กระบวนการพิจารณาออกกฎหมายตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558

ผู้ที่สามารถเสนอกฎหมายได้มีทั้ง ครม., ส.ส., ส.ว., ประชาชน และสภาขับเคลื่อนฯ  [มาตรา 147]

ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 147 ผู้ที่สามารถเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 20 คน, (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 40 คน, ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งกฎหมายที่เสนอจะจำกัดเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรหรือกฎหมายที่ประธานศาลหรือประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ และพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย

นอกจากนี้ ตามมาตรา 280 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีสิทธิเสนอ ร่างพระราชบัญญัติได้หากเห็นว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในประเด็นใดจำเป็นต้องทำโดยการออกกฎหมาย

ร่างกฎหมายอาจไปเริ่มที่สภาผู้แทนราษฏร หรือวุฒิสภาก่อน ขึ้นอยู่กับใครเสนอ  [มาตรา 148]

กระบวนการพิจารณากฎหมายตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 มีจุดเด่นที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ คือ กำหนดให้ร่างกฎหมายบางประเภทพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วค่อยส่งให้วุฒิสภาพิจารณากลั่นกรองอีกรอบหนึ่ง ขณะที่ร่างกฎหมายบางประเภทพิจารณาโดยวุฒิสภาก่อน แล้วค่อยส่งให้สภาผู้แทนราษฏรเป็นหน่วยงานที่พิจารณากลั่นกรอง

ทั้งนี้ แนวทางการพิจารณาออกกฎหมายตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณากฎหมายและวุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบ  กลายเป็นให้อำนาจพิจารณากฎหมายบางประเภทกับวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหา และการเลือกตั้งโดยมีผู้มากลั่นกรองแล้ว ส่วนสภาผู้แทนราษฏรที่ประกอบด้วยนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ถูกลดอำนาจลงเป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง

กฎหมายที่จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อน ได้แก่ กฎหมายที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี, ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน, ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  และ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

กฎหมายที่จะผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาก่อน ได้แก่ กฎหมายที่เสนอโดยส.ว.ไม่น้อยกว่า 40 คน และ กฎหมายที่เสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ
 
เมื่อร่างกฎหมายถูกเสนอก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาแรก ขึ้นอยู่กับว่าร่างกฎหมายนั้นเสนอโดยใคร หากสภาแรกไม่ให้ความเป็นชอบกฎหมายก็จะเป็นอันตกไปทันที หากสภาแรกเห็นชอบร่างกฎหมายก็จะถูกส่งไปให้สภาที่สองพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง

หากสภาที่สองลงมติยับยั้ง อำนาจหลักยังอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร [มาตรา 154 (3)]

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติยับยั้งร่างพ.ร.บ.ที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบมาแล้ว วุฒิสภาอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อพ้นไปแล้ว 180 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติยังยั้ง แต่ถ้าวุฒิสภามีมติยืนยันร่างเดิมของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้แต่ละสภาตั้งตัวแทนจำนวนเท่ากันมาเป็นคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกรอบหนึ่ง ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป

ถ้าวุฒิสภาเป็นผู้ลงมติยับยั้งร่างพ.ร.บ.ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อพ้นไปแล้ว 180 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาลงมติยับยั้ง แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

ถ้าร่างพ.ร.บ.ที่ต้องยับยั้งไว้เป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพ.ร.บ.นั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ไม่ต้องรอ 180 วัน ไม่ว่าวุฒิสภาจะพิจารณายืนยันร่างพ.ร.บ.นั้นหรือไม่ก็ตาม และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ถ้าสภาที่สองขอแก้ไข ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม อำนาจหลักยังอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร [มาตรา 153 (3)]

ในกรณีที่สภาที่พิจารณารอบสองต้องการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.  ให้ส่งร่างตามที่แก้ไขเพิ่มเติมกลับไปยังสภาที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นสภาแรก ถ้าสภาแรกเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ดำเนินการต่อไป ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ให้แต่ละสภาตั้งตัวแทนจำนวนเท่ากันเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมรายงานและเสนอร่างพ.ร.บ.ให้ทั้งสองสภาพิจารณา ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพ.ร.บ.นั้นไว้ก่อน

สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย  ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบแล้ว

การพิจารณาร่างพ.ร.บ. ที่เกี่ยวด้วยการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนาม  [มาตรา 149]
 
หากกฎหมายที่ถูกเสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน จะต้องมีคำรับรองของนายกเสียก่อน จึงจะพิจารณาได้ ซึ่งกฎหมายที่เข้าข่ายเป็น ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับ การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบเกี่ยวกับภาษีหรืออากร / กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณแผ่นดิน / กฎหมายที่เกี่ยวกับการกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ / กฎหมายที่เกี่ยวกับเงินตรา

ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพ.ร.บ.ใดเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย

ในกรณีที่ระหว่างการพิจารณามีการแก้ไขร่างพ.ร.บ. จนทำให้ร่างพ.ร.บ. กลายเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาสั่งระงับการพิจารณาไว้ก่อน และส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ถ้า นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแก้ไขเพื่อมิให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน

หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ที่เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณา [มาตรา 151]

หากสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา 177 ว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีอาจขอให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติอีกครั้งหนึ่ง

หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบ ให้ตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภา โดยมีจำนวนเท่ากันตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น และให้คณะกรรมาธิการรายงานและเสนอร่างพ.ร.บ.ที่ได้พิจารณาแล้วต่อรัฐสภา แล้วดำเนินการต่อไป แต่ถ้ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบ ให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป

กฎหมายที่ประชาชนเสนอ ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบ อาจเอาไปทำประชามติ  [มาตรา 154 (5)]

ถ้าร่างพ.ร.บ.ใดที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าชื่อเสนอมาเป็นอันตกไป  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ สมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา อาจร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้ได้ข้อยุติได้
 
ห้ามเสนอกฎหมายที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกับร่างพ.ร.บ.ที่ถูกยับยั้งไว้  [มาตรา 155]

คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถเสนอร่างพ.ร.บ.ที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพ.ร.บ.ที่ต้องยับยั้งไว้

ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ที่เสนอหรือส่งให้พิจารณานั้น มีหลักการอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกันกับร่างพ.ร.บ.ที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพ.ร.บ.ที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพ.ร.บ.ที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป

ร่างพ.ร.บ.ที่ได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ  [มาตรา 156-157]

ร่างพ.ร.บ.ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างนั้นจากรัฐสภา เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืน หรือ เมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพ.ร.บ.นั้นใหม่  ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพ.ร.บ.นั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

การพิจารณาร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ  [มาตรา 158]

การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาวินิจฉัยว่า มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนที่กำหนดไว้

การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  [มาตรา 164]
 
หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน (จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา) เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

หากนายกรัฐมนตรี เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.นั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ แต่มิใช่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนดต่อไป