า เจตนารมณ์ดั้งเดิมของมาตรา 14(1) มุ่งเอาผิดกับการหลอกลวงออนไลน์ หรือ Computer fraud อย่างเช่น การสร้างหน้าเว็บไซต์ปลอม หรือ การขายของหลอกลวง แต่มาตรา 14(1) กลับถูกเอาไปใช้ฟ้องกับการหมิ่นประมาทออนไลน์ เคยเห็นนักศึกษาไปฟ้องร้องกันตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นชีวิตประจำวัน แม่ค้าขายของทะเลาะกันก็ฟ้องกันมาตรา 14(1) ซึ่งสถานการณ์แบบนี้น่าจะมีอะไรผิดปกติ การใช้กฎหมายแบบนี้ทำให้การคุ้มครองสิทธิทางชื่อเสียงผิดเพี้ยนไปจากระบบกฎหมายเดิม เพราะปกติมีกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งคุ้มครองอยู่แล้วซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ แต่เมื่อเอาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฟ้องเข้าไปด้วย เรื่องชื่อเสียงกลายเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้
คณาธิปกล่าวว่า ในเชิงวิชาการ มาตรา 14 ไม่ควรจะมาเขียนไว้ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ควรจะแยกเรื่องหมิ่นประมาทออกไป และคงไว้เฉพาะเรื่องการหลอกลวงออนไลน์เท่านั้น เรามักจะคิดกันว่า อะไรก็ตามที่ทำกับคอมพิวเตอร์ จะต้องเขียนไว้ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย ให้ทุกอย่างฟ้องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้หมด ทัศนคติแบบนี้น่ากลัวมาก จนตอนนี้กฎหมายอื่นแทบจะไม่ต้องใช้แล้ว
ศุภสรณ์ โหรชัยยะ ฝ่ายกฎหมายของบริษัท True มีความเห็นต่อปัญหาของมาตรา 14 ทำนองเดียวกันว่า 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โด่งดังขึ้นมาในวันนี้ เพราะความผิดตามมาตรา 14 ทั้งนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้ยังมีฐานความผิดอื่นๆ อีกมาก เช่น ความผิดฐานเจาะระบบ (แฮกเกอร์) ความผิดฐานดักรับข้อมูล ความผิดฐานโจมตีระบบ เหมือนที่เราเคยได้ยินกันในชื่อ F5 แต่ไม่เคยมีการไปตามจับคนผิด 
ศุภสรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้อะไรที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือจะถูกยัดเข้าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หมด สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ เรื่องการหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ทำให้เกิดความทับซ้อนของกฎหมาย ทั้งที่หากศึกษาเจตนารมณ์ของการร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่เมื่อ 19 ปีที่แล้ว จะเน้นการกำหนดความผิดเกี่ยวกับภาพตัดต่อซึ่งยังไม่ได้กำหนดในกฎหมายอื่นเท่านั้น 
เจตนารมณ์ของการเขียนมาตรา 14(1) ก็เพื่อเอาผิดกับการ Phishing, Scamming คือ การปลอมแปลงเว็บไซต์ เช่น ปลอมเว็บไซต์ให้หน้าตาเหมือนเว็บไซต์ของธนาคาร แต่คนที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ไม่ใช่ธนาคารจริงๆ แล้วหลอกเอาเงินหรือข้อมูลของลูกค้า แต่ไม่ค่อยมีการดำเนินคดีกับการ Phishing จริงๆ เพราะธนาคารก็กลัวว่าจะเสียความน่าเชื่อถือจึงไม่อยากออกมาบอกว่าตัวเองถูกปลอมเว็บไซต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำเว็บไซต์ปลอมเกิดขึ้นทุกวัน
ศุภสรณ์ ย้ำว่า ตอนร่างกฎหมายไม่เคยมีใครพูดเรื่องจะเอาการหมิ่นประมาทมาใส่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง คนร่างกฎหมายไม่ได้ใช้เอง คนใช้กฎหมายไม่ได้ร่าง คนที่กำลังใช้กฎหมายในวันนี้ก็ไม่เคยเข้าใจว่าคนที่ร่างนั้นคิดอะไร เพราะมันก็ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว
อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA กล่าวว่า ตั้งแต่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใช้มา 9 ปี มาตรา 14 ถูกใช้เยอะที่สุดและเพิ่มปัญหาการลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก แม้ว่าคนร่างกฎหมายเมื่อสิบปีก่อนจะบอกว่า ไม่ได้ตั้งใช้ให้นำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้กับการหมิ่นประมาทก็ตาม
อรพิณ เล่าว่า ในคดีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ศาลจังหวัดภูเก็ตเคยพิพากษาว่า การอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือไม่ถือว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงไม่ผิดตามมาตรา 14(1) แต่ความเป็นจริงทุกคนไม่ได้มีต้นทุนความน่าเชื่อถือระดับเดียวกับรอยเตอร์ไปทั้งหมด คำพิพากษาฉบับนี้จึงยังไม่เป็นประโยชน์กับคดีอื่นๆ นักข่าวทั่วๆ ไปที่มองเห็นประเด็นเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นก็จะทำงานยาก เพราะคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฟ้องกันง่ายมาก และเมื่อถูกฟ้องจำเลยก็จะต้องเสียเงินเสียเวลาไปกับการต่อสู้คดี กลายเป็นภาระของจำเลยที่ต้องพิสูจน์ความเท็จหรือความจริงของเรื่องที่นำเสนอ
อรพิณ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสนช. เท่าที่ได้รับข้อมูลมาเมื่อเดือนกันยายน 2559 มาตรา 14 อาจจะไม่ได้ถูกแก้ไขให้ปัญหาหมดไป อาจจะยังนำไปใช้กับการหมิ่นประมาทได้อยู่ แต่ยังมีข้อดี คือ ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลเฉพาะตัวไมได้สร้างความเสียหายต่อสาธารณะจะให้มีโทษจำคุกลดลงจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้