“ปฏิรูป” (เมืองจีน)

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร 
ตามที่ผมสนใจติดตามแนวทางการปฏิรูป (เมืองจีน) ว่าเขามีหลักคิดเรื่องการปฏิรูปอย่างไร ผมคิดว่าเขามักย้ำเน้น 5 เรื่อง (อย่างน้อยก็เวลาพูดออกสื่อ)
1. เน้นปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แปลง่ายๆ ว่า พยายามกำจัดอะไรก็ตามที่กดทับพลังการพัฒนาของบุคคลหรือบริษัท หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการปลดปล่อยพลังการผลิตหรือพลังการบริโภคทางเศรษฐกิจ
ด้วยความเข้าใจที่ว่า การที่คนๆ หนึ่งรวยหรือจน ไม่ใช่เพราะเขาขยันหรือขี้เกียจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะโครงสร้างอันอยุติธรรมที่กดทับพลังการสร้างสรรค์และพลังการเติบโตของเขาด้วย การปฏิรูปจึงต้องพยายามขจัดสิ่งเหล่านั้น เช่น เรื่องโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การป้องกันการผูกขาด ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากการเน้นการส่งออก เป็นการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ, เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นการเกษตรเทคโนโลยีขั้นสูงและการเกษตรที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ผลผลิต, ยกระดับภาคอุตสาหกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขัน, และพัฒนาภาคบริการด้วยการออกแบบที่สร้างสรรค์
2. เน้นปฏิรูปคอขวด
หมายถึง ปฎิรูปเรื่องสำคัญไม่กี่เรื่องก่อน เป็นเรื่องโบว์แดง แต่เรื่องเหล่านั้นเป็นจุดที่เป็นคอขวดปิดกั้นการพัฒนาในขั้นต่อไป เรื่องโบว์แดงเหล่านี้ แค่ทำสำเร็จสักเรื่องก็ยิ่งใหญ่มากแล้ว เช่น ปฏิรูปพรรค ปฏิรูปกองทัพ การปราบคอร์รัปชั่น
3. เน้นปฏิรูปแนวคิดพื้นฐาน
หมายถึง ส่งเสริมค่านิยมพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ ในจีนหมายถึง การส่งเสริมกลไกตลาดและการแข่งขันเสรี ทำรัฐให้เล็กลงและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการและภาคเอกชน
4. เน้นปฏิรูปจากด้านล่าง
ที่พูดมาข้างบน ล้วนเป็นภาพยุทธศาสตร์ใหญ่โตมโหฬาร แต่วิธีการอันเป็นรูปธรรมจะทำอย่างไรนั้น ไม่ใช่เบื้องบนจะรู้ไปทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องเปิดช่องทางให้รัฐบาลท้องถิ่น และแต่ละหน่วยงานสามารถพัฒนาวิธีการที่สอดคล้องกับแนวคิดและยุทธศาสตร์ใหญ่ พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ "กระจายอำนาจ" ให้เกิดการทดลองทางนโยบายหลายๆ วิธี และถ้าใช้ได้ผลในระดับไมโคร ก็ค่อยขยายในระดับแมคโครไปทั่วประเทศ
เรื่องเล่าคลาสสิกก็คือ เมื่อ 30 กว่าปี ที่แล้ว คนจีนอดตายเต็มไปหมด เพราะผลผลิตในประเทศตกต่ำ มีหมู่บ้านหนึ่งที่กำลังจะอดตายกันทั้งหมู่บ้าน เริ่มปฏิรูปเอง จากเดิมที่พวกชาวบ้านต้องทำนา แล้วเอาผลผลิตมารวมไว้ที่ส่วนกลาง แล้วค่อยแบ่งเท่าๆ กัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นเรียกทุกคนมาเซ็นสัญญาเลือด ว่าใครผลิตได้เท่าไร สามารถแบ่งเอาเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนเองได้ ยิ่งผลิตได้มาก ยิ่งมีเก็บไว้เองได้มาก มีคนเขียนรายงานเติ้งเสี่ยวผิงว่าต้องจับผู้ใหญ่บ้านไปฆ่า เพราะผิดหลักคอมมิวนิสต์
เติ้งเสี่ยวผิง บอกว่ามันจะอดตายกันทั้งหมู่บ้านแล้ว ปล่อยมันไปเถิด ปรากฎว่าผลผลิตหมู่บ้านนั้นสูงขึ้นในเวลาไม่กี่เดือน เพราะคนมีแรงจูงใจที่จะทำนา หาหนทางเพิ่มผลผลิต เติ้งเสี่ยวผิงส่งนักข่าวไปทำข่าวลงหนังสือพิมพ์ ต่อมาอีกไม่นาน ก็ประกาศเป็นนโยบายใช้ทั่วประเทศ พวกอนุรักษ์นิยมภายในพรรคก็ไม่มีใครต่อต้าน เพราะเห็นผลสำเร็จแล้วชัดเจน
รัฐบาลจีนจึงเปิดให้มีการพัฒนาวิธีปฏิรูปใหม่ๆ จากด้านล่าง เช่น เปิดให้มีโรงเรียนหลากหลาย ไม่ต้องเดินตามแนวส่วนกลางนั่งประเมินตามเกณฑ์ที่ใครไม่รู้ในกระทรวงที่ปักกิ่งนอนคิด แถมอาจไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น, มีวิธีที่จะปราบคอร์รัปชั่นในท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมท้องถิ่นเองไหม, มีวิธีเพิ่มผลิตผลการเกษตรด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไหม ให้แต่ละพื้นที่ แต่ละหน่วยงาน แข่งขันกันสร้างนวัตกรรม
5. เน้นปฏิรูปกระบวนการ
เพราะสถานการณ์ของประเทศและโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แนวทางการปฏิรูปจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง ทำอย่างไรที่จะกำหนดกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่ต่อเนื่องได้ เช่น กำหนดให้มีกระบวนการวางแผนเศรษฐกิจ กำหนดกระบวนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเพื่อให้สะท้อนเสียงของประชาชน คิดแนวทางการใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียในการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
ปัญหาของจีน ที่ปัญญาชนจีนชอบบ่น ก็คือ รัฐบาลจีนพูดมากกว่าทำ รัฐบาลจีนพูดถูกต้องทุกอย่าง พูดแสนจะดูดี แถมมีหลักคิดเรื่องการปฏิรูปที่เป็นระบบเข้าใจง่าย แต่เอาเข้าจริง ยังทำช้าหรือน้อยเกินไป (ตามความคาดหวังของปัญญาชนจีน)
ส่วนปัญญาชนไทย ล้วนไปนั่งกินเงินเดือนใน สปช. วาดฝันปฏิรูปสวยหรูจากห้องประชุมแบ่งเป็นประเภทครบถ้วนทุกด้านที่คิดได้, ส่วน คสช. ไม่แน่ใจว่ามีแนวคิดนำในการปฏิรูปชัดเจนอะไร นอกเหนือจากค่านิยม 12 ประการ, ส่วน กปปส. บอกว่าต้องปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง
ไม่เห็นมีใครตั้งใจจะปฏิรูปตนเอง หรือพยายามขจัดอุปสรรคที่กดทับไม่ให้บุคคลหรือภาคเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ ปฏิรูปตนเอง เห็นมีแต่สถาปนาตนเองเป็นเทวดาเพื่อจะไปปฏิรูปคนอื่น หรือไม่ก็ร้องเรียกหาเทวดามา "ปฏิรูป" ประเทศ