สำรวจความเห็นภาคประชาชนต่อ ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่าน สนช. และประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งร่างกฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้การชุมนุมเป็นช่องทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ เราสำรวจความเห็นของภาคประชาสังคมที่ใช้ช่องทางนี้เป็นประจำว่าเขาคิดเห็นอย่างไรกับร่างกฎหมายฉบับนี้  
 
วิไลวรรณ แซ่เตี่ย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีปัญหา หากไม่ลำบากก็ไม่อยากออกมาหรอก เพราะวันหนึ่งได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ต้องลางานมันไม่คุ้ม ที่ผ่านมาการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรี ประธานสภา ปกติเขาก็ไม่ค่อยสนใจเราอยู่แล้ว ยิ่งกฎหมายมาจำกัดสิทธิการเคลื่อนไหว มาบังคับใช้ให้แย่ลง คนจนจะลำบากมากกว่าเดิม หาที่ยื่นได้ลำบาก เราไม่มีอำนาจต่อรอง การเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมเป็นพลังที่สำคัญ เมื่อไม่มีอำนาจทางการเมือง ก็ตายอย่างเดียว ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการลิดรอนสิทธิ ถ้าแก้กฎหมายต้องให้ประชาชนมีความสุข
ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (กสรก.) 
การต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า เป็นการสกัดกั้นการแสดงออก หากแจ้งขอชุมนุมรัฐก็คงไม่ให้อยู่ดี โดยเฉพาะเงื่อนไขในการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง มันมากไปกับคนงาน มันเป็นไปได้ยาก บ่อยครั้งที่มีปัญหา เราเลือกที่จะต้องชุมนุมกัน หาก พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็เพื่อต้องการจัดการกับผู้ชุมนุม คือจับกุมและควบคุมได้ง่ายขึ้น
ส่วนการต้องแจ้งวัตถุประสงค์ เวลา และสถานที่ที่จะชุมนุมนั้น เป็นสิทธิของประชาชน การกำหนดเงื่อนไขมาแบบนี้ คนคงจะแจ้งน้อย เพราะถ้าแจ้งก็คงไม่ได้จัด ดังนั้น ไม่แจ้งเลยดีกว่า ให้ที่ชุมนุมกดดันต่อรองจะดีกว่า เพราะขนาดสหภาพแรงงานประกาศบอกล่วงหน้า ก็มักไม่ได้สถานที่ มักโดนสกัดกั้นก่อน ตนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฉบับนี้ หากยังจะออกมาก็จะจำกัดสิทธิของประชาชนและยิ่งทำให้คนถูกดำเนินคดีมากขึ้น
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
การแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง แล้วต้องแจ้งวัตถุประสงค์ กำหนดเวลา และสถานที่ชุมนุมให้ชัดเจน ตนคิดว่าไม่กระทบกับการชุมนุม แต่อาจแจ้งความจริงได้ระดับหนึ่ง เพราะบางเรื่องเราก็บอกไม่ได้ เช่นเรื่องจำนวนคน ส่วนเรื่องวัตถุประสงค์เราก็แจ้งอยู่แล้ว
ตนมองว่าการชุมนุมเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเพื่อไปสู่เป้าหมาย จริงๆ อาจมีหลายเครื่องมือก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตนให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่จะเขียนออกมามากกว่ากฎหมายลูก เพราะถ้ากฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกก็เอามาใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ ตนเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะออกมาเพื่อรองรับการยกเลิกกฎอัยการศึก กล่าวคือ ใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ดูเนียนขึ้นในสายตาต่างชาติที่มองแต่เปลือก
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม
ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่าต้องแจ้งทุกอย่างว่าใช้อุปกรณ์ใดบ้างในการชุมนุม จำนวนผู้ชุมนุมมีกี่คน และต้องบอกวัตถุประสงค์ให้ชัด ซึ่งขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างมาก ประชาชนมีสองมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ไม่มีเครื่องมืออะไรจะไปต่อรองกับรัฐ การชุมนุมเป็นเหมือนการกดดันรัฐ เอกชน เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขปัญหา ในเมื่อความหมายของการชุมนุมเป็นแบบนี้ ถูกจำกัด ถูกควบคุมให้แจ้งทุกอย่าง คล้ายกับว่าเครื่องมือชิ้นนี้ของประชาชนไม่สามารถใช้กดดันรัฐได้อีกต่อไป ปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องให้แก้ก็ไม่รู้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่
นอกจากนี้ ตนเกรงว่ากระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะโดนกลั่นแกล้งให้รับโทษ เช่น การจัดเวทีในศาลาวัดโดยนักศึกษา เอ็นจีโอ มีคนเข้าร่วม 60-80 คน ซึ่งอาจตีความว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ เพราะการชุมนุมมีความหมายกว้าง และอาจถูกกลั่นแกล้งว่าไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานรัฐทราบ ทำให้เวทีอาจถูกยกเลิกได้
จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์
การจัดการชุมนุมมีทั้งการชุมนุมที่ทราบล่วงหน้า สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ แต่บางเรื่องที่เร่งด่วน เช่น คนงานถูกเลิกจ้าง ปิดโรงงาน ไม่จ่ายเงินค่าจ้าง แบบนี้เราไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้นต้องยกเว้นให้กรณีเร่งด่วนไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทันท่วงที กว่าจะ 24 ชั่วโมงนายจ้างอาจจะบินไปนอกประเทศแล้วหรือขนเครื่องจักรออกหมดแล้ว ทั้งนี้ ถ้าตนมีสิทธิเลือกในการแก้ไขก็อยากให้ตัดประเด็นนี้ออกไปเลย
ส่วนเรื่องที่ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ เวลา สถานที่ ต้องมีลักษณะยืดหยุ่น ให้ผู้ชุมนุมมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองสิทธิการชุมนุม ไม่เช่นนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมก็ปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม ซึ่งทุกวันนี้ก็มีกฎหมายอื่นๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมอยู่แล้วในทางอ้อม เช่น เรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องเสียง การชุมนุมบนถนนก็ผิด พ.ร.บ.จราจร เป็นต้น ดังนั้น ถ้าจะมี พ.ร.บ.ชุมนุม ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องต่อการชุมนุมที่ไม่ปิดกั้นเสรีภาพประชาชน