คุยกับ “จ่านิว” สิรวิชญ์: ไม่เอาแล้วกระบวนร่างที่ขาดการมีส่วนร่วมและซ่อนอำนาจพิเศษในร่างรัฐธรรมนูญ

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อาจเป็นชื่อที่หลายคนเคยได้ยินผ่านหูอยู่บ้าง ไม่ว่าจะตามหน้าหนังสือพิมพ์ โลกออนไลน์ หรือจอโทรทัศน์ หลายคนรู้จักเด็กหนุ่มคนนี้ในชื่อ "จ่านิว" นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุม ตอนจัดกิจกรรม "การเลือกตั้งที่รัก(ลัก)"
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือ แกนนำกิจกรรม "กรวดน้ำคว่ำขัน" ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าสุดท้ายเสียงข้างมากของ สปช. จะลงมติไม่เห็นชอบทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไป แต่ คสช. ก็ยังต้องสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาไปจนถึงปี 2559 กว่าประชาชนจะได้ยลโฉมร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะไปวัดผลที่การลงประชามติอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี สิรวิชญ์คือหนึ่งในผู้ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. พร้อมกับได้ตอบคำถามที่จำเป็นสำหรับประเทศว่า "รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่เอาแล้ว"
#ไม่เอาแล้ว กระบวนการร่างที่ขาดการยึดโยงกับประชาชน เพราะคนร่าง 21 คน คิดแทนคนทั้งประเทศไม่ได้
สิรวิชญ์ คิดว่า สิ่งที่ควรยุติได้แล้วคือ "กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ" และให้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 กลับมาใช้โดยเร็ว เพื่อให้สังคมไทยกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตย โดยนักศึกษาจากรั้วธรรมศาสตร์ผู้นี้มองว่า ที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญที่เป็นรากฐานได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ หรือรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะร่างขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ดี สิรวิชญ์ คิดว่า คสช. ก็คงดึงดันที่จะร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ดังนั้น มีหนทางเดียวคือให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และเขาย้ำอีกว่า การสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงไม่มีความหมาย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาคนกลางซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะได้ผลลัพธ์ตามที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง
"กระบวนการร่างโดย คสช. ผมไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนทุกคน กลับขึ้นตรงกับคนแค่ 21 คน ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนยึดโยงอะไร และทุกอย่างก็จะเป็นไปตามที่ คสช. ล็อคสเปกไว้
"ถ้าหากเลือกได้ที่สุด ผมอยากให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 มาใช้ แล้วให้กระบวนการทางรัฐสภาเป็นผู้จัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไป เพราะโดยภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วก็ไม่ต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ยกเว้นเรื่องกลไกอำนาจพิเศษที่ซ่อนอยู่" สิรวิชญ์ กล่าว
#ไม่เอาแล้ว อำนาจพิเศษ เพราะวิกฤติที่ผ่านมาคือวิกฤติ "ชนชั้นนำหวงอำนาจ" หวั่นสอดไส้อำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญ
เมื่อพูดถึงประเด็น "อำนาจพิเศษ" สิรวิชญ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า นี่คือความอัปลักษณ์ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว โดยเฉพาะ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" ซึ่งมีอำนาจสั่งการหรือใช้มาตรการที่ "จำเป็น" สำหรับจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (ภายใต้การปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด) หรือการให้อำนาจประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ สามารถสั่งการระงับยับยั้งหรือให้กระทำการใดๆ ที่มีผลทางนิติบัญญัติหรือทางบริหารได้ และชอบด้วยกฎหมาย 
แม้ว่าฝ่ายสนับสนุนจะมีคำอธิบายว่าอำนาจพิเศษเหล่านี้มีเพื่อป้องกันภาวะสูญญากาศทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา แต่สิรวิชญ์มองว่า คำถามที่ต้องถามคือ "วิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นวิกฤติการเมืองของใคร และเป็นเพราะชนชั้นนำไทยไม่สามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองได้ใช่หรือไม่? "
นักศึกษาผู้นี้กล่าวอีกว่า "ปัญหาจริงๆ อาจไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างสถาบันทางการเมือง อย่างที่ผ่านมา ที่คนอ้างว่ากลไกอย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้วิกฤติได้ แต่แท้จริงแล้วชนชั้นนำต่างหาก ที่ต้องการจะตักตวงอำนาจไว้กับตัวเอง" 
สิรวิชญ์แสดงความกังวลว่า ถึงที่สุดแล้ว คสช. ก็ยังจะดึงดันร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และเราก็อาจจะพบเห็นอำนาจพิเศษแบบเดิมซุกซ่อนอยู่ เพียงแต่อาจจะมาในรูปแบบใหม่ที่แนบเนียนมากขึ้น เขากล่าวอีกว่า "สุดท้ายแล้วชนชั้นนำไม่สามารถปฏิเสธกระแสประชาธิปไตยได้ ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามจะทำก็คือตีเนียน เอาอำนาจพิเศษมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ดูว่ามีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีอำนาจในการแทรงแซง ขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนได้อยู่ดี" 
#ไม่เอาแล้ว ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน เพราะผลงานของ สนช. สปช. คือตัวชี้วัดความล้มเหลว
นอกจากประเด็นอำนาจพิเศษ เราถามนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ผู้นี้ว่า "ในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วกำหนดให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา มาจากอดีตข้าราชการพลเรือนระดับสูงและอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาชีพด้านต่างๆ และมาจากการสรรหา อีกทั้งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองก่อนอีก คุณมีความคิดเห็นอย่างไร? "
สิรวิชญ์กล่าวว่า "การจะตอบคำถามข้อนี้ ให้ย้อนกลับไปดูก่อนว่า สนช. สปช. ทำอะไรให้กับประเทศนี้บ้าง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน เพราะคนเหล่านี้มาจากตัวแทนของข้าราชการ เอ็นจีโอ และผ่านการสรรหาคัดเลือกกันมา"
สิรวิชญ์กล่าวแบบตลกร้ายว่า "พวกเอ็นจีโอพยายามที่จะเรียกร้องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ทว่ากระบวนการของ สปช. สนช. ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมจริงๆ แล้วก็มาอ้างว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวโยงอะไรกับประชาชน ถ้ากฎหมายออกมาง่ายแล้วมีปัญหา ผลลัพธ์มันก็ไม่ดี นี่ออกกฎหมายกันเหมือนกับตรายาง ไม่ฟังเสียงประชาชน" 
สิรวิชญ์ย้ำอย่างชัดเจนว่า "ตัวชี้วัด" ว่าเรายังอยากได้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง สรรหา จากพวกข้าราชการ เอ็นจีโอ ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ย้อนกลับไปดูผลงานของ สนช. สปช.
#ไม่เอาแล้ว นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะขาดการยอมรับจากประชาชน และขับเคลื่อนนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไม่ได้
อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่เราคุยกับ "นิว สิรวิชญ์" ก็คือ คิดอย่างไรที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร?
เขามองว่า ประเด็นดังกล่าวค่อนข้างประหลาด แม้จะมีข้อถกเถียงว่า อย่างไรก็ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก แต่ในสาระสำคัญแล้วมันก็ยังมีปัญหา โดยเขากล่าวว่า "อย่างน้อยการเลือกจาก ส.ส. ก็การันตีได้ว่าได้รับการรับรองจากประชาชนมาก่อน และพรรคการเมืองก็ต้องส่งตัวแทน แต่ถ้าเป็นคนนอก วันดีคืนดีก็ไปหยิบยกทหารมาบริหารประเทศ เหมือนยุคเปรม ติณสูลานนท์ที่สะท้อนผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม"
"ปัญหาของการมีนายกฯ คนนอกก็คือมันไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน อย่างยุคเปรมการตัดสินใจก็ไม่ได้วางอยู่บนฐานของประชาชน แม้จะมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทว่ามีประชาชนแค่ไม่กี่กลุ่มที่ได้อานิสงค์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ้าให้หัวหน้ารัฐบาลมาจากราชการก็จะกลายเป็นรัฐราชการ และที่นโยบายของพรรคการเมืองก็จะถูกควบคุมขับเคลื่อนไม่ได้"
#ไม่เอาแล้ว รัฐธรรมนูญหลายมาตรา เพราะขาดความยืดหยุ่น และการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไปจนอยู่เหนือทุกสิ่ง
เราปิดท้ายการสนทนาด้วยประเด็นเล็กๆ ที่เขาไม่เห็นด้วย อย่างเช่น การเขียนเรื่อง "ไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้" เพราะดูเหมือน การตีความ "รัฐเดี่ยว" ของไทยจะมีลักษณะเป็นชาตินิยม และส่งผลให้การพัฒนาเรื่อง "กระจายอำนาจ" ของไทยอยู่ในภาวะตีบตัน เช่น มองว่าการกระจายอำนาจปกครองตนเองที่อยู่ในรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นคือ "การเปลี่ยนจากรัฐเดี่ยวเป็นรัฐรวม" ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นต้น
"นิว สิรวิชญ์" กล่าวว่า "คงต้องเขียนให้มีการตีความแบบใหม่ หรือเปิดช่องให้ส่งเสริมการกระจายอำนาจ เหมือนอย่างอินโดนีเซียก็เจอปัญหาเดียวกับเรา เพราะเขามีความแตกต่างทางเชื้อชาติสูง ดังนั้นต้องรื้อถอนความคิดว่า การกระจายอำนาจไม่ใช่การแบ่งแยกประเทศเสียก่อน"
ประเด็นถัดมาที่คุยกันก็คือ "การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ" เขาคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรจะตีความหรือใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่อย่างนั้นจะเท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญอีกที แล้วสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องเจอกับปัญหา สิ่งที่ต้องตัดออกไปก็คือ "อำนาจในการตัดสินว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอำนาจของชนชั้นนำในการขับเคลื่อนประเทศตามที่ตนเองต้องการ"
ประเด็นสุดท้ายที่ สิรวิชญ์คิดว่า ไม่เอาแล้ว ก็คือการเขียนรัฐธรรมนูญหลายๆ มาตรา ทำให้ขาดความยืดหยุ่น รัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่วางหลักการสำคัญๆ นอกจากนี้ เขาไม่ต้องการให้มีการระบุแนบท้ายในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า "ยกเว้นตามกฎหมายบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นกำหนด" เพราะการเขียนแบบนี้ เป็นการทำให้กฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มีศักดิ์สูงกว่ารัฐธรรมนูญ คือให้จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่ามันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่