รด.ไม่ช่วยอะไร เมื่อเจอกฎหมายกำลังพลสำรอง

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีเนื้อหาให้ทหารกองหนุน อาทิ ผู้เคยผ่านการเกณฑ์ ผู้เคยผ่านการเรียนรักษาดินแดน (รด.) หรือแม้กระทั่งผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารที่จับใบดำได้ กลับมาฝึกวิชาทหารอีกครั้งในฐานะกำลังพลสำรองเพื่อการเตรียมความพร้อมในกิจการของกระทรวงกลาโหม โดยหากฝ่าฝืนไม่เข้ารับราชการทหารมีโทษสูงสุดติดคุกสี่ปี ในส่วนของนายจ้างหากไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างซึ่งต้องรับราชการทหารในวันลามีโทษปรับสองหมื่นบาท
เหตุผลของการตรากฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากภารกิจหลักของกระทรวงกลาโหม ที่ประกอบไปด้วยการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคง การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องจัดให้มีกำลังพลที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงไม่สามารถดำรงสถานภาพกำลังพลจำนวนมากไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องใช้การหมุนเวียนกำลัง อย่างไรก็ตามเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกต้องคำถามถึงความจำเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กองทัพมีกำลังพลทั้งนายพลและทหารเกณฑ์จำนวนมาก มีงบประมาณจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ประเทศไทยก็ไม่ได้แนวโน้มจะเผชิญกับสงคราม   
เรียน รด. หรือ เกณฑ์ทหารแล้วก็เป็นทหารอีกได้
กองทหารประจำการของกองทัพไทยปัจจุบันมีราว 350,000 นาย ไม่เพียงพอต่อภารกิจของกองทัพ ซึ่งหากกองทัพต้องการกำลังพลมากกว่านี้จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้การใช้กำลังพลสำรองจึงเป็นทางออก โดยมาตรา 15 กำหนดให้กำลังพลสำรองมาจากสองส่วนคือ ส่วนแรกมาจากการรับสมัครจากบุคคลซึ่งเป็นไปตามคุณสมบัติและข้อบังคับที่กระทรวงกลาโหมเป็นผู้กำหนด
สำหรับส่วนที่สองซึ่งมีความสำคัญกับคนส่วนใหญ่มาจาก 1. คัดเลือกจากนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน 2. นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ 3. นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง 4. ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 (คือผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว หรือผู้ที่ได้รับยกเว้นเนื่องจากเรียน รด. ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี) และ 5) ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 หรือทหารกองเกินตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร (คือผู้ที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารแต่จับได้ใบดำ รวมถึงทหารกองหนุนประเภท 1 ที่มีอายุตั้งแต่ 40-60 ปี)
ปัจจุบันประเทศไทยมีทหารกองหนุนอยู่ราว 12,000,000 คน โดยพลเอกอุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ว่าจะมีการเรียกกำลังพลสำรองจำนวน 2.5 เปอร์เซ็นต์ จากกำลังสำรองทั้งหมดเข้ารับการฝึกทหาร 
นอกจากนี้ควรกล่าวด้วยว่าในการประชุม สนช. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนให้มีการผลักดันกำลังพลสำรองทั้งชายและหญิง ให้เข้ามารับใช้ประเทศ  ขณะที่พลเอกอุดมเดช ชี้แจงในประเด็นเพศที่สามว่า ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นบุคคลเพศที่สาม ไม่ต้องถูกเรียกเป็นกำลังพลสำรอง แต่หากอยู่ในความเหมาะสม และสถานการณ์ความจำเป็น ก็สามารถถูกเรียกเป็นกำลังพลสำรองได้เช่นกัน
ฝึกสองเดือน ระดมพลเมื่อประกาศกฎอัยการศึก  
ตามกฎหมายกำลังพลสำรองไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเป็นกำลังพลสำรอง แต่ให้ไปกำหนดโดยกฎกระทรวงแทน อย่างไรก็ตามพลเอกอุดมเดช ได้ชี้แจงประเด็นระยะเวลาการฝึกต่อ สนช.ว่าจะใช้เวลาในการฝึกประจำการตามเหล่าทัพ 2 เดือน โดยกำลังพลสำรองส่วนใหญ่จะถูกบรรจุรายชื่อลงในบัญชีกำลังของหน่วยทหารตามภูมิลำเนา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือแจ้งหรือคำสั่งเรียกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้กำลังพลสำรอง และการแจ้งให้ถือว่ากำลังสำรองได้รับหนังสือแจ้งหรือคำสั่งเรียกแล้ว
การแจ้งเพื่อเรียกกำลังพลสำรองมีเพื่อตรวจสอบ ฝึกวิชาทหาร ปฏิบัติราชการ ทดสอบความพรั่งพร้อมและในการระดมพล หรือในกรณีจำเป็นเพื่อการปฏิบัติภารกิจที่ต้องให้ความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ควรเน้นย้ำในมาตรา 26 หากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก สามารถแจ้งเพื่อเรียกระดมพลกำลังพลสำรองได้เช่นกัน
หลีกเลี่ยงไม่เป็นทหารจำคุกสี่ปี นายจ้างปรับสองหมื่น
นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้กำหนดบทลงโทษให้กับกำลังพลสำรองและนายจ้าง สำหรับกำลังพลสำรอง มาตรา 37 กำหนดให้ในกรณีผู้หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในกรณีหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่มาเข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมหรือในการระดมพล จำคุกไม่เกินสี่ปี
ขณะที่นายจ้าง มาตรา 40 กำหนดให้นายจ้างผู้ใดไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองในวันลาเพื่อรับราชการทหาร ต้องโทษปรับสองหมื่นบาท
ไฟล์แนบ