ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: บรรยากาศเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ !

ช่วงเช้าของวันนี้ (27 เมษายน 2559) มีรายงานผ่านโลกออนไลน์เป็นระยะว่า ประชาชนคนธรรมดาถูกจับกุมและพาตัวไปจากบ้านตั้งแต่เวลารุ่งเช้า โดยบุคคลที่ถูกจับตัวไป บางคนเป็นช่างภาพ บางคนเป็นเจ้าของกิจการ บ้างก็เป็นนักเขียน แต่สิ่งที่คล้ายกันในหมู่พวกเขาก็คือ “ความสนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมือง”
จากข้อมูลของ Voice TV ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพมหานครและขอนแก่นรวมอย่างน้อย  10 ราย  ทั้งนี้ ทราบชื่อเพียง 5 ราย ได้แก่
1. นพเก้า คงสุวรรณ ช่างภาพ
2. ศุภชัย สายบุตร ช่างภาพ
3. วรารัตน์ เหม็งประมูล
4. หฤษฏ์ มหาทน 25 ปี อดีตนักข่าว นักเขียน และร่วมหุ้นเปิดร้านราเม็งในจังหวัดขอนแก่น และร้านข้าวมันไก่ใน สปป.ลาว
5. นิธิ กุลธนศิลป์ อายุ 26 ปี ผู้จัดการร้านราเม็งของหฤษฏ์
คำบอกเล่าจากปากญาติ: พฤติการณ์การจับกุมที่อุกอาจและน่าสงสัย
จากคำบอกเล่าของญาติหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระหว่างการจับกุม พอจะสรุปได้ว่า การจับกุมอาจจะมีทั้งตำรวจและทหาร ซึ่งเข้ามาจับกุมตัวที่บ้านหรือห้องพักในช่วงเช้าตรู่ ทั้งนี้ ไม่มีการชี้แจ้งเหตุผลในการจับกุม ไม่แสดงหมายจับ อีกทั้ง ยัดยึดและอายัดทรัพย์สิน พร้อมทั้งตรวจค้นโดยไม่แสดงหมายศาล และยังไม่บอกอีกว่าจะควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไปไว้ที่ไหน
คำบอกเล่าจากญาติคนหนึ่งของบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไป ได้เล่าถึงพฤติกรรมการจับกุมไว้ว่า ขณะกำลังนอนหลับอยู่ที่ห้องนอนได้ยินเสียงเหมือนมีคนกำลังงัดแงะประตูบ้าน เมื่อออกมาจากห้องนอนก็พบว่า มีชายแต่งชุดคล้ายทหารจำนวนประมาณ 10 นาย  สวมเสื้อยืดสีขาวและสีม่วงอย่างละ 1 นายกำลังงัดประตูบ้านทั้งด้านหน้าและประตูมุ้งลวดด้านหลัง จึงทำให้ตนตกใจมาก ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะถูกกระทำแบบนี้
นอกจากนี้ ยังมีคำบอกเล่าจากญาติของผู้ที่ถูกจับตัวไปอีกคนว่า เจ้าหน้าที่มาที่หน้าบ้านเเละกดกริ่งติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้ญาติตื่น รีบวิ่งลงมาดู เนื่องจากยังหากุญแจไม่เจอ จึงยังไม่ได้เปิดประตูในทันที แต่เจ้าหน้าที่บางส่วนกลับปีนเข้ามาจากหลังบ้าน เมื่อเปิดประตูทหารเข้ามาต่อว่า ทำไมเปิดช้า ทำลายเอกสารหรือไม่ อีกทั้งทหารเข้ามาในบ้านโดยไม่ถอดรองเท้า และเข้าค้นทุกอย่าง พร้อมกับยึดคอมพิวเตอร์ไป

 

จับก่อนรู้ทีหลัง: ข้อมูลจาก คสช.  เชื่องช้า-สับสน

 

เมื่อนักข่าวสอบถามไปยัง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งออกมาเปิดเผยถึงกรณีจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด ทราบเพียงว่าเป็นข่าวที่เกิดจากการแชร์ในโลกออนไลน์ ซึ่งต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ในขณะนี้ทางคสช.กำลังตรวจสอบอยู่ 
จากนั้น ถึงมีรายงานข่าวของมติชนที่ระบุการชี้แจงของ พ.อ.วินธัย ว่า การควบคุมตัวบุคคลทั้ง 10 คน เป็นไปตามการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียมาโดยตลอด พร้อมทั้งมีหลักฐานที่สมบูรณ์ในการเอาผิดทางคดีได้
ทั้งนี้ การควบคุมตัวดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนแรกคือทหารจะควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวตาม มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ซึ่งคุมตัวไม่เกิน7 วัน เพื่อพูดคุยขอความร่วมมือ และสอบสวนร่วมกันระหว่าง คสช. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ส่วนการตั้งข้อหานั้น ยังไม่มีการตั้งข้อหา เพราะต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นจากการสอบพฤติกรรมในการใช้สื่อนั่นเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ส่วนจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 หรือไม่นั้นขณะอยู่ระหว่างตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ดี ยังมีความสับสนอยู่ว่า สถานที่ควบคุมตัวนั้นจะเป็นที่ไหนบ้าง เช่น บุคคลทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) หรือจะแยกควบคุมตัวตามพื้นที่จับกุม เช่น บุคคลที่ถูกจับกุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็จะถูกควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ส่วนบุคคลที่ถูกจับกุมที่ขอนแก่นก็จะควบคุมตัวไว้ค่ายมณฑลทหารบกที่ 23 ( มทบ.23) แทน
ความผิด พ.ร.บ.คอมฯ แต่ใช้อำนาจ จับกุม-ควบคุมตัวตามมาตรา 44 ?
               
จากข้อมูลของมติชน ระบุอีกว่า ความผิดที่นำไปสู่การจับกุมบุคคลดังกล่าว คือความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ส่วนการควบคุมตัวนั้นเป็นการใช้อำนาจจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งอ้างอิตาม มาตรา44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ที่ให้ควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ยังไม่ชัดว่า เป็นคำสั่งฉบับที่เท่าไร
ในขณะเดียวกัน เมื่อมติชนได้สอบถามไปยัง พ.อ.สมชาย ครรภาฉาย รอง ผบ.มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ก็ได้ความว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากคณะทำงานมีการตรวจพบว่ามีการโพสต์ข้อความในเชิงต่อต้านการทำงานของรัฐบาล อีกทั้ง อำนาจการจับกุมยังเป็นไปตามอำนาจของชุดปฎิบัติการตามคำสั่งที่ 13 ของ คสช.
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่า บุคคลดังกล่าวกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ การใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในครั้งนี้ อยู่บนฐานอำนาจใดกันแน่
ข้อสังเกตของไอลอว์: อำนาจที่ใช้กับฐานความผิดไม่สอดคล้องกัน
               
ท่ามกลางความสับสนของการใช้อำนาจจับกุมตัวบุคคลดังกล่าว ไอลอว์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลและความชอบธรรมในอำนาจที่จะจับกุม ตรวจค้น ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน รวมไปถึงการควบคุมตัวในครั้งนี้ว่า มันมีปัญหาในแง่ “อำนาจที่ใช้กับฐานความผิดไม่สอดคล้องกัน”
เพราะ อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดว่า เจ้าพนักงานสามารถจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า, ควบคุมตัว, ค้น ยึด อายัด, หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวไว้ด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามฐานความผิดในคำสั่งหัวหน้าคสช. 
                
แต่ทว่า การจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าว หากเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จริง ฐานความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ 3/2558 หรือ13/2559 ที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ได้ นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่เป็นความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ย่อมไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทหารไม่สามารถอ้างอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อใช้กับกรณีนี้ได้
                
ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลด้วยพฤติการณ์อุกอาจไม่ต่างจากนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น  คุมตัวสิรวิชญ์ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หรือการบุกจับสิรภพกลางถนนก่อนเข้าเมืองกาฬสินธุ์ และการบุกไปจับณัฐที่คอนโดมิเนียมตอนตีหนึ่ง  หรือการใช้กำลังอุ้มสุนันทาขึ้นรถแท็กซี่ออกจากที่ชุมนุม รวมไปถึงการไปควบคุมตัววัฒนา เมืองสุขที่บ้านพัก 
อีกทั้ง จากรายงานผลการติดตามการใช้อำนาจ ตามกฎอัยการศึก และคำสั่งหัวหน้าคสช. ของไอลอว์ พบว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายศาล ไม่มีการแจ้งข้อหา หรือการกระทำความผิด และไม่ให้สิทธิในการพบทนายความหรือติดต่อญาติ ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ล้วนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการบังคับให้สูญหาย การซ้อมทรมาน และการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว  รวมไปถึงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยทหาร เช่น การข่มขู่ให้รับสารภาพระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหาร
ปัจจุบันนี้ การใช้กำลังเข้าจับกุมตัวบุคคลเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอำเภอใจ และไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลายลง โดยเฉพาะเมื่อ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว (คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และ 13/2559)  กลายเป็นช่องทางให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ทหารแบบเดียวกับกฎอัยการศึก เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก หรือ ปราบปรามผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดไว้แล้วว่ามีฐานความผิดใดบ้างในคำสั่งหัวหน้าคสช. 
เมื่อการใช้อำนาจเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ทหารจะลุแก่อำนาจ แต่กลไกการป้องกันกลับเปิดช่องให้ทหารไม่ต้องรับผิดและตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง อีกทั้ง กลไกตรวจสอบถ่วงดุลของศาลยุติธรรมก็เป็นไปได้ยาก สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่บรรยากาศเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ใช่หรือไม่
[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ]