รวมหนังสือถึง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติ 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ยืนจดหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559  มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยยื่นหนังสือในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 พร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน 107 รายชื่อ 
ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินคำชี้แจงเพิ่มเติม โดยได้ชี้แจ้งไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 และชี้แจงเพิ่มอีกครั้งในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ดูรายละเอียดคำชี้แจงด้านล่าง 
…………………………………………………………………………………………………………..
 
10 พฤษภาคม 2559 
เรื่อง ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 
ตามที่ได้มีการ ประกาศใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  ๒๓ เมษายน  ๒๕๕๙ เพื่อควบคุมดูแลการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ นั้น ปรากฏว่ากฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๑ วรรคสองว่า
"ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย" 
ซึ่งความผิดตามมาตรานี้มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้ และหากเป็นกรณีที่เป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดสิบปี
ผู้ร้องตามรายชื่อข้างท้ายนี้ มีความเห็นว่า มาตรา ๖๑ วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่นคำว่า "รุนแรง" "ก้าวร้าว" "ปลุกระดม" ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอนให้ประชาชนสามารถทราบถึงขอบเขตของสิทธิเสรีภาพได้ ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ "หยาบคาย" นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย การบัญญัติมาตรา ๖๑ วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร
บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา ๖๑ วรรคสอง เป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง อัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบปีนั้นเทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท หรือฐานทำให้หญิงแท้งลูกและถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ และ ๓๒๐ ส่วนการกำหนดโทษขั้นต่ำของการกระทำตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปก็รุนแรงเกินไปอีกเช่นกัน โดยเทียบได้กับความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร หรือความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๔ และมาตรา ๓๓๘ ขณะที่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกินเจ็ดปีเท่านั้น
ในทางปฏิบัติยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า หลังพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ เจ้าหน้าที่รัฐตีความกฎหมายอย่างกว้าง โดยเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ มีการรื้อนิทรรศการการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการพยายามจับกุมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่แจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองครั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุเหตุผลให้แน่ชัดว่าขัดต่อกฎหมายอย่างไร และเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ กรรมการการเลือกตั้งก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำหยาบคาย ต่อมาในวันเดียวกันตำรวจแถลงข่าวการจับกุมดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว
ผู้ร้องขอเรียนเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ บรรยากาศของสังคมที่เปิดกว้างสำหรับการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในหมู่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากมีผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดก็จำเป็นที่จะต้องมีเสรีภาพในการเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นต่อสาธารณะ รวมทั้งเสรีภาพที่จะรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้เข้าใจข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญก่อนร่วมกันลงเสียงประชามติ แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เมื่อประชาชนไม่มั่นใจถึงขอบเขตสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นหรือรรณรงค์ภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๑ วรรคสองและวรรคสี่ ซึ่งมีความคลุมเครือ ประกอบกับการกระทำผิดมาตราดังกล่าวมีโทษสูงมาก ประชาชนทั่วไปจึงเกิดความเกรงกลัวในการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าสื่อสารข้อมูลฝ่ายเดียวส่วนประชาชนที่เห็นต่างกลับถูกกดดันด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ให้แสดงความเห็น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ มีแต่จะส่งผลให้การทำประชามมติที่จะมีขึ้นในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ สูญเสียความชอบธรรม
เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) จึงย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ มาตรา ๔ ด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ ซึ่งมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑/๒๕๕๗ ผู้ร้องตามรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มาตรา ๒๔๕ (๑) และรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ มาตรา ๔๕ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และสร้างบรรยากาศของสังคมไปสู่การทำประชามติที่มีคุณภาพ
รายชื่อผู้ร่วมลงนาม
1)        จอน  อึ๊งภากรณ์   ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, อดีตสมาชิกวุฒิสภา
2)        นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อดีตสมาชิกวุฒิสภา
3)        ไกรศักดิ์  ชุณหะวัณ  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, อดีตสมาชิกวุฒสภา
4)        สุนี  ไชยรส  อดีตกรรมการปฎิรูปกฎหมาย, อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
5)        ไพโรจน์  พลเพชร  อดีตกรรมการปฎิรูปกฎหมาย
6)        โคทม  อารียา  อดีตกรรมการเลือกตั้ง
7)        ศรีสุวรรณ  ควรขจร  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
8)        โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์  รองศาสตราจารย์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9)        คาริน่า โชติรวี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10)      ฉลอง  สุนทราวาณิชย์  รองศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
11)      เกษม  เพ็ญภินันท์ ผู้ช่วยศาสตรจารย์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
12)      ฉันทนา  หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
13)      สุริชัย  หวันแก้ว  ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย
14)      เดชา  ตั้งสีฟ้า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
15)      นฤมล  ทับจุมพล  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
16)      ณัฐพล  ตันตระกูลทรัพย์  นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17)      บาหยัน  อิ่มสำราญ  รองศาสตราจารย์ คณะอักศรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร
18)      สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
19)      เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์  อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
20)      พิพัฒน์  สุยะ  อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
21)      ชาญณรงค์  บุญหนุน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
22)      คมกฤช  อุ่ยเต็กเค่ง  ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร
23)      นาตยา  อยู่คง  อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
24)      ศราวุฒิ  ประทุมราช กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
25)      ฒาลลัศมา จุลเพชร  นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
26)      อเนกชัย  เรืองรัตนากร นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
27)      แพร  จิตติพลังศรี  อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
28)      ปัญญา  พราหมณ์แก้ว  นิสิตปริญญาโท สหสาขาพัฒนามนุษย์และสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
29)      นิติรัตน์  ทรัพย์สมบูรณ์  กรรมการอำนวยการ กลุ่มเพื่อนประชาชน
30)      สุธิลา  ลืนคำ ฝ่ายสตรี กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
31)      สุดท้าย  ต่อโชติ  กรรมการสหภาพแรงงานไทยคูราโบ
32)      เยาวลักษ์  อนุพันธ์  หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
33)      ชำนาญ  จันทร์เรือง  ประธานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น
34)      จุลศักดิ์  แก้วกาญจน์  สมาชิกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
35)      เลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์  ผู้ประสานงาน โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
36)      ส.รัตนมณี  พลกล้า  ผู้ประสานงาน/ทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
37)      อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์  ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
38)      สายชล  สัตยานุรักษ์  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
39)      เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒวนิช  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
40)      วราภรณ์  เรืองศรี  อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
41)      กฤตภัค  งามวาสีนนท์ ผู้ช่วยวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
42)      ไชยันต์  รัชชกูล ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
43)      วุฒิชาติ  ชุ่มสนิท (บินหลา  สันกาลาคีรี) นักเขียน
44)      อรุณวตี ฉัตรเท นักร้อง
45)      เสนาะ  เจริญพร  อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชานี
46)      ธนาพล  อิ๋วสกุล
47)      สังคม  จิรชูสกุล  ประชาชน
48)      ชโลมใจ  ชยพันธนาการ  ราษฎร
49)      วรพจน์  พันธุ์พงศ์
50)      รณวัฒน์  จันทร์จารุวงศ์
51)      ธีระพล  อันมัย อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
52)      ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข  บรรณาธิการอำนวยการ เว็ปไซต์ประชาไท
53)      ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความ
54)      พรทิพย์ หงชัย
55)      เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
56)      แววรินทร์ บัวเงิน ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง
57)      สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ผู้แทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
58)      เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
59)      กิตติกาญจน์ หาญกูล
60)      ชุทิมา ชื่นหัวใจ
61)      วัฒนา นาคประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่โครงการอาสาสมัครเพื่อนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
62)      ศิริพร ฉายเพ็ชร ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
63)      วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความ สำนักงานทนายความวิบูลย์ บุญภัทรรักษา
64)      สุทธิเกียรติ คชโส นักกฎหมาย ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
65)      ธัญญารัศมิ์ สินทรธรรมทัช ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตรและเพชรบูรณ์
66)      คำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง
67)      ทวีศักดิ์ อินกว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงรากใหญ่
68)      ณัฐชลี สิงสาวแห ผู้ประสานงานเข้าใจคิด โปรดั๊กชั่น
69)      สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
70)      จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
71)      เอกชัย ไชยนุวัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
72)      อนันต์ เมืองมูลไชย  ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทย
73)      สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล  เลขาธิการ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
74)      เจษฎาพร ทองงาม  ผู้จัดการกลุ่มพะยูนศรีตรัง
75)      อภิวัฒน์ กวางแก้ว  ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนเยาวชนอาสาที่อยู่กับเชื้อเอชไอวี
76)      เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
77)      นิมิตร์ เทียนอุดม  ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
78)      จารุณี ศิริพันธุ์  รองผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
79)      กาญจนา แถลงกิจ  เครือข่ายสุขภาพผู้หญิงจังหวัดเชียงใหม่
80)      สารี อ่องสมหวัง
81)      กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสาน FTA Watch (กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน)
82)      เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ในนามของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
83)      สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
84)      ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
85)      สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
86)      กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
87)      นัทมน คงเจริญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
88)      วรยุทธ ศรีวรกุล สมาชิกเครือข่ายส่งเสริมสังคมที่ยุติธรรมและสันติ
89)      สุรัสวดี  หุ่นพยนต์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
90)      ศิริจิต  สุนันต๊ะ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
91)      มนตรา  พงษ์นิล อาจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
92)      บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
93)      พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์  อาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
94)      บัณฑิต  ไกรวิจิตร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
95)      มูฮัมหมัดอิลยาส  หญ้าปรัง  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
96)      เยาวนิจ กิตติธรกุล  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
97)      ศุภวิทย์  ถาวรบุตร  อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
98)      สมิทธิรักษ์  จันทรักษ์  อาจารย์ นักวิชาการอิสระ
99)      ปราโมทย์  ระวิน อาจารย์ นักวิชาการอิสระ
100)   ดวงกมล  จิตร์จำนงค์  ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
101)   เคท  ครั้งพิบูลย์  อาจารย์ นักวิชาการอิสระ
102)   จาตุรงค์  บุณยรัตนสุนทร  ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
103)   พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์  รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
104)   นภาพร  อติวานิชพงศ์  รองศาสตราจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
105)   อนุสรณ์ อุณโณ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
106)   เกษียร  เตชะพีระ ศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
107)   พิชญ์  พงษ์สวัสดิ์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
…………………………………………………………………………………………………………..
22 พฤษภาคม 2559          
  
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของข้าพเจ้าและประชาชนอีกกว่าหนึ่งร้อยราย ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของมาตรา ๖๑ วรรคสองถึงวรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙  ข้าพเจ้าขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

๑.ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสองบัญญัติว่า

 

"ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"

 

ซึ่งกฎหมายมาตรานี้มีขึ้นเพื่อห้ามการแสดงออก และการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึงสิบปี และโทษปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท การกำหนดว่าห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็นลักษณะ “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “หยาบคาย” “ปลุกระดม” นั้นเป็นการใช้ถ้อยคำที่กำกวม มีความหมายกว้าง และไม่มีคำนิยามในกฎหมายดังกล่าว  ประชาชนไม่สามารถเข้าใจถึงขอบเขตสิทธิเสรีภาพได้ว่าจะประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้มากน้อยเพียงใด เกี่ยวกับการลงประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน ซึ่งกำลังจะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ

 

บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา ๖๑ วรรคสอง ซึ่งระบุไว้ในวรรคสามและวรรคสี่นั้นเป็นโทษที่รุนแรงเกินไป อัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบปีไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ ยังกำหนดอัตราโทษไว้น้อยกว่า คือ จำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปีเท่านั้น

 

ในกระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอ ต้องมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายรอบด้านเพื่อประกอบการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระ ในบรรยากาศทางการเมืองเช่นช่วงเวลานี้ย่อมเป็นวิสัยปกติของประชาชนที่จะสนใจติดตามข่าวสาร แสวงหาข้อมูลความรู้ และแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งต่อร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการจัดทำประชามติ ทั้งในทางสาธารณะและในบทสนทนาประจำวันกับคนใกล้ตัว อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยชอบธรรมที่ประชาชนสามารถกระทำได้ แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรา ๖๑ ขณะนี้ ประชาชนทุกฝ่ายต่างถูกกดดันให้ตกอยู่ในสภาวะความกลัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ด้วยกฎหมายที่มีโทษหนักแต่มีองค์ประกอบของความผิดไม่ชัดเจน แม้แต่สื่อมวลชนก็ยังลังเลในการสัมภาษณ์นักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติ

 

แม้ว่าการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบางส่วนจะเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ แต่การจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นด้วยกฎหมายที่มีโทษหนักและองค์ประกอบของความผิดไม่ชัดเจน ในสภาวะที่ประชาชนจำเป็นต้องถกเถียง แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และประชาชนจำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์อย่างครบถ้วนรอบด้านเช่นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า มาตรา ๖๑ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ พร้อมบทกำหนดโทษในวรรคสามและวรรคสี่ เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ  ในทางกลับกัน การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลานี้มีแต่จะส่งผลให้การจัดทำประชามติสูญเสียความชอบธรรม ซึ่งกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ต่อจากนี้ กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยในอนาคต และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประชาชนในระยะยาว

 

ในทางปฏิบัติยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า หลังพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ เจ้าหน้าที่รัฐตีความกฎหมายอย่างกว้าง โดยเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รื้อนิทรรศการการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการพยายามจับกุมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่แจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แสดงว่ามีการตีความมาตรา ๖๑ วรรคสองในความหมายที่กว้างมาก และเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ ตำรวจแถลงข่าวการจับกุม นางจีรพันธุ์ ตันมณี อายุ ๕๙ ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊กลักษณะหยาบคายเกี่ยวกับร่างรัฐูรรมนูญฉบับที่จะนำไปลงประชามติ ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ นางจีรพันธุ์ ตันมณี จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาและถูกสอบสวนว่ากระทำความผิด ตามมาตรา ๖๑ ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งกรณีเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของนางจีรพันธุ์เกินสมควรแก่เหตุ ด้วยกฎหมายที่มีโทษหนัก ซึ่งการแถลงข่าวกรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากกฎหมายมาตรานี้มีผลบังคับใช้ได้เพียง ๔ วัน และการแถลงข่าวการจับกุมครั้งนี้จึงได้สร้างบรรยากาศความกลัวเพิ่มขึ้นในสังคม ให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดทำประชามติ

 

๒.   เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นที่ฐานที่ได้รับการรับรองคุ้มครองมาตลอดในประเพณีการปกครองของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ว่า       

 

"มาตรา ๔๕  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

 

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน”

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ว่า       

 

“มาตรา ๓๙  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

 

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน”

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 บัญญัติไว้ว่า       

 

“มาตรา ๓๔  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด  การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา

 

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน”

 

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองมายาวนานตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับที่ผ่านมา

 

ในสภาวะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยแจกแจงโดยละเอียด มีเพียงมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เท่านั้น ที่บัญญัติไว้ว่า

 

“มาตรา ๔ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

 

ดังนั้น เมื่อมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗  รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามประเพณีการปกครองประเทศไทย เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามตามประเพณีการปกครองประเทศไทย และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสองขัดกับหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมี่ผ่านมาทั้งสามรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เข้าข่ายที่จะอ้างเป็นข้อยกเว้น ดังนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ จึงขัดกับ มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗

 

                ๓. พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสอง ขัดกับหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองคุ้มครองไว้ในพันธกรณีระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ตัวอย่างเช่น

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ Universal Declaration of Human Rights (UDHR) ซึ่งบัญญัติรับรองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของมนุษย์ทุกคนเอาไว้ในข้อที่ ๑๙. ว่า

 

“ข้อ ๑๙     ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”  (จากเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศ)

 

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ซึ่งบัญญัติรับรองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของมนุษย์ทุกคนเอาไว้ในข้อที่ ๑๙. ว่า

“ข้อ ๑๙

๑. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

๒. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหารับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลกัษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

๓. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค ๒ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วยการใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่องแต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะและจำเป็นต่อ

(ก)การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข)การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน”

 

 http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-obligation/international-human-rights-mechanism/iccpr

 

เนื่องจากมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒. ดังนั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงต้องได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ ขัดกับหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่ได้บัญญัติรับรองไว้โดยพันธกรณีระหว่างประเทศดังที่กล่าวมานี้ ดังนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ ววรคสอง และบทลงโทษในวรรคสามกับวรรคสี่จึงขัดกับ มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗

 

๔.ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒. ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสองถึงวรรคสี่ขัดกับหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ กล่าวโดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ ยังมีมาตรา ๒๙ และมาตรา ๖๕ วรรคท้าย ที่บัญญัติไว้ว่า

 

“มาตรา ๒๙  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

 

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

 

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม”

 

“มาตรา ๑๖๕ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ ดังต่อไปนี้

 

(๑) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสีย ของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธาน สภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้

 

(๒) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ

 

การออกเสียงประชามติตาม (๑) หรือ (๒) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็น การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

 

การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการ ตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้

 

ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคล ฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน”

 

จะเห็นได้ว่า นอกจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสองถึงวรรคสี่จะขัดกับหลักการเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ในมาตรา ๔๕ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว ยังขัดกับหลักการเรื่องการออกเสียงประชามติ ที่รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้ฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมกัน ตามมาตรา ๑๖๕ อีกด้วย

 

ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ วรรคสองและบทลงโทษตามวรรคสามและวรรคสี่เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ออกมาและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็น และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากจนเกินไป ถึงขนาดที่ทำให้ผู้คนในสังคมไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จำเป็น จึงกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นจึงขัดกับมาตรา ๒๙ อีกด้วย

…………………………………………………………………………………………………………..

 

27 พฤษภาคม 2559             
เรื่อง ขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก
ตามที่ข้าพเจ้า และประชาชนอีกรวม ๑๐๗ คน ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของมาตรา ๖๑ วรรคสองถึงวรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้ยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนั้น ปรากฏว่าภายหลังจากการยื่นเอกสารทั้งสองครั้งดังกล่าวแล้ว ได้ปรากฎข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อชี้ให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงการละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินสมควรตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "สำนักประชาสัมพันธ์ กกต." ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เผยแพร่ภาพชุดจำนวน ๑๕ ภาพ พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า "Do & Don't อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญ ศึกษากฎหมายเพิ่มเติมได้ที่…" พร้อมให้ตัวชี้แหล่งข้อมูล (ลิงก์) ไปยังประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.๒๕๕๙ โดยเห็นได้ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของภาพชุดจำนวน ๑๕ ภาพ นี้ เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิ่งใดทำได้และสิ่งใดที่ทำไม่ได้ ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖๑ แต่ก็ได้มีการตีความเกินเลยเพื่อห้ามประชาชนใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิที่ประชาชนมีตามประเพณีการปกครองของไทย และบางส่วนยังตีความเกินเลยไปจากที่มาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ กำหนดไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น
ภาพที่ ๙ ซึ่งอธิบายว่า การแจกจ่ายใบปลิว แผ่นพับ ที่มีข้อความเป็นเท็จ ถ้อยคำหยาบคาย หรือมุ่งสู่การปลุกระดมการชุมนุม หรือสร้างความวุ่นวาย จะทำไม่ได้ ซึ่งมีการใช้คำว่า "หยาบคาย" และ "ปลุกระดม" เป็นเหตุในการห้ามแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการอธิบายให้แน่ชัดมากไปกว่าเดิมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าการแสดงความคิดเห็นเช่นใด ถือว่าหยาบคายหรือเป็นการปลุกระดม การนำเสนอข้อห้ามสู่ประชาชนเช่นนี้ จึงไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจขอบเขตสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้นแต่ในทางกลับกันกลับทำให้ประชาชนยิ่งรู้สึกไม่มั่นใจ และไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น
ภาพที่ ๑๒ ซึ่งอธิบายว่า การทำหรือแชร์สัญลักษณ์ที่หยาบคาย ปลุกระดม เป็นการไม่สุภาพ หรือขัดต่อขนบธรรมเนียม ศีลธรรม ซึ่งนอกจากคำว่า "หยาบคาย" และ "ปลุกระดม" แล้วยังเพิ่มเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในกรณีที่ "ไม่สุภาพ" และ "ขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรม" เข้ามาใหม่อีกด้วย ซึ่งคำว่า "ไม่สุภาพ" นั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "หยาบคาย" และเป็นถ้อยคำที่กว้างขึ้นอยู่กับความรู้สึกและประสบการณ์ของแต่ละคน อาจถูกตีความได้ตามแต่กาละเทศะ ตัวอย่างเช่น การทำสัญลักษณ์นิ้วโป้งคว่ำ อาจะมีหลายความหมาย และอาจจะสุภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ และขึ้นอยู่กับว่าใครทำสัญลักษณ์นั้นให้กับใคร แต่การทำสัญลักษณ์นิ้วโป้งคว่ำ ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่หยาบคาย ส่วนคำว่า "ขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรม" ก็เป็นคำที่มีความหมายกว้างอีกเช่นกัน ขนบธรรมเนียมหรือศีลธรรมย่อมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น และสังคม ประชาชนในประเทศไทยกว่าหกสิบล้านคนย่อมยึดถือขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งคำว่า "ไม่สุภาพ" และ "ขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรม" เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ไม่ได้ระบุไว้โดยตรงในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ 
จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหน่วยงานของรัฐกำลังพยายามตีความมาตรา ๖๑ ให้กว้างออกไปอีกเพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ก็เนื่องมากจากสาเหตุว่า มาตรา ๖๑ ที่บัญญัติอยู่ในปัจจุบันนั้นมีความไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความกว้างหรือแคบแตกต่างกันออกไปได้ตามแต่ทัศนคติส่วนตัวของแต่ละ การจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยอ้างอิงอำนาจและเงื่อนไขตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ ลักษณะนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และกระทบกระเทือนกับสาระสำคัญของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ในช่วงเวลาที่สังคมต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ 
จึงเรียนมาทราบเพื่อประกอบการพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ 
ไฟล์แนบ