ความยุติธรรมลายพราง: ศาลทหารในยุคสฤษดิ์ ไม่เหมือนกับ ยุค คสช.

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 38/2557 และ 50/2557 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมหาศาล เพราะก่อนหน้ายุคคสช. คงไม่มีพลเรือนคนไหนคาดคิดว่าในชีวิตจะต้องขึ้น "ศาลทหาร" 
ซึ่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสามฉบับ กำหนดให้อำนาจของศาลทหารครอบคุลมการกระทำความผิดอาญา ดังนี้
1. องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 
2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 (2) 
3. ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 
4. ความผิดอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องในคดีที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดบางอย่างอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร
5. ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490
สิ่งที่น่าใจมื่อพลเมืองต้องขึ้นศาลทหารคือ ผลกระทบต่อสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เช่น สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีจากองค์กรตุลาการที่เป็นกลางและเป็นอิสระ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี 
ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ศาลทหารมีสถานะเป็นกรมที่สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม[1] และไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหารตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ อีกทั้ง ตุลาการศาลทหารยังต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เพราะเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย[2] และผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการศาลทหารก็เป็นไปตามสายบังคับบัญชา[3] 
และการที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยิ่งเพิ่มข้อกังขาว่า คสช. ในฐานะผู้ออกประกาศและคำสั่งที่กำหนดความผิด ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาลงโทษบุคคลโดยผ่านศาลทหาร ผู้ใช้อำนาจออกกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้แยกขาดออกจากกัน
มิใช่แค่นั้น บุคลากรของศาลทหารก็ยังถูกท้าทายถึงประสิทธิภาพในการอำนวยความเป็นธรรมให้ "พลเรือน" เพราะ องค์คณะของตุลาการศาลทหารในแต่ละคดีมีด้วยกัน 3 คน แต่พระธรรมนูญศาลทหารกำหนดให้องค์คณะต้องมีคนจบนิติศาสตร์เพียงคนเดียว และไม่ได้บังคับว่าต้องจบเนติบัณฑิตเหมือนพนักงานอัยการหรือผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ส่วนองค์คณะอีกสองคนเป็นนายทหารระดับสูงที่จบการศึกษาอะไรก็ได้ อีกทั้ง ภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือที่เรียกกันว่า "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" จะมีผลให้บุคคลได้รับการพิจารณาเพียงศาลชั้นต้นชั้นเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้[4]
แม้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เคยออกมาชี้แจงผ่านมติชนออนไลน์ว่า การให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องปกติที่เคยดำเนินการมาแล้วหลายครั้งในอดีต อย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
แต่จากบทความ "ศาลทหารกับประชาชนชาวไทย ภายใต้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก" ของ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ตุลาการศาลทหารคือ "ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม" เพียงแต่ตั้งศาลยุติธรรมเป็นศาลทหาร และไม่ได้ใช้ทหารเป็นผู้พิพากษาคดี[5]
ตาม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 16 (ของจอมพลสฤษดิ์) ตั้งแต่ข้อ 2 ถึง 5 ระบุให้ศาลอาญาและศาลจังหวัดเป็นศาลมณฑลทหารบกในแต่ละพื้นที่ โดยให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุกศาลเป็นตุลาการศาลทหาร และให้จ่าศาลอาญาและจ่าศาลจังหวัดเป็นจ่าศาลทหาร ร่วมถึงให้พนักงานอัยการเป็นอัยการทหารด้วย นอกจากนี้ ให้ใช้สถานที่ทำการศาลอาญาและสถานที่ทำการศาลจังหวัดเป็นศาลทหาร
จากข้อเขียนของ สมลักษณ์แสดงให้เห็นว่า ศาลทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ และยุค คสช. มีความแตกต่างกัน รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถยกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ มาอ้างอิงได้ว่าเป็นเรื่อง "ปกติ" ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
นอกจากนี้ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ยังเขียนไว้ในบทความดังกล่าวตอนหนึ่งว่า "ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ทำให้ผู้พิพากษาตุลาการทำหน้าที่ไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญและปราศจากอคติ ทั้งยังทำให้ผู้ที่ได้รับผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการเกิดความเชื่อมั่นปราศจากความหวาดระแวงในความบริสุทธิ์ยุติธรรม"
อ้างอิง
[1] พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 5
[2] พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 4
[3] พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 30
[4] พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 36 และ 61
[5] สมลักษณ์ จัดกระบวนพล. (2558). ข้าแต่ศาลที่เคารพ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม2558)