“รู้ก่อนผ่าน กฎหมายอาญาว่าด้วยสื่อลามกอนาจารเด็ก”

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องสื่อลามกอนาจารในเด็กและคุ้มครองเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดย จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิก สนช. และคณะ อีก 50 คน ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้คือ 

1) กำหนดให้ผู้ใดที่มีวัตถุหรือสื่อลามกอนาจารของเด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไว้ในความครอบครอง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2) ผู้ใดมีวัตถุหรือสื่อลามกอนาจารของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไว้ในความครอบครอง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

3) การผลิต มีไว้ นำเข้า ส่งออกพาไปหรือทำให้แพร่หลายของสื่อลามกอนาจารของเด็ก อายุไม่เกิน 18 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง จ่ายแจก หรือแสดงอวดแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4) ช่วยเผยแพร่ หรือโฆษณา บอกต่อว่ามีบุคคลกระทำผิดโดยการผลิต มีไว้ นำเข้า ส่งออกพาไปหรือทำให้แพร่หลายของสื่อลามกอนาจารของเด็ก หรือเผยแพร่ หรือโฆษณาว่าวัตถุ หรือสิ่งของลามกดังกล่าวจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยเรื่องสื่อลามกอนาจารในเด็กฯ นับเป็นฉบับแรกที่เสนอโดยสมาชิก สนช. อย่างไรก็ตามในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ประชุม สนช.มีมติให้นำร่างดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทั้งนี้มีทัศนะเกี่ยวกับแนวคิดการออกกฎหมายลามกเด็ก จากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการที่น่าสนใจ ดังนี้

 

กสม. นักวิชาการเห็นด้วยแก้กฎหมายให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ

วิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานคณะอนุกรรมด้านการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า กฎหมายอาญาว่าด้วยสื่อลามกอนาจารเด็ก ที่ สนช.กำลังพิจารณานั้น สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก เรื่อง การขายเด็ก การค้าประเวณีเด็กและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำรับรองผูกพันว่าจะดำเนินการ

ทั้งนี้พิธีสารระบุข้อกังวลเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กที่เพิ่มมากขึ้นในอินเทอร์เน็ต และการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามสื่อลามกเด็กในอินเทอร์เน็ตก็ถือว่า การผลิต การแจกจ่าย การส่งออก การส่งต่อ การนำเข้า การมีไว้ในครอบครองโดยเจตนาและการโฆษณาสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็กเป็นความผิดทางอาญา

และรัฐภาคีควรพิจารณาถึงพฤติกรรมทางเพศที่ขาดความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ที่เป็นผลให้เกิดสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก และต้องยกระดับความตระหนักของสาธารณชนว่า ควรลดความต้องการของผู้บริโภคในสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายภายในของแต่ละประเทศให้ดีขึ้น

 

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสื่อลามกอนาจารเด็ก ในงานเสวนา “เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย” ไว้ว่า

แนวคิดของกฎหมายสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังไม่แข็งแรง ทั้งที่มีกำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมไซเบอร์ ในข้อ 9 ที่ห้ามเกี่ยวกับผลิต เผยแพร่ ครอบครองสื่อลามกเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในข้อ 34 (ค) ที่ห้ามแสวงหาประโยชน์จากเด็กในการแสดงสื่อลามก หรือเกี่ยวข้องกับสื่อลามก

แต่ในกฎหมายของไทย ยังไม่มีบทบัญญัติห้ามการผลิต เผยแพร่ และครอบครองสื่อลามกเด็กโดยตรง มีเพียงกฎหมายอาญาบางมาตราและ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาตรา 26(9) ที่อาจนำมาปรับใช้เอาผิดในเรื่องนี้

 

เมื่อแก้ไขกฎหมายใหม่หลายฉบับ ต้องระวังขัดแย้งกันและขาดข้อยกเว้น

จอมพล กล่าวอีกว่า ยังมีข้อน่ากังวลใจ การที่มีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก อาจจะมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกัน อย่างเช่น กฎหมายแพ่ง และ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับชุดเศรษฐกิจดิจิทัล) เพราะกฎหมายแพ่งระบุให้เด็กที่อายุ 17 ปี สามารถแต่งงานกัน และบรรลุนิติภาวะ แต่ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้กลับถือว่าเด็กในกรณีดังกล่าวยังเป็นผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ

นอกจากนี้ จอมพลยังเห็นว่า  กฎหมายระบุความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก ยังขาดเรื่องการเว้นโทษ ซึ่งต่างกับกฎหมายว่าด้วยสื่อลามกเด็กของประเทศอังกฤษ ที่จะมีบทกำหนดเว้นโทษให้สำหรับผู้ที่ครอบครองสื่อลามกโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านที่ต้องเกี่ยวข้องกับเด็กและสิทธิเด็ก 

 

ไฟล์แนบ