‘ครอบครอง’ สื่อลามกอนาจารเด็กผิดกฎหมาย ‘ค้า-ผลิต-เผยแพร่’ จำคุกสูงสุด 10 ปี

8 กันยายน 2558 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 24) เรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งมีการแก้ไขคำนิยามโดยเพิ่มคำว่า “สื่อลามกอนาจารเด็ก” เข้ามาเป็นครั้งแรก และเพิ่มอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 เป็นความผิดฐานครอบครอง ผลิตและจำหน่ายสื่อลามกเด็ก โดยจะมีผลใช้บังคับหลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา 90 วัน

ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดย จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิก สนช. และคณะ อีก 50 คน 19 กุมภาพันธ์ 2558 สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ต่อมาในเดือนมีนาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และ สนช. ผ่านวาระ 3 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
 
                                  

สาระสำคัญของการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้

เนื่องจากการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็ก ประกอบกับตามกฎหมายของไทยที่มีอยู่เดิม ไม่ได้แยกระหว่างการผลิตและการค้าสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่กับสื่อลามกอนาจารเด็กออกจากกัน ทั้งที่ลักษณะความผิดมีความร้ายแรงแตกต่างกัน

สื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่ กฎหมายอนุญาตให้สามารถมีไว้ในความครอบครองได้ หากไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจการค้า เพราะเป็นเรื่องรสนิยมของบุคคล แต่สำหรับสื่อลามกเด็กนั้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องคุ้มครองให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะเด็กอาจยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอและตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศในกระบวนการผลิตสื่อลามกได้ จึงทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า กฎหมายควรจะควบคุมสื่อลามกอนาจารเด็กตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและการครอบครองด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็ก

กฎหมายของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็มีการแบ่งแยกประเภทสื่อลามกอนาจารเด็กออกจากสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่ และกำหนดว่าการครอบครองสื่อลามกเด็กเป็นความผิด โดยกำหนดโทษทั้งผู้ครอบครอง ผู้เผยแพร่ส่งต่อ และผู้ขาย มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่ากรณีสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่

ดังนั้นเพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองและป้องกันจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) จึงกําหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทําให้แพร่หลายซึ่งวัตถุหรือสิ่งลามกที่เป็นสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดที่ผู้กระทําต้องได้รับโทษหนักขึ้น รวมทั้งกําหนดให้การครอบครองและส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดด้วย

เนื้อหาหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมมุ่งประเด็น ดังนี้

1. เพิ่มคำนิยามศัพท์ของคำว่า “สื่อลามกอนาจารเด็ก” ไว้ในมาตรา 1

สื่อลามกอนาจารเด็ก หมายความว่า "วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็ก ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ข้างต้น ที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้"

สาเหตุที่กำหนดอายุไม่เกิน 18 ปี เนื่องจากไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ

2. "ครอบครอง-ส่งต่อ" สื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด มีบทลงโทษ

กำหนดให้การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศของตนเองและผู้อื่น มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และกำหนดให้การส่งต่อแก่ผู้อื่น มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 287/1

3. เพื่อการค้า-แจกจ่าย-เผยแพร่ สื่อลามกอนาจารเด็ก เพิ่มโทษหนัก จำคุกสูงสุด 10 ปี

กำหนดความผิดของ การทํา ผลิต มีไว้ นําเข้าหรือส่งออก หรือเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กด้วยวิธีใดๆ การค้า การแจกจ่าย การแสดง หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า สื่อลามกอนาจารเด็ก การโฆษณาว่าสื่อลามกอนาจารเด็กจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท ตามมาตรา 287/2

ข้อสังเกต : จุดแข็ง-จุดอ่อน ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้

การรณรงค์ให้การครอบครองสื่อลามกเด็กผิดกฎหมายที่เว็บไซต์ change.org มีผู้ร่วมสนับสนุนการรณรงค์จำนวนมากกว่า 28,000 คน ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังคงเป็นข้อถกเถียง เช่น การตีความเจตนาในการครอบครอง การกำหนดนิยามของสื่อลามกเด็กที่กว้างเกินไป การพิสูจน์ว่าคนที่มาภาพปรากฏอายุ 18 ปีหรือไม่ หรือ การตีความบังคับใช้กฎหมายนี้กับภาพการ์ตูน หรือภาพกราฟฟิค

จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้สรุปประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ 6 ประเด็น คือ 1.การมีกฎหมายที่ชัดเจนดังกล่าว จะสามารถเอาผิดกับกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิตที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กได้ (Pedophile) 2.การมีสื่อลามกอนาจารเด็ก สามารถใช้เป็นเครื่องมือชักจูงหลอกลวงให้เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศต่อไปได้ 3.กลุ่มที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก จะสามารถบ่งชี้ได้ชัดเจน เนื่องจากมีการเก็บภาพต่างๆ ไว้เป็นคอลเลกชั่น ทั้งเก็บไว้ดูเองและขายสู่ตลาดผ่านช่องทางออนไลน์

 

4.การจับกุมผู้กระทำผิดทำได้ยาก 5.การมีไว้ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก อาจนำมาซึ่งการก่อให้เกิดพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเพิ่มมากขึ้น 6.เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในสังคมต่อไป จากการวิจัยพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสจะไปกระทำการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กอื่นเมื่อตนเองโตขึ้น ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงในการจะค้าประเวณี หรือฆ่าตัวตาย

วิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล มีความเห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิเด็ก และป้องกันเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น และยังสอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเรื่อง การขายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก

วิสากล่าวต่อว่า สังคมและชุมชนควรตระหนักและเห็นความจำเป็นที่จะขจัดการบริโภคสื่อลามกอนาจารที่เกี่ยวกับเด็ก ตลอดจนช่วยสอดส่องดูแล ป้องกันการกระทำความผิดดังกล่าวมิให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กว่า กฎหมายฉบับนี้ มีที่มาจากเหตุผลว่าปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ ดังนั้นคนที่มีสื่อลามากอนาจารโดยครอบครอง ไม่ว่าจะรับมาทางไลน์จากเพื่อน เมื่อเปิดดูแล้วมีเจตนาแสวงหาเพื่อประโยชน์ในทางเพศของตนก็ถือว่ามีเจตนาพิเศษ ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ต้องการให้มีการละเมิดทางเพศต่อเด็ก

สราวุธกล่าวด้วยว่า ตามความหมายการครอบครองที่บัญญัติในมาตรา 287/1 ซึ่งแม้มีไว้ในเครื่องโทรศัพท์แล้วเก็บไว้ดู ก็ถือว่ามีเจตนาพิเศษทั้งสิ้น จึงขอเตือนไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับภาพสื่อลามกอนาจารเด็ก ดูแล้วส่งต่อจ่ายแจกก็ผิด

เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ขณะเดียวกันผู้เสียหายในความผิดนี้ คือเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กฎหมายนี้ถือเป็นหลักการสากลที่ให้การคุ้มครองเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นใครก็ตามที่มีสื่อลามกอนาจารเด็กในครอบครองก็มีความผิดโดยไม่จำเป็นต้องมีเด็กหรือใครคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เปรียบเหมือนมียาเสพติดไว้ในครอบครองเลยแค่มีก็ผิดแล้ว

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไว้ในบทสัมภาษณ์ของประชาไท ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องการตีความคำว่า ' ครอบครอง ' อย่างเช่น ในกรณีการใช้งานคอมพิวเตอร์จะมีระบบ cache file เวลาเปิดเว็บไซต์ ข้อมูลจะถูกดึงมาเก็บไว้อยู่ในเครื่องด้วยโดยอัตโนมัติ บางคนแม้จะใช้คอมพิวเตอร์แต่ก็ไม่รู้ว่าแคชไฟล์คืออะไร อย่างนี้จะถือว่าเจตนาครอบครองหรือไม่ หรือการที่ตำรวจมีไว้ครอบครองเพื่อสืบสวนสอบสวน กฎหมายก็ไม่ได้เขียนให้ชัดเจนว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่

จอมพลเห็นว่า กฎหมายใหม่เรื่องความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กที่ออกมานั้น ยังขาดเรื่องการเว้นโทษ ซึ่งต่างกับกฎหมายว่าด้วยสื่อลามกเด็กของประเทศอังกฤษ ที่มีบทยกเว้นโทษให้สำหรับผู้ที่ครอบครองสื่อลามกโดยชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องรูปแบบของสื่อลามกด้วยว่า ในกฎหมายไม่ได้ระบุเฉพาะภาพหรือภาพเคลื่อนไหว แต่ยังรวมถึง “เอกสาร” และ “แถบบันทึกเสียง” อย่างกรณีของ “แถบบันทึกเสียง”  เช่น การอัดเสียงเด็กซึ่งเหมือนถูกกระทำล่วงละเมิดทางเพศนั้นจะพิสูจน์ทราบได้อย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่สร้างปลอมๆ ขึ้นมาได้ หรือกรณีของเอกสารเป็นเรื่องของตัวหนังสือ หมายความว่าต่อไปนี้เราจะไม่สามารถเขียนนวนิยายที่เกี่ยวกับเพศของเด็กได้แล้ว หากมีการเขียนด้วยจินตนาการเช่นนั้นก็เข้าข่ายความผิด

 

 

ไฟล์แนบ
  • 84 (64 kB)