เปิดร่างพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน: แยกวนิพกออกจากขอทาน-ค้ามนุษย์มีโทษหนัก

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรงมาก โดยในปี 2557 สหรัฐอเมริกาปรับลดระดับของไทยจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด การขอทานก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ที่สำคัญ จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีจำนวนขอทานประมาณ 5,000 คน มีรายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 500 บาท และขั้นสูงสุดเฉลี่ยวันละ 1,800 บาท  ร่างกฎหมายควบคุมการขอทานฉบับใหม่ เป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ เพื่อนำมาใช้แทนพ.ร.บ.ควบคุมขอทาน พ.ศ.2484  ที่ใช้มานานกว่า 74 ปี

จากบทความในเว็บไซต์ของ TDRI ระบุว่าเมื่อปี 2551 รัฐบาลได้เสนอร่างใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกคัดค้านเพราะมีเนื้อหา กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขอทานแจ้งต่อเจ้าพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อออกใบอนุญาตขอทาน และผู้ที่เป็นขอทานต้องเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ หรือเป็นผู้สูงอายุและไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเป็นผู้ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่นเพราะสภาพทางกายและจิต หรือเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งเป็นการเอาความพิการมาเป็นสาเหตุของการขอทาน เป็นการตีตราย้ำว่าคนพิการทำมาหากินปกติไม่ได้ต้องเป็นขอทานเท่านั้น ทำให้คนพิการรับไม่ได้

ต่อมาในปีนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฉบับใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและได้รับอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 โดยมีมาตรการควบคุมการขอทานสองประเภท คือ ถ้าเป็นขอทานต่างชาติจะส่งกลับประเทศ ถ้าเป็นขอทานสัญชาติไทยจะฝึกอบรมอาชีพให้ หรือส่งไปยังสถานสงเคราะห์

เนื้อหาสาระของร่างฉบับใหม่

ระบุนิยามชัด แยกวณิพกออกจากขอทาน

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ควมคุมการขอทาน กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน โดยมี รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน และกำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้เป็นการขอทาน ได้แก่
 
 – การขอทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใด ๆ หรือด้วยวิธีการใด ๆ โดยไม่ได้ตอบแทนด้วยการทำ หรือด้วยทรัพย์สินใด แต่ไม่รวมถึงการขอฉันญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร
    
– การกระทำใดเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและมอบทรัพย์สินให้ โดยไม่มีการตอบแทนด้วยการทำงานหรือด้วยทรัพย์สิน

ขณะที่การเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ชมหรือผู้ฟังจะสมัครใจให้ มิให้ถือว่าเป็นการขอทาน แต่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด

                       
                                             ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/53801255@N07/5369663090

ส่งเด็กขอทาน ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ ไปสถานสงเคราะห์ และให้พ้นผิด

นอกจากนี้ยังกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวผู้ที่ทำการขอทานที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้เจ็บป่วยซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีการเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรือผู้ซึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบากไปรับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์และให้พ้นจากความผิด

ส่วนผู้ทำการขอทานซึ่งเป็นบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะบังคับอยู่แล้ว สถานสงเคราะห์สามารถพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายได้ ยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ทำการขอทาน สถานสงเคราะห์จะไม่ดำเนินการตามกฎหมายและรับตัวผู้ที่ทำการขอทานนั้นไว้ในความดูแลต่อไปก็ได้

กำหนดโทษผู้บังคับให้ขอทาน

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำการขอทาน ผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์แต่ไม่ไปหรือหลบหนี ผู้ที่ช่วยเหลือให้หลบหนีจากสถานสงเคาระห์ และผู้ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นขอทาน หรือนำบุคคลอื่นมาใช้ประโยชน์ในการขอทานของตน

รวมไปถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับ "วนิพกที่ไม่ขออนุญาต" หรือ ผู้ที่เล่นดนตรีหรือแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด

ความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.

หลังจากมีการเปิดเผยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็มีเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากองค์กรเอกชน (NGOs) และนักวิชาการ เช่น

กระจกเงาหนุน เผยข้อดี 4 ประเด็น

วิธะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ที่เคยคัดค้านร่างฉบับปี 2551 เปิดเผยกับเนชั่นว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน ฉบับใหม่นี้ เป็นทิศทางการแก้ไขปัญหาขอทานที่ถูกต้อง และหากบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยทำให้การคัดแยกดำเนินคดีฐานค้ามนุษย์ชัดเจนมากขึ้น โดยมองว่าร่างนี้มีจุดเด่น 4 เรื่องคือ 1. เป็นการปรับแก้กฎหมายที่ล้าหลังให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

2. บทกำหนดโทษชัดเจนจากเดิมที่ไม่มีบทลงโทษผู้มาขอทาน แต่ให้ส่งไปรับการสงเคราะห์ หากหลบหนีการสงเคราะห์จึงมีโทษปรับ 100 บาทหรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน แต่ร่างกฎหมายใหม่กำหนดโทษผู้ขอทานให้จำคุก 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทานมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษหนักขึ้น สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดโดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ไม่ได้มุ่งกวาดล้างจับกุมอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสส่งเสริมสวัสดิการคนด้อยโอกาส เช่น ขอทานที่ทุพพลภาพ เป็นโรคร้ายแรง หรือเด็กกำพร้า จะได้รับการสงเคราะห์ ไม่เอาโทษ 4. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยให้การคัดแยกคดีบังคับขอทานซึ่งเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์มีความชัดเจนขึ้่น

อย่างไรก็ตาม วิธะพัฒน์มีความกังวลว่า กรณีกำหนดการแสดงดนตรีในที่สาธารณะต้องขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่น จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ชัดเจนว่าจะอนุญาตต่อครั้งหรือออกเป็นใบอนุญาต เพราะหากไม่มีมาตรฐานเดียวกันจะกระทบกับวณิพก คนตาบอด รวมถึงนักเรียนที่มาหารายได้ช่วงปิดเทอม

                       

                                              ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/ebuie/3594011050/sizes/o/

เอ็นจีโอ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่ไม่ใช่หลักประกันว่าแก้ปัญหาได้ แนะ ต้องใช้ควบคู่พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ อย่างจริงจัง

ด้านมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก  ให้สัมภาษณ์รายการ "แชร์เล่าข่าวเด็ด" ทาง F.M. 100.5 ว่า ปัญหาขอทานยังมีเรื่องสวัสดิการที่ยังเข้าไม่ถึงอย่างเพียงพอและเท่าเทียม การมีกฎหมายควบคุมขอทานฉบับใหม่จึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ อย่างจริงจัง  ส่วนข้อดีของกฎหมายใหม่ที่จะออกมา คือ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์และพวกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขอทาน แต่ปัญหาใหญ่ที่เจอกับเด็กที่มาขอทานคือพ่อแม่รู้เห็นกับกลุ่มขบวนการเหล่านี้โดยให้เช่าลูกเพื่อเป็นหารายได้ จึงต้องจัดการแก้ปัญหาให้ตรงจุด

นักวิชาการห่วง ขบวนการค้ามนุษย์เลี่ยงใช้วิธีขอทานแฝง

ขณะที่ว่องวิช ขวัญพัทลุง อาจารย์ประจำคณะคณะนิติศาสต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีประเด็นปัญหาอยู่ เช่น อาจก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะการขอทานเป็นการขอทานแฝง คือ เอาคนชรามาขายของหรือนำเด็กมาเล่นดนตรีแทนการขอเงินตรงๆ ทำให้คนตัดสินใจซื้อเพราะความสงสาร ซึ่งกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้และปัญหาการค้ามนุษย์อาจไม่ลดลง

นอกจากนี้ในส่วนของการเยียวยา หากรัฐไม่สามารถเยียวยาบุคคลที่เป็นขอทานได้อย่างทั่วถึงก็จะทำให้เขากลับมาทำผิดซ้ำอีก และประเด็นสุดท้ายคือการแสดงในที่สาธารณะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ไม่ระบุหลักเกณฑ์ละเอียดจะก่อเกิดความยุ่งยากรวมไปถึงปัญหาการทุจริตที่จะตามมา