วงเสวนาชี้ รัฐใช้มาตรา 44 พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ข้ามขั้นตอนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วงเสวนาชี้ รัฐใช้มาตรา 44 พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกระทบชาวบ้านหนัก และไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเพราะนักลงทุนไม่กล้าเข้ามาเกรงมีปัญหากับชาวบ้าน ขณะที่เอ็นจีโอกังวลว่ารัฐอาจใช้มาตรา 44 ซ้ำ เพื่อจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ง่ายขึ้น และห้ามชาวบ้านโต้แย้งสิทธิในที่ดิน

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2558  ที่ร้าน Root Garden ทองหล่อ จัดเสวนา Root Talk เขตเศรษฐกิจพิเศษ ของใคร โดยใคร เพื่อใคร ?  ที่มาของหัวข้อเสวนา สืบเนื่องมาจากการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ตาก ตราด สระแก้ว มุกดาหาร จำนวน 36 ตำบล คิดเป็นพื้นที่รวม 1.83 ล้านไร่ นอกจากนี้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งให้เวนคืนพื้นที่ 8,478 ไร่ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบ

จักรชัย โฉมทองดี จากองค์การ OxFam ประเทศไทย เริ่มต้นวงเสวนาจากคำถามที่ว่า

เศรษฐกิจพิเศษ เข้ามายังไง?

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ผู้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เล่าว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เคยมีความพยายามผลักดันกฎหมายตั้งแต่ปี 2545 แต่ก็ไปต่อไม่ได้ ปัจจุบันมีการใช้มาตรา 44 ประกาศเขตเศรษฐกิจที่แม่สอดกว่าหนึ่งแสนแปดหมื่นไร่ โดยใช้ตำบลเป็นขอบเขต ซึ่ง 80% ของตำบลเป็นป่า หลังประกาศก็ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในชั่วข้ามวัน โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบอะไรเลย และใครจะมาลงทุนพื้นที่ตรงนี้ก็ได้

นอกจากนี้หลังการประกาศก็ทำให้ราคาที่ดินของ 3 อำเภอในจังหวัดตากคือ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด พุ่งขึ้น 800 เท่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนักลงทุนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน จึงขอให้รัฐจัดพื้นที่ให้ ซึ่งพื้นที่ของรัฐก็คือพื้นที่ป่า ดังนั้นรัฐจึงต้องเพิกถอนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่ราชพัสดุเพื่อจะได้ออกโฉนดได้ จากนั้นเอกชนจึงจะเข้ามาลงทุนได้ โดยเปิดให้เอกชนเช่า 50 ปี และต่ออายุได้อีก 49 ปี

ตามปกติการเพิกถอนพื้นที่ป่าต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน (EIA) โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต้องทำประชาคม รับฟังความเห็นประชาชน แต่พอใช้มาตรา 44 ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ก็หมดไป ประกาศวันนี้ พรุ่งนี้เช้าที่ป่าสวนก็กลายเป็นที่ราชพัสดุแล้ว

ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกพื้นที่ 3 อำเภอนี้ เพราะนายกรัฐมนตรี เห็นว่าที่ตรงนี้มีคนเดือดร้อนน้อยที่สุด คือมีพื้นที่แค่ 10% ที่มีกรรมสิทธิ์ จากทั้งหมดสองพันไร่ ที่เหลือไม่ใช่ผู้เดือดร้อน แต่เป็นผู้บุกรุก

ประยงค์กล่าวอีกว่า ผมเห็นด้วยว่ารัฐมีสิทธิใช้ที่ดิน แต่ค่าชดเชยที่ชาวบ้านได้คือเพียงไร่ละเจ็ดพันบาท ชาวบ้านทุกพื้นที่ไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาที่ดีจริงต้องไม่มีคนถูกรังแก ซึ่งพื้นที่ในแม่สอดเป็นเขตชายแดนที่มีกฎอัยการศึกอยู่ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้น ไม่ได้เลย ทำให้ชาวบ้านประชุมกันไม่ได้ เพราะผิดกฎอัยการศึก มีทหารเข้าไปควบคุมเต็มไปหมด รัฐก็ปฏิเสธการชี้แจง เพราะ คสช.ใช้อำนาจสูงสุดไปแล้ว ข้าราชการในพื้นที่ก็ไม่อยากพูดอะไร พูดไม่ได้ เพียงให้ชาวบ้านรอฟังนโยบายจากข้างบน

ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำคือ  1.ต้องเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็น 2.ต้องไม่มีใครโดนแย่งยึดที่ดินแบบนี้ 3.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต้องไม่ถูกทำลาย ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าเขาจะออกคำสั่งใช้มาตรา 44 ปรับระบบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ชาวบ้านกังวลอีกอย่างคือ ถ้าเขตเศรษฐกิจพิเศษมา นอกจากที่ดินแล้ว เขาอาจจะต้องสูญเสียวิถีชีวิตแบบเดิมไป อาจอยู่ไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป เช่น พื้นที่ที่ใช้ตั้งด่านศุลกากรแห่งใหม่จะเปลี่ยนไปเลย เพราะจะรายล้อมไปด้วยโรงงาน

อย่างไรก็ดี คนที่แม่สอดอาจได้ประโยชน์โดยการเป็นแรงงาน แต่แรงงานต่างชาติฝั่งพม่าก็ราคาถูกกว่า จึงเป็นคำถามต่อมาว่า แม้แต่เป็นแรงงานคนในพื้นที่ยังมีโอกาสแข่งขันยากเลย นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าจะเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้การกดขี่แรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างถูกกฎหมายหรือไม่
 


 

วิทยากรจากซ้ายไปขวา: กานต์ ยืนยง, วิโรจน์ ณ ระนอง, ประยงค์ ดอกลำไย, จักรชัย โฉมทองดี

 

แล้วมีข้อพึงระวังอะไรบ้างในการใช้มาตรา 44  พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ?

กานต์ ยืนยง ผอ.สยามอินเทลลิเจนท์ยูนิต (SIU) มองว่า ถ้าใช้มาตรการเร่งด่วนแบบนี้ก็จะละเลยการทำความเข้าใจกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ ซึ่งบางทีคนไม่ได้ต้องการไปละเมิดกฎหมาย เพียงแต่ว่าเขาไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ในขณะที่นโยบายมันถูกสั่งการลงมา แล้วทำให้สภาพที่เขาอยู่มันผิดกฎหมาย เขาจึงต้องรับผิดชอบ ในขณะที่กระบวนการร้องเรียนทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะมีคำสั่งทับลงมา นี่เป็นสิ่งที่คิดว่าพึงระวัง

วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า วิธีคิดของรัฐบาลจะมองจากภาพใหญ่และใช้สามัญสำนึกแบบง่ายๆ เช่น เขาเห็นว่ามีคนบุกรุกป่าก็ใช้มาตรการทวงคืนผืนป่า แล้วในป่ามียางพาราเยอะ ซึ่งราคายางก็ตกด้วย การโค่นยางทิ้งจึงทำให้ได้นกสองตัว คือได้ป่าและอาจทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นด้วย อย่างเศรษฐกิจพิเศษก็ขีดเอาพื้นที่ตามชายแดน

ถ้าเป็นอาจารย์วิโรจน์เองคิดว่าต้องเดินแบบไหน?

วิโรจน์: ต้องกลับไปถามว่าเราต้องการเศรษฐกิจพิเศษไปทำอะไร ซึ่งคิดว่ารัฐบาลคงมองจากภาพใหญ่ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีมาก ถ้าสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ให้สิทธิพิเศษ ยกเว้นภาษี จัดหาที่ดินให้เอกชน เอื้อเรื่องกฎหมาย EIA ให้ คนก็จะไปลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาเข้าใจว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่

ทำไมกระตุ้นแล้วนักลงทุนยังไม่มา?

กานต์: ถ้าผมเป็นนักลงทุนต่างชาติที่จะลงทุนในไทย ผมก็จะดูก่อนว่านโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลคืออะไร ซึ่งก็ยังไม่ชัด การเมืองมีเสถียรภาพไหม ถ้าไม่มีเขาจะไปลงทุนประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น ถ้าเขาจะลงทุนในเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ไม่มากก็อาจจะเลือกมาเลเซีย หรือเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานต้นทุนต่ำก็อาจจะเลือกเวียดนาม  ซึ่งตอนนี้รัฐบาลทำนโยบายโดยมองใจกลางปัญหา ไม่ออก ทำไปแบบใช้สามัญสำนึก ไม่มีการรับฟังเสียงส่วนอื่น โดยคิดว่าทำแบบนี้ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อถูกค้านจากฝ่ายต่างๆ จึงแก้ปัญหาโดยใช้มาตรา 44 เป็นไม้วิเศษที่แก้ได้ทุกอย่าง

มาตรการอะไรที่คนพื้นที่เกรงว่าจะออกมาอีก?

ประยงค์: เรื่องแรกที่กังวลคือ การที่กรมธนารักษ์ขอออกโฉนดพื้นที่ 2,183 ไร่เป็นโฉนดใบเดียวนั้น ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 51 บอกไว้ว่า ถ้ามีการคัดค้านการออกโฉนดจากชาวบ้าน ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินวินิจฉัยว่าจะออกโฉนดให้กรมธนารักษ์หรือชาวบ้าน ผลออกมาเป็นอย่างไร อีกฝ่ายก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ ซึ่งตอนนี้มีชาวบ้านไปใช้สิทธิคัดค้านและพิสูจน์สิทธิแล้ว ด้านกรมธนารักษ์ก็เริ่มเสนอไปที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยเสนอว่าหากต้องการให้การออกโฉนดรวดเร็ว ขอให้ใช้มาตรา 44 ซ้ำอีกครั้ง เพื่องดใช้มาตรา 51  หรือพูดง่ายๆ ว่า ห้ามคัดค้านหรือโต้แย้งสิทธิ เพราะปัญหาสำคัญคือถ้ากรมธนารักษ์ยังไม่ถือกรรมสิทธ์บนที่ดินสองพันไร่ ดังนั้นก็ไม่สามารถเอาใครไปลงทุนได้ นักลงทุนก็รู้ จึงไม่กล้ามาลงทุน

เรื่องกังวลที่สองคือ เมื่อรัฐบาลลดแลกแจกแถมแล้วยังไม่มีคนมาลงทุน อาจมีการลดแลกแจกแถมมากขึ้น  พวกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาจย้ายมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะตามมา เขาอาจใช้มาตรา 44 งดใช้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมอีกในพื้นที่

การลงทุนที่ละเว้นกฎหมายไปเรื่อยๆ หรือทำให้กฎหมายอ่อนแอไปเรื่อยๆ เป็นทางที่ถูกหรือเปล่า หรือควรแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว?

วิโรจน์: ถ้าเราดูการพัฒนาประเทศของประเทศที่ไล่ตามมาทีหลัง ไม่ว่าทุนนิยมหรือสังคมนิยมแบบจีน  หลายประเทศที่รู้สึกว่าตัวเองต้องไล่ตามก็จะหย่อนในเรื่องกฎ กติกา เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พอประเทศพัฒนามากขึ้น ก็จะเริ่มเข้มงวดในเรื่องกติกา ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนเริ่มบ่นว่าการเข้ามาลงทุนในไทยยากขึ้น ดังนั้นกฎหมายจะเข้มงวดแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมตอนนั้นด้วย

ถ้ากฎหมายหย่อนยานก็จะเจอปัญหา เช่น ในจีนซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดและมีปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาค่อนข้างรุนแรง มีหมอกควันรุนแรง ฉะนั้นถ้าเราไม่เข้มงวดเรื่องพวกนี้พอ เมื่อประเทศพัฒนาไปสักพักเราก็ต้องตามล้างตามเช็ด ซึ่งราคาที่ต้องจ่ายมันแพง

นอกจากนี้รัฐประหารครั้งที่แล้วผมเคยคุยกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.) อีสาน เขาบอกว่าเวลามีรัฐประหาร ภาครัฐจะเริ่มไม่ค่อยฟังเสียง เอ็นจีโอ หรือคนในท้องถิ่น ยิ่งรัฐประหารครั้งนี้ยิ่งชัดว่า ข้างบนมีอำนาจเยอะ และใช้อำนาจเยอะ โอกาสที่รัฐจะฟังเสียงต่างๆ ก็น้อยลง

รัฐควรคำนึงอะไร ประชาชนควรคำนึงอะไร?

 ประยงค์: เรื่องการพัฒนามีความจำเป็น ทุกเรื่องมีสองด้าน แต่เราเลี่ยงที่จะพูดอีกด้านหนึ่ง อย่างรัฐบาลก็พูดถึงแต่ข้อดีของเศรษฐกิจพิเศษ  ผมคิดว่าถ้าจะให้เศรษฐกิจพิเศษ พิเศษจริง จะต้องมีพื้นฐานจากความเป็นธรรมและความยั่งยืนของทรัพยากร  อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าการพัฒนาทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม คือ มีคนสูญเสีย มีคนถูกรังแก ถูกบังคับให้ต้องยอมรับ ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าจะพัฒนาให้ไม่มีปัญหาต้องเริ่มจากความเป็นธรรม ว่าใครได้ประโยชน์ ใครได้รับผลกระทบ แล้วเขาควรได้รับการชดเชยอย่างไร อย่างน้อยชีวิตเขาต้องไม่แย่ไปกว่าเดิม ต้องมีหลักประกันให้คนที่ได้รับผลกระทบด้วย