ลองของใหม่! กกต.แจ้งความดำเนินคดีด้วยกฎหมายประชามติห้าวันหลังประกาศใช้
วันที่ 22 เมษายน 2559 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ถูกประกาศใช้ และมีการกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งไว้ในมาตรา 61 วรรค 2
หลังการประกาศใช้กฎหมายได้เพียงห้าวัน ในวันที่ 27 เมษายน 2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับกองทุนแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่นในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ หลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กด้วยข้อความที่เข้าข่าย หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ให้ประชาชนไม่ลงคะแนนหรือลงคะแนนทางใดทางหนึ่ง
พลเมืองโต้กลับถูกนำตัวไป สน.หลังจัดกิจกรรมตีเข่าที่ กกต.
หลังกลุ่มพลเมืองโต้กลับเผยแพร่วิดีโอคลิป ‘อย่างนี้ต้องตีเข่า’ ในวันที่ 14 เมษายน 2559 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีกระแสข่าวว่า กกต.จะดำเนินคดีผู้ที่ร่วมแสดงในมิวสิควิดีโอดังกล่าวด้วยมาตรา 61 วรรค 2 ในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจัดกิจกรรม ‘พลเมืองตีเข่า’ เต้นประกอบเพลง ‘อย่างนี้ต้องตีเข่า’ ที่สำนักงาน กกต. เพื่อประท้วงต่อกระแสข่าวการดำเนินคดี ในเวลาไล่เลี่ยกับที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม กลุ่ม “คนไทยหัวใจเกิน 100” ก็มารอประท้วงสิรวิชญ์หนึ่งในกลุ่มพลเมืองโต้กลับและมีการอ่านแถลงการณ์และมอบดอกไม้ให้กำลังใจ กกต. จนเกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาไม่ให้จัดกิจกรรมในอาคารศูนย์ราชการซึ่งเป็นที่ตั้งของ กกต. โดยอ้างว่าเป็นสถานที่ราชการ ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจัดกิจกรรมอยู่ด้านนอก ในวันนี้ พันธ์ศักดิ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกนำตัวไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่เพียงแต่ลงบันทึกประจำวันแล้วปล่อยตัวเขากลับ
เก็บเลเวล? นักกิจกรรม ‘ประชาธิปไตยใหม่’ ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.ประชามติฯ เพิ่ม
วันที่ 23 มิถุนายน 2559 รังสิมันต์ โรม จากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นักกิจกรรมนักศึกษา และสมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์รวม 13 คนร่วมกันแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารชี้แจงวิธีการขอใช้สิทธินอกเขตของ กกต.ที่เคหะบางพลี พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงเย็นและถูกขังที่ สน.บางเสาธงเป็นเวลาหนึ่งคืนหลังถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และข้อหาตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ (ดูรายละเอียดลำดับเหตุการณ์คดี ที่นี่)
หลังจากนั้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนนัดบริบูรณ์ แกนนำ นปช.อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมพวกรวม 18 คน เข้าพบหลังถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน จากกรณีที่พวกเขาตั้งศูนย์ปราบโกงที่อำเภอบ้านโป่ง
ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ ส.ภ.บ้านโป่ง ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่พร้อมเพื่อนนักกิจกรรมอีกสองคนเดินทางไปที่ ส.ภ.บ้านโป่งเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 18 คน ระหว่างที่ปกรณ์เดินมาที่รถของเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้นรถและพบว่ามีเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับประชามติอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวปกรณ์ เพื่อนของเขาอีกสองคน รวมทั้งผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ประชาไทอีกคนหนึ่งที่ติดรถปกรณ์ไปที่บ้านโป่งเพื่อทำข่าวไปสอบสวนและกักตัวไว้ ภายหลังจึงมีการตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ในช่วงค่ำวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวภานุวัฒน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีศูนย์ปราบโกงบ้านโป่งมาตั้งข้อหาในคดีเดียวกันเพิ่มอีกรายหนึ่งด้วย
ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 หลังผู้ต้องหาทั้งห้าถูกควบคุมที่ สน.บ้านโป่งเป็นเวลาหนึ่งคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขังต่อศาลจังหวัดราชบุรีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคัดค้านการขอประกันตัวไว้ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษสูงและผู้ต้องหาอาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดราชบุรีก็ให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 140,000 บาท พวกเขาได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันเดียวกัน
อีสานดุ จับคนใส่เสื้อโหวตโน รวบคนตะโกนโนโหวตและแจกใบปลิวโหวตโนเข้าคุก
วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ที่จังหวัดอุบลราชธานี อติเทพ ชายหนุ่มอายุ 25 ปี ซึ่งสวมเสื้อสีดำมีข้อความ “VOTE NO รธน.” ด้านหลัง ขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งพบเรียกให้อติเทพหยุดรถ สอบถามที่อยู่และยึดเสื้อที่เขาสวมไว้เป็นหลักฐาน
ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนเชิญตัวอติเทพมาให้ปากคำและเข้าค้นบ้านของเขาเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมแต่ก็ไม่พบหลักฐานใดๆ อติเทพให้การกับพนักงานสอบสวนว่า เขาแลกมาจากเพื่อนที่พบกันในงานแห่เทียนพรรษาเพราะเห็นว่าเท่ดี หลังการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนปล่อยตัวอติเทพกลับบ้านพร้อมกับบอกว่า หากมีหลักฐานเพิ่มเติมก็จะเรียกมาสอบปากคำอีก
วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ สภ.อ.พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จับกุมวิชาญ ชายอายุ 47 ปี ขณะกำลังยืนตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาซื้อของในตลาดเทศบาลพิบูลมังสาหาร ไม่ให้ออกไปใช้สิทธิลงประชามติ จากการสอบสวนวิชาญอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติ จึงมาเชิญชวนประชาชนที่มีความเห็นคล้ายกันให้ไม่ไปลงประชามติ
เจ้าหน้าที่สงสัยว่าวิชาญอาจจะเป็นผู้มีจิตบกพร่อง จึงส่งตัวให้แพทย์โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ตรวจสอบสภาพจิตใจ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่ามีสภาพจิตปกติ จึงแจ้งข้อกล่าวหาก่อความวุ่นวาย โดยมุ่งหวังไม่ให้ผู้มีสิทธิออกไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ
ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนนำตัววิชาญไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อขออำนาจศาลฝากขังหลังควบคุมตัววิชาญไว้ที่ สน.สองคืน ศาลตีราคาประกันที่ 200,000 บาท วิชาญไม่มีเงินประกันจึงถูกควบคุมที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี
วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 กฤษกร ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ให้ข้อมูลว่า เมื่อประมาณสามสัปดาห์ก่อนเขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและประกาศจุดยืนไม่รับร่าง หลังโพสต์ข้อความได้ไม่นานมีเจ้าหน้าที่โทรมาขอให้ลบข้อความแต่เขาก็ไม่ลบ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 กฤษกรได้รับข้อมูลว่า กกต.จังหวัดอุบลราชธานีแจ้งความดำเนินคดีเขาด้วยมาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ฐานก่อความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติไว้แล้ว โดย สน.วารินชำราบกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกให้กฤษกรมารับทราบข้อกล่าวหา
วันที่ 6 สิงหาคม 2559 หนึ่งวันก่อนวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จับกุมสองนักกิจกรรม ได้แก่ จตุภัทรหรือไผ่ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และวศิน นักกิจกรรมอีกคนหนึ่ง ที่ตลาดสดภูเขียวขณะเดินแจกเอกสารรณรงค์ Vote No เป็นแถลงการณ์ 16 เล่ม และใบปลิวกว่า 100 ใบ
จตุภัทร วศิน ถูกคุมขังที่ สภ.ภูเขียว ภาพจากเฟซบุ๊กของ Sarayut Tangprasert
ทั้งสองถูกควบคุมตัวที่ สภ.ภูเขียวเป็นเวลาสองคืน ก่อนที่จะถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 (1) ฐานก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเรียบร้อยในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสองปฏิเสธที่จะขอประกันตัวและจะอดอาหารประท้วง แต่จตุภัทรขอให้วศินประกันตัวเพื่อกลับไปเรียน วศินจึงประกันตัวออกไปโดยใช้หลักทรัพย์ 150,000 บาท ส่วนจตุภัทรถูกนำตัวไปควบคุมตัวที่เรือนจำและอยู่ระหว่างการอดอาหารประท้วง (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2559)
เหนือ-ใต้ก็ไม่น้อยหน้า ตั้งข้อหาทนายโพสต์เฟซบุ๊กที่กระบี่ – จับ/ขังลุงแจกใบปลิวที่เชียงใหม่
16 กรกฎาคม 2559 ชูวงศ์ ทนายความและแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจังหวัดกระบี่ เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ หลังถูกออกหมายจับในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ หลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะไปลงประชามติ แต่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชูวงศ์ยอมรับว่าเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่เป็นการระบายความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้นไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง พนักงานสอบสวนให้ชูวงศ์ประกันตัวโดยวางเงินประกัน 150,000 บาทและปล่อยตัวในวันเดียวกัน
21 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ พบว่ามีการนำใบปลิวระบุข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. VOTE NO” พร้อมรูปสัญลักษณ์มือชูสามนิ้วไปเสียบไว้ตามที่ปัดน้ำฝนรถในลานจอดรถของห้าง ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมสามารถ ชายอายุ 63 ปี ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำใบปลิวไปเสียบ สามารถถูกนำตัวไปตั้งข้อหาตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ และถูกฝากขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท
จับล็อตใหญ่ อดีต ส.ส.เพื่อไทยและผู้ใกล้ชิด กรณีต้องสงสัยมีเอี่ยวจดหมาย ‘บิดเบือน’ ประชามติ
หลังมีกรณีเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ตรวจพบจดหมายเชิญชวนคนไปลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ทหารจากค่ายกาวิละนำกำลังเข้าควบคุมตัวบุคคลรวมเจ็ดคนไปที่ค่ายเพื่อสอบถามและเตรียมดำเนินคดีเพราะสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมาย ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวทัศนีย์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างรอเข้าพบ ผบ.ตร. เพื่อแสดงความบริสุทธิกรณีที่ถูกเชื่อมโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายในพื้นที่ภาคเหนือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญแจ้งว่า การควบคุมตัวครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หลังถูกควบคุมตัว ทัศนีย์ถูกส่งไปควบคุมที่ มทบ.11 ร่วมกับบุคคลอีกเจ็ดคนที่ถูกควบคุมตัวมาจากเชียงใหม่
ภาพการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาคดีจดหมายประชามติที่เชียงใหม่ จากเพจ Banrasdr Photo
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ขยายผลการจับกุมทำให้ในคดีนี้มีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 11 คน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา 10 คนไปที่ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผัดแรกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 ฐานอั่งยี่ – ซ่องโจร รวมทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสิบประกันตัว ทั้งนี้จากที่เบื้องต้นมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวรวม 11 คน แต่ถูกนำตัวมาฝากขังเพียง 10 คนนั้น คาดว่าผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่กันไว้เป็นพยาน
ภาพ thumbnail ต้นฉบับจากเพจ Banrasdr Photo กรณี 4 นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวประชาไทอีกหนึ่งคนถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ สน.บ้านโป่ง หลังเดินทางไปให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีจากการเปิดศูนย์ปราบโกงแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถแล้วพบว่ามีเอกสารรณรงค์โหวตโน
RELATED POSTS
No related posts