บันทึก 22 วัน ทำไมร่างจีเอ็มโอถึงล่ม?

ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ… หรือ ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เป็นกฎหมายที่มีการถกเถียงกันมายาวนาน ช่วงปลายปีที่แล้วมีการเสนอเข้าสู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ก็ถูกตีตกไป จนกระทั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานรัฐเอง ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ ทส.นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับไปทบทวน
เป็นเวลาเพียง 22 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.เห็นชอบ จนถึงวันที่ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ถือเป็นถอยที่รวดเร็วของรัฐบาลทหาร เมื่อเปรียบเทียบกับประเด็นอย่าง single gateway หรือ ชุดร่าง พ.ร.บ.ความมั่งคงดิจิทัล มีหลายปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จยอมล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ อาทิ บรรยากาศการต่อสู้ทางความคิดที่เข้มข้นของสังคม กลุ่มพลังทางสังคมที่หลากหลายร่วมกันคัดค้าน หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่รัฐบาลทหารกำลังเผชิญ  
ย้อนดูไทม์ไลน์การเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ และการวิเคราะห์จาก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ว่าทำไม ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ถึงล่ม?
24 พฤศจิกายน 2558 ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ให้เกิดวามปลอดภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับสากล
25-26 พฤศจิกายน 2558  รายการคม-ชัด-ลึก จัดดีเบทนักกฎหมายและนักวิทยาศาสตร์ ตอน GMO…ถูกกฎหมาย? 
27 พฤศจิกายน 2558  ชมรมแพทย์ชนบทส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจากร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ
30 พฤศจิกายน 2558 เว็บไซต์ change.org เปิดแคมเปญรณรงค์ให้ หยุด ร่างพ.ร.บ. จีเอ็มโอ โดยนับถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 มีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 19,926 คน
1 ธันวาคม 2558 สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับ 13 เครือข่ายภาคเกษตร เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน สมาคมแป้งมันสำปะหลัง สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ประชุมด่วนเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ
8 ธันวาคม 2558 รายการ เถียงให้รู้เรื่อง ช่อง ThaiPBS จัดวิเคราะห์ปัญหาและช่องโหว่ของร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ 
9 ธันวาคม 2558 ตัวแทนองค์กรเครือข่ายด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภค นำจดหมายเปิดผนึกซึ่งลงนามโดย 123 องค์กร 50 จังหวัด มายื่นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอต่อ สนช. ขณะที่จังหวัดต่างๆ เช่น สุราษฎร์ธานี กระบี่ แพร่ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี มีการรวมตัวกันที่ศาลกลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล 
10 ธันวาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ไม่เคยคิดให้มีจีเอ็มโอในประเทศไทย ใครคิดก็บ้าแล้ว”
14 ธันวาคม 2558 ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร เข้ายื่นหนังสือต่อสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เพื่อขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ไว้ก่อน พร้อมเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมาย จำนวน 6 คน
15 ธันวาคม 2558 นายกรัฐมนตรีสั่งให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เนื่องจากเป็นพันธะสัญญาที่พูดคุยมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งต่างประเทศมีไว้เพื่อรองรับในภาวะเกิดสงคราม ผลิตสินค้าทางการเกษตรไม่ได้ หรือเกิดโรคระบาดซึ่งคาดว่าประเทศไทยคงยังไม่จำเป็นต้องใช้ จึงมีคำสั่งยกเลิกไปก่อน
ทั้งนี้ ครม.มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในมุมที่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมให้รอบคอบเสียก่อน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้การคัดค้านครั้งนี้ที่ประสบความสำเร็จว่า เพราะการเคลื่อนไหวมีองค์ประกอบครบ คือ 1.เหตุผลและเนื้อหามีความหนักแน่น และหน่วยรัฐเอง เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงพาณิชย์ก็ท้วงติงด้วย
2.การวิเคราะห์กฎหมายทำให้เห็นข้อบกพร่องชัดเจน โดยเฉพาะการที่ร่างกฎหมายไม่เป็นไปตามหลักพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ต้องยึดถือในการควบคุมจีเอ็มโอ 3.นโยบายรัฐบาลขัดแย้งกันเอง เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศว่าจะปฏิรูปและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่การจะออกร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอเป็นเรื่องสวนทางกับสิ่งที่ประกาศไว้ ทำให้หลายกลุ่มไม่พอใจและตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐบาลทำ
วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกลุ่มคนที่ร่วมเคลื่อนไหวจะเห็นว่ามาจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่เอ็นจีโอ แต่มีนักธุรกิจ เกษตรกรและคนในเมืองร่วมด้วย มีการเคลื่อนไหวในจังหวัดต่างๆ กว่า 50 จังหวัด มีการลงชื่อใน change.org โดยคนกลุ่มใหญ่หรือเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้บริโภคในเมือง และกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา 
“เหตุผลหลักๆ ที่รัฐบาลยอมถอยคงเพราะเหตุผลทางการเมือง เพราะไม่ต้องการให้คนอยู่ตรงข้ามรัฐบาลมากกว่านี้” วิฑูรย์กล่าว และทิ้งท้ายว่า
จากนี้ไปการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอคงต้องรออีกพักใหญ่ แต่เชื่อว่าจะมีการผลักดันอีกแน่นอน โดยอาจจะไม่ใช่ในรูปของกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการรองรับการปลูกจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ส่วนการเคลื่อนไหวของเราก็จะมีต่อไปเพราะเราไม่ได้ต้านกฎหมายอย่างเดียว แต่เรามีเป้าหมายให้ประเทศมีทิศทางนโยบายแบบเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่กว่าจีเอ็มโอ