#ส่องประชามติ: ดูข้อความเท็จในเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญของภาครัฐ

หลังจากคณะกรรมธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเสร็จแล้ว ทาง กรธ. และ กกต. ได้จัดทำเอกสารสรุปสาระสำคัญออกมาหลายเล่ม เช่น คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่ม 1 และ เล่ม 2 จุลสารสรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญสำหรับส่งไปตามบ้านเรือนของผู้มีสิทธิลงคะแนน แผ่นพับสำหรับแจกจ่ายทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เนื้อหาสาระสำคัญต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนไปลงประชามติ 
ไอลอว์จึงลองเปิดเอกสารต่างๆ ขึ้นเพื่อนำมาวิเคราะห์เนื้อหาสาระของเอกสารแต่ละฉบับว่าเป็นอย่างไร โดยเปรียบเทียบเนื้อหาในเอกสารต่างๆ ที่ภาครัฐผลิตขึ้นกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง เพื่อศึกษาว่ามีข้อความใดเป็นข้อความเท็จ ข้อความที่ถูกตีความเพิ่ม การใส่ความคิดเห็น และมีเนื้อหาใดอันเป็นสาระสำคัญและไม่ได้กล่าวถึงไว้ในเอกสารต่างๆ ของรัฐบ้าง 
หลังจากวิเคราะห์ดูเอกสารต่างๆ แล้วก็จะทำให้พอเห็นได้ว่า การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยภาครัฐมุ่งนำเสนอไปในทิศทางใด
จุลสารสรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ หรือ จุลสารโมษณาชวนเชื่อ 
คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดพิมพ์จุลสาร การออกเสียงประชามติ สรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเพื่อแจกจ่ายไปตามครัวเรือนทั้งหมด 17 ล้านเล่ม นำไปใช้ในกิจกรรมการรงค์ และประชาสัมพันธ์ตามที่ต่างๆ อีก 3 ล้านเล่ม รวมเป็น 20 ล้านเล่ม โดยเนื้อหาในเอกสารเป็นการสรุปย่อประเด็นสำคัญต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 
เมื่อตรวจดูประเด็นที่เขียนไว้ในเอกสารดังกล่าวแล้วพบว่า เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่การสรุปย่อสาระสำคัญต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเอกสารนี้มีการตีความเพิ่มจากเนื้อหาที่เขียนอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ บางข้อความก็เป็นข้อความเท็จที่ไม่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเลย แต่ผู้จัดทำเขียนขึ้นมาเอง และบางเนื้อหาที่มีความสำคัญและจำเป็นที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ก็ไม่ได้มีเขียนไว้ในเอกสารฉบับนี้ 
ไอลอว์วิเคราะห์เอกสารดังกล่าว แล้วพบ 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น และยังพบการเขียนคำขวัญไว้ทุกหน้าคล้ายคำโฆษณาชวนชวนเชื่อ รวมทั้งการอธิบายคำถามพ่วงนั้นก็ไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า วัตถุประสงค์หลักของคำถามพ่วงนั้นหมายความว่าอย่างไร 
ตัวอย่างข้อความเท็จที่ปรากฎอยู่ในเอกสาร เช่น 
"เด็กเล็กได้รับการดูแล และพัฒนาอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานก่อนเข้าเรียนอนุบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 ปี และรวมเวลาที่ได้รับการดูแลโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 14 ปี" ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไม่มีข้อความใดปรากฎถึงการดูแลเด็กเล็กเป็นเวลา 2 ปี ในร่างรัฐธรรมนูญ ระบุไว้เพียง "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา" 
แต่ในร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ ไม่ปรากฎข้อความใดๆ ว่าต้องได้รับการดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 2 ปี ดังนั้นการเขียนต่อว่ารวมแล้วจะได้รับการดูแล 14 ปี จึงเป็นข้อความเท็จด้วย เพราะไม่มีเขียนไว้ในส่วนใดของร่างรัฐธรรมนูญ
"วางขั้นตอนการปฏิรูปประเทศที่มีปัญหาหมักหมมมานานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา กระบวนการยุติธรรมฯ ให้เสร็จภายใน 5 ปี" ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ขียนว่าต้องปฏิรูปให้เสร็จภายใน 5 ปี แต่เขียนว่า ให้กำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลา 5 ปี หมายความว่า ตามแผนปฏิรูปต้องเห็นผลบางอย่างภายใน 5 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปฏิรูปเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี 
ตัวอย่างข้อความที่ตีความเพิ่มในเอกสาร
"ประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตั้งแต่ในท้องแม่ไปจนแก่เฒ่า" คำว่าตั้งแต่ท้องแม่ไปจนแก่เฒ่า นั้นไม่ใช่ลักษณะการสรุปสาระสำคัญ แต่เป็นการตีความเพิ่มเติมของผู้สรุปเองว่าเนื้อหาต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการคุ้มครองชีวิตประชาชนทั้งแต่ท้องแม่ไปจนแก่เฒ่า
ทั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดว่า สิทธิของมารดาที่ตั้งครรภ์ย่อมได้รับการคุ้มครองเท่านั้น ซึ่งไม่ได้กำหนดให้คุ้มครองสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ด้วย ดังนั้น การเขียนว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตั้งแต่ในท้องแม่ จึงเป็นการตีความเพิ่มเติมไปเองของผู้สรุป
"วางระบบการเมืองป้องกันคนโกงไม่ให้เข้ามาทำงานการเมืองอย่างเข้มข้นเด็ดขาด ตั้งแต่ไม่ให้สมัครผู้แทน และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็วางกลไกการตรวจสอบโดย รัฐสภา องค์กรอิสระ และภาคประชาชนอย่างเข้มข้น พรรคการเมืองจึงต้องคัดเลือกคนใจซื่อมือสะอาดเข้ามา เมื่อคนดีเข้ามาทำงานการเมือง การบริหารบ้านเมืองก็จะโปร่งใสมีคุณภาพ"
ข้อความนี้เป็นการตีความขึ้นของผู้สรุปสาระสำคัญว่า ผลของร่างรัฐธรรมนูญนี้จะได้นักการเมืองที่ใจซื่อมือสะอาด หรือได้คนดีมาทำงานทางด้านการเมือง แล้วนั่นจะทำให้การบริหารบ้านเมืองโปร่งใสมีคุณภาพ ซึ่งผลเหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ยังไม่แน่ชัด เพียงแต่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกลไกต่างๆ เพื่อหวังให้เกิดผลเช่นนี้ขึ้นเท่านั้น
ส่วนสาระสำคัญที่ควรจะสรุปไว้ในเอกสารฉบับนี้หลายประเด็นกลับไม่มีสรุปไว้ เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกถูกแต่งตั้งโดย ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อน คสช. คณะกรรมมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ร่างกฎหมายลูกประกอบร่างรัฐธรรมนูญเองทั้ง 10 ฉบับ การเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งกรรมการสรรหาองค์กรอิสระทุกองค์กรคือกรรมการชุดเดียว เป็นต้น
ในหน้าที่มีการอธิบายคำถามพ่วงนั้น ให้คำอธิบายที่ไม่ชัดเจน เป็นเพียงการเรียงประโยคใหม่โดยใช้คำจากประโยคเดิมมาเขียนสลับที่กัน ไม่ช่วยให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และไม่ได้สะท้อนถึงวัตถุประสงค์ของคำถามพ่วง นอกจากคำถามทั้งในส่วนที่เป็นคำถามจริง ๆ และส่วนคำอธิบายนั้นไม่ความแตกต่างกัน ประชาชนที่ได้รับอาจเกิดความสับสนมากขึ้นด้วยซ้ำ 
ข้อสังเกตของไอลอว์ คือ คำถามพ่วงนั้น จงใจที่จะเขียนให้ยาวและไม่ชัดเจน โดยปกปิดสาระสำคัญที่จะให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้คำว่า "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" แทน ซึ่งในจุลสารที่ควรทำหน้าที่อธิบายสาระสำคัญก็ยังเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้ด้วย
แผ่นพับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างประเทศให้พัฒนาสร้างคุณค่าให้คนไทย 
สำหรับแผ่นพับสรุปร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นแผ่นพับที่คณะกรรมาธิกการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในช่วงวันหยุดยาว ระหว่างวันที่ 16-20 กรกฎาคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น ซึ่งตีพิมพ์ 6.5 ล้านฉบับ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ขอความร่วมมือจาก ปัมน้ำมันปตท. บางจาก ห้างสรรพสินสินค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสาร หรือ บขส. ให้ช่วยแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้ามารับบริการ 
เมื่อนำแผ่นพับฉบับนี้มาวิเคราะห์ดูพบว่า แผ่นพับนี้ประกอบด้วยการสรุปประเด็นต่างๆ ที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งหมด 9 ข้อ ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งคล้ายคลึงกับเอกสารสรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ บางข้อความก็เป็นข้อความเดียวกัน บางข้อความก็เป็นข้อความที่คัดลอกมาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ แต่บางข้อความก็เป็นข้อความที่ผู้จัดทำคิดขึ้นมาเอง หรือเป็นการตีความเพิ่มของผู้จัดทำ และบางข้อความก็เป็นข้อความที่ผู้เขียนตีความผิดไปจากเนื้อหาที่เป็นอยู่จริงในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น 
"บัตรทองยังอยู่ และยังครอบคลุมเพิ่มขึ้นถึงเรื่องการป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ นอกจากนั้นทุกครอบครัวจะมีแพทย์ประจำครอบครัวไว้ให้บริการก่อนไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ" ซึ่งข้อความดังกล่าวมีทั้งการตีความเพิ่ม และเข้าใจผิดไปจากเนื้อหาของร่างฯ โดยเฉพาะเรื่องแพทย์ประจำครอบครัว ซึ่งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้เพียงว่าให้ในระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในสัดส่วนที่เหมาะสม หมายความว่า ในการแพทย์ปฐมภูมินั้นจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครบครัวคอยให้บริการ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะมีแพทย์ประจำครอบครัว 
"ประชาชนสามารถรวมตัวกัน เพื่อทำหน้าที่ในการต่อต้าน แจ้งเบาะแส และร้องเรียนหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการต่อต้านการทุจริตให้หมดไปจากแผ่นดินไทย" ข้อความนี้เป็นการตีความเพิ่มเติมของผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นลักษณะการอนุมานว่าหากประชาชนรวมตัวกันร้องเรียน หรือแจ้งเบาะเสาะเกี่ยวกับการทุจริตแล้วจะทำให้ประเทศไทยปราศจากการทุจริตโดยสิ้นเชิง ซึ่งในความเป็นจริงจะสามารถทำได้หรือไม่ก็คงยังไม่สามารถสรุปแบบฟันธงเช่นนี้
ในภาพรวมของแผ่นพับฉบับนี้เป็นลักษณะการโฆษณาสิ่งดีๆ และการตีความในด้านบวกเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเสียมากกว่าจะเป็นแผ่นพับสรุปสาระสำคัญต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ในหลายประเด็นที่สำคัญๆ เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา นายกคนนอกฯ หรือที่มาขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแผ่นพับฉบับนี้ และประเด็นสำคัญที่ขาดไปคือ ในแผ่นพับควรที่จะอธิบายเกี่ยวกับคำถามพ่วงเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่มีส่วนใดที่กล่าวถึงคำถามพ่วงเลย
เพจ คสช. ตอบข่าวลือเกี่ยวกับประเด็นบิดเบือนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 เฟซบุ๊กเพจ "กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย" ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารของคสช. ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ชื่อว่า "ตอบข่าวลือและประเด็นบิดเบือนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องสิทธิประชาชน การศึกษา การรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพคนชรา ฯลฯ" แต่เมื่อลองศึกษาข้อมูลชุดดังกล่าวแล้วพบว่า ข้อมูลนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือข้อมูลที่ทางเพจ คสช. กล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลบิดเบือน และส่วนที่สองเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่กลายเป็นว่าเพจดังกล่าวนำเสนอข้อมูลที่ขาดสาระสำคัญหลายประเด็นไป ตัวอย่างเช่น 
ที่มาของ สว. ในเพจระบุข้อความที่บิดเบือนว่า "สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และจะให้มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี" และข้อมูลที่ คสช. ชี้แจงว่าเป็นความจริง คือ "สว.มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และที่สำคัญต้องไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี สส.ต่างหากที่เป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี" 
แต่ข้อมูลที่คสช. ไม่ได้กล่าวถึงและปรากฎอยูในร่างรัฐธรรมนูญคือ ที่มาของ สว.ตามบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มี สว. โดยตำแหน่งของผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ 6 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส.ได้ 
ที่มาขององค์กรอิสระ ในเพจระบุข้อความที่บิดเบือนว่า "องค์กรอิสระมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ไม่ยึดโยงกับประชาชน" ข้อมูลของเพจ คสช. ชี้แจง คือ "องค์กรอิสระมาจากการสรรหา (มาตรา 217) ไม่ใช่การแต่งตั้ง เป็นหลักการเดิมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 40 และ 50 ที่ผ่านการประชามติก็ใช้กระบวนการเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ใช้กระบวนการเดียวกันที่ผ่านการประชามติมาแล้ว" 
แต่สิ่งที่ เพจ คสช. ไม่ได้กล่าวถึงคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้องค์กรอิสระมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา อันประกอบไปด้วย ตัวแทนจากฝ่ายศาล 2 คน ตัวแทนจากฝ่ายข้าราชการหรือองค์กรอิสระ 5 คน และตัวแทนฝ่ายนักการเมือง 1 คน แต่ทว่า ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งต้องผ่านลงมติเห็นชอบโดย ส.ว. เสียก่อน ซึ่ง 5 ปีแรก ส.ว. มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. ทั้งหมด (ดูมาตรา 217 ประกอบ)
การชี้แจงของเพจ คสช. นั้นมีลักษณะอ้างถึงข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญจริง แต่เป็นการบอกข้อเท็จจริงไม่หมด เลือกบอกเพียงบางส่วนที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเอง ข้อมูลที่สำคัญที่ประชาชนควรจะรู้ก่อนตัดสินใจลงประชามติก็เลือกที่จะไม่บอก
เมื่อพิจารณาถึงเอกสารทั้ง 3 ฉบับ คือ จุลสารสรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ แผ่นพับสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ และข้อชี้แจงจากเพจ คสช. ถึงข้อมูลที่อ้างว่าบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญนั้น แล้วพบว่า ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในเอกสารแต่ละชุด เป็นการบอกข้อมูลเนื้อหาที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนโดยเน้นบอกเฉพาะข้อดี และตอบโต้จุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเอกสารต่างๆ ไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมด บางส่วนมีการตีความเพิ่มเติมจากผู้จัดทำ บางส่วนเป็นสรุปที่มาจากความเข้าใจผิดในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำมาเขียนสรุปไว้ หรือ อาจจะเป็นเข้าใจถูกอยู่แล้วแต่จงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ที่ไม่ได้มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ และบางส่วนที่เป็นข้อมูลที่สำคัญที่ประชาชนควรจะรับรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนไปลงประชามติก็กลับไม่เขียนไว้ 
นอกจากเอกสารทั้งสามชุดที่ไอลอว์ได้ทำสรุปวิเคราะห์ไว้ ยังมีเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ภาพอินโฟกราฟฟิก และคลิปวีดีโออีกจำนวนมาก ที่ภาครัฐจัดทำขึ้น การจัดทำสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ควรจะต้องนำข้อถกเถียงของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง การนำเสนอเฉพาะข้อดีและตอบโต้ประเด็นที่เป็นจุดอ่อน ด้วยกลไกและงบประมาณของรัฐจึงส่งผลเสียต่อความชอบธรรมของกระบวนการประชามติทั้งหมด