สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: สร้างมาตรฐานจริยธรรม ควบคุมฝ่ายการเมือง

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างมากับมือว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง” เหตุผลที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเน้นปราบโกง  เพราะที่ผ่านมา มีการโกงกันมากจนประเทศชาติเสียหาย ส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม และนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ในการเชิญชวนประชาชนให้ไปรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มีกลไกปราบโกงในหลายระดับตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และกระบวนการตรวจสอบและการลงโทษเมื่อเข้าสู่อำนาจ ซึ่งอำนาจตรวจสอบและกำหนดขั้นตอนการลงโทษเหล่านี้ กรธ.ตัดสินใจมอบอำนาจหน้าที่ให้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นหลัก โดยมีหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ คือ “มาตรฐานทางจริยธรรม”
สร้างมาตรฐานทางจริยธรรม ‘หยุด’ ทุจริต ฉ้อฉล บิดเบือนอำนาจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ในคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นหนึ่งในปัญหาของประเทศไทยก่อนรัฐประหารปี 2557 คือปัญหาการขาดจริยธรรม จนเป็นเหตุให้มีผู้ “ไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล” ซึ่งจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกำหนดใน มาตรา 76 ว่า ให้รัฐพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินทุกส่วนเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และ “รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว”
ศาลรัฐธรรมนูญ ‘อำนาจเคียงคู่’ องค์กรอิสระ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม
มาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นบังคับใช้ ในการจัดทำต้องรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
มาตรฐานทางจริยธรรม บังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ฯลฯ รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และ ครม.ด้วย ทั้งนี้ ส.ส. ส.ว. และ ครม.ก็สามารถออกมาตรฐานทางจริยธรรมเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระกำหนด 
การให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม แม้จะต้องรับฟังความเห็นจาก ส.ส.ด้วยก็ตาม แต่ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้านักการเมืองเสนอความคิดเห็นใดๆ ไปแล้วไปขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ความคิดเหล่านั้นจะถูกบรรจุลงในมาตรฐานทางจริยธรรมมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หากดำเนินการไม่เสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป
คุณสมบัติผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม  
ตามที่ได้กล่าวไปตอนต้น ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับในส่วนของที่มา มาตรา 203 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวแทนส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ ขณะที่ฝ่ายการเมืองมีเพียงประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยในการสรรหา ระบุถึงคุณสมบัติของของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งว่า ต้องเป็นบุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ซึ่งคุณสมบัติข้างต้นถูกนำมาใช้กับการสรรหาองค์กรอิสระเช่นกัน 
ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง
แม้ว่ามาตรฐานทางจริยธรรมจะถูกกำหนดให้บังคับใช้กับทุกหน่วยงาน แต่ผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือฝ่ายการเมือง ดังจะเห็นในมาตรา 186 ที่กำหนดว่า ห้ามรัฐมนตรีใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประโยชน์ตนเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมืองตามที่มาตรฐานทางจริยธรรมกำหนด  
โดยความผิดจากการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตรา 234 กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) มีอำนาจหน้าที่ ไต่สวน และมีความเห็น หากมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนด 
ขั้นตอนการดำเนินการของ ป.ป.ช.ถูกระบุไว้ใน มาตรา 235 คือ ให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และหากข้อสรุปเป็นเสียงที่ได้ไม่น้อยกว่าครึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเสนอต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และหากผู้ถูกกล่าวหาถูกคำพิพากษาว่ามีความผิดจริง ต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเจตนาดี ในการปราบโกงของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร เห็นว่ากำหนดให้องค์กรตุลาการและองค์กรอิสระมีอำนาจดังกล่าวต้องไม่ถึงขนาดที่ทำให้องค์กรเหล่านั้นมีอำนาจวินิจฉัยให้ฝ่ายบริหารหรือสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติพ้นจากตำแหน่งโดยง่ายผ่านการใช้ดุลพินิจในการตีความถ้อยคำที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองโหวตเอาบุคคลออกจากตำแหน่ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำเสมือนหนึ่งว่ามาตรฐานทางจริยธรรมเป็นการใช้อำนาจทางกฎหมาย
ไฟล์แนบ