ร่างรัฐธรรมนูญ’ 58 : อำนาจสูงสุดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ กำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ต่อเนื่องเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญ 2550 บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญโดดเด่นขึ้นมาจากการตัดสินคดีสำคัญๆ ที่มีผลเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งผลต่อความเป็นไปของประเทศไทย 
ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น 
ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2540
– การยกคำร้องกรณีจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จของทักษิณ ชินวัตร
– การวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  
ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2550 
– การถอดถอนนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ สมัคร สุนทรเวช จากการทำรายการอาหาร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการโยกย้ายข้าราชการ 
– การสั่งยุบพรรคพลังประชาชน, ชาติไทย, มัชฌิมาธิปไตย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี 
– การวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
– การตัดสินให้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ  
– การตัดสินไม่ให้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่น การห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ, ที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ผลการตัดสินคดีที่มีผลกระทบทางการเมืองอย่างสำคัญทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ยังคงเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ไดแก้ไขข้อครหาดังกล่าว ซ้ำยังเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่คำขอแปรญัติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของทั้งสปช ครม. และสนช. พบว่าผู้ที่มีอำนาจเสนอแก้ไขทั้งหมดไม่มีใครยื่นแก้ไขในประเด็นของศาลรัฐธรรมนูญเลย 
ที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558
รัฐธรรมนูญ 2550 เปิดช่องให้อำนาจตุลาการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทนำในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้อำนาจตุลาการศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดมาแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย จนทำให้เกิดข้อวิจารณ์ โดยเฉพาะที่มาของ ศาลรัฐธรรมนูญที่มักถูกโจมตีว่า "ไม่ยึดโยงกับประชาชน" 
ย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญนับว่ามีหลากหลายมากกว่า แม้ว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นการคัดเลือกที่มาจากฝ่ายตุลาการ แต่อีกครึ่งหนึ่งต้องผ่านการสรรหาจากตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนคณบดีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ และยังต้องนำรายชื่อจากการสรรหานั้นไปให้ ส.ว.รับรองอีกรอบหนึ่ง 
ขณะที่ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีที่มากระจุกตัวกับฝ่ายตุลาการมากเกินไป ขนาดที่ฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวแทนจากประชาชนแม้จะมีแต่ก็ไม่มากพอที่จะต่อรองกับฝ่ายตุลาการ
    
ปัจจุบันร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มีการแก้ไขที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่เล็กน้อย โดยมาจาก 
– ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลือกผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 คน 
– ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสด เลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน
– ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 3 คน ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน 1 คน
– ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ 2 คน ต้องไม่มาจากองค์กรภาครัฐ
สำหรับที่มาของผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์  และผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ จะมีกรรมมาการสรรหาจำนวน 11 คน ประกอบด้วย
– ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน และที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครอง 2 คน
– ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยพรรคการเมืองรัฐบาล 1 คน และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 1 คน
– ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยคณบดีนิติศาสตร์
– ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยคณบดีรัฐศาสตร์
– ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี
เพิ่ม "มาตรา 7 วรรค 2" เปิดช่องศาลรัฐธรรมนูญแก้วิกฤตการเมือง 
ก่อนวิกฤตการเมืองที่นำมาสู่การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุดในปี 2549 และ 2557 มาตรา 7 ของรัฐธรรมูญ 2540 และ 2550 คือหนึ่งในความพยายามหาทางออกผ่านรัฐธรรมนูญของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วยการขอ "นายกฯ พระราชทาน" หรือ "นายกฯ คนนอก" จากพระมหากษัตริย์ แม้ข้อเสนอนี้จะถูกปัดเมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเมื่อปี 2549 แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมักยกข้อเสนอนี้เป็นทางออกเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลทุกครั้ง 
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บัญญัติมาตรา 7 ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2558 ทำให้มาตรา 7 ชัดเจนขึ้น โดยเพิ่มวรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่ากรณีใดเป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
โดยอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 7 ยังเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในมาตรา 141 ที่ระบุว่า "ในระหว่างที่อายุของ ส.ส.สิ้นสุดลงหรือถูกยุบ จะมีการประชุม ส.ว.มิได้ เว้นแต่เป็นกรณี 
1) การประชุม ส.ว.ตามมาตรา 7 วรรคสอง 
2) การประชุมที่ให้ ส.ว.ทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามรัฐธรรมนูญนี้ 
3) กรณีอื่นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้งานด้านนิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มี ส.ส. ซึ่ง ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้"
น่าสังเกตว่า คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญน่าจะร่างขึ้นจากประสบการณ์เมื่อก่อนรัฐประหาร 2557 กรณีที่ส.ว.กลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันให้มีการประชุม ส.ว.เพื่อ ให้ ส.ว.ทำหน้าที่เลือกนายกฯ (คนกลาง) แทน ส.ส. ที่ระหว่างนั้นถูกยุบสภา แต่ความพยายามครั้งนั้นไม่สำเร็จผลเพราะช่องทางของกฎหมายไม่เอื้ออำนวย  
ตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การออกแบบรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย หลักการสำคัญคือแบ่งแยกอำนาจ โดยทั่วไปรัฐต่างๆ ในโลกนี้แบ่งแยกอำนาจในการปกครองออกเป็นสามฝ่าย คือฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอก และอำนาจตุลาการ ทำหน้าที่วินิจจัยตัดสินข้อพิพาทตามกฎหมาย การแบ่งแยกอำนาจก็เพื่อต้องการให้เกิดการถ่วงดุลระหว่างแต่ละฝ่าย เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดใช้อำนาจตามอำเภอใจ 
เหตุการณ์วิกฤติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ ที่สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการไปถึงวาระที่สาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติก่อน ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราสามารถทำได้ 
บทบาทศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามากำหนดทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อถกเถียงอย่างมาก ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูที่ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี, ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของทั้งสภา, ส.ส. และ ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของทั้งสองสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่ินคน โดยให้อำนาจรัฐสภาในการพิจารณาทั้งสามวาระ ทั้งนี้ข้อห้ามในการขอแก้ไขคือการเปลี่ยนแปลงระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐเท่านั้น 
ปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงจากรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2558 สร้างความชัดเจนโดยการกำหนดใหชัดเจนเลยว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดในการวินิจฉัย ว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ 
สำหรับวิธีการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขั้นต้นยังคงไม่ต่างจากเดิม คือ ข้อเสนอต้องมาจากคณะรัฐมนตรี, ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ทั้งของสภา, ส.ส. และ ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของทั้งสองสภา, พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน และต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาสามวาระ
อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2558 ในมาตรา 301 กำหนดด้วยว่า ในการพิจารณาวาระสาม เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือมีข้อความขัดหรือแย้งกับมาตรา 299 ที่ห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการสำคัญในมาตรา 300 เช่น หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือ การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หรือไม่ 
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามมาตรา 299 ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการสำคัญตามมาตรา 300 ให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนให้รัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
อำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558
+ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดสั่งให้เลิกการกระทำในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามมาตรา 31
+ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย หากพรรคการเมืองมีการจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ ข้อบังคับพรรคการเมือง ไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ตามมาตรา 76 
+ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. ส.ว. หรือ รมต.สิ้นสุดลงหรือไม่ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 
+ เมื่อ ส.ส.หรือ ส.ว.เห็นชอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  
+ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่มีกรรมการ ป.ป.ช. ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
+ ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องพร้อมความเห็นจากผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  
+ ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องส่งตัวแทนหนึ่งคน เข้าร่วมเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ร่วมกับ ส.ส., ส.ว., ครม., ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ