เปิดดูวิจัย “การรังแกกันในกลุ่มนักเรียนที่เป็น LGBT ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของไทย”

“อีตุ๊ด มึงไปตายซะ…เกิดมาเสียชาติเกิด” 
“บางทีเค้า(ครู) จะเสียดสีเรา เสียดสีว่าเป็นได้ซักพัก เดี๋ยวก็หายเป็นเอง”
 
 
รูปที่นักเรียน LGBT วาดเพื่ออธิบายการถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนโดยการพูดเสียดสี
 
หนึ่งในบรรดาคำพูดที่ผู้เขียนได้ยินและรับฟังจากปากของนักเรียนที่ถูกเพื่อนและครูที่โรงเรียนเย้ยหยันถากถางเพียงเพราะพวกเขาเป็นเพศชายแต่ทำตัวตุ้งติ้ง ออกสาวคล้ายผู้หญิง หรือเป็นเพศหญิงแต่มีท่าทางการเดินและน้ำเสียงพูดจาออกห้าว รวมทั้งซอยผมสั้นให้คล้ายกับผู้ชาย ดูผิดแปลกไปจากนักเรียนกลุ่มใหญ่ กลายเป็นจุดสนใจของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน 
นักเรียนหญิงนิยามตนเองว่าเป็นทอม จำนวนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลายครั้งต้องเผชิญหน้ากับนักเรียนชายทีมักแซวพวกเธอว่า “เป็นทอม ยังไงก็เป็นได้แป๊บเดียว” หรือ เวลาที่พวกเธอเดินควงแฟน นักเรียนหญิงที่เรียกตนเองว่า’ดี้’ผ่านหน้ากลุ่มนักเรียนชาย ก็มักจะได้ยินคำพูดประชดประชัน “ของแท้ยังไงก็ดีกว่าของเทียม” หรือนักเรียนชายที่บอกว่าเขามีรสนิยมชอบผู้ชายด้วยกัน ก็มักจะถูกเพื่อนนักเรียนชายด้วยกัน แกล้งด้วยการแสดงท่าทางขึ้นคร่อมร่างกายคล้ายการข่มขืน ถึงแม้พวกเขาจะร้องเรียกตะโกนให้นักเรียนคนอื่น ๆ ช่วยแต่ทุกคนก็เพิกเฉย เพราะมองว่านั่นเป็นการหยอกหรือแกล้งกันระหว่างเพื่อนเท่านั้นเอง
จากเรื่องราวข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่นักเรียน LGBT ต้องเผชิญเมื่ออยู่ในโรงเรียนที่ซึ่งควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัย ปราศจากการกลั่นแกล้ง และความรุนแรง แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น นักเรียนที่เป็น LGBT กลับต้องเผชิญการกลั่นแกล้งหรือรังแกที่มีสาเหตุมาจาก รสนิยมทางเพศ เพศภาวะ และเพศวิถีของพวกเขา
จากรายงานวิจัย “การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการการป้องกันใน 5 จังหวัดประเทศ ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า จากการสำรวจพบนักเรียน 2,070 คน มีนักเรียนที่ระบุว่าตนเองเป็น LGBT ร้อยละ 11.9 หมายความว่า ถ้ามีนักเรียน 100 คน เราจะพบว่ามีนักเรียนที่เป็น LBGT อยู่ถึง 11 คน ซึ่งขัดกับการรับรู้ของครูและผู้บริหารของโรงเรียนบางแห่งที่ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีนักเรียนที่เป็น LGBT หรือถ้ามีก็เป็นส่วนน้อย สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารและครูไม่ได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเมื่อมองไม่เห็น ก็ไม่ได้ตระหนักว่านักเรียนกลุ่มนี้จะถูกรังแกมากน้อยเพียงใด 
นักเรียนที่เป็น LGBT กว่าครึ่งเคยถูกรังแกเพราะว่าเป็น LGBT 
มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55.7)ของนักเรียนที่เป็น LBGT เคยถูกรังแกในโรงเรียนจากนักเรียนด้วยกัน เพราะว่าเป็น LGBT เช่น การต่อย เตะ ตี ขังไว้ในห้องน้ำ การด่าทอ ล้อเลียน ว่าเป็น “อีตุ๊ด” หรือ “อีทอม” การแบนไม่ให้เข้ากลุ่ม เปิดกระโปรง ดึงกางเกง เป็นต้น 
จากการสัมภาษณ์ยังพบว่านักเรียน LGBT ถูกพูดกระทบเสียดสีและกลั่นแกล้งจากครูในโรงเรียน เช่น หักคะแนนโดยไม่ทราบสาเหตุเพราะหมั่นไส้นักเรียนที่เป็นทอม ยกเป็นกรณีตัวอย่างของ “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” ในชั่วโมงเรียนเพศศึกษา การบังคับให้ใส่วิกเพราะนักเรียนซอยผมผิดระเบียบ ของโรงเรียนที่ให้นักเรียนเพศหญิงต้องไว้ผมยาว และนักเรียนชายรักชายถูกครูเรียกมาประจานหน้าเสาธง เพราะการทาครีมกันแดดมาโรงเรียนทำให้ครูเข้าใจว่าเป็นการแต่งหน้า และถูกมองว่าผิดกฎระเบียบของโรงเรียนที่ไม่ให้แต่งหน้ามาโรงเรียน ไม่ใช่แค่นักเรียนที่เป็น LGBT เท่านั้นที่โดนรังแก เพราะว่าเป็น LGBT เกือบ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 25 ของนักเรียนที่ไม่ได้เป็น LGBT แต่ถูกมองว่าเป็น LGBT ก็ถูกรังแกด้วยเช่นกัน เพราะนักเรียนเหล่านั้นมีลักษณะหรือท่าทางที่ตุ้งติ้ง อ่อนโยน ออกสาว หรือออกห้าว มีนิสัยคล้ายผู้ชาย 
 
ภาพ infographic ของ UNESCO 
 
ผลกระทบที่เกิดจากการรังแกที่หลายคนไม่เคยคาดคิด
นักเรียนชายรักชายคนหนึ่งไม่ยอมเข้าห้องน้ำของโรงเรียนเพราะกลัวว่าจะถูกเพื่อนนักเรียนชายรังแก เพราะเขาไม่ได้ยืนฉี่ที่โถฉี่เหมือนเพื่อนนักเรียนชายคนอื่น เขาเลือกที่จะเข้าห้องน้ำที่สามารถปิดประตูได้ แต่ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ เพื่อนของเขามักจะแกล้งเคาะประตู แอบดู หรือแกล้งเอาน้ำสาดใส่เขา จึงทำให้เขารู้สึกกลัว และรู้สึกถูกคุกคาม จึงตัดสินใจไม่เข้าห้องน้ำของโรงเรียนอีกเลย จะปวดฉี่แค่ไหนเขาก็จะอั้นไว้ไปเข้าห้องน้ำนอกโรงเรียน หรือกลับไปเข้าห้องน้ำที่บ้านแทน หลายครั้งเขาก็ไม่อยากมาโรงเรียน เพราะไม่อยากถูกเพื่อนรังแก 
นอกจากกรณีนี้แล้ว รายงานวิจัยยังพบอีกว่า นักเรียนที่ถูกรังแกเพราะว่าเป็น หรือถูกมองว่าเป็น LGBT นั้นไม่อยากมาโรงเรียน มีแนวโน้มที่ผลการเรียนลดลง มีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่ถูกรังแกด้วยเหตุผลอื่น ๆ 
ด้านการป้องกันและแก้ไขทางโรงเรียนตัวอย่างในงานวิจัย เองก็ไม่มีมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการรังแกในกลุ่มนักเรียน LGBT หรือถูกมองว่าเป็น LGBT ที่มีอยู่เป็นเพียงข้อบังคับที่ใช้กับการรังแกกันทั่วไป เพราะทางครูและโรงเรียนมองว่าไม่เป็นปัญหาที่จะต้องมีมาตรการเฉพาะ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นบางโรงเรียนก็จัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า เช่น แบ่งแยกห้องนอนระหว่างนักเรียนที่ออกสาวกับนักเรียนชายในค่าย ร.ด. เพื่อลดการรังแกในกลุ่มนักเรียนชายรักชายหรือออกสาว
เพศ’อาวุธหนึ่งที่ถูกหยิบใช้เพื่อกลั่นแกล้ง
จากที่รายงานวิจัยเผยให้เห็นอีกด้านของ นักเรียนที่ถูกมองว่าเป็น LGBT ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ถูกแกล้งด้วยเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ สังคมไทยหล่อหลอมคนให้เชื่อว่าการมีวิถีชีวิตตามแบบเพศกำเนิดคือสิ่งที่ควรกระทำ ถ้ามีวิถีชีวิตที่ผิดแปลกไปจากเพศกำเนิดก็จะถูกมองว่าวิปริตผิดปกติ ผู้ชายก็ต้องคู่กับผู้หญิง ไม่ใช่ไปรักเพศเดียวกัน ยิ่งเฉพาะการขัดเกลาผ่านสถาบันการศึกษา เช่น วิชาเพศศึกษาในโรงเรียน หนังสือหลายเล่มยังคงระบุว่า การรักเพศเดียวกันนั้นเป็น “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” หรือ “ผิดปกติ” ต้องได้รับการแก้ไข และครูหลายคนยังมีทัศนคติต่อ กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ว่าด้อยค่ากว่านักเรียนชาย และหญิงทั่วไป  เพราถูกติดป้ายว่าเบี่ยงเบน ผิดปกติ และด้อยค่า จึงเป็นเสมือนแรงผลักให้นักเรียน LGBT กลายเป็นจุดประหลาด เป็นจุดสนใจของนักเรียนคนอื่น และมีโอกาสถูกแกล้งหรือรังแกได้มากกว่านักเรียนคนอื่น ๆ ที่ไม่ถูกติดป้ายเหล่านั้น 
สู่ความรุนแรงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
เมื่อไม่มีมาตรการเฉพาะเพื่อจัดการปัญหานี้ยังแสดงถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ที่สะท้อนว่านโยบายที่มีอยู่นั้นไม่สามารถป้องกันหรือสร้างบรรยากาศความปลอดภัยในสถานศึกษาให้กับนักเรียน LGBTได้ และการใช้ภาษาตีตรานักเรียน LGBT ว่าเป็น “คนเบี่ยงเบน” หรือ “ผิดปกติ” นั้นถือเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่สนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับการรังแกในกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการสร้างความด้อยค่าให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ จึงรังแกได้โดยไม่ผิดมากนัก หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบต่าง ๆ ของโรงเรียนบางอย่าง เช่น การบังคับให้นักเรียนแต่งกายและตัดผมโดยยึดเพศกำเนิดเป็นเกณฑ์ ก็เป็นการตอกย้ำและสร้างความผิดแปลกให้กับนักเรียนที่เป็น LGBT และนำไปสู่การรังแกนักเรียนกลุ่มนี้ เช่น นักเรียนที่ระบุตนเองว่าเป็นกระเทย และถูกบังคับให้ไว้ผมสั้นรองทรง ซึ่งขัดกับอัตลักษณ์ของตัวเขาเอง ซึ่งนักเรียนคนอื่นๆ มักมองว่าเป็นตัวตลก น่าแกล้ง จึงเลือกแกล้งนักเรียนกลุ่มนี้ หรือนักเรียนหญิงที่ระบุตนเองว่าเป็นทอม ซอยผมสั้นก็จะถูกเพ่งเล็งจากครูมากกว่านักเรียนหญิงทั่วไป เพราะฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียนและครูมักมองว่านักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาให้กับโรงเรียน
จะมีส่วนร่วมป้องกัน-แก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี ? 
 
การสร้างความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมต้องตระหนักถึง เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ทุกคนต่างก็มีคุณค่า มีศักดิ์และศรีความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคน เมื่อเรามองคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่กันอย่างการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ปรากฏการณ์กลั่นแกล้งรังแกเพราะความอคติเรื่องแตกต่างทางเพศก็จะค่อยๆ เจือจางลงไปได้ 
อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็ม ภาษาไทย
อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษ