ก่อนจะถึงมทบ.11: ประวัติศาสตร์ย่นย่อว่าด้วยคุกพิเศษในไทย

8 กันยายน 2558 พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนามในคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 กำหนดให้พื้นที่ในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เป็น “เรือนจําชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี” สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อควบคุมผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
 
การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงเป็นกรณีพิเศษ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่น การส่งนักโทษคดีกบฏบวรเดชและกบฏนายสิบไปควบคุมตัวที่ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา การจัดตั้ง"แดนพิเศษ" ในเรือนจำบางขวาง เพื่อควบคุมตัวจำเลยคดี 6 ตุลา การควบคุมจำเลยคดีกบฏ 26 มีนาคม 2520 หรือ การจัดตั้งเรือนจำพิเศษสำหรับจำเลยในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553
 
แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างการแยกควบคุมจำเลยคดีความมั่นคงในกรณีของเรือนจำพิเศษใน มทบ. 11 กับเรือนจำพิเศษหลายแห่งในอดีตคือ การกำหนดเขตเรือนจำชั่วคราวใน "ค่ายทหาร" ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ปรากรม ที่ผูกคอตายขณะถูกควบคุมตัวในเรือนจำ และกรณีที่สุริยัน หรือ “หมอหยอง” เสียชีวิตจากอาการ "ติดเชื้อในกระแสเลือด"
 
ในห้วงเวลานี้ การย้อนกลับไปศึกษาสภาพความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่อยู่เรือนจำ"พิเศษ"ในอดีต จึงมีความสำคัญ เพราะการเปรียบเทียบการบริหารจัดการและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ระหว่างเรือนจำ"พิเศษ"หลายๆแห่งในอดีต กับกรณีมทบ.11 ในปัจจุบัน น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
 

“คุกนักโทษต่างประเทศ” คุกพิเศษสำหรับคดีกบฏ.รศ 130

 
เหตุการณ์ รศ 130 (พ.ศ. 2455) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือประมาณ 20 ปี ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือเหตุการณ์ที่คณะทหารและพลเรือนซึ่งเป็นคนหนุ่ม นำโดย ร.อ.ขุนทวย หาญพิทักษณ์ พยายามที่จะก่อการปฏิวัติทางการเมือง เพื่อสถาปนาการปกครองอย่างใหม่ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้คณะผู้ก่อการรวม 91 คน ถูกดำเนินคดีและตัดสินโทษต่างๆ กัน ผู้ที่ต้องรับโทษจำคุกส่วนหนึ่ง ถูกส่งมารับโทษที่ "คุกนักโทษต่างประเทศ"
 
เหรียญ ศรีจันทร์ และ เนตร พูนวิวัฒน์ อดีตผู้ต้องขังคดีกบฎ รศ 130 เล่าถึงชีวิตระหว่างต้องโทษในหนังสือ "ปฏิวัติ ร.ศ.130"ว่า "คุกนักโทษต่างประเทศ" ที่พวกตนถูกคุมขัง อยู่ในเขตกองมหัตโทษ ถนนมหาชัย (ปัจจุบันเป็นสวนรมณีนาถ และพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์) ใช้เป็นที่ควบคุมชาวต่างชาติที่ทำผิดกฎหมาย ลักษณะอาคารของคุกต่างประเทศ เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ผู้ก่อการที่ถูกขังที่นี่ถูกแยกขังในห้องขนาด1.50-2.50เมตรห้องละคน ระหว่างถูกขังก็จะถูกตีตรวนด้วย ยกเว้นคนที่ป่วยจะได้รับการถอดตรวน
 
 
หนังสือ ปฏิวัติ ร.ศ. 130
 
ข้าวแดงเสิร์ฟในกะละมังกับแกงเนื้อวัวเสิร์ฟในชามกะลาคือตัวอย่างอาหารเย็นที่เหรียญและเนตรยกมาเล่าไว้ในหนังสือ สำหรับการเยี่ยมญาติ ซึ่งมีความสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับผู้ต้องขัง เหรียญกับเนตรเล่าว่า เบื้องต้นนักโทษคดีกบฏร.ศ. 130 ไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติ หลังถูกพิพากษาจำคุกได้ประมาณ 4 เดือน จึงได้รับโอกาสเยี่ยมญาติสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 5 นาที
 
นักโทษการเมืองคดีกบฏร.ศ. 130 ต้องทำงานเหมือนนักโทษทั่วไป เช่น ทุบหิน ล้างท่อน้ำ รดน้ำต้นไม้ บางคนที่ลายมือดีก็ทำหน้าที่เสมียน คนที่เคยเป็นแพทย์อย่างร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษณ์ หรือ หมอเหล็ง ได้รับหน้าที่ในห้องพยาบาล เหรียญและเนตรเล่าด้วยว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการเปลี่ยนผู้คุมแดน นักโทษคดีร.ศ. 130 ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี ถูกสั่งให้ทำงานในลักษณะคล้ายเป็นการกลั่นแกล้ง และเคยถูกขังมืด 15 วัน อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากก็จบลงเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ รับสั่งให้นายคุกไปเข้าเฝ้า และตรัสให้ยุติการกลั่นแกล้งนักโทษร.ศ. 130  หลังจากนั้นนักโทษก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้นตามอัตภาพ ได้ทำงานตามความถนัด ผู้คุมก็ผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่าง เช่น ยอมให้เขียนบทความหรือวรรณกรรมส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ได้
 
นักโทษคดีกบฏ ร.ศ. 130 น่าจะเป็นนักโทษคดีความมั่นคงกลุ่มแรกๆ ที่ถูกแยกขังจากนักโทษทั่วไป การปฏิบัติบางประการ เช่น การถูกขังมืด หรือการสั่งงานในลักษณะกลั่นแกล้ง ดังที่เหรียญและเนตรเล่าไว้ในหนังสือ อาจจะทำให้ชะตากรรมของนักโทษคดีความมั่นคงกลุ่มนี้ ดูจะเลวร้ายกว่ากลุ่มนักโทษคดีความมั่นคงรุ่นหลังๆ แต่ในหลายๆโอกาส ผู้คุมที่ดูแลพวกเขาก็มีท่าทีผ่อนคลายกว่านักโทษทั่วไป เช่นยอมให้เขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ได้ ทั้งที่อาจจะขัดต่อระเบียบของทางเรือนจำ
 

ทัณฑสถานตะรุเตา: คุกกลางทะเลของนักโทษคดีกบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ

 
สืบเนื่องจากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลพระยาพหล พลพยุหเสนา รวมทั้งการเรียกตัวปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกมองว่ามีแนวความคิดแบบคอมมิวนิสต์ กลับจากฝรั่งเศส และแต่งตั้งให้ปรีดีเป็นรัฐมนตรีลอย ในเดือน ตุลาคม 2476 ประมาณ 1 ปีเศษหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะทหารภายใต้ชื่อ "คณะทหารกู้บ้านกู้เมือง" นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ประกาศยึดเมืองโคราชเป็นฐานที่มั่นและยื่นคำขาดให้รัฐบาลของพระยาพหลฯ ปฏิบัติตามรวม 6 ข้อ 
 
หลังจากการยื่นคำขาด "คณะทหารกู้บ้านกู้เมือง" ก็เดินทางรถไฟเข้าสู่กรุงเทพมหานคร จนเกิดการปะทะของทหารรัฐบาล ผลของการต่อสู้ทหารของรัฐบาลภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงพิบูลสงครามเป็นฝ่ายชนะ ผู้นำ "คณะทหารกู้บ้านกู้เมือง" บางส่วนหนีไปต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนถูกดำเนินคดีฐานกบฏและถูกลงโทษจำคุก ในปี 2479 รัฐบาลสั่งให้กรมราชทัณฑ์สำรวจและจัดสร้าง "ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา" เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพและกักกันสำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์และนักโทษการเมือง เพราะเห็นว่า ภูมิประเทศยากแก่การหลบหนี เนื่องจากเป็นเกาะใหญ่อยู่กลางทะเลลึก รอบๆเกาะก็เต็มไปด้วยฉลาม ขณะที่ในคลองก็มีจระเข้ชุกชุม และเป็นบริเวณที่ไม่มีเรือผ่านไปมา เพราะมีคลื่นลมรุนแรง ในปี 2481 นักโทษในคดีอุฉกรรจ์ 500 คน ถูกส่งมาคุมขังที่ตะรุเตาเป็นกลุ่มแรก  จากนั้น นักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดชและคดีกบฏนายสิบรวม 70 คน ก็ถูกส่งตามมาทีหลังในปี 2482
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า แม้ว่านักโทษคดีอุฉกรรจ์และนักโทษการเมืองอย่างคดีกบฏบวรเดช จะถูกย้ายมาที่ตะรุเตาเหมือนกัน แต่ก็จะไม่คุมขังรวมกัน นักโทษการเมืองถูกคุมขังที่อ่าวตะโละอุดัง ส่วนนักโทษอื่นถูกคุมขังที่อ่าวตะโละวาว การดูแลก็ต่างกัน นักโทษการเมืองจะไม่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเหมือนนักโทษคดีอุฉกรรจ์ และไม่ต้องใช้แรงงานหนัก 
 
เจิม จิตต์ประณีต อดีตพัสดีทัณฑสถานเกาะตะรุเตาเล่าถึงการใช้ชีวิตของนักโทษคดีกบฏที่เกาะตะรุเตาไว้ในบทความ "ครั้งหนึ่งในชีวิตราชการที่เกาะตะรุเตา ประวัติความเป็นมาของนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา (4): สภาพความเป็นอยู่และชีวิตของนักโทษการเมือง" ตีพิมพ์ในวารสารรูสมิแล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (เข้าถึงบทความทั้ง 4 ตอนได้ ที่นี่) ว่า
 
พื้นที่ที่ใช้คุมขังนักโทษการเมืองมีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ มีธงแดงปักบอกอาณาเขตซึ่งนักโทษจะออกนอกพื้นที่ไม่ได้เว้นแต่ได้รับอนุญาต แต่พื้นที่ด้านชายหาดจะเปิดให้นักโทษลงเล่นน้ำได้ ส่วนโรงนอกกว้าง 5 เมตร ยาว 30 เมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองแถว มีทางเดินตรงกลาง นักโทษแต่ละคนมีอาณาเขตของตนเอง กว้าง 60 เซนติเมตร เวลานอนจะหันเท้าเข้าหากัน สำหรับอาหารที่ทางราชทัณฑ์จัดให้มีคุณภาพไม่ดีนัก นักโทษจึงใช้วิธีซื้ออาหารที่ครอบครัวผู้คุมปรุงขายแทนการกินอาหารหลวง
 
ในช่วงเวลากลางวัน นักโทษการเมืองซึ่งไม่ต้องใส่ตรวน และไม่ต้องทำงานโยธา มีอิสระที่จะเดินเที่ยวดูธรรมชาติได้ ในระยะแรกยังต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่แต่หลังๆก็ไม่ขอ นักโทษส่วนหนึ่งจึงถือโอกาสสำรวจเส้นทางเพื่อหลบหนี ในปี 2482 นักโทษคดีกบฏ 5 คน ได้แก่ พระยาสุรพันธเสนี พระยาศราภัยพิพัฒน นายหลุย คีรีวัต ขุนอัคนีรถการ และ นายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ได้วางแผนและทำการหลบหนีออกจากทัณฑสถานเกาะตะรุเตาเป็นผลสำเร็จ การหลบหนีทำให้นักโทษการเมืองที่เหลือต้องพบกับความลำบาก อาหารกลางวันที่เคยได้รับวันละสามมื้อก็ลดเหลือ 2 มื้อ บทความ "ตะรุเตาอดีตเรือนจำกลางทะเล" ระบุว่า นักโทษคดีกบฏบวรเดชและคดีกบฏนายสิบ บางส่วนถูกคุมขังที่ตะรุเตาอยู่ประมาณ 4-5 ปี ก็ถูกส่งตัวไปควบคุมที่อื่นต่อ เช่นที่เกาะเต่า ก่อนจะได้รับการนิรโทษกรรมในปี 2487 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 
 
ในส่วนของทัณฑสถานเกาะตะรุเตา สงครามโลกที่เกิดในปี 2484 ส่งผลให้ทั้งนักโทษและผู้คุมที่อยู่บนเกาะได้รับความเดือดร้อน เพราะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จนขาดแคลนอาหาร ผู้คุมและนักโทษส่วนหนึ่ง จึงผันตัวเป็นโจรสลัดออกปล้นสดมภ์ พ่อค้าที่เดินเรือในเส้นทางที่โจรสลัดออกปล้น ต่างได้รับความเดือดร้อน พ่อค้าในมลายู จึงขอความช่วยเหลือไปยังทหารอังกฤษ ซึ่งต่อมายกพลขึ้นบกที่ตะรุเตาในปี 2489 เพื่อจัดการกับโจรสลัด หลังทหารอังกฤษถอนตัว เกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้าง กรมราชทัณฑ์ประกาศยกเลิกให้เกาะตะรุเตาเป็นเขตทัณฑสถานในปี 2491
 

แดนคอมมิวนิสต์ ในรั้วลาดยาว สมัยจอมพลสฤษดิ์

 
ผู้ต้องหา/จำเลย คดีความมั่นคงในอดีตบางส่วน ถูกนำไปควบคุมตัวไว้ในเรือนจำปกติ เช่นเดียวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทั่วไป แต่จะถูกแยกแดนขังออกมาเป็นพิเศษ ไม่ปะปนกับผู้ต้องขังคดีอื่น และในบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็มักผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบให้มากกว่าผู้ต้องขังอื่น
 
วิลลา วิลัยทอง เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกขังในเรือนจำลาดยาว ไว้ในหนังสือ "ทัณฑะกาลของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังทางการเมือง" ซึ่งพอสรุปโดยสังเขปได้ว่า
 
ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกมีการกวาดจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" ทั้งในเขตพระนคร (กรุงเทพฯ) และในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคใต้ มาควบคุมตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงเดือนตุลาคม 2501 มีการกวาดจับผู้ต้องหาอย่างน้อย 45 ราย โดยมี จิตร ภูมิศักดิ์ รวมอยู่ด้วย 
 
 
หนังสือ ทัณฑกาลของ จิตร ภูมิศักดิ์ และ ผู้ต้องขังการเมือง
 
หลังถูกจับกุม จิตรและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคนอื่นๆ ถูกคุมตัวไว้ที่กองปราบปทุมวัน ซึ่งถูกกำหนดเป็นเขตทัณฑสถานชั่วคราว สังกัดเรือนจำกลางคลองเปรม การควบคุมตัวที่กองปราบเป็นไปอย่างผ่อนปรน ถึงขนาดที่ผู้ต้องหาบางคนขออนุญาตออกไปซื้อของได้ ซึ่งผู้ต้องหาก็กลับมาตามเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนด 
 
ช่วงต้นปี 2503 ผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์ถูกย้ายไปคุกลาดยาว (ปัจจุบันน่าจะอยู่ในเขตเรือนจำคลองเปรม) วิลลากล่าวว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปจำนวนที่แน่นอนได้ว่า ผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์และคดีมาตรา 112 ในยุคนั้นมีจำนวนเท่าไร ทราบแต่ว่าในปี 2504 มีอยู่ 214 คน ส่วนในปี 2506 มีอยู่ 129 คน ตามการบันทึกของทองใบ ทองเปาด์ อดีตผู้ต้องขัง 
 
สำหรับสภาพความเป็นอยู่ และกิจกรรมภายในเรือนจำลาดยาว ผู้ต้องขังมีโอกาสเลือกเรือนขังและห้องพักเอง โดยเลือกกันตามอาชีพ ภูมิลำเนา อายุ และความสัมพันธ์ก่อนถูกจับกุม ระหว่างการถูกควบคุมตัว ผู้ต้องขังในแดนการ"พิเศษ"นี้จะได้รับการผ่อนปรนกฎระเบียบในหลายๆ เรื่อง เช่น ไม่ต้องสวมโซ่ตรวนหรือชุดนักโทษเวลาไปนอกเรือนจำ บางคนถึงขนาดใส่สูทเวลาไปศาล สำหรับเรื่องอาหารการกิน ผู้ต้องขังในแดนนี้สามารถทำกับข้าวกินในห้องของตนเองได้ 
 
ระหว่างถูกจองจำ ผู้ต้องขังในแดนการเมืองมีการรวมตัวกันแลกเปลี่ยนความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน นอกจากนี้ก็มีการเล่นกีฬา เช่น บาสเกตบอลและวอลเลย์บอล วิลลาตั้งข้อสังเกตว่า การเล่นกีฬาแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระทางร่างกายที่ผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์มีมากกว่าผู้ต้องขังคดีทั่วไป และมากกว่านักโทษคดีความมั่นคงรุ่นพี่อย่างกลุ่มกบฏบวรเดช ที่ไม่สามารถเล่นตะกร้อเพราะมีตรวนที่ขา
 
กิจกรรมอีกอย่างที่นักโทษคดีคอมมิวนิสต์นิยมทำ ได้แก่การเขียนบทประพันธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนงานชิ้นสำคัญคือ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ในช่วงที่ถูกจองจำที่ลาดยาว ขณะที่สุวัฒน์ วรดิลก ผู้ต้องขังคดี 112 ก็เขียนบทละครโทรทัศน์ส่งออกมาข้างนอก แต่ทำโดยปิดลับและใช้นามแฝง  
 

แดนพิเศษ ในรั้วบางขวาง หลัง 6 ตุลา จากปากคำสุรชาติ บำรุงสุข

   
สำหรับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกคุมขังในแดนพิเศษของเรือนจำปกติ คือ ผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง
 
สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬา อดีตผู้ต้องขังแดนพิเศษเรือนจำบางขวาง เล่าเหตุการณ์ขณะถูกจับให้ฟังว่า ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนเกิดการล้อมปราบ ตนเองและเพื่อนนักศึกษา 6 คน ซึ่งมีนักแสดงละครล้อการเมือง ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทองค์รัชทายาทสองคนรวมอยู่ด้วย เดินทางไปพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมทย์ นายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก แต่ปรากฎว่าเมื่อไปถึงบ้านนายกก็ไม่ได้ลงจากรถแต่ถูกนำตัวไปขังที่กองปราบเพื่อสอบสวนและถูกตั้งข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา เช่น อั้งยี่ซ่องโจร กบฏ สะสมอาวุธ ข้อหาตามมาตรา 112 ข้อหาคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็ถูกส่งตัวไปเรือนจำบางขวาง โดยถูกขังในแดนพิเศษแยกจากผู้ต้องขังกลุ่มอื่น ซึ่งทราบภายหลังว่า ที่ๆตนและพวกถูกควบคุมตัว เคยถูกใช้เป็นแดนขังผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตมาก่อน
 
                         
                          เรือนจำบางขวาง (ภาพของกระทรวงราชทัณฑ์)
 
สุรชาติเล่าว่า เมื่อมาถึงเรือนจำ ตนและเพื่อนทั้ง 6 ถูกสั่งให้เปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ และถูกตีตรวน ก่อนจะถูกนำตัวมาอยู่ในแดนพิเศษที่ไม่มีผู้ต้องขังอื่นอยู่ด้วย มีผู้คุมประจำแดน 3 คน ในระยะแรก การควบคุมตัวเป็นไปอย่างเข้มงวด ญาติของผู้ต้องขังคดี 6 ตุลาสามารถมาเยี่ยมได้ แต่พื้นที่เยี่ยมจะเป็นพื้นที่พิเศษ มีผู้คุมมานั่งฟังและเขียนรายงานการพูดคุยส่งผู้บังคับบัญชาด้วย ทำให้คนมาเยี่ยมไม่กล้าคุยเรื่องสถานการณ์ของกลุ่มนักศึกษาให้ผู้ต้องขังฟังซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว ขณะที่หนังสือพิมพ์หรือหนังสือการเมืองก็เป็นสิ่งต้องห้าม มีเพียงหนังสือธรรมะเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้อ่าน
 
เมื่อไปศาลครั้งแรก สุรชาติและเพื่อนสวมชุดนักโทษและถูกตีตรวนไปเฉกเช่นนักโทษปกติ ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ สุรชาติเชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การควบคุมตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่บางขวาง เริ่มผ่อนคลายลง เมื่อไปศาลครั้งที่สอง ผู้บัญชาการเรือนจำสั่งให้ถอดตรวนผู้ต้องขังทั้งหมดและให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเสื้อสีขาว กางเกงขาสั้น แทนชุดนักโทษ หลังถูกควบคุมตัวได้ระยะหนึ่ง ผู้คุมก็เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวด เพื่อนนักศึกษาที่มาเยี่ยมเริ่มกล้าที่จะเล่าเหตุการณ์ข้างนอกโดยใช้สัญลักษณ์บางอย่าง ทำให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่บางขวาง เริ่มรับรู้สถานการณ์ของโลกภายนอกมากขึ้น ขณะที่ญาติก็เริ่มส่งอาหารเข้ามาได้บ้าง
 
 
สุรชาติ บำรุงสุข อดีตผู้ต้องขังคดี 6 ตุลา 
 
เดือนมีนาคม 2520 มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นใน"แดนพิเศษ" เมื่อผู้ต้องหาคดีกบฏ 23 มีนาคม 2520 เช่น พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ, พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์, พ.ท. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (ยศขณะนั้น) ถูกนำตัวมาควบคุมที่แดนแห่งนี้ด้วย (พล.อ.ฉลาดเข้ามาอยู่ระยะสั้นๆ เพราะถูกประหารชีวิตโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2520) สุรชาติเล่าว่า เมื่อผู้ต้องหาคดีกบฏเข้ามาอยู่ ทำให้ผู้ต้องขังคดี 6 ตุลาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการจัดระบบเรื่องอาหารที่ต้องมีการวางแผนการกินและถนอมอาหาร สุรชาติเล่าว่า ผู้คุมอนุญาตให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงใช้ขดลวดประกอบเป็นเตาไฟฟ้าใช้ประกอบอาหาร วัตถุดิบจะมาจากญาติผู้ต้องขังทั้งสองฝั่ง ผู้ต้องขัง "รุ่นพี่" คดี 6 ตุลากับผู้ต้องขัง "น้องใหม่" คดีกบฏ 26 มีนา จึงประกอบและรับประทานอาหารร่วมกัน นอกจากนี้ก็ยังเล่นกีฬาเช่น เตะตะกร้อ ร่วมกัน 
 

การเข้ามาของผู้ต้องหาคดีกบฏยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องไฟฟ้า มีการติดตั้งหลอดไฟในห้องขังทำให้เริ่มอ่านหนังสือตอนกลางคืนได้ จากที่เมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ในห้อง ในส่วนของหนังสือ ผู้คุมก็เริ่มผ่อนปรนให้ผู้ต้องขังนำหนังสือกฎหมายเข้ามาศึกษาเพื่อสู้คดีได้ ขณะที่ตัวสุรชาติขอนำตำราเรียนเข้ามาอ่าน จะสังเกตได้ว่า แม้ผู้ต้องขังคอมมิวนิสต์ลาดยาว และผู้ต้องขังคอมมิวนิสต์บางขวาง จะถูกขังในเรือนจำปกติ แต่ก็จะมีการแยกแดนไม่ให้อยู่ปะปนกับผู้ต้องขังคดีทั่วไป และในหลายๆโอกาส ผู้คุมก็จะผ่อนปรนมากกว่าในเรื่องการใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรม

โรงเรียนพลตำรวจ หลักสี่: หัวกระไดไม่เคยร้างจากนักโทษการเมือง

 
"เรือนจำชั่วคราวหลักสี่" ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพลตำรวจบางเขน คือสถานที่ที่ใช้ควบคุมตัวผู้ต้องหา/จำเลย คดีการเมืองและคดีความมั่นคงมาหลายสมัย บุคคลสาธารณะ คนระดับรัฐมนตรี ไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาดที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ต่างเคยแวะเวียนมาเป็นแขกที่เรือนจำแห่งนี้จนเรียกได้ว่า "หัวกระไดไม่แห้ง" พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตนักโทษคดีกบฎ 26 มีนาคม 2520 เคยแวะมาเป็นแขกที่นี่ช่วงสั้นๆก่อนถูกย้ายไปแดนพิเศษในเรือนจำบางขวาง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เคยถูกคุมขังระหว่างเหตุการณ์พฤษภา 35  ไปจนถึงผู้ที่กระทำความผิดโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง ในเหตุการณ์ทางการเมือง ปี 2553 ซึ่ง เป็นแขกชุดล่าสุดของเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้
 
เท่าที่สืบค้นได้ ย้อนกลับไปถึงช่วงปี 2505 ถึง 2507 ซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าใครบ้างเคยถูกคุมขังที่นี่ ทราบแต่เพียงว่าเป็น "นักโทษการเมือง"  รายงานพิเศษของมติชน "แง้มประตูร.ร.พลตำรวจ แดนขังนักโทษการเมือง" ระบุว่า เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ เคยใช้คุมขังบุคคลสำคัญ ที่ถูกจับกุมตัวในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายครั้ง เช่น สุธรรม แสงประทุม และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ตามคำบอกเล่าของสุรชาติ บำรุงสุข) จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 พล.ต. จำลองและวีระ มุสิกพงศ์ จากเหตุการณ์พฤษภา '35 รวมถึง หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ที่ต้องคดีความมั่นคงจากเหตุไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
"เรือนจำชั่วคราวหลักสี่" ไม่ได้เปิดทำการต่อเนื่องหากแต่เปิดปิดเป็นระยะตามแต่สถานการณ์และความจำเป็น ครั้งล่าสุดที่เปิดทำการ คือช่วงปี 2554 ในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ลงนามใน คำสั่งกระทรวงยุติธรรม 526/2554  กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ในทางปฎิบัติผู้ที่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำแห่งนี้คือ "คนเสื้อแดง" ที่ถูกคุมขังจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในปี 2553
 
ผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ประชาไทที่เคยไปเยี่ยมผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจากเหตุการณ์ปี 53 ที่เรือนจำแห่งนี้ เล่าว่า เรือนจำแห่งนี้ถูกจัดตั้งตามคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งทำการศึกษาและพบว่า ควรแยกขังผู้ต้องขังที่ทำความผิดทางอาญาเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองจากผู้ต้องขังทั่วไปเพื่อให้เกิดบรรยากาศความปรองดอง เนื่องจากผู้ต้องขังเหล่านี้ทำผิดเพราะความเชื่อบางอย่าง จึงถือว่าไม่ได้เป็นอาชญากรโดยแท้ 
 
สิ่งที่คล้ายกันระหว่างเรือนจำชั่วคราวบางเขน กับเรือนจำพิเศษสำหรับคดีความมั่นคงอื่นๆ คือ ความอะลุ่มอะหล่วยของเจ้าหน้าที่ เช่น ในเรือนจำปกติผู้ต้องขังจะต้องรับประทานอาหารของเรือนจำ หรือซื้อจากร้านค้าของเรือนจำเท่านั้น แต่ที่เรือนจำพิเศษแห่งนี้ ญาติสามารถซื้ออาหารจากภายนอกฝากเข้าไปได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อน นอกจากนี้ยังสามารถติดตามข่าวสารบ้านเมืองจากโทรทัศน์ได้ด้วย ต่างจากผู้ต้องขังในเรือนจำปกติ ซึ่งจะดูได้แต่รายการบันเทิงที่เรือนจำเปิดให้เท่านั้น 
 
ท่ามกลางมรสุมทางการเมือง เรือนจำชั่วคราวโรงเรียนพลตำรวจในสมัย "นักโทษการเมือง53" ต้องประสบปัญหาตั้งแต่กระแสคัดค้าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม เคยออกมาให้ความเห็นว่า จำนวน "นักโทษการเมือง" มีน้อยเกินกว่าจะต้องเปิดเรือนจำแห่งนี้ด้วยเหตุผลด้านความแออัด นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายอาญาถือเป็นนักโทษคดีอาญา แม้ผู้ที่ทำผิดจะเป็นนักการเมืองก็ไม่ได้ทำให้คดีนั้นเป็นคดีการเมืองและไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นมีสถานะเป็น "นักโทษการเมือง" 
นอกจากพีรพันธ์แล้ว ก็ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตในโลกออนไลน์ว่า เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ เป็นคุก"วีไอพี" ที่เปิดรอ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี  ขณะเดียวกระแสข่าวที่จะมีการย้ายนักโทษคดี 112 มาอยู่ที่เรือนจำแห่งนี้ก็เป็นประเด็นที่คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งสนับสนุนและคัดค้านจนท้ายที่สุดก็ไม่เกิดขึ้น

ด้วยปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา ประกอบกับกระแสการเมืองที่เปลี่ยนข้างจากการรัฐประหารในปี 2557 เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ได้ปิดตัวลงในปลายปี 2557 ตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ลงนามโดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา  นักโทษที่เคยอยู่ที่นี่ก็ถูกย้ายกลับไปควบคุมยังเรือนจำปกติร่วมกับนักโทษทั่วไป

 

นักโทษคดีการเมือง ทำไมต้องแยก?

 
โดยปกติ การจำแนกผู้ต้องขังในเรือนจำ จะไม่ได้คำนึงถึงฐานความผิด แต่จะคำนึงถึงความต้องการหรือความจำเป็นของตัวผู้ต้องขัง เช่น ผู้ต้องขังที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี จะถูกแยกแดนจากผู้ต้องขังผู้ใหญ่ หรือส่งไปคุมขังในทัณฑสถานวัยหนุ่มแทนการขังในเรือนจำ เพราะถือว่าผู้ต้องขังที่อายุน้อยส่วนใหญ่ทำผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงควรแยกจากผู้ต้องขังผู้ใหญ่เพราะอาจถูกสอนพฤติกรรมที่ไม่ดีให้  หรือการแยกผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติดบางส่วนไปขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพและเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าสู่สังคม 
 
สำหรับกรณีที่มีการแยกขังผู้ต้องขังคดีความมั่นคงหรือคดีการเมือง ก็อาจเป็นเพราะผู้ต้องขังเหล่านี้มีความต้องการ หรือเงื่อนไขที่แตกต่างจากผู้ต้องขังโดยทั่วไป ผู้ต้องขังที่มีอุดมสการณืหรือชุดความคิดต่างจากรัฐ อาจถูกจับแยกเพราะรัฐไม่ต้องการให้ไปเผยแพร่แนวความคิดต่อ ดังที่สุรชาติ บำรุงสุขให้สัมภาษณ์ว่า เคยได้ยินผู้คุมบอกว่า ทางการแยกผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์ 6 ตุลาออกจากผู้ต้องขังทั่วไปเพราะไม่ต้องการให้ไปเผยแพร่แนวความคิดกับผู้ต้องขังอื่น
 
ขณะที่ผู้ต้องขังที่ทำความผิดทางอาญาในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 53 ก็มีความต้องการที่แตกต่างจากผู้ต้องขังทั่วไปดังที่ผู้สื่อข่าวประชาไทเล่าว่า นอกจากความต้องการปัจจัยสี่แล้ว สิ่งที่ผู้ต้องขังคดีการเมืองเหล่านี้ต้องการคือการรับรู้สถานการณ์ทางการเมือง และการสนับสนุนจากญาติทาง"อุดมการณ์" การแยกขังผู้ต้องเหล่านี้มาคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ทำให้คนที่มีความคิดทางการเมืองคล้ายๆกันที่ไม่ได้ต้องโทษ สามารถเดินทางมาเยี่ยมหรือจัดกิจกรรมให้กำลังใจ เช่น กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลที่มักจัดกิจกรรมเลี้ยงข้าวนักโทษการเมือง  ซึ่งทำให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง ไม่เครียดจนเกินไปและถือเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจระหว่างต้องโทษ นอกจากนี้ผู้ต้องขังทางการเมืองก็มีความเสี่ยงที่ีจะถูกทำร้ายโดยผู้ต้องขังในเรือนจำที่ถืออุดมการณ์คนละชุด ผู้สื่อข่าวประชาไทเชื่อว่า การแยกผู้ต้องขังมาไว้ที่เรือนจำหลักสี่ น่าจะช่วยป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ได้ 
 

ย้อนดูความเป็นอยู่และการดูแลนักโทษคดีความมั่นคง/คดีการเมืองในอดีต

 
ดูในภาพรวมจะพบว่า การควบคุมผู้ต้องขังคดีการเมืองหรือคดีความมั่นคงอย่างคดีกบฎก็มักจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ต้องขังไป เช่น กรณีผู้ต้องขังคดีกบฎบวรเดชที่เดินไปไหนมาไหนในตะลุเตาได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจนสุดท้ายมีการหลบหนี หรือการที่ผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์ซึ่งต้องขังในสมัยจอมพลสฤษฎ์บางคนที่ใส่สูทไปศาลแทนชุดนักโทษ ซึ่งความ"อะลุ่มอะหล่วย"ในกฎระเบียบ อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น สถานะทางสังคมของผู้ต้องหาซึ่งบางคนเป็นนายทหารชั้นหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (เช่น ผู้ต้องขังคดีกบฎบวรเดช หรือ คดีกบฎ 26 มีนาคม'20) 
 
นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากทัศนะคดิของผู้คุมที่มีต่อนักโทษคดีความมั่นคง/คดีการเมือง เช่น พล.ต .ต.อุทัย อัศววิไล ผู้ดูแลผู้ต้องขังคอมมิวนิสต์ที่ถูกจับสมัยในจอมพลสฤษฎ์ในระหว่างที่ถูกขังในกองปราบปทุมวัน ที่ให้ความเห็นถึงผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์ไว้ในหนังสือ "ทัณฑกาลของจิตร ภูมิศักดิ์และผู้ต้องขังการเมือง" ตอนหนึ่งว่า "…ผู้ต้องขังคอมมิวนิสต์เป็นคนที่มีความคิดการเมือง มีเกียรติ มีความรับผิดชอบ เราก็ให้เป็นคน" ขณะที่สุรชาติ บำรุงสุขก็เล่าว่า ผู้คุมคนหนึ่ง ที่เคยเป็นผู้คุมนายอุทัย พิมพ์ใจชน ขณะติดคุก เคยพูดกับเขาแบบติดตลกว่า นักโทษคดีการเมืองหลายคนพ้นโทษก็ได้ดิบเป็นใหญ่เป็นโต ราวกับจะสื่อว่า นักโทษการเมืองไม่ใช่คนร้ายในสายตาเขา อะไรที่พอยืดหยุ่นให้ได้ก็จะยืดหยุ่นให้
 
ในกรณีของผู้ต้องขังคดีการเมืองจากเหตุการณ์ปี '53 การผ่อนคลายกฎระเบียบ น่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง เพราะในทางหนึ่ง การที่ตัวผู้ต้องขังมีโอกาสได้รับกำลังใจจากผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายๆกัน (การเยี่ยมโดยกลุ่มกิจกรรมเช่น กลุ่มปฎิญญาหน้าศาล) หรือการได้รับข่าวศาลบ้านเมืองตามสมควร ก็น่าจะช่วยเยี่ยวยาผลกระทบทางจิตใจไม่ให้มีความเครียดหรือกดดันจนเกินไป  เมื่อพ้นโทษก็สามารถที่จะปรับตัวกลับเข้าสังคมได้ และลดปัจจัยเสี่ยงที่จะออกไปทำความผิดเพราะความคับแค้นและรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในอีกทางหนึ่ง การที่กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองมีโอกาสรวมตัวทำกิจกรรมเยี่ยมนักโทษ ก็ถือเป็นการเปิดพื้นที่การทำกิจกรรมทางการเมือง ให้คนมีโอกาสปรับทุกข์กัน ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยในการลดอุหภูมิทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ใน คำสั่งจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ที่นอกจากจะเป็นไปเพื่อความเหมาะสมในการควบคุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงแล้ว ยังเป็นไปเพื่อ การลดความกดดันและช่วยสร้างเสริมทัศนคติที่ดีของผู้ต้องขังด้วย  

 

เรือนจำมทบ.11 ความต่างและความน่ากังวล

 
การจัดตั้งเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครชัยศรี ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อควบคุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง อาจไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเคยมีการจัดตั้งเรือนจำ หรือพื้นที่ควบคุมตัวที่มีลักษณะคล้ายๆกัน เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต แต่การจัดตั้งเรือนจำ"พิเศษ"แห่งนี้ แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ในอดีต ทั้งผู้ต้องขังคดีคอมมิวนิสต์ คดีกบฎ คดีตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีที่รัฐมองว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคง แม้จะถูกแยกขัง แต่ก็ยังถูกคุมขังในพื้นที่ของ "พลเรือน" ต่างจากครั้งนี้ ที่ไปจัดตั้งพื้นที่พิเศษในค่ายทหาร (น่าสังเกตว่า แม้ในยุคสงครามเย็น ที่สิทธิมนุษยชนยังไม่มีความสำคัญต่อการเมืองโลกดังปัจจุบัน รัฐบาลในขณะนั้นก็ยังไม่เลือกตั้งเรือนจำพิเศษในค่ายทหาร)
 
มาตรการการรักษาความปลอดภัยภายในเรือนจำมทบ. 11 ก็ดูจะเข้มข้นกว่าในอดีต ทนายที่ไปพบลูกความคดีระเบิดราชประสงค์ใน มทบ.11 เล่าว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะคุมตัวผู้ต้องขังมาพบในสภาพปิดตา ใส่กุญแจมือและเท้า และมีทหารพร้อมอาวุธครบมือ 4-5 นาย คุมมาด้วย ซึ่งจากการสำรวจเรือนจำในกรณีอื่นข้างต้น ไม่พบว่าการควบคุมมีความเข้มข้นถึงขนาดนี้ ในกรณีของการปิดตา เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพราะผู้ต้องขังถูกคุมตัวในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่จึงไม่ต้องการให้จำเลยรับรู้สภาพโครงสร้างในที่คุมขัง ด้วยเหตุผลด้าน "ความมั่นคง"
 
ข่าวการเสียชีวิตของผู้ต้องขังคดี 112 2 คน ซึ่งยังมีสถานะเป็น "ผู้ต้องหา" และ ข่าวการจัดการศพอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการพูดถึงการไต่สวนการตาย ทำให้ภาพของเรือนจำ มทบ. 11 ดูลึกลับและน่าหวาดกลัวกว่าเรือนจำพิเศษสำหรับคดีความมั่นคง หรือคดีทางการเมือง ที่เคยจัดตั้งมาในอดีต นอกจากนี้ การที่ประเภทของผู้ต้องขังที่เข้าข่ายจะถูกขังในเรือนจำแห่งนี้เขียนไว้กว้างๆแค่ว่า "ผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษ ที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น“ ก็ทำให้เกิดความน่ากังวลในเรื่องการตีความ ว่าบุคคลใดบ้างที่จะต้องมาเป็น"แขกพิเศษ" ของสถานที่แห่งนี้ในอนาคต