ความเป็นส่วนตัวภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ “ต้องจับตา”

ดร.นคร เสรีรักษ์
วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Founder and Director, Privacy Thailand
“สิทธิรับรู้ข้อมูลราชการ” และ “สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคล” ของคนไทย ได้รับการรับรองอย่างจริงจังโดยการเกิดขึ้นของ “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ทั้งยังได้รับการยืนยันรับรองโดยรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550
โดยในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดไว้ในมาตรา 34 ซึ่งบัญญัติว่า
“สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน”
ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550  ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปรากฏอยู่ในหมวด 3  ส่วนที่ 3 ซึ่งว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล
โดยมาตรา 35 บัญญัติว่า
“สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
สำหรับในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปรากฏอยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งเขียนไว้ว่า
“มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว 
การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
ทั้งนี้ ในเนื้อหาสาระไม่มีอะไรแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มากนัก แต่จุดสำคัญคือ "วิธีการเขียนที่เปลี่ยนไป"
จากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเขียนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
แต่ในฉบับใหม่นี้เปลี่ยนมาเขียนว่า “การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ” 
อธิบายง่ายๆ เร็วๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญห้ามการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ หากจะทำได้ ก็ต้องออกกฎหมายมายกเว้นให้ทำได้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ต้องออกมาเพียงเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และกฎหมายที่ว่านี้ "น่าจะ" หมายถึง “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ที่มีพัฒนาการเชิงล้มลุกคลุกคลานตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในยุคปัจจุบัน กำลังเป็นเรื่องที่มีการเผชิญหน้ากันบนสองเวทีหลักอย่างหนักหน่วง เวทีแรกคือระหว่างรัฐที่อยากควบคุมราษฎรโดยการสอดส่องสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลกับประชาชนผู้ไม่ประสงค์จะให้รัฐก้าวก่ายแทรกแซง และอีกเวทีคือระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจที่อยากใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าผู้บริโภค กับประชาชนพลเมืองผู้เป็นเจ้าของข้อมูลตัวจริง 
ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การออกกฎหมายมากำกับให้การใช้ประโยชน์เป็นไปเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะดังกล่าว จะออกมาโดยใคร หน่วยงานไหน กลไกในการกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างไร องค์กรแก้ไขข้อพิพาทคือใคร องค์กรใดเป็นผู้เยียวยาในกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้น 
หัวใจก็คือ “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ที่ว่านี้ จะออกแบบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐและผู้ประกอบการ หรือจะออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างแท้จริง
เหตุผลสำคัญก็คือ โลกปัจจุบันมีพัฒนาการในเรื่องเทคโนโลยีข้อมูลที่รวดเร็วมาก การเข้าถึงและการประมวลผลข้อมูลสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ด้วยความสามารถของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งพัฒนาเข้าสู่ยุคสมัยที่การประมวลผลมีประสิทธิภาพไร้ขีดจำกัด ทำให้การสืบค้น การเข้าถึง การเก็บ-รวบรวม-ประมวลผล การรับ-ส่ง และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวาง เกิดขึ้นตลอดเวลา และเกิดขึ้นทั่วไปโดยไร้พรมแดน การละเมิดล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ในการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้หรือเปิดเผย ทำให้เจ้าของข้อมูลได้รับความเสียหายจึงเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็วเช่นเดียวกัน
เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว นับจากนี้ก็ต้องรอดูกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกตามมา ว่าจะตราขึ้นเพียง “เท่าที่จำเป็น” และ “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” โดยแท้ หรือไม่ เพียงใด …
แต่จากประสบการณ์การรวบรัดออกกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และบทเรียนซิงเกิลเกตเวย์ รวมทั้งพร้อมเพย์เมื่อเร็วๆนี้ คงต้องทำให้ฟากฝ่ายพลเมืองต้องระมัดระวังกันในระดับห้ามกะพริบตา โดยเฉพาะหากฝ่ายผู้ประกอบการบางส่วนจับมือฮั้วกับภาครัฐได้ 
วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ซึ่งในเบื้องต้น อาจพอยืนยันให้เห็นได้ว่า ไม่ว่าคนร่างจะมาจากฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายเผด็จการ “สิทธิในความเป็นส่วนตัว” และ “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ยังมีความจำเป็นในระดับที่ต้องรับรองไว้ใน “ธรรมนูญ” แห่ง “รัฐ” และยังคงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเสมอ