ถ้ามี ‘ประชามติ’ สูตรไหนดี?

เสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจากหลายทิศทางไม่ว่าจะเป็นบรรดาพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาประสานเสียงเรียกร้องในประเด็นเดียวกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะที่สื่อมวลชน นักวิชาการและภาคประชาชนก็มีความเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งวงในของอำนาจอย่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บ้างส่วน ก็สนับสนุนให้มีการทำประชามติ
แม้หลายฝ่ายจะสนับสนุนให้มีการทำประชามติ แต่ก็มีข้อเสนอที่แตกต่างเกี่ยวกับ ‘รูปแบบ’ หรือ ‘สูตร’ ในการทำประชาติว่าจะออกมาเป็นอย่างไร?
สูตรที่ 1 ทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ข้อเสนอนี้ เป็นข้อเสนอหลักของหลายฝ่าย เช่น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช. นักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันโดยเฉพาะกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน
ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดมาจาก กลุ่มเรียกร้องประชามติอย่างเป็นประชาธิปไตย คือ เมื่อ สปช. ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน
หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่ 'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน, จากนั้นให้ สสร. จัดทำร่าง รธน. ให้เสร็จภายใน 90 วัน
เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น
ขณะที่ข้อเสนอ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย มีตัวเลือกเพิ่มเติมให้หากประชาชนไม่เห็นชอบให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้และแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหา
สำหรับข้อเสนอของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ การทำประชามติจะเกิดขึ้นหลัง สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยต้องจะให้ประชาชนได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญก่อนไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนลงประชามติ 
อย่างไรก็ตามไม่มีข้อเสนอในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน  
ทั้งนี้หากใช้เจตนารมณ์เดียวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กรณีที่ประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ คสช.อาจใช้กระบวนการเดิม คือตั้ง สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเริ่มกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
สูตรที่ 2 ทำประชามติเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา
ข้อเสนอนี้มาจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ ให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาประกอบ เพราะรัฐธรรมนูญเก่าทั้งสองฉบับนำไปสู่ความขัดแย้งและการรัฐประหาร จึงสนับสนุนให้ทำประชามติเป็นรายประเด็นที่สำคัญ อาทิ ที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นต้น
โดยหากใช้วิธีการทำทั้งฉบับว่าประชาชนจะรับหรือไม่รับ จะทำให้เนื้อหาในส่วนที่ดีๆ ของร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปหากประชาชนโหวตไม่รับ ทั้งนี้ สนช.เชื่อว่าการทำประชามติรายประเด็น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ประชาชนเข้าใจได้ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร
บัตรลงคะแนนเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550
 
สูตรที่ 3 ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยประชามติ
ข้อเสนอจาก 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ให้กำหนดไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล มาตรา 308 ให้มีการทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ไปแล้วภายใน 90 วัน และอาจทำเป็นรายมาตราในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ข้อเสนอนี้ จะไม่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อ คสช. เพราะการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ทำประชามติจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ทุกทางไม่ว่าจะทำประชามติแบบไหน รวมถึงการปฏิรูปจะเป็นไปตามโรดแมป และกรณีถ้าทำประชามติไม่ผ่านแล้วเลือกรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มาใช้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ เสียของ
สุดท้ายจะใช้สูตรไหนในการทำประชามติ อำนาจในการตัดสินใจเป็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ