โตมร ศุขปรีชา – เรื่องสิทธิขาดพลัง ในสังคมที่ “อำนาจนิยม” เป็นใหญ่

เว็บไซต์ประชามติ (Prachamati.org) เป็นการร่วมมือของสื่อทางเลือกและองค์กรภาคประชาสังคม ที่ทำหน้าที่ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและการลงคะแนน “เห็นด้วย” กับ “ไม่เห็นด้วย” ต่อประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและประเด็นทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมา เว็บไซต์ประชามติได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมทั้งสิ้น 18 ประเด็น อาทิ การสมรสของคนเพศเดียวกัน ให้การขายบริการทางเพศและคาสิโนถูกกฎหมาย การยุบ อบต. อบจ. การจัดระเบียบทางเท้า-ยกเลิกสะพานลอย การปฏิรูปกองทัพ และการใช้ค่ายทหารเป็นเรือนจำชั่วคราว เป็นต้น (ดูทั้งหมด)

ทั้งนี้ จากการทำงานเกือบ 1 ปี พบว่า เรื่องที่คนสนใจมากที่สุดคือเรื่อง “กัญชาควรถูกกกฎหมาย” ในขณะที่เรื่อง การจัดระเบียบทางเท้า-ยกเลิกสะพานลอย การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร การใช้ค่ายทหารเป็นเรือนจำ เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมน้อย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จึงไปชวนคุยกับ “โตมร ศุขปรีชา” คอลัมนิสต์ และพิธีกรรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” หนึ่งในผู้เฝ้ามองและใกล้ชิดกับวัฒนธรรม-ความคิด-ความเชื่อ ที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทย เพื่อตรวจสภาพของสังคม

คนรวมตัวกัน และสนใจเฉพาะปัญหาใกล้ตัวหรือกระทบกับตัวเขาจริงๆ 

โตมร เล่าให้ฟังว่า เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ ส่งผลให้คนจากอีกมุมหนึ่งเห็นปัญหาของคนอีกมุมหนึ่ง และเชื่อมโยงคนที่มีปัญหาที่แบบเดียวกันเข้าด้วยกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่คนหลายคนบนโลกก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้คนไม่ได้โดดเดียวเหมือนกับแต่ก่อน และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดเป็นพลังทางสังคมขึ้นมาได้

แต่การที่คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนจะหันมาสนใจในทุกปัญหาของสังคม และคนเลือกจะสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวเองมากกว่า ยกตัวอย่าง กลุ่มทางสังคม เช่น กลุ่มซาดิสม์ (sadism) และ มาโซคิสม์ (masochism) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีรสนิยมทางเพศที่ต้องพึ่งพาความเจ็บปวดเพื่อให้ตัวเองมีความสุข กลุ่มเหล่านี้สามารถรวมตัวกันได้ง่ายมากขึ้น และถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง มันก็ได้สร้างกลุ่มก้อนของคนในลักษณะเดียวกันขึ้นมา

อย่างไรก็ดี โตมร วิเคราะห์ข้อเสียว่า ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่เป็นเช่นนี้ คนจึงเลือกสนใจแต่เฉพาะปัญหาใกล้ตัวหรือกระทบกับตัวเขาจริงๆ ถ้ายังไม่ใช่ประเด็นที่กระทบต่อคนส่วนมาก หรือทำให้คนส่วนมากรู้สึกได้ว่าสิ่งเหล่านี้กระทบต่อตัวของเขา ก็จะไม่มีคนสนใจ

ความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างทางชนชั้น คือสิ่งที่ทำให้คนเลือกสนใจบางปัญหา

แม้ว่าการเข้าถึงข้อมูลจะง่ายขึ้น ทำให้คนเห็นปัญหาร่วมกันได้มากขึ้น แต่ว่าทุกคนก็ไม่ได้สนใจทุกปัญหาของสังคมเสมอไป จากข้อมูลที่เว็บไซต์ประชามติได้ทำการรวบรวมมา พบว่า คนให้ความสนใจกับประเด็นทางสังคม อาทิ การจัดระเบียบทางเท้า หรือการยกเลิกสะพานลอย น้อย แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะดูใกล้ชิดกับผู้คน แต่เรื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดกลับเป็นเรื่อง “กัญชาควรถูกกฏหมาย เห็นด้วยหรือไม่”

โตมร ตั้งข้อสังเกตต่อปรากฏการณ์นี้ว่า อาจเป็นเพราะเรื่องกัญชามีจุดร่วมทางชนชั้น เพราะ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือคนที่มีฐานะร่ำรวยต่างก็พึงพากัญชาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะนำมาใช้ประกอบอาหาร หรือใช้เสพเพื่อความบันเทิงเป็นปกติ ขณะที่เรื่องทางเท้าที่ดูเหมือนใกล้ตัวก็ยังเป็นเรื่องของคนชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งอยู่ ซึ่งคนอาจจะให้ความสำคัญกับรถยนต์มาก ถนนหนทางถูกออกแบบมาเพื่อคนใช้รถ ทำให้คนต้องการที่จะเลื่อนชนชั้นเพื่อไปใช้รถมากกว่าเปลี่ยนแปลงสังคม และมองว่าเรื่องทางเท้าเป็นปัญหาของคนจนที่ไม่มีรถส่วนตัวก็เป็นได้

หรือกรณีการยกเลิกสะพานลอยนั้น มีคนลงคะแนนไม่มาก และส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีสะพานลอย ก็อาจจะสะท้อนได้ว่า คนที่มาลงคะแนนกลุ่มนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนทุกคนอย่างเท่ากัน เพราะถ้าจะมีคนเดินข้ามถนนก็ต้องออกแบบให้คนทุกคนข้ามได้ และสะพานลอยเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบมาเพื่อให้รถยนต์ไม่ต้องลำบากกับผู้คนที่ข้ามถนน ซึ่งก็แลกมาด้วยความยากลำบากในการใช้งานของผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ดังนั้น เวลาพูดถึงคำว่า “คนเท่ากัน” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า คนทุกคนเท่ากันในความเป็นจริง แต่เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับในความหลากหลาย ในประเด็นสำคัญต้องได้รับการดูแลอย่างเสมอกัน

สังคมเคยชินกับวัฒนธรรมแบบ “อำนาจนิยม” ทำให้เรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นเรื่องไกลตัว

ไม่ใช่แค่เรื่องความแตกต่างทางชนชั้น หรือความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนไม่สนใจในบางปัญหา แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความสนใจของผู้ใช้สื่อออนไลน์ ซึ่ง โตมร มองว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่สอดแทรกอยู่ในสังคม ทำให้คนไม่สนใจบางปัญหาโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเมื่อดูจากประเด็นคำถามของเว็บไซต์ประชามติ เรื่องการใช้ค่ายทหารเป็นเรือนจำชั่วคราว การจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกัน หรือการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร กลับพบว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจในวงกว้าง

คนไม่รู้สึกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัว คนในสังคมไทยยังถูกปลูกฝังให้เป็นพลเมืองที่ดีโดยกำหนดจากหน้าที่ แต่กลับไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องสิทธิ ทั้งที่สิทธิต้องมาก่อนและเป็นตัวกำหนดหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงมีลักษณะเป็น “สังคมอำนาจนิยม” และคนไทยก็เคยชินกับการอยู่ในโครงสร้างอำนาจในแนวดิ่ง

โตมร กล่าวสรุปว่า การที่มีคนลงคะแนนในประเด็นสิทธิมนุษชนน้อย คือเครื่องยืนยันชั้นดีว่า สังคมของเราเป็นสังคมที่มีลักษณะเป็นอำนาจนิยม ดังนั้น การจะทำให้คนเห็นว่า “ทุกคนเท่ากัน” และเคารพซึ่งกันและกันจึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่เป็น “อำนาจนิยม” ให้ได้เสียก่อน

“วัฒนธรรมอำนาจนิยม” ทำให้คนเบื่อหน่ายและไม่ค่อยสนใจการร่างรัฐธรรมนูญ

มิใช่แค่เรื่องสิทธิมนุษชนที่ไม่ได้รับความสนใจ โตมร มองว่า เรื่องรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน โดยเขาแบ่งกลุ่มประเภทของคนเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่อยากจะแก้ไขโครงสร้างแบบวัฒนธรรมอำนาจนิยม แต่ก็ไม่สามารถจะทำได้ เนื่องจากกลไกและเงื่อนไขในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้คนได้เปลี่ยนแปลง หรือสร้างทางเลือกใหม่ นอกเหนือไปจากที่ผู้ร่างปัจจุบันกำหนด เหมือนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญออกมา แล้วคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็จะให้คนกลุ่มเดิมร่างกันต่อไป และวนอยู่ในวัฐจักรเดิมๆ อยู่ดี

ส่วนคนกลุ่มที่สองคือ คนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจการร่างรัฐธรรมนูญเลย ซึ่งเป็นผลมาจากความเคยชินของการอยู่ในโครงสร้างที่เป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยม กล่าวคือ วัฒนธรรมที่คนมีอำนาจเป็นผู้ตัดสินใจเด็ดขาดว่าสังคมควรจะได้อะไร ดังนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะขาดความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องรัฐธรรมนูญ และฝากตัวเองไว้กับใครก็ได้ที่สัญญาว่าเขาจะทำให้เรามี “ความสุข”

ดังนั้น การที่จะให้คนหันมาสนใจรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะคนจำลองตัวเองเหมือนเป็นหน่วยย่อยของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ และซึมซับวัฒนธรรมแบบนั้น จึงยากที่จะให้คนมามีส่วนร่วมและกลายเป็นสังคมประชาธิปไตย ที่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง มิใช่แค่การรับฟังคำสั่งจากโครงสร้างส่วนบน

สังคมและโครงสร้างส่วนบนต้องปรับตัวตามแนวราบ เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง

เนื่องจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมยังคงฝังลึกในสังคมไทยทำให้ โตมร รู้สึกกังวลว่า หากผู้มีอำนาจไม่คิดที่จะปรับตัว และมองว่าการรับฟังคนทุกคนเป็นสังคมที่ไร้ระเบียบ บกพร่อง ขัดแย้ง ท้ายที่สุดสังคมแบบนี้จะบ่มเพาะความรุนแรง และสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนระเบิดเวลาแห่งความขัดแย้ง

เพราะประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตย สังคมที่เป็นอารยะ จะเปิดโอกาสให้คนได้วิพากษ์วิจารณ์ ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง สามารถถกเถียงและหาบทสรุปร่วมกันได้อย่างสันติ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ จะทำให้สังคมนั้นไม่หลอกตัวเอง และเข้าใจทิศทางของสังคมมากขึ้น เพราะหากเป็นสังคมแบบบนลงล่างก็จะมีความคิดความเชื่อว่าความดีงามเป็นไปแบบที่ผู้มีอำนาจยึดถือเท่านั้น

เมื่อผู้คนในสังคมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น สังคมก็จะเริ่มเปลี่ยน กลายเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบมากขึ้น และหากโครงสร้างในแนวดิ่งไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว สุดท้ายก็จะพังทลายลงมา เว้นเสียแต่ว่าจะหลีกหนีความเปลี่ยนแปลงด้วยการปิดประเทศ หรือควบคุมการไหลเวียนข้อมูลด้วยซิงเกิ้ลเกตเวย์ (การควบคุมข้อมูลที่ไหลเวียนในอินเตอร์เน็ตให้เหลือทางเดียว) หรือก็กลายเป็นสังคมแบบเกาหลีเหนือแทน

แต่ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่เรียกร้องความเสมอภาคทางการเมืองก็จำเป็นจะต้องมองเห็นประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมในมิติอื่นๆ อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้แยกขาดจากเรื่องการเมือง หรือกล่าวได้ว่าเรื่องการเมืองไม่ได้มีแต่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้สังคมเป็นประชาธิปไตย เราไม่สามารถจะมองแยกส่วนกัน แต่ควรยอมรับความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมแทน