ร่างกฎหมาย GMO เปิดช่องผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิด อ้าง “เหตุสุดวิสัย”

ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพหรือ ร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีท่ามกลางเสียงท้วงติงจากภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐเองหลายประเด็น เช่น การใช้จีเอ็มโอในสภาพควบคุมหรือในภาคสนามที่ไม่ต้องทำ EIA หรือผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย รวมถึงการเขียนกฎหมายแบบเปิดโอกาสให้มีการใช้จีเอ็มโออย่างเสรี

สองทศวรรษ จากทดลองปลูกสู่ร่างกฎหมาย จีเอ็มโอ

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า จีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น ปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อโรค เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น  ซึ่งพืชจีเอ็มโอได้รับอนุญาตให้ปลูกทดลองครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2538  และพบการหลุดรอดของฝ้ายจีเอ็มโอ หรือ ฝ้ายบีที จากแปลงทดลองไปสู่พื้นที่เกษตรกรในปี 2542 ทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้านการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดและเสนอให้รัฐบาลควบคุมการทดลองอย่างเข้มงวด ซึ่งในปี 2544 ก็มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ห้ามปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในภาคสนามจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

ต่อมาปี 2547 มะละกอจีเอ็มโอที่ปลูกโดยหน่วยงานรัฐหลุดออกไปพื้นที่เกษตรกรอีกครั้ง และในปี 2550 มีการตรวจพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอทำให้มะละกอของไทยถูกสหภาพยุโรป (EU) ตีกลับ หลังจากนั้นได้มีมติ ครม. วันที่ 25 ธันวาคม 2550 ให้การทดลองจีเอ็มโอสามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาต ครม. เป็นครั้งๆ ไป และทดลองได้เฉพาะในสถานที่ราชการเท่านั้น นอกจากนี้ก่อนทำทดลองต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รับฟังความเห็นประชาชนในท้องถิ่น นักวิชาการ และเอ็นจีโอ

 

ร่างกฎหมายจีเอ็มโอหรือร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ เคยเสนอเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่สมาชิกส่วนใหญ่คัดค้านจึงถูกถอนออกมา เนื่องจากมีเนื้อหาคุ้มครองผู้สร้างความเสียหายมากกว่าผู้เสียหาย ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อ ครม.และได้รับการเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558

 

เปิดเนื้อหาร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอ ฉบับ ครม.

ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ นี้ไม่บังคับใช้กับจีเอ็มโอที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญ ดังนี้

ขาดตัวแทนประชาชนเป็นกรรมการ

ตั้ง “คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ” โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานรัฐ 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เกษตร กฎหมาย ฯลฯ ไม่เกิน 10 คน มีหน้าที่เสนอแนะให้คำปรึกษา ครม.ในการปรับปรุงกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ กำหนดมาตรการส่งเสริมการวิจัย รวมถึงการวินิจฉัยอุทธรณ์

โดยในส่วนนี้มีข้อสังเกตว่า ไม่มีตัวแทนภาคประชาชน เกษตร ผู้บริโภค กลุ่มเกษตรอินทรีย์ หรือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบร่วมเป็นกรรมการ

 
นักกฎหมายห่วงเปิดเสรีจีเอ็มโอ

ด้านการควบคุมทั่วไป มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ห้ามผลิตหรือนำเข้า ถ้าฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในมาตรา 17 นี้ มีข้อท้วงติงจาก ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าการบัญญัติเช่นนี้เหมือนเป็นการเปิดเสรีจีเอ็มโอ เพราะจีเอ็มโออะไรก็ตามสามารถนำเข้ามาได้หมด ยกเว้นจีเอ็มโอที่ประกาศห้ามไว้ ซึ่งขัดแย้งกับ “หลักการป้องกันไว้ก่อน” ในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ไทยเป็นภาคี อันที่จริงควรบัญญัติในลักษณะห้ามไม่ให้มีการผลิตหรือนําเข้าจีเอ็มโอทุกชนิด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ทดลองหรือดำเนินการได้ (อ่านการวิเคราะห์ร่างของอ.สมชายได้ที่นี่)

ขณะที่มาตรา 18 ระบุว่า เจ้าของหรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมีหน้าที่ต้องดูแลการขนส่ง เก็บรักษา บรรจุ จัดทำเอกสารกำกับ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เว้นแต่คณะกรรมการประกาศให้ยกเว้นไม่ต้องทำ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท  และถ้าเป็นจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

                   
       
 เครือข่ายเกษตรกรและประชาชนยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีให้ชะลอการเสนอร่างพ.ร.บจีเอ็มโอต่อ สนช.

 

ครอบครอง-นำเข้า-ส่งออก จีเอ็มโอ ที่ไม่อยู่ในบัญชีฯโดยไม่ขออนุญาต เจอคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน

สำหรับจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และได้มาจากการพัฒนาขึ้นภายในราชอาณาจักร ถ้าผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะต้องแจ้งต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

ส่วนผู้ที่ต้องการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีฯ ให้ยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ โดยกรณีนำเข้าต้องระบุวัตถุประสงค์และข้อมูลเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้น ถ้านำเข้าเพื่อใช้ในสภาพควบคุมหรือในภาคสนามต้องแนบสำเนาใบอนุญาตมาด้วย  ส่วนการส่งออกต้องแสดงหลักฐานการอนุญาตของประเทศผู้นำเข้า เว้นแต่ประเทศผู้นำเข้าไม่มีกฎหมายห้ามการนำเข้าจีเอ็มโอ  หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 
จีเอ็มโอ ที่ใช้ในสภาพควบคุม-ภาคสนาม ไม่ต้องทำ EIA/EHIA

การใช้จีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีในสภาพควบคุมหรือในภาคสนามต้องได้รับอนุญาต และต้องมีรายละเอียดโครงการอย่างน้อย 6 ข้อ ได้แก่ แผนการใช้ในสภาพควบคุม, รายละเอียดเกี่ยวกับ สถานที่ ลักษณะอาคาร ห้องทดลอง, แผนการป้องกันการหลุดรอด, แผนปฏิบัติการฉุกเฉินกรณีหลุดรอด, แผนการกำจัดจีเอ็มโอหลังเสร็จสิ้นการใช้ และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ต้องรายงานผลการใช้ในสภาพควบคุมหรือในภาคสนามให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ ส่วนอายุของใบอนุญาตให้มีอายุระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่เสนอมา (มาตรา 26-32)

มีข้อสังเกตจากมูลนิธิชีววิถีว่า การใช้ในสภาพควบคุมหรือในภาคสนามนอกจากต้องมีรายละเอียด 6 ข้อแล้ว กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ซึ่งเป็นการถอยหลังไปกว่ามติ ครม. 25 ธันวาคม 2550 ที่ว่าด้วยการทดลองต้องมีการทำ EIA และ EHIA
 

                   
         
  เครือข่ายเกษตรกรและประชาชนยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีให้ชะลอการเสนอร่างพ.ร.บจีเอ็มโอต่อ สนช.

 

ถ้าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่าเสียหาย จะสั่งยกเลิกทดลองไม่ได้

ในมาตรา 35 กรณีที่มีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ปรากฏชัดเจนว่า การใช้ในสภาพควบคุมหรือในภาคสนามนั้นก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพมนุษย์ หรือสัตว์อย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกการใช้นั้นโดยต้องระบุเหตุผลชัดแจ้ง และให้ผู้รับใบอนุญาตทำลายหรือกำจัดจีเอ็มโอนั้น และให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นสุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งยกเลิก

หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนมาตรา 45-46 มีประเด็นคล้ายกัน ความว่า ผู้ใดที่ประสงค์จะผลิต ใช้ในกระบวนการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งจีเอ็มโอที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ให้แจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถ้ามีข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจีเอ็มโอที่อยู่ในบัญชีไม่ปลอดภัยหรือก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพมนุษย์หรือสัตว์  ให้นำจีเอ็มโอนั้นออกจากบัญชี พร้อมทั้งประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาและเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน และให้ผู้ครอบครองทำลายหรือกำจัดจีเอ็มโอนั้น

หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งสองกรณีข้างต้น มีข้อวิจารณ์ในประเด็นเดียวกันคือ การยกเลิกการทดลอง ต้องมีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์นานหลายปี ดังนั้นตามที่กติกาสากลกำหนดไว้จึงใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน กล่าวคือ แม้มีเหตุที่เชื่อได้ว่าจีเอ็มโอทำให้เกิดความเสียหาย ก็สามารถดำเนินการยกเลิกได้เลย

 
ฝ่าฝืนกฎ มีสิทธิถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใบอนุญาต 120 วัน

ถ้าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.นี้ กฎกระทรวง หรือประกาศ ให้มีหนังสือแจ้งผู้รับใบอนุญาตแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามหน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งมีกำหนดครั้งละไม่เกิน 120 วัน

หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนคำสั่งให้หยุดใช้ในสภาพควบคุมหรือภาคสนาม ฝ่าฝืนคำสั่งพักใบอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ. นี้ กฎกระทรวง หรือประกาศ หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทำผิดร่างพ.ร.บ.นี้ จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต

ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใดๆ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอน

ทั้งนี้ใบอนุญาตใช้ในสภาพควบคุมและใช้ในภาคสนาม ฉบับละ 10,000 บาท

                  

                                                         วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี

 

ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดถ้าเป็นเหตุสุดวิสัย

มาตรา 52 กรณีที่เกิดความเสียหายแก่สุขภาพมนุษย์หรือสัตว์ หรือแก่ความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชี ผู้ประกอบการต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ยกเว้น พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากการกระทำของผู้ได้รับความเสียหายเอง ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิด

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่า ในพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์เรื่องการรับผิดและชดใช้ความเสียหายภายใต้อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ กำหนดยกเว้นไม่ต้องชดใช้ความเสียหายสองกรณี คือ ภัยพิบัติตามธรรมชาติและสงคราม แต่ของไทยเปิดช่อง “เหตุสุดวิสัย” ไว้ด้วย ซึ่งอันตรายมาก เพราะปกติจีเอ็มโอมีความเสี่ยงมากที่จะผสมข้ามกับพืชทั่วไปและพืชในธรรมชาติ จึงเสี่ยงที่ศาลจะตีความว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

หน่วยงานราชการติง ร่างกม.กระทบเกษตรอินทรีย์ แนะถ้ามีความเสียหาย ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ

นอกจากภาคประชาสังคมแล้ว หน่วยงานราชการก็มีข้อท้วงติงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกัน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า ควรบัญญัติให้ชัดเจนในการห้ามผลิต นำเข้า หรือส่งออกจีเอ็มโอ เว้นแต่รัฐมนตรีได้ประกาศยกเว้น  และหากส่งเสริมจีเอ็มโอจะทำให้ไทยต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเกษตรกรในทุกมิติ พร้อมเสนอแนะว่า หากเกิดความเสียหายจากการดำเนินการ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบและต้องมีมาตรการคุ้มครองระบบเกษตรกร หากมีการปนเปื้อนเกิดขึ้น
 
ด้านกระทรวงพาณิชย์เสนอความเห็นว่า ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้นำเข้ามาทดลองเป็นรายกรณี แต่ก็ยังมีการปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ซึ่งจะสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ และยังกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยและภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีนโยบายยกระดับสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการออกกฎหมายลูกต้องรัดกุดกุม เพราะการควบคุมจีเอ็มโอทำได้ยากหากไม่มีแนวทางบังคับที่ชัดเจน
 

ไฟล์แนบ