iLaw รวม 10 เรื่องเด่น ประจำปี 2558

1. "ละเมิดสิทธิฯ เพื่อชาติ" กับมาตรการสอดส่องในโลกไซเบอร์



เริ่มปี 2558 กันอย่างตื่นเต้น เมื่อความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะควบคุมการสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
ร่างกฎหมายชุด "ความมั่นคงดิจิตอล" อันได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มั่นคงไซเบอร์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปราบปรามสิ่งยั่วยุวิธีพิจารณาความอาญา "ดักฟัง" ทำให้ภาคประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยมีภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะชุดกฎหมายที่ควรจะเป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ทว่ากลับสอดแทรกไปด้วยเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล นับเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล หลังมีข่าวออกมาผู้ช้เน็ตตื่นตัวออกมาส่งเสียงคัดค้านกันอย่างหนาตา จนผู้เกี่ยวข้องหลายคนออกมายอมรับถึงปัญหาในร่างกฎหมายชุดนี้เพื่อลดแรงกดดัน แต่ทว่าร่างกฎหมายก็ยังไม่ได้ถูกถอดออกไปโดยสิ้นเชิง เพียงแต่รอระยะเวลาที่จะเผยให้ประชาชนได้จับตาดูเนื้อหาสาระของชุดกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง

 

ภาพจาก เครือข่ายพลเมืองเน็ต

 

ความพยายามความคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลยังคงไม่จบ เมื่อช่วงเดือนกันยายน มีเอกสารอ้างอิงมติ ครม.ระบุ มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ความตื่นตระหนกของสังคมทำให้มีผู้ร่วมลงชื่อต่อต้านโครงการดังกล่างอย่างน้อย 152,875 คน ผ่านเว็บ change.org จนสุดท้ายรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงและปฏิเสธว่าไม่ได้คิดจะริเริ่มโครงการนี้แต่ประการใด

 

2. ใช้มาตรา 44 เป็นยาสารพัดนึก รักษาโรคครอบจักรวาล



การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 2558 ตั้งแต่เดือนเมษายน หลังการยกเลิกกฎอัยการศึก และใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติฯ มาใช้แทน โดยให้ทหารมีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. โดยมีอำนาจสอบสวน อำนาจจับกุม และเรียกบุคคลมารายงานตัว หลังจากนั้นคำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ก็ทยอยออกตามมาเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ ได้สารพัดชนิดครอบจักรวาล จนนับกันแทบจะไม่ทัน

 



 

ตลอดทั้งปีแล้ว คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 อย่างน้อย 40 ครั้ง ซึ่งมีการออกคำสั่งในหลายเรื่องนับตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ เช่น การควบคุมเด็กแว้น, การควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล, การโยกย้ายข้าราชการ, การปราบปรามยาเสพติด, การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ, การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร [ดูรวมผลงานการใช้อำนาจตามมาตรา 44 คลิกที่นี่]  

 

3. ปรากฏการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่



ช่วงต้นปี 2558 บรรยากาศการชุมนุมหรือการแสดงออกในที่สาธารณะเป็นไปอย่างเงียบเหงา เพราะการปิดกั้นที่เข้มงวดต่อเนื่องมากจากปีก่อน ส่วนกิจกรรมที่จัดหากไม่ถูกห้าม ผู้จัดก็ถูกควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม มีหลายกลุ่มออกมาจัดกิจกรรมและถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าจับกุม เช่น
นักศึกษากลุ่มดาวดิน ออกมาชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น หรือกลุ่มนักศึกษา จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 



นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักศึกษาที่ถูกจับจากหน้าหอศิลป์ฯ รวมตัวกันทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ประกาศทำอารยะขัดขืน ไม่หนี ไม่ให้ความร่วมมือ และเดินหน้าจัดการชุมนุมต่อเนื่อง จนถูกจับกุมอีกครั้งในเย็นวันที่ 26 มิถุนายน และ
นักกิจกรรม 14 คน ถูกส่งเข้าเรือนจำ สังคมและสื่อกระแสหลักให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้อย่างมากอย่างมาก หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวจนเกิดเป็นกระแส มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนในเดือนกรกฎาคมศาลทหารสั่งปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากนั้นกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้งดำเนินไปได้ แม้เจ้าหน้าที่จะยังคุมเข้มและพยายามกดดันด้วยหลายวิธีการ แต่ก็ไม่มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามหรือการจับกุมอีก 

 

ภาพจาก ประชาไท



พอจะกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์กระแสสังคมจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ได้เปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองให้ขยายขึ้นได้เล็กน้อย ในช่วงเวลาหนึ่งภายใต้รัฐบาลคสช. อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงปลายปีเกิดกระแสวิจารณ์เรื่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์ สถานการณ์การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการจัดกิจกรรมต่างๆ ก็กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง

 

4. ชาวโลกตะลึงกฎหมายหมิ่นไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ติดคุก 60 ปี

 

ในปี 2558 ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือ มาตรา 112 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวเฉพาะศาลทหารมี 10 คดีที่มีคำพิพากษา ในเดือนมีนาคม คดีของเธียรสุธรรม  ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 5 กรรมจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุกรวม 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี, ต่อมาในเดือนสิงหาคม คดีของพงษ์ศักดิ์ ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 6 กรรม จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี, และ ศศิวิมล ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาว่ามีความผิดรวม 7 กรรม ลงโทษกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี ลดเหลือ 28 ปี ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีโทษหนักเป็นประวัติการณ์ หลังศาลมีคำพิพากษาสื่อต่างประเทศให้ความสนใจและคดีเหล่านี้ถูกรายงานเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

 



นอกจากความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศแล้ว ด้านโฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ก็ออกมาแสดงความกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักการของสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติด้วย



5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ “คสช. ร่างเอง คว่ำเอง”



ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ของคณะกรรมาธิการที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนและที่มาทุกอย่างจาก คสช. เปิดออกมาให้สาธารณะชนได้เห็นอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกวิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งถูกสอดแทรกเข้ามาตามความต้องการของ คสช. 

 

ภาพจาก ข่าวสด



อย่างไรก็ตามวันที่ 6 กันยายน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 คน หลังการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่วิจารณ์ว่าการคว่ำร่างฉบับนี้เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างหนัก และหากปล่อยไปถึงประชามติอาจจะไม่ผ่านและสร้างความขัดแย้ง คสช.จึงต้องการคว่ำร่างโดยส่งสัญญาณไปยัง สปช.สายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ทั้งอดีตและปัจจุบันเพื่อให้ลงมติไม่รับรองดังกล่าว ผลของการคว่ำร่างคือ คสช.ต้องตั้งคณะกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมายกร่างต่อไป พร้อมกับขยายเวลาการอยู่ในอำนาจต่อไป

 

6. โลกออนไลน์ค้านกฎหมายกำลังพลสำรอง



เป็นที่วิจารณ์กันอย่างมากในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน
ร่างพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกระทรวงกลาโหมเรียกชายไทยทุกคนที่ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วกลับเข้ามารับการฝึกอีกครั้งในฐานะกำลังพลสำรอง สำหรับระยะเวลาการฝึก หรือวิธีการเรียกยังไม่กำหนดแน่ชัด ต้องรอกฎกระทรวงมารองรับ นอกจากนี้นายจ้างต้องให้ความร่วมมือด้วยการให้ลูกจ้างมารับการฝึกโดยยังต้องจ่ายเงินเดือนต่อไป กฎหมายฉบับนี้เป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสม เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีทหารกองประจำการจำนวนมาก ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดภัยสงคราม และยังหวั่นว่ากฎหมายจะเป็นช่องทางใหม่ให้ทหารคอร์รัปชั่น ขณะที่ผู้ประกอบการเองไม่คุ้มค่าหากต้องจ่ายเงินเดือน โดยไม่ได้ผลตอบแทน ลูกจ้างเอง ก็มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระอาจต้องสูญเสียรายได้ไปเลย กระแสเรื่องนี้นำมาสู่การรณรงค์คัดค้านในโลกออนไลน์เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง change.org และ prachamati.org

ภาพจาก ประชาไท



7. "ความตายที่ไม่ได้พิสูจน์" บทเรียนปริศนาของ หมอหยอง-สารวัตรเอี๊ยด



ภายหลังเกิดกระแสข่าวการควบคุมตัว สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" หัวเรือใหญ่ในการจัดกิจกรรม “Bike for Mom” เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวว่าเป็นเพียงข่าวลือ แต่หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง วันที่ 21 ตุลาคม สุริยัน สุจริตพลวงศ์, พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หรือ "สารวัตรเอี๊ยด" และเลขานุการของสุริยัน ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร ในข้อหาตามมาตรา 112 จากกรณีแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อรับผลประโยชน์ ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งเป็นเรือนจำชั่วคราว จากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์่ไม่คาดฝัน เมื่อกรมราชทัณฑ์ออกแถลงการณ์  เรื่องการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ
สารวัตรเอี๊ยด โดยระบุว่าฆ่าตัวตาย และจากนั้นไม่นานก็มีการแถลงข่าว ว่า หมอหยอง ก็เสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

 

ภาพจาก ไทยพับลิกา



สองกรณีดังกล่าวไม่ได้มีการไต่สวนการตายโดยศาล ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดว่า หากเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ต้องชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย ซึ่งทำให้สาเหตุการตายที่แท้จริงของทั้งคู่ยังคงเป็นเพียงเรื่องซุบซิบกันในสังคมต่อไป 



8. "เรือนจำในค่ายทหาร" สถานที่เร้นลับในค่ายทหาร มทบ.11



ภายหลังการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ทำให้เรือนจำพิเศษเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที เรือนจำพิเศษเกิดขึ้นเมื่อ
กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งให้ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำดังกล่าว เช่น อาเดม คาราดัก และไมไรลี ยูซูฟู ผู้ต้องขังคดีระเบิดแยกราชประสงค์, กลุ่มของ "หมอหยอง" ดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น และผู้ต้องหาคดีวางแผนป่วนกิจกรรม 'Bike for Dad'

 

ภาพจาก ประชาไท



จากการบอกเล่าของทนายความ ที่เข้าไปในเรือนจำแห่งนี้เล่าว่า บรรยากาศค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อนและมีกฎระเบียบที่ทำให้การทำงานมีความยากลำบาก อาทิ ต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังพร้อมอาวุธตลอดเวลา โดยผู้ต้องขังใส่ผ้าปิดตาและใส่กุญแจมือ-เท้า ระหว่างพูดคุยกับทนายความต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย และยังคอยจดบันทึกข้อความที่ทนายคุยกับผู้ต้องหา รวมถึงบันทึกเสียงอีกด้วย แม้ว่าจะมีความพยายามกดดันจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อขอเข้าไปตรวจสอบภายในเรือนจำ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต 



9. ขังคุก "ฐนกร" เมื่อการ กดไลค์-หมิ่นหมา เป็นอาชญากรรม



หลังกรณีการจับกุม ฐนกร พนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ด้วยข้อกล่าวหาส่งแผนภาพแสดงการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ไปยังเพจการเมืองหนึ่ง และต่อมาเขาถูกตั้งข้อหาเพิ่มจากการกดไลค์และแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่กล่าวถึง "สุนัขทรงเลี้ยง" เป็นผลให้สังคมวิตกกังวลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นอีกครั้งที่กฎหมายถูกตีความเกินไปจากตัวบทของมาตรา 112 ที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น

ภาพจาก เจ้าพระยา



อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมายืนยันว่าหากเป็นการกดไลค์ข้อความที่เป็นความผิด คนกดไลค์ก็ต้องมีความผิดไปด้วย ทำให้ประเด็นดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนต่อบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างมาก ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ออกแถลงการณ์ ว่า "การกดไลค์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน เพราะไม่มีฐานความผิดกำหนดไว้ในกฎหมาย และจะถือว่าเป็นการสนับสนุนไม่ได้เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งการกดไลค์ไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย"  [อ่านข้อถกเถียงทางกฎหมายเรื่องการกดไลค์ คลิก]



10. ส่องโกงราชภักดิ์ เท่ากับยุยงปลุกปั่น  



ความน่าสงสัยการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์  เป็นประเด็นที่คนในสังคมพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงปลายปี 2558 กองทัพบกในฐานะผู้ดำเนินการจัดสร้าง ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทุจริต และผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรม 
"ส่องกลโกงอุทยานราชภักดิ์" ซึ่งมีคนที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกจับกุม อย่างน้อย 36 คน 

 



การทำกิจกรรมและวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่การตั้งข้อหายุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับบุคคลอย่างน้อย 3 คน คือ จุฑาทิพย์ ฐนกร และ ธเนตร และนักกิจกรรมอีก 11 คนถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กรณีของธเนตรและฐนกร นั้นระหว่างสอบสวนถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับโดยไม่แจ้งข้อกล่าวและไม่ให้พบญาติหรือทนายความ โดยอาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ด้วย