เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย”

ข่าวพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันฯ เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว ดูคล้ายคลึงกับการเสียชีวิตของพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ ก่อนหน้านี้ ทั้งสองกรณีไม่ปรากฏว่ามีการ "ชันสูตรพลิกศพ" หรือ "ไต่สวนการตาย" โดยศาล เพื่อหาสาเหตุของการตายที่แท้จริงหรือไม่ อย่างไร ทั้งที่เป็นกระบวนการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีตัวอย่างก่อนหน้านี้เมื่อผู้ต้องหาคดีการเมืองเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เช่น กรณี "อากงSMS" และ "สุรกริช" 
การชันสูตรพลิกศพ หมายถึง การตรวจดูศพภายนอก เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร และหาสาเหตุของการตาย การชันสูตรพลิกศพเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนและแพทย์เป็นหลัก สาเหตุที่เรียกว่าชันสูตรพลิกศพนั้น ก็เพราะต้องตรวจดูศพให้ทั่วทั้งสองด้านโดยต้องพลิกศพอีกด้านหนึ่งขึ้นดูด้วย ในการชันสูตรพลิกศพหากแพทย์เห็นว่าต้องผ่าศพเพื่อหาร่องรายสาเหตุของการตายก็สามารถสั่งให้ผ่า หรือแยกชิ้นส่วนของศพก็ได้
การไต่สวนการตาย หมายถึง การที่อัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร การไต่สวนการตายเป็นขั้นตอนของพนักงานอัยการและศาลเป็นหลัก
กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ”
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการขั้นตอน และกรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายไว้ในมาตรา 148-156 โดยกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชันสูตรพลิกศพ มีดังต่อไปนี้
 
            1. การตายโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
            2. การตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
การชันสูตรพลิกศพ เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นทำร่วมกับแพทย์นิติเวช หากไม่มีแพทย์นิติเวช ก็ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าไม่มีแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้เป็นแพทย์ที่ตำแหน่งลดหลั่นลงไปตามมาตรา 150 วรรคหนึ่ง ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยก่อนการชันสูตรพลิกศพให้แจ้งญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบก่อนด้วย
เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ภายในเจ็ดวันให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ทำรายงานเป็นหนังสือแสดงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ระบุว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้
หากผลการชันสูตรพลิกศพพบว่าการตายไม่เกี่ยวข้องกับการทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพให้อัยการ และให้อัยการส่งสำนวนไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป หากผลการชันสูตรพลิกศพพบว่ามีการกระทำผิดอาญาเกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดต่อไป
การตายระหว่างถูกควบคุมตัวต้อง “ไต่สวนการตาย” โดยศาล
กรณีการตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ อย่างตายจากการวิสามัญฆาตกรรม หรือการตายเกิดขึ้นระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน เช่น ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ระหว่างอยู่ในห้องขังของตำรวจ หรือระหว่างถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ถือว่ามีเหตุให้สงสัยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นสาเหตุของการตายหรือไม่ จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นพิเศษ
การชันสูตรพลิกศพในกรณีที่การตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน นอกจากจะทำโดยแพทย์และพนักงานสอบสวนแล้ว ยังต้องให้มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอขึ้นไปเข้าร่วมด้วย
กรณีเช่นนี้ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่ใช่ผู้ทำรายงานเอง แต่เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการทำสำนวนและยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้มีการ “ไต่สวนการตาย” โดยศาล และให้ศาลเป็นผู้ทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และระบุถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
ก่อนการไต่สวน ศาลต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดวันไต่สวน และต้องแจ้งให้ญาติของผู้ตายทราบ โดยญาติของผู้ตายจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาหรือนำส่งพยานหลักฐานอื่นเข้ามาร่วมในการไต่สวนก็ได้ ในกระบวนการการไต่สวน อัยการหรือญาติของผู้ตายจะนำพยานที่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นพฤติการณ์การตายเข้าเบิกความต่อศาล และศาลอาจเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นประกอบ จนกว่าศาลจะพอใจและทำคำสั่งได้
คำสั่งของศาลจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการตายนั้นต่อไป เช่น การเอาผิดผู้ที่ทำให้ตาย การจัดการมรดก เป็นต้น แต่การดำเนินคดีอื่นๆ ยังต้องอาศัยการนำสืบพยานหลักฐานต่างๆ มาประกอบด้วย ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับคำสั่งของศาลจากการไต่สวนการตาย
การไต่สวนการตายโดยศาลเป็นขั้นตอนสำหรับตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ว่ามีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบจนเป็นเหตุให้มีการตายเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีที่การตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคห้า จึงกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีการไต่สวนโดยศาล พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องทำสำนวนส่งให้ศาลโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะพอทราบถึงสาเหตุการตายได้แล้วก็ยังคงต้องให้ศาลเป็นผู้ทำคำสั่ง จะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ไม่ได้
กรณีตัวอย่างการไต่สวนการตาย “อากงSMS” และ “สุรกริช” นักโทษคดีการเมืองที่เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว
อำพล และสุรกริช เป็นผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งถือว่าอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน ทั้งสองคนเป็นนักโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและเสียชีวิตท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง ข่าวการเสียชีวิตจึงได้รับความสนใจจากสังคม ทั้งสองกรณีเจ้าหน้าที่ดำเนินกระบวนการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการตาย ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งแม้ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนอาจยังไม่พอใจผลการไต่สวนตามคำสั่งศาล แต่ในแง่กระบวนการทั้งสองกรณีก็เป็นตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกระบวนการได้ครบถ้วน ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้
อำพล หรือ “อากงSMS” นักโทษคดีมาตรา 112 ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี จากการส่งข้อความสั้น 4 ข้อความซึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 คดีนี้เป็นที่รู้จักกันในสังคมเนื่องจากผลคำพิพากษาที่รุนแรง หลังเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินกระบวนการชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนการตาย เพื่อคลายข้อสงสัยจากสังคม
9 พฤษภาคม 2555 มีการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์นิติเวช ที่โรงพยาบาลตำรวจ และอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมสังเกตการณ์ 3 คน ได้แก่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล และ นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผลการชันสูตรพบว่า ผู้ตายเป็นมะเร็งที่ตับและกระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้มีภาวการณ์หายใจล้มเหลว
ศาลอาญา นัดไต่สวนการตายในวันที่ 17 ธันวาคม 2555, 23-24 เมษายน 2556, 8 สิงหาคม 2556 โดยภรรยาของผู้ตายยื่นคำร้องขอซักถามพยานด้วย มีการนำหัวหน้าพยาบาลและแพทย์เจ้าของไข้จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์, พนักงานสอบสวน เข้าเบิกความ ขณะที่ญาติผู้ตายขอให้นำตัวเพื่อนนักโทษที่ดูแลผู้ตายอยู่ก่อนเสียชีวิต และนพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต แพทย์ผู้สังเกตการณ์การชันสูตรพลิกศพเข้าเบิกความ โดยฝ่ายญาติต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า การละเลยของเจ้าหน้าที่และการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานในเรือนจำ มีส่วนให้อำพลเสียชีวิตหรือไม่
หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ว่าอำพลเสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจล้มเหลวจากโรคมะเร็งตับลุกลาม เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอำพลถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อพบว่ามีอาการป่วยก็ได้เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์เจ้าของไข้ก็ได้ตรวจเยี่ยมอำพลตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พยานหลักฐานจึงไม่พอฟังว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการละเลยและประมาทของเจ้าหน้าที่
อีกกรณี คือ การเสียชีวิตของสุรกริช ชัยมงคล ผู้ต้องหาในกรณียิงสุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมที่วัดศรีเอี่ยม สุรกริชถูกทหารจับด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 และถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อดำเนินคดี
29 สิงหาคม 2557 มารดาของสุรกริชได้รับแจ้งเรื่องการเสียชีวิต มารดาเปิดเผยกับประชาไทว่า ก่อนเสียชีวิตลูกชายยังสุขภาพแข็งแรงดี และเคยเล่าให้ฟังว่าถูกซ้อมขณะอยู่ในเรือนจำ ขณะที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า สุรกริชเสียชีวิตเพราะอาการหอบหืด ไม่ได้ถูกทำร้าย
กรณีของสุรกริชเป็นการเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของพนักงาน จึงมีการส่งศพไปชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลตำรวจเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 โดยมีทั้งพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง และมารดาผู้ตายเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพ รวมทั้ง นพ.สลักธรรม โตจิราการ แพทย์จากภายนอกเข้าสังเกตการณ์ด้วย เบื้องต้นลงความเห็นว่าเหตุที่ตายเกิดจากเสียเลือดมากในทางเดินอาหาร
ต่อมาพนักงานอัยการยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนการตาย ศาลนัดไต่สวนวันที่ 2 เมษายน 2558 และ 21 พฤษภาคม 2558 โดยมารดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้ามาซักถามพยานด้วย มีการนำพยานเข้าเบิกความ ได้แก่ มารดาของผู้ตาย พนักงานสอบสวนผู้ตรวจสภาพศพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หัวหน้าฝ่ายควบคุมนักโทษประจำแดน 4 เพื่อนนักโทษรายหนึ่งในเรือนจำ แพทย์ที่เข้าไปตรวจในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์ที่ชันสูตร และแพทย์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การชันสูตร
6 กรกฎาคม 2558 ศาลอาญามีคำสั่งว่าสาเหตุที่สุรกริชเสียชีวิต คือ มีเลือกออกเป็นปริมาณมากในทางเดินอาหาร ไม่พบความผิดปกติอย่างอื่น การเสียชีวิตของผู้ตายไม่ได้มีสาเหตุจากบาดแผลภายนอก
การตายของ “อัครวุฒิ์” และ “ปรากรม” ผู้ต้องหาแอบอ้างสถาบันฯ ยังไม่ถูกไต่สวนโดยศาล
ในยุคของรัฐบาลคสช. มีการปราบปรามขบวนการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์อย่างหนัก โดยใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นข้อหาในการดำเนินคดี นับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการแอบอ้างฯ อย่างน้อย 36 คน ซึ่งมีรายงานว่า 2 คน เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว
22 พฤศจิกายน 2557 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ อดีตผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 หลังเพิ่งถูกสั่งย้าย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ กำลังถูกสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการแอบอ้างสถาบันฯ ในเครือข่ายของพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ต่อมาสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ญาติจัดพิธีสวดศพง่ายๆ และเผาศพไปในทันที
ด้านพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับสปริงนิวส์ว่า ก่อนหน้านี้มีการเชิญตัวพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ มาให้ข้อมูลแล้ว และให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ยังไม่ได้ออกหมายจับ ต่อมาทราบว่าพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ กระโดดตึกฆ่าตัวตายเพราะความเครียดและเกรงถูกดำเนินคดี
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ใบมรณบัตรของพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ ระบุว่าสาเหตุของการตาย คือ “กระดูกสันหลังส่วนอกหักหลายชิ้นเนื่องจากตกจากที่สูง” ก่อนการเสียชีวิตมีคำสั่งให้ไปรายงานตัวและคนใกล้ชิดไม่สามารถติดต่อได้มาระยะหนึ่ง ขณะที่ปรากฏข้อมูลว่าพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์เองก็ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึกต่อเนื่องมาตั้งแต่มีคำสั่งย้ายออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งถูกออกหมายจับและดำเนินคดี จึงมีการเชื่อมโยงว่าพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ อาจเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของทหารภายใต้กฎอัยการศึก ขณะที่ครอบครัวข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกในค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
หากพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกจริง ก็เป็นกรณีเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งต้องชันสูตรพลิกศพโดยมีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองเข้าร่วมด้วย และต้องส่งเรื่องให้ศาลไต่สวนและทำคำสั่งถึงสาเหตุการตาย แต่กรณีนี้ยังไม่ปรากฏรายละเอียดว่าการชันสูตรพลิกศพได้ดำเนินการอย่างไร และไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการไต่สวนและทำคำสั่งโดยศาล
อีกกรณีหนึ่ง วันที่ 24 ตุลาคม 2558 กรมราชทัณฑ์ออกใบแถลงข่าว ชี้แจงว่า พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันฯ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (ภายในมทบ.11) พยายามผูกคอตายในห้องขัง เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือแล้วแต่สุดท้ายไปเสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมาไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ญาติจัดงานสวดและเผาศพไปเรียบร้อยภายในวันเดียว คล้ายกับกรณีของพ.ต.อ.อัครวุฒิ์
หลังจากนั้น สปริงนิวส์รายงานว่า ใบมรณบัตร พ.ต.ต.ปรากรม ระบุว่า การตายเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ด้วยรอยรัดบริเวณลำคอ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการให้แพทย์ผ่าชันสูตรพลิกศพ แม้จะเป็นการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เพราะทางญาติไม่ติดใจการเสียชีวิต
กรณีของพ.ต.ต.ปรากรม ปรากฏชัดเจนว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งต้องชันสูตรพลิกศพ โดยมีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองเข้าร่วมด้วย และต้องส่งเรื่องให้ศาลไต่สวนและทำคำสั่งแสดงถึงสาเหตุการตาย ซึ่งเป็นบทบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยไม่ต้องคำนึงว่าญาติจะติดใจในสาเหตุการเสียชีวิตหรือไม่ กรณีนี้ก็ยังไม่ปรากฏรายละเอียดว่าการชันสูตรพลิกศพได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง และไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการไต่สวนและทำคำสั่งโดยศาล