ฟังเสียงปฏิรูป: เมื่อคนทำ “สื่อ” ขอวิพากษ์ข้อเสนอกำกับดูแลสื่อของ สปช

การปฏิรูปสื่อให้มีความรับผิดชอบ ปลอดจากการครอบงำโดยทุนและรัฐ เป็นประเด็นที่องค์กรสื่อเรียกร้องมานาน แต่ยังไม่มีกระบวนการการขับเคลื่อนที่ชัดเจน จนสภาปฏิรูปแห่งชาติบรรจุเป็นวาระการปฏิรูปถึง 3 วาระ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ, การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และการกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ
โดยเนื้อหาสาระก็คือ มุ่งสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ต้องเป็นเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมาธิการของสปช.ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันสื่อขาดความเป็นกลาง และขาดจริยธรรม จึงจำเป็นจะต้องมีการกำกับดูแลโดยองค์กรกลาง รวมถึงการคุ้มครองตัวบุคคลและส่งเสริมประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ
ข้อเสนอชุดนี้ของ สปช. ยังมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย หนึ่งในนั้น คือ เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทที่มองว่า การพูดเรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบอาจไม่ใช่วาระเร่งด่วน แต่เรื่องเร่งด่วน คือ "เสรีภาพสื่อ" ในปัจจุบันมากกว่า 
เสรีภาพสื่อยังไม่มี แต่เราจะ 'วาร์ป' ไปคุยกันเรื่อง "ความรับผิดชอบ" แล้ว
เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ Prachatai.com เปิดประเด็นกับเราว่า เขามองเรื่อง "เสรีภาพสื่อ" เป็นเรื่องที่เร่งด่วนกว่า "ความรับผิดชอบ" โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร ที่มีการปิดกั้นสื่อ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม และสื่อออนไลน์ อีกทั้ง คณะรัฐประหารพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว การที่สื่อถูกเรียกไปรายงานตัวที่ค่ายทหาร สะท้อนถึงปัญหาเสรีภาพสื่อได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่กำหนดให้การวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ต้องเป็นไปโดยสุจริตใจ ทำให้ทิศทางการนำเสนอข่าวถูกจำกัด ซึ่งเขายกตัวอย่างว่า “ถ้าเกิดสื่อมองว่า คสช. เป็นปัญหา เป็นภัยต่อรัฐและไม่เห็นด้วยกับ คสช. แล้วพวกเขาจะวิจารณ์โดยสุจริตใจได้อย่างไร “
"มันเป็นเงื่อนไขในการปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ  จะบอกว่าวิจารณ์ด้วยความห่วงใยมันก็ดูกระดากปาก เพราะเราก็ไม่ได้ห่วงใย และหลายคนก็ไม่ได้เรียก คสช. ออกมา และอาจมองว่า คสช. เป็นคู่ขัดแย้งด้วยซ้ำไป"
ผู้สื่อข่าวออนไลน์รายนี้ กล่าวว่า "ก่อนที่สื่อจะพูดเรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบ คุณปกป้องสื่อก่อนได้ไหม ให้สื่อได้มีเสรีภาพก่อน แล้วค่อยพูดเรื่องความรับผิดชอบ" 
สังคมจะมีวิจารณญาณเมื่อผ่าน "การเงิบ" เราจึงต้องประกันเสรีภาพสื่อในทุกยุคสมัย
จากประสบการณ์ติดตามการเสพข่าวของโลกออนไลน์ เขามองว่า "อาการเงิบ" หรืออาการหน้าแตกจากการแชร์ข่าวที่รายงานผิดพลาดหรือเป็นข้อมูลที่ถูกทำปลอมขึ้นมา เป็นเรื่องปกติของการเสพสื่อในยุคปัจจุบัน เช่น แชร์ภาพเก่า เปลี่ยนพาดหัวข่าว สิ่งเหล่านี้ ทำให้หลายคนพลาด ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือสื่อ แม้แต่ตัวเขาเอง แต่เขาก็ค้นพบว่า ถึงที่สุดสังคมก็จะเรียนรู้ และสังคมก็จะไม่อ่อนไหวกับข่าวลือได้มากขึ้น
เมื่อถามต่อว่า อาจเป็นเพราะช่วงนี้เป็นสถานการณ์พิเศษหรือไม่ ทำให้เสรีภาพมีจำกัด และ สปช. ก็ยอมรับในข้อจำกัดนั้น จึงมองไปข้างหน้าว่าสื่อต้องมีมาตรฐานขึ้นมากำกับดูแล เขาตอบว่า การอ้างสถานการณ์พิเศษนั้นไม่สมเหตุสมผลสำหรับการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนคนก็สามารถพัฒนาวิจารณญานในการเสพสื่อได้ การที่สื่อด้วยกันไม่ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพด้วยกันในยุคคณะรัฐประหาร นั้นเท่ากับว่า เราก็ไม่พร้อมจะสร้างบรรยากาศสังคมที่มีดุลยพินิจ มีวิจารณญานในการเสพข่าว
การทำให้สื่อมีความรับผิดชอบ อาจใช้พื้นที่สื่อนำเสนอข้อมูลอีกด้านตอบโต้ก็ได้
"ปัญหาของคำว่ารับผิดชอบ คือมันกินความขนาดไหน?" เทวฤทธิ์ตั้งคำถามต่อการชูประเด็นความรับผิดชอบของสื่อ
"ถ้าเป็นปัจเจกต่อปัจเจกก็สามารถฟ้องร้องกันได้ เราก็มีวิธีตามกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว รัฐต้องสนับสนุนให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากกว่า" เขาเสนอบ้าง
โดยส่วนตัว เทวฤทธิ์มองว่า หากสื่อนำเสนอข่าวที่ทำให้คนอื่นเสียหาย ก็สามารถดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ แต่ไม่ใช่การลงโทษทางอาญา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้สื่อคำนึงถึงผลเสียมากขึ้น แต่สิ่งที่เขาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนก็คือ รัฐไม่ควรดำเนินคดีกับสื่อ หรือปิดกั้นสื่อแบบเกินกว่าเหตุ เพราะรัฐมีทรัพยากรมากพอที่จะชี้แจงต่อสังคม 
เขายกตัวอย่าง กรณี "รินดา" ที่โพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐก็บอกว่าไม่เป็นความจริง เมื่อเธอก็เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ เธอโพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัวซึ่งมีคนเห็นหลักสิบ แต่กับถูกฟ้องคดี “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ทั้งที่รัฐควรจะเป็นผู้ชี้แจ้งโดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขมาปิดปากกัน 
เขายอมรับว่า อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งให้คนเลือกเสพสื่อ หรือพยายามนำเสนอข่าวเพื่อเอาชนะ แต่ถ้าประชาชนช่วยกันตรวจสอบถ่วงดุลและเปิดพื้นที่สื่อหลายๆด้าน ก็ไม่ต้องตั้งมาตรฐานจนกลายเป็นการเซ็นเซอร์รูปแบบหนึ่ง จนเหมือนสังคมกลัวที่จะ 'เงิบ' จนยกอำนาจเซ็นเซอร์ให้ผู้กรองข้อมูลที่จะเป็นใครไม่รู้อีกที เขาเชื่อว่า หากว่าสื่อจะนำเสนอข้อเท็จจริงผิดพลาดไปในบางครั้ง ถ้าประชาชนมีดุลยพินิจก็จะตัดสินได้ว่าอะไรจริงไม่จริง และสื่อนั้นก็จะหมดความน่าเชื่อถือไปเอง
แนวคิด "คุณพ่อรู้ดี" มีข้อดีเพื่อ "ลดต้นทุน" แต่สุดท้ายวังคมอาจไร้วิจารณญาณ
จากแนวคิดของ สปช. ที่มองว่า ต้องมีองค์กรมากำกับดูแลนั้น  เขามองว่า สังคมไม่ควรมีใครทำหน้าที่เป็น "คุณพ่อรู้ดี" มาทำหน้าที่กำกับและคิดแทนคนอื่นๆ ในสังคม และถ้าจะมีระบบนี้ ปัญหาก็คือ ใครจะเป็นคนทำหน้าที่ดังกล่าว เขาลองจินตนาการให้เราฟังว่า "สมมติว่ารัฐเป็นผู้กำกับ แล้วสื่อจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือไม่ เพราะสุดท้ายจะโดนดาบของผู้มีอำนาจรัฐแทงเอา" 
หรือถ้าเป็นรูปแบบสมาคมวิชาชีพสื่อกำกับดูแลกันเอง ก็ต้องยอมรับว่า โดยปกติสื่อแข่งขันในระบบตลาด ใครมีทุนมากกว่าได้เปรียบ และมีผลต่อตำแหน่งแห่งที่ สื่อใหญ่ก็เข้าไปอยู่ในนั้น แล้วก็มีอิทธิพลเพราะอาจจะมีพรรคพวกหรือเก้าอี้เยอะกว่า ถ้าอย่างนั้น กรณีมีสื่อเล็กที่เป็นม้ามืดมาแรง ก็อาจโดนสกัดดาวรุ่ง กำจัดคู่แข่งโดยอ้างเรื่องความไม่เป็นมืออาชีพ ขาดความรับผิดชอบ แม้ว่าจะนำเสนอผิดพลาดไปบ้างก็ตาม
แต่ทว่า ข้อดีของ "คุณพ่อรู้ดีโมเดล" คือ ลดต้นทุน เพราะในสังคมปัจจุบันเราเสพสื่อมากกว่าแต่ก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ การจะให้คนไปเสียเวลาในการเช็คข่าวก็เป็นการสร้างต้นทุน แต่การไม่เชื่อในทันทีที่เสพข่าวก็ทำให้เราไม่เสียรู้ไปกับมันด้วยเหมือนกัน
เสรีภาพสื่อในรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขที่ "ไม่ชัดเจน-ไม่สอดคล้อง" กับภาวะทางสังคม   
หลังจากคุยเรื่องข้อเสนอทั่วไปของสปช. ก็เปลี่ยนประเด็นมาที่ร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เทวฤทธิ์ชี้ประเด็นว่า ในหมวดเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมีการแก้ไขไปมาก เช่น 
การเปลี่ยนจากคำว่า "บุคคลยอมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมาย" เป็น "เสรีภาพของสื่อมวลชน" ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อ เป็นไปตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน / ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน / มีความรับผิดชอบต่อสังคม
เขาอธิบายว่า ปัญหาของการเขียนเงื่อนไขในการคุ้มครองดังกล่าว คือ ทำให้เสรีภาพของสื่อไม่ชัดเจน แล้วสื่อจะปกป้องตัวเองจากการที่รัฐจะห้ามหรือปิดกั้น หรือจะต่อสู้คดีในศาล เพื่อยืนยันเสรีภาพสื่อได้โดยลำบากขึ้น เช่น 
การเขียนว่าการนำเสนอข่าวต้องเป็นไปตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แล้ว เส้นของ "จริยธรรม" คือตรงไหน เพราะแต่ละคนก็มีสมาทานจริยธรรมไม่เหมือนกัน หรือความแตกต่างในทางศาสนาอีก
หรือ การกำหนดให้ต้องนำเสนอข้อมูลอย่าง ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน ก็เป็นการสร้างภาระต้นทุนให้กับสื่อ สมมติว่าสื่อขนาดเล็ก การพูดเรื่องการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักมาก ถ้าเกิดแหล่งข้อมูลมองว่าสื่อบางแห่งมีความเป็นขั้วทางการเมือง แล้วจะเข้าถึงข้อมูลอีกฝ่ายได้อย่างไร
ส่วนเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม ก็ต้องมองก่อนว่า "สังคมมีความหลากหลาย" ถ้าสังคมมีความเชื่อไปทางด้านหนึ่ง แต่มีคนกลุ่มน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับทางนั้น เช่น คนที่ต้องการผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมาย พอไปนำเสนอ จะกลายเป็นว่า เขานำเสนอสิ่งที่ผิดกฎหมายไม่รับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ หรือ อย่างกรณีนักข่าวที่ทำสกู๊ปเรื่องคนทำแท้ง ในสังคมพุทธก็จะบอกว่า เป็นการชี้นำให้คนทำบาป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการตั้งเงือนไขที่ไม่ดูภาวะทางสังคมที่แท้จริง
หากต้องการให้คนรู้เท่าทันสื่อ ไม่ต้องกีดกันการเป็นเจ้าของสื่อ แต่ให้เปิดเผยว่าสื่อไหนเป็นของใคร
ประเด็นสุดท้ายที่พูดคุยกันคือ ความพยายามของ สปช. ด้านสื่อ ที่ต้องการให้สื่อปลอดจาก "ทุน" โดยการเสนอให้กำหนดในรัฐธรรมนูญว่า "เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม" 
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวประชาไทมองว่า การกำหนดแบบนั้นก็ไม่ได้แก้ปัญหาเท่าไร เพราะความต้องการที่แท้จริงคือ ให้สื่อมีอิสระและให้คนมีวิจารณญาณในการเสพสื่อ ดังนั้น ไม่ต้องไปกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่ให้ "นักการเมือง" และ "กลุ่มทุน" แสดงตัวออกมาเลยว่า ใครบ้างที่เป็นผู้ถือหุ้น หรือถือครองกิจการสื่อใดบ้าง แล้วประชาชนผู้รับสื่อจะตรวจสอบเอง
และการกำหนดในรัฐธรรมนูญแบบเช่นนั้น เป็นการมอง "ทุน" แบบผิวเผิน และไม่เข้าใจความซับซ้อนของทุน เพราะ การเป็นเจ้าของกิจการสื่อไม่จำเป็นต้องไปนั่งเก้าอี้จริงๆ มีตัวแทน นอมินี ให้ทุนใหญ่ใช้เพื่อนั่งกิจการสื่อหลายแห่งได้อยู่แล้ว 
หากประชาชนรู้ว่า "นักการเมือง" หรือ "กลุ่มทุน" ไหนถือครองสื่ออะไร เขาจะตั้งคำถามต่อวิธีการนำเสนอข่าว เหมือนรู้อยู่แล้วว่าอีกฝ่ายเป็นขั้วการเมืองแบบไหน ก็จะมีมาตรฐานในการกลั่นกรองข่าวด้วยตัวเอง เทวฤทธิ์กล่าวปิดท้าย