คสช. อยู่ต่อเลยได้ไหม เมื่อกรธ. กดสูตรเพิ่มเวลาโรดแมปได้อีก 5 เดือน

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..” บทเพลงที่เปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารด้วยความ “จำเป็น” และยังต้องมาแบ่งภาระอันหนักอึ้ง เนื่องจากประชาชนและนานาชาติต่างก็กดดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. รีบคืนประชาธิปไตยให้ประเทศโดยเร็ว
แต่เมื่อการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว หนทางกลับไปสู่ประชาธิปไตยจึงไม่ง่าย หนึ่งในภารกิจใหญ่ที่ คสช. ต้องแบกรับอย่างเร่งรีบร้อนรนก็คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหนทางก็เต็มไปด้วยอุปสรรคกีดขวางไม่ว่าจะเป็นตอนที่รัฐธรรมนูญร่างแรกของ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติคว่ำ ทำให้โรดแมปไปสู่ประชาธิปไตยต้องยึดออกไป
หลังรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกคว่ำไปในเดือนกันยายน 2558 คสช. ยังคงให้คำมั่นสัญญาอีกครั้งว่า โรดแมปไปสู่ประชาธิปไตยจะใช้สูตร 6-4-6-4 นั่นก็คือ ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน จากนั้นเตรียมการทำประชามติ 4 เดือน ถ้าผ่านประชามติจะมีการทำกฎหมายลูกและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาซึ่งใช้เวลา 6 เดือน แล้วจึงให้ใช้เวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีก 4 เดือน ซึ่งรวมแล้วเป็นเวลาประมาณ 20 เดือน ซึ่งคาดว่าจะได้เลือกตั้งกันราวเดือนพฤษภาคม 2560
แต่แล้วเส้นทางสู่การคืนอำนาจก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เกิดอาการ “ผิดแผน” เพราะโรดแมปใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แก้สูตรเป็น 6-4-8-2-5 ซึ่งสูตรดังกล่าวเชื่อมโยงกับมาตรา 259 และ 260 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดว่า ให้กรธ. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็นให้แล้วเสร็จภายในแปดเดือนนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และให้สนช. พิจารณาให้เสร็จภายในหกสิบวัน หากกระบวนการข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว จึงปล่อยให้มีการเลือกตั้งภายในร้อยห้าสิบวัน
ดังนั้น โรดแมปไปสู่การเลือกตั้งหากประชาชนไปลงประชามติแล้วผ่านก็จะมีสูตรเป็น 6-4-8-2-5 หรือหมายความว่า หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและดำเนินการลงประชามติเรียบร้อยแล้ว กรธ. จะใช้เวลาในการร่างกฎหมายลูกอีก 8 เดือน แล้วก็ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาอีก 2 เดือน จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 5 เดือนเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เท่ากับว่า เบ็ดเสร็จแล้ว กรธ. ได้ต่ออายุให้คสช. เพิ่มอีก 5 เดือนจากโรดแมปเดิม
อย่างไรก็ดี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า โรดแมปใหม่ของ กรธ.ที่ใช้ระบบ 6-4-8-5 จะเพิ่มเวลาจากโรดแมปเดิมอีก 3 เดือน แต่กรธ.ก็สามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้เนื่องจากกฎหมายลูกที่ต้องทำทั้งหมดมี 8 ฉบับ แต่กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีจำนวน 5 ฉบับ คือ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายการได้มา ส.ว. และกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งหาก 5 ฉบับนี้เสร็จก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้แล้ว เพราะอีก 3 ฉบับที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าคิดว่า 8 ฉบับใช้เวลา 8 เดือน หากเอา 5 ฉบับก็ใช้จะเวลา 5 เดือน แล้วจึงไปบวกเวลาที่เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกก็อาจจะสั้นลงได้
แต่คำมั่นสัญญาครั้งใหม่นี้จะเชื่อถือได้ขนาดไหน ในเมื่อข้อความตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้รัดกุมเฉกเช่นที่รองนายกรัฐมนตรีพูดมา เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องร่างกฎหมายลูกให้เสร็จทั้งหมดก่อนหรือเฉพาะกฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง แถมยังต้องรอประชามติผ่านก่อนถึงเริ่มร่างได้ และในกรณีที่ กรธ. ยกร่างกฎหมายลูกไม่ทันตามกรอบเวลาก็ต้องพ้นจากหน้าที่ไป แล้วต้องเพิ่มเวลาจากการที่ คสช. ต้องตั้งกรธ. ชุดใหม่ขึ้นมาร่างต่อ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเนิ่นนานขนาดไหน
หากไปดูกรณีศึกษาจากรุ่นพี่ที่เคยทำการรัฐประหาร อย่างตอนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 วางโรดแมปว่า ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวัน นับแต่วันที่สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต่อจากนั้นให้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวัน
ดังนั้น ในตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมีกรอบขั้นตอนชัดเจนว่า ร่างกฎหมายลูกรอไว้ก่อน และเอาเฉพาะกฎหมาย “ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง” โดยให้เวลา 45 วัน ส่วนสนช. ก็ให้พิจารณาภายใน 45 วัน รวมแล้วใช้เวลาในการยกร่างและพิจารณาแค่ 3 เดือน และให้เวลาจัดการเลือกตั้งอีก 3 เดือน รวมแล้วหากประชามติผ่านจนไปถึงการเลือกตั้งจะใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน
และพอเอาเข้าจริง เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติในเดือนสิงหาคม การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นได้ในเดือนธันวาคม ซึ่งรวมแล้วใช้เวลาจริงๆ ไป แค่ 5 เดือน ก็สามารถทั้งร่างกฎหมายลูกและเตรียมการจัดการเลือกตั้งได้
แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ต้องรอประชามติผ่านก่อนถึงจะเริ่มร่างกฎหมายลูกซึ่งใช้เวลา 8 เดือน และต้องรอให้สนช. พิจารณากฎหมายลูกอีก 2 เดือน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอีก 5 เดือน รวมแล้ว หากประชามติผ่านกว่าจะไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องใช้เวลา 15 เดือน
ซึ่งนี่คือทางเลือกที่รัฐบาลคสช. และกรธ. วางไว้หากประชามติผ่าน โดยเฉพาะในยามที่เงื่อนไขประชามติก็ยังไม่ชัดว่า หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แล้วคสช. จะดำเนินการอย่างไรต่อ…
You May Also Like
อ่าน

ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งตอนไหน? ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์แต่ประเทศ

วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันที่ทั้งโลกร่วมรำลึกถึงขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงทั่วโลกที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้แรงงานที่กดขี่และเอาเปรียบ ในโอกาสวันสตรีสากล ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง ห้าประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ไทย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และปากีสถาน ว่าผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งกันเมื่อไร
อ่าน

13 ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ทำไมรัฐบาลควรรีบมีรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ “ที่มา” จากคณะรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาในเชิง “เนื้อหา” ด้วยไม่แตกต่างกัน ถือเป็นโอกาสอันดีและควรเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการกำจัด “ผลไม้พิษ” อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 และยุติปัญหาที่กระทบประชาชนทั้งประเทศโดยไม่ประวิงเวลาออกไปมากกว่านี้