ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ประชามติต้องเปิดใจไม่ใช่ปิดปาก

อีก 43 วัน ก็จะถึงวันออกเสียงประชามติ โดยคำถามที่มีแบ่งออกเป็นสองคำถาม คือ หนึ่ง เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยหรือไม่ และ สองคือ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะกำหนดให้รัฐสภาใน 5 ปีแรกมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
ถึงแม้ว่าคำถามแรกจะดูไม่น่างุนงง แต่มันก็เรียกร้องให้คนที่จะไปลงมติเห็นชอบต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และจะส่งผลยังไงต่อประเทศชาติบ้าง ส่วนคำถามข้อที่สองหากให้สรุปอย่างง่ายก็คือ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดของคสช. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ฐานคิดของการลงประชามติคือ "ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย" ผู้จัดการลงประชามติต้องมอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน ดังนั้น สิ่งที่ผู้จัดการออกเสียงประชามติต้องคุ้มครองก็คือ บรรยากาศแห่งการถกเถียง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะว่า ประชาชนต้องมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอเพื่อประกอบการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ และทราบถึงผลลัพธ์ของการทำประชามติว่า มันจะส่งผลต่อวิถีชีวิตในอนาคตของพวกเขาอย่างไร 
แต่เมื่อมองย้อนกลับมาในสังคมไทย ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และมีเสรีภาพที่จะคิดหรือแสดงออก จริงหรือเปล่า
รูปภาพจาก Banrasdr Photo
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เนื่องจาก รัฐมองว่า แจกเอกสารรณรงค์การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (Vote No) ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และเอกสารที่พวกเขาไปเดินแจกกับประชาชน ประกอบไปด้วย ใบปลิว Vote No หรือ No Vote และหนังสือเห็นโต้แย้งต่อคำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้สรุปออกมา แล้วก็มีนิตยสารก้าวข้ามซึ่งเป็นนิตยสารเกาะติดสถานการณ์การเมืองที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่เป็นคนจัดทำ และไม่ใช่แค่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่เท่านั้น แม้แต่สมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ที่ออกมาร่วมแจกเอกสารการลงทะเบียนใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตก็ถูกตั้งข้อหาไปด้วย
เรื่องราวยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น เมื่อเอกสารที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่นำมาแจก กลับกลายเป็นหลักฐานเพื่อใช้ตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 และ 3 ที่กำหนดว่า
"ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่‎ผิดไปจากข้อเท็จจริง‬ หรือมีลักษณะรุนแรง‬ ‪ก้าวร้าว‬ ‪หยาบคาย‬ ‎ปลุกระดม‬ หรือ‎ข่มขู่‬ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี และในกรณีเป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท รวมไปถึงศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี"
หากสรุปอย่างง่ายก็คือ ใครก็ตามที่แสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะช่องทางไหน ในลักษณะที่‎ "ผิดไปจากข้อเท็จจริง"‬ หรือมีลักษณะ "รุนแรง"‬ "‪ก้าวร้าว"‬ "‪หยาบคาย"‬ "‎ปลุกระดม"‬ หรือ "‎ข่มขู่" มีความเสี่ยงที่จะต้องติดคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท 
อย่างไรก็ดี มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ยังเต็มไปด้วยปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะว่า กฎหมายกำหนดลักษณะการกระทำความผิดด้วยถ้อยคำที่กำกวม มีความหมายกว้าง อีกทั้ง ยังไม่มีการนิยามคำที่กล่าวมาให้ชัดเจน จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจถึงขอบเขตสิทธิเสรีภาพได้ว่าการแสดงออกแบบใดจึงจะไม่มีความผิด
นอกจากนี้ ฐานความผิดดังกล่าวยังมีอัตราโทษสูงจนเกินพอดี เพราะการจำคุกไม่เกินสิบปีจากการแสดงความคิดเห็นนั้นร้ายแรงกว่าอัตราโทษของความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงเสียอีก และถ้าถือว่า การแสดงความเห็นที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ก้าวร้าว หรือหยาบคาย ในฐานความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ก็เป็นเพียงโทษสถานเบาจำคุกไม่เกิน 2 ปี
นี่หรือคือปลายทางที่รออยู่ของคนที่ต้องการเปิดพื้นที่ถกเถียงถึงอนาคตของชาติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
และในระหว่างที่บรรยากาศที่ความกลัวปกคลุมการลงประชามติ ฝ่ายรัฐก็กำลังทุ่มเงินภาษีของประชาชนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในระดับชุมชนและระดับครัวเรือนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น "วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ครู ก ข และ ค" หรืออย่าง "อาสาสมัครนักศึกษาวิชาทหาร" ที่ล้วนแล้วแต่เป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว
ถึงวันนี้ หากว่ารัฐเลือกจะให้มีประชามติเพราะต้องการจะฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน รัฐคงต้องเริ่มจากการผ่อนปรนทุกมาตรการที่กำลังคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะประชามติต้องเปิดใจไม่ใช่ปิดปาก
[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ]