เทียนฉายโชว์ผลงาน สปช. เผย “สมาชิกรู้ดีว่าเราฉีกใบสั่งทิ้งไปกี่ใบ”

วันที่ 13 สิงหาคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติได้จัดงาน “สปช.รายงานประชาชน” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ โดยในช่วงเช้ามีเวทีเสวนากับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันท์ ในหัวข้อ “ประธานสปช.เปิดใจจะปฏิรูปอะไร” โดยมีสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้สัมภาษณ์ 
ไม่แน่ใจว่าเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือนักเพ้อฝัน เพียงแค่ตั้งใจเข้ามาช่วยประเทศ
สุทธิชัย หยุ่นเปิดประเด็นด้วยคำถามแรกว่า สปช.ตั้งใจทำหน้าที่สถาปนิก วิศวกร หรือนักเพ้อฝัน ซึ่งเทียนฉายตอบว่า ไม่แน่ใจ ก่อนเล่าถึงหน้าที่ของ สปช. ในการเป็นองค์กรทางวิชาการเพื่อคิดและวางแผนเรื่องการปฏิรูปและให้ความเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสุทธิชัยถามว่ากลัวเสียคนตอนแก่หรือไม่ เพราะบางคนมองว่าไปรับใช้คณะรัฐประหาร เทียนฉายเปิดใจว่า สปช.หลายคนอาสาเข้ามาด้วยความตั้งใจดีกับประเทศชาติ ส่วนสาเหตุที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะ “เราไม่รู้จะบอกลูกหลานอย่างไรว่า วันหนึ่งเรามีโอกาสช่วยชาติได้ แต่เราไม่ช่วย” 
เทียนฉาย ยังได้ย้ำเน้นหลักคิดของ สปช. ในเรื่องการปฏิรูปว่าการปฏิรูปไม่ใช่การออกคำสั่งเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการพยายามจัดระเบียบองค์กรหรือโครงสร้างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ในการทำงาน สปช.ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ หากได้ทำการสังเคราะห์แนวคิดการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดก่อนๆ ที่เคยศึกษาแนวทางปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชุดของคณิต ณ นคร ชุดของประเวศ วะสี รวมทั้งความเห็นที่  คสช. รวบรวมมาจากหน่วยราชการต่างๆ โดย สปช. ได้นำความเห็นเหล่านี้มาต่อยอด ลงรายละเอียดและปรับให้ทันสมัย 
เมื่อสุทธิชัยถามว่า สปช.เคยได้รับใบสั่งจาก คสช. หรือไม่ เทียนฉายกล่าวว่า “สมาชิกรู้ดีว่าเราฉีกใบสั่งทิ้งไปกี่ใบ” จากนั้นขยายความว่า “จริงๆ ไม่อยากให้เรียกว่าใบสั่งเรียกใบคำร้องขอความเห็นดีกว่า” และว่า หลายๆ ครั้ง ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายบริหารกับ สปช. เกิดจากการมีข้อมูลประกอบคนละชุดข้อมูล ซึ่งแต่ละฝ่ายควรต้องนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ค่อยๆ ทยอยส่งให้ ครม. รับไปปฏิบัติ
เทียนฉายกล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ยิบย่อยอาจดูเหมือนเป็นเบี้ยหัวแตก แต่เมื่อมองดูเป็นองค์รวมจะพบว่าจริงๆ แล้ว “ไม่แตกเลยสักเบี้ยหนึ่ง” กล่าวคือทั้งหมดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ สปช. ได้ทยอยส่งข้อเสนอต่างๆ ให้แก่คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางเรื่องเป็นเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก เช่น เรื่องสัมปทานที่ดินแปลง 21 ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีส่งคำร้องขอความเห็นมาก่อนหน้านี้ หรือเรื่องการเดินหน้าวิสาหกิจเพื่อสังคมที่กระทรวงการคลังเพิ่งประกาศเมื่อวาน ขณะที่ในบางเรื่องทาง สปช. ได้เสนอไปแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเงียบเฉยอยู่ก็มี เช่น เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์เป็นรายวินาที ซึ่งได้เคยเสนอ กสทช. ไป
เทียนฉายกล่าวว่า สปช. มีวาระปฏิรูปรวมทั้งสิ้น 37 วาระ และวาระการพัฒนาอีก 6 วาระ แต่มีบางเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่อง “Quick Win” คือรัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีเพื่อให้เกิดผลในทิศทางบวก ซึ่งได้ทยอยเสนอรัฐบาล ขณะเดียวกันแผนการปฏิรูปหลายอย่างก็จำเป็นต้องใช้เวลายาวนาน เมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีการศึกษา ประเมินผล ปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอด เปรียบเหมือน “ลูกกลิ้ง” 
นอกเหนือไปจากวาระการปฏิรูปที่ถูกกำหนดกรอบโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว สปช. ยังได้ให้ “ของแถม” เพิ่มเติม นั่นคือได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาเก่าๆ ที่สะสมจนเพิ่งปะทุออกมา เช่น เรื่องการบินพลเรือน การประมง การค้ามนุษย์ ฯลฯ
ย้ำสัมพันธ์กับกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ “ใกล้ชิดและลึกซึ้งยากจะอธิบาย”
เมื่อสุทธิชัยถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง สปช.กับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เทียนฉายอธิบายว่า “ไม่ใช่แฝด…แต่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดและลึกซึ้ง ยากจะอธิบาย” สำหรับกระแสข่าวว่ามีสมาชิก สปช. ออกมาต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เทียนฉายกล่าวว่า “เท่าที่รู้ก็มีสมาชิก สปช.แค่ 2 ท่าน เท่านั้น” ส่วนคำถามที่ว่าท้ายที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน สปช. หรือไม่นั้น เทียนฉายตอบว่า “ไม่รู้” เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ส่วนที่ว่าอยากให้ผ่านไหม ตนขอเก็บไว้ในใจ เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นการชี้นำที่ไม่เหมาะสมในฐานะประธาน สปช. อย่างไรก็ตาม เทียนฉายย้ำว่าสุดท้ายแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน สปช.ในวันที่ 22 สิงหาคม 2558 นี้ แต่ก็ยังต้องส่งให้ ครม.วินิจฉัยต่อไป ซึ่ง ครม. อาจไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้
นอกจากนี้เทียนฉายกล่าวตอนหนึ่งว่า “ความเห็นขัดแย้งเป็นความงาม” เพราะเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงอภิปราย โดยมติของ สปช. ไม่ใช่มติที่มีข้อผูกพัน สำหรับ สปช.แล้ว มติของ สปช. ก็เป็นเพียงความเห็นของเสียงข้างมากภายใน สปช. ซึ่งในการรายงานความเห็นของ สปช. ในเรื่องต่างๆ ไปยังครม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีการรายงานความเห็นของเสียงส่วนน้อยใน สปช.ประกอบการพิจารณาในรายงานด้วย
ขั้นตอนต่อไปต้องไม่เสียของ ประชาชนต้องเป็นเจ้าของแผนปฏิรูปร่วมกัน
ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ เทียนฉายได้ให้ความเห็นเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติว่ามีความสำคัญมาก เพื่อช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูประยะยาวให้สำเร็จไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โดยไม่อยากให้เข้าใจหรือมองว่าเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจ
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาการใช้อำนาจพิเศษ เทียนฉายให้ความเห็นว่าแนวทางการปฏิรูปที่จะช่วยในเรื่องนี้คือ “การพัฒนาคน” และ “ธรรมาภิบาล” ซึ่งในมุมมองของตน เรื่องที่เป็น “เรื่องคานงัด” หรือการปฏิรูปใหญ่ที่สำคัญมากมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างเช่นการตรึงอัตรากำลังข้าราชการตั้งแต่ปี  2542 แต่แท้จริงแล้วยังคงมีการเพิ่มอัตราพนักงานจ้างของรัฐอยู่ ถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อลดขนาดและความซ้ำซ้อนของหน่วยงานภาครัฐ เรื่องที่สองคือการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเราต้องตอบให้ได้ว่าเราต้องการได้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณลักษณะอย่างไร
สำหรับแนวทางที่รัฐบาลในอนาคตจะนำแผนปฏิรูปไปใช้นั้น เทียนฉายให้หลักคิดไว้ 3 ข้อ ได้แก่
1. ถ้าพยายามทำทันที 40-50 เรื่อง ทุกเรื่องจะมีคนได้ประโยชน์และมีคนเสียประโยชน์รัฐบาลจะรับมือคนเสียประโยชน์อย่างไรจึงจะสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไปได้
2. เวลาที่จะนำแผนปฏิรูปไปดำเนินการจริง อาจต้องมีการปรับปรุงวิธีการ เช่น อาจพบว่ามีคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้ที่สภาปฏิรูปอาจไม่ได้พิจารณาคลอบคลุมถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
3. ข้อมูลและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เวลาจะลงมือปฏิรูปจริง จึงต้องปรับแผนให้เข้ากับข้อมูลและสถานการณ์ใหม่ๆ เช่น วันนี้เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เรื่องการลดค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งในขณะที่ทำแผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจยังไม่มีข้อมูลนี้
สำหรับประชาชนทั่วไป เทียนฉายย้ำเน้นว่า ทุกคนต้องช่วยกันเอาใจใส่เรื่องการปฏิรูป และเป็นเจ้าของ “แผนปฏิรูป” ร่วมกัน อย่าคิดว่า “ธุระไม่ใช่” ควรช่วยกันติดตามการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกันเมื่อนำแผนปฏิรูปไปดำเนินการ ก็ต้องช่วยกันประเมินผลและปรับปรุงแก้ไข
เทียนฉายยังกล่าวชมความคิดของสุทธิชัยที่พูดกับตนก่อนขึ้นเวทีว่าควรจัดทำแผนการปฏิรูปของ สปช.เป็นภาษาอังกฤษด้วย “ผมคิดว่าความคิดของคุณสุทธิชัยเป็นความคิดที่ดีมาก คนต่างชาติจะได้เข้าใจปัญหาของประเทศไทยเสียที ไม่ใช่เอาแต่ว่าเราอย่างเดียว”
ข้อมูลเพิ่มเติม:
สปช. มีวาระการปฏิรูป 37 วาระประกอบด้วย 1.การป้องกันทุจริต 2.การเข้าสู่อำนาจ/ระบบพรรคการเมือง 3.ปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลางภูมิภาคท้องถิ่น 4.การงบประมาณ 5.ประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ 6.กิจการตำรวจ 7.การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 8.ระบบและโครงสร้างภาษี 9.ระบบงานรัฐวิสาหกิจ 10.ระบบพลังงาน 11.ปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน 12.การผูกขาดและกรแข่งขันที่เป็นธรรม 13.การเงินฐานรากและสหกรณ์ออมทรัพย์ 14.ปฏิรูปการเกษตร 15.การสร้างสังคมผู้ประกอบการ 16.ระบบจัดการการศึกษา 17.ระบบการคลังด้านการศึกษา 18.ระบบการเรียนรู้ 19.การกีฬา 20.ระบบวิจัยเพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ 21.ระบบ วทน.เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ 22.ระบบสาธารณสุข 23.ระบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคใหม่ๆ 24.ระบบการคลังด้านสุขภาพ 25.ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร 26.การจัดการภัยพิบัติตามธรรมชาติและภาวะโลกร้อน 27.การเตรียมการเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์กรุงเทพฯจม 28.ระบบเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง 29.สวัสดิการสังคม 30.สังคมสูงวัย 31.การคุ้มครองผู้บริโภค 32.การกำกับดูแลสื่อ 33.สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ 34.การป้องกันการแทรกแซงสื่อ 35.ศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่า 36.ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาเพื่อให้เป็นสถาบันหลักของสังคมและ 37.ปฏิรูปการแรงงาน
นอกจากนั้นยังมีวาระการพัฒนา 6 วาระประกอบด้วย 1.ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศ 2.การวิจัยนวัตกรรม 3.ระบบโลจิสติกส์ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจ 5.กลไกในการพัฒนาที่ไม่ใช่ภาครัฐและ 6.พัฒนาระบบทักษะใหม่และความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม