ฟังเสียงปฏิรูป: อดีต ป.ป.ช.มองจุดดีจุดอ่อน จากข้อเสนอปฏิรูปคอร์รัปชั่นของ สปช.

การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงถูกคาดหวังว่าจะต้องนำเสนอผลงานที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาประเด็นนี้เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของการขับไล่รัฐบาชุดที่แล้วให้ได้ และภายใต้วาทะกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จึงน่าสนใจว่า ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของสปช. นั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ และเป็นรูปธรรมของการปฏิรูปได้เพียงใด
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อปี 2549 และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากรรมการป.ป.ช. เธอคือหนึ่งในผู้สัมผัสกับปัญหาโดยตรงและลึกซึ้ง ที่จะช่วยเรามองข้อเสนอต่างๆ ของสปช.ให้ชัดเจนขึ้นได้
“การทุจริตนั้นมีอยู่ในทุกสถาบัน อย่าไปบอกเลยว่าคนนั้นทุจริต ต้องรังเกียจเขา ต้องลงโทษเขา บางทีสถาบันของคนที่พูดก็มี ยืนยันว่ามีทุกสถาบันไม่เว้นแม้แต่สถาบันตุลาการ แต่สถาบันตุลาการอาจจะมีน้อย เพราะปลูกฝังในเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น และลงโทษหนัก” สมลักษณ์ กล่าวเปิดบทสนทนา
สมลักษณ์อธิบายให้เห็นภาพรวมของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นว่า เมื่อพูดถึงปัญหาคอร์รัปชั่นไม่อยากให้เน้นที่การจับผิดนักการเมือง เพราะสถาบันนักการเมืองหรือสถาบันไหนๆ ก็ทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ต่างกัน เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นอยู่กับโอกาส ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหนถ้ามีโอกาสก็จะทำได้เสมอ อยางกลุ่มนักการเมือง เมื่อมีอำนาจ ก็มีช่องทางมากกว่า มีโอกาสมากกว่า และอาจจะรู้จักทางหนีทีไล่ดี ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ จึงเอื้อมมือไปเอาผิดได้ลำบาก
“กฎหมายของเราตอนนี้ไม่มีปัญหา แม้อาจจะล้าหลังไปบ้างก็ต้องแก้ไขกันไป แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่ ทัศนคติของคนไทยที่ชอบระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมของคนไทยชอบเข้าหาคนแก่ แล้วคนแก่ก็รู้สึกดีที่มีคนเข้าหาก็เลยจะถามว่าอยากได้อะไรบ้าง อยากย้ายไปอยู่ที่ไหน” สมลักษณ์ให้ความเห็น
หลักสูตร ‘โตไปไม่โกง’ เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องกำหนดชั่วโมง
หนึ่งในข้อเสนอจากรายงานวาระปฏิรูปการทุจริตคอร์รัปชั่นของสปช. คือ ให้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม “โตไปไม่โกง” ในสถานศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยบรรจุเป็นชั่วโมงเรียนให้ชัดเจน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 40 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา
อย่างไรก็ดี สมลักษณ์ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สปช. ที่ว่า ต้องแก้ปัญหาการทุจริตโดยเน้นที่การปลูกฝังทัศนคติ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกว่าการจัดทำหลักสูตร นั้นก็คือ "พฤติกรรมของตัวแบบ" 
ที่ปรึกษา ป.ป.ช. กล่าวว่า ต้องอบรมครูก่อน ไม่ใช่ว่าพอตอนเย็นครูก็ไปสอนกวดวิชา แบบนี้ก็จะไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็น ส่วนการกำหนดจำนวนชั่วโมงเรียนนั้นไม่จำเป็น ถ้าไปกำหนดว่าต้องเรียน 40 ชั่วโมงแล้วให้เด็กนั่งฟัง เด็กก็คงนั่งฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา การสอนแนวคิดเรื่องต่อต้านการทุจริตจะสอนตอนไหนก็ได้ สอนเข้าไปในการเรียนวิชาอื่นก็ได้
ศาลทุจริตฯ อาจไม่จำเป็น แค่ตั้งเป็น “แผนกคดีทุจริต” ก็เพียงพอ
ตามที่สปช. มีข้อเสนอให้ออกกฎหมายจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ขึ้นเป็นศาลพิเศษแห่งใหม่ เพื่อพิจารณาคดีทุจริตของข้าราชการระดับสูง สมลักษณ์เห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอใหม่ที่ยังไม่เคยได้ยินใครพูดถึงมาก่อน แต่ทุกวันนี้คดีทุจริตที่ขึ้นศาลยุติธรรมตามปกติ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมก็ทำหน้าที่ได้มาตลอดอยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยว่าจะต้องตั้งเป็นศาลแห่งใหม่ขึ้นมา เพราะจะต้องเสียงบประมาณและเสียเวลาในการอบรมบุคลากรขึ้นมาใหม่
ในฐานอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาแผนกคดีเยาวชน สมลักษณ์ยอมรับว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีการพัฒนาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบอยู่ตลอด ต้องอาศัยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญมารับผิดชอบคดี จึงเสนอว่า วิธีที่อาจเป็นไปได้จริงมากกว่า คือ การตั้งเป็นแผนกคดีทุจริตขึ้นมาเฉพาะในศาลยุติธรรม ไม่ต้องตั้งศาลใหม่ และกำหนดวิธีการพิจารณาคดีให้รวดเร็ว ซึ่งผู้พิพากษาที่มีอยู่ก็สามารถเรียนรู้และตัดสินคดีทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ปัญหาคดีล่าช้าไม่ต้องแก้กฎหมาย ต้องแก้ที่ระบบบริหารจัดการ
ตามที่สปช. มีข้อเสนอให้แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการป.ป.ช. จากเดิม 9 ปี เป็น 6 ปี เพื่อให้เร่งรัดให้สรุปสำนวนคดีให้เสร็จภายในวาระการดำรงตำแหน่ง แก้ปัญหาคดีคั่งค้าง สมลักษณ์เห็นว่า การจะกำหนดให้กรรมการป.ป.ช. อยู่ในตำแหน่งกี่ปีก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. คนปัจจุบันมองว่า สาเหตุที่คดีความของป.ป.ช.ล่าช้าและคั่งค้าง เป็นเพราะการบริหารจัดการภายในมากกว่า ในทางปฏิบัติเมื่อป.ป.ช.จะไต่สวนคดีแต่ละเรื่อง จะต้องตั้งคณะไต่สวนขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งการจะหยิบคดีแต่ละเรื่องขึ้นมาทำก่อนหรือหลังก็อยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของคณะไต่สวนแต่ละชุด ไม่อยู่ในอำนาจที่กรรมการป.ป.ช.จะเร่งรัดอะไรได้ เมื่อคณะไต่สวนบางคนก็ถูกย้ายไปต่างจังหวัดก็ทำให้การบริหารจัดการมีปัญหาและล่าช้า และงานไต่สวนก็ไม่ใช่งานที่จะโอนไปให้เจ้าหน้าที่คนอื่นทำแทนกันได้ง่ายๆ
สมลักษณ์ยอมรับว่าระบบภายในของป.ป.ช.ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ ทำให้การดำเนินคดีล่าช้าจนบางคดีขาดอายุความไป และตอบคำถามสังคมลำบาก สมลักษณ์ยกตัวอย่าง ประสบการณ์ที่เคยเจอคดีหนึ่งซึ่งไม่มีความคืบหน้าเป็นเวลาหลายปี เมื่อไปตรวจสอบก็พบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบคดีลาไปเรียน และเอาสำนวนใส่ตู้ล็อคกุญแจไว้ โดยที่ฝ่ายบริหารของสำนักงานก็ไม่ทราบเรื่อง
สำหรับประเด็นความล่าช้า อดีตผู้พิพากษาเห็นว่า การเสนอปฏิรูปโดยการออกกฎหมายใหม่หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด การแก้ไขปัญหานี้ แค่ต้องวางระบบการจัดการภายในให้ดีกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น ต้องออกแบบระบบให้สามารถทำได้เหมือนระบบคดีของศาลยุติธรรมที่สามารถหยิบเรื่องสำคัญหรือเรื่องเล็กน้อยมาทำก่อนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้โดยเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของป.ป.ช.เอง
นอกจากนี้ สมลักษณ์ยังเสนอด้วยว่า หากต้องการให้ป.ป.ช.ทำงานเร็วขึ้น ควรเพิ่มจำนวนคณะกรรมการป.ป.ช. และแยกฝ่ายกันทำงานให้ชัดเจน แบ่งเป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายปราบปราม ฝ่ายป้องกัน และฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน ปัจจุบันนี้กรรมการป.ป.ช. มี 9 คน ต้องทำหน้าที่ด้วยกันทุกเรื่อง ทำให้ทำงานไม่ทัน และไม่มีการแบ่งหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญ การเพิ่มจำนวนและแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนอาจจะช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าในการทำงานของป.ป.ช.ได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้เป็นประเด็นที่สปช.ไม่ได้เสนอไว้
เห็นด้วยข้อเสนอลดภาระงานสืบสวนสอบสวน – ป.ป.ท. ควรเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
สำหรับข้อเสนอของสปช. ที่ให้แยกอำนาจการสืบสวนสอบสวนให้เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ช. และให้กรรมการป.ป.ช.มีหน้าที่เพียงวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อลดภาระงานของกรรมการป.ป.ช. สมลักษณ์เห็นว่า ถ้าจะทำแบบนั้นต้องอบรมเจ้าหน้าที่ของเราใหม่ ทุกวันนี้ก็พยายามจะพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่อยู่บ้าง แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สำนักงานยังไม่มีศักยภาพเพียงพอจะรับภาระส่วนนี้ได้ เท่าที่สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยังไม่กล้ายืนยันความคิดเห็นของตัวเองต่อคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า และยังอาจจะฟังกระแสสังคมมากเกินไปด้วย
อดีตกรรมการป.ป.ช.เห็นว่า ปัจจุบันศักยภาพของเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช.ยังไม่พร้อมทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคู่กรณี แต่หากวันหนึ่งข้างหน้าพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ได้ ข้อเสนอนี้ก็น่าจะเป็นผลดี
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของสปช. ให้ควบรวม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ซึ่งปัจจุบันสังกัดอยู่ใต้กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐต่ำกว่าระดับ 8 เข้ากับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งปัจจุบันเป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับ 8 ขึ้นไป เพื่อให้ป.ป.ท.เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ที่สมลักษณ์เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี  
การปฎิรูปต้องมาจากประชาชน ต้องทำหลังการเลือกตั้ง
“คำตอบแม้ในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นลม ก็ขอยืนยันเหมือนเดิมว่า การปฏิรูปต้องทำหลังการเลือกตั้ง เพราะการปฏิรูปต้องมาจากประชาชน เราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การจะออกกฎหมายมาปฏิรูปก็ต้องมาจากผู้แทนของปวงชนชาวไทย” สมลักษณ์กล่าว
สำหรับข้อกังขาว่า ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะเข้าสู่ตำแหน่งเพราะการซื้อเสียง และไม่ได้จริงใจในการปฏิรูป สมลักษณ์มองว่า วิธีแก้ไข คือ การทำความรู้ความเข้าใจกับประชาชนว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นไม่ดีอย่างไร ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ดังนั้น ความคิดที่จะปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้งก็ต้องทำโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งไม่เห็นด้วย ส่วนตัวอยากให้กฎหมายที่จะมาใช้บังคับกับประชาชนต้องออกโดยสภาที่มาจากการเลือกของประชาชนและเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนเท่านั้น