ฉุกเฉินร้ายแรง ฉบับหมากัดหาง : ยิ่งรุนแรงยิ่งใช้พ.ร.ก. หรือ ยิ่งใช้พ.ร.ก.ยิ่งรุนแรง

ในงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดุลยภาพระหว่างความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน” เมื่อวันที่ 8 พ.ค.53 ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมวิพากษ์วิจารณ์ที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกับการชุมนุมในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

เหตุความจำเป็นของการประกาศพ.ร.ก.

นายปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเสนอข้อมูลเหตุระเบิดรายวันที่เกิดขึ้นก่อนการประกาศใช้ทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าก่อนที่จะใช้กฎหมายทั้งสองฉบับ เกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายที่ รวมทั้งหน่วยข่าวกรองก็ประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการชุมนุมที่ยืดเยื้อ บรรยากาศเหล่านี้พาให้ต้องประกาศกฎหมายทั้งสองฉบับ ทั้งนี้ ปิยะวัฒก์เห็นว่า แม้จะประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว เหตุร้ายก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขามองว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ถ้าดูตามเงื่อนไขในกฎหมายก็เรียกได้ว่านี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว

ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ปิยะวัฒก์กล่าวนั้น เหมือนพยายามอธิบายว่าเหตุรุนแรงต่างๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องประกาศหรือสามารถประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ซึ่งปัญหาคือ เหตุต่างๆ เหล่านั้น เช่น การพบระเบิด พบอาวุธ ไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่ามีความเชื่อมโยงกับการชุมนุม หลายกรณีไม่สามารถจับคนร้ายได้ รวมทั้งไม่มีการพิสูจน์หลักฐานว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งรัฐบาลมีขีดความสามารถในการพิสูจน์หลักฐานต่ำมาก ดังนั้น การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้มีเพื่อจัดการการระเบิดตามที่ต่างๆ แต่มีเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุม

จาตุรนต์กล่าวว่า ก่อนการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธ และต้องเรียกว่ามันเป็นการชุมนุมโดยสงบ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีขึ้นครั้งเดียว คือการบุกสภา ซึ่งเป็นความรุนแรงขัดต่อกฎหมายที่ยุติไปแล้วด้วยการเจรจา การหาตัวคนร้ายจึงไม่ต้องใช้มาตรการทางทหาร ไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็สามารถทำได้ แต่ความรุนแรงอื่นๆ นั้น เกิดขึ้นหลังจากประกาศใช้พ.ร.ก.แล้วทั้งสิ้น

ทางด้านนายประพันธ์ คูณมี กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เขามองว่าการที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้น ประกาศก็ไม่มีสาระอะไร เป็นเศษกระดาษเฉยๆ ไม่ได้บังคับใช้กับผู้ชุมนุมเลยแม้แต่น้อย ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองถูกย่ำยีมากกว่า เสรีภาพของสุจริตชนถูกคุกคามยิ่งกว่า แพทย์ พยาบาล ประชาชนที่สัญจรไปมา คนเหล่านี้ต่างหากที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ทหารตำรวจก็ถูกเรียกให้ไปตาย แต่ผู้ชุมนุมได้รับเสรีภาพสูงสุด

นายประพันธ์ย้อนวัยไปเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวในทุกวันนี้กับสมัยที่เขาเป็นนักศึกษาเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ปี 16 และ 19 เขาบอกว่าแต่ก่อนไม่มีเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมมีอาวุธ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรืออย่างในการชุมนุมของพันธมิตรที่อาจจะจริงที่เกิดการกีดขวางผู้อื่น แต่อย่างน้อยก็ไม่มีเหตุทำร้ายสถานที่ แต่การชุมนุมในทุกวันนี้มีคนถูกยิงตายทุกวัน เขาบอกว่าตอนนี้มันหน่อมแน๊มตรงที่รัฐบาลไม่มีปัญญาเอาข้อมูลพวกเรื่องกองกำลังติดอาวุธ กำลังจากต่างประเทศ มุสลิมต่างด้าว ที่อาจเป็นกำลังหนุนหรืออย่างไรนั้นมาบอกประชาชน รัฐบาลขี้ขลาดที่จะบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

นายประพันธ์เห็นว่า “ถ้ายังมีกฎหมายนี้อยู่แสดงว่าประสิทธิภาพในการบริหารและกระบวนการยุติธรรมมันไม่ทำงานไม่เข้มแข็ง ผู้บริหารจึงนิยมใช้กฎหมายพิเศษ เพราะมันทันใจกว่า ท้ายที่สุดแล้วมันก็อยู่ที่คนถ้าคนใช้อำนาจลุแก่อำนาจกฎหมายนี้ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งแต่ถ้าผู้ใช้อำนาจไม่มีน้ำยา ผู้ชุมนุมก็ไม่กลัว จึงเป็นการเขียนกฎหมายให้เสียหลักการบ้านเมืองไปเปล่าๆ ใช้บังคับไม่ได้”

ถ้ารู้สึกไม่ชอบธรรม จะให้ไปร้องศาลไหน

ปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเนื้อหาของกฎหมายว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาไม่เกินสามเดือนและต่ออายุได้ครั้งละสามเดือนโดยไม่มีจำกัดเวลารวมสูงสุดการออกประกาศทำได้โดยการรับรองของคณะรัฐมนตรีไม่มีขั้นตอนการพิจารณาจากสภา

ปิยะบุตรเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ควรต้องให้ผู้แทนประชาชนที่เป็นเจ้าของสิทธิเป็นผู้อนุญาต หากเทียบกับกฎหมายในสภาวะฉุกเฉินของประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างกฎหมายฝรั่งเศสที่ให้รัฐบาลประกาศสภาวะฉุกเฉินได้ไม่เกิน 12 วัน หลังจากนั้นก็ต้องมาขออนุญาตสภา

“นอกจากนี้ มาตรา 11 (1) ให้อำนาจจับกุมตัว และมาตรา 12 ให้ควบคุมตัวได้ 7 วัน ขอขยายได้ไม่เกิน 30 วัน ข้อน่าสงสัยคือบุคคลที่ถูกจับกุมมีสถานะใด เป็นผู้ต้องหาหรือไม่ มีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ หลักเกณฑ์ที่ศาลอาจอนุญาตให้จับเป็นอย่างไร การควบคุมตัวต้องไว้ที่ใด”

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์กล่าวย้ำว่า ประเด็นที่น่าคิดที่สุดคือ ผลจากการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 16 สาเหตุที่กฎหมายนี้ตัดอำนาจศาลปกครองอาจเพราะกลัวว่า จะเปิดช่องให้เกิดมาตราการการคุ้มครองชั่วคราว ออกมาทุเลาการบังคับคำสั่งจนกว่าศาลจะตัดสิน ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเครื่องมืออะไร

เมื่อพระราชกำหนดฉบับนี้เขียนให้อำนาจไว้อย่างสวยหรู แล้วใครจะเป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งก็ต้องมีองค์กรตุลาการมาตรวจสอบ แต่เมื่อกฎหมายเขียนยกเว้นอำนาจศาลปกครองไว้แล้ว หลักทั่วไปคือต้องเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งที่เรื่องการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการใช้อำนาจทางปกครองโดยแท้

ปิยะบุตรยกตัวอย่างกรณีคำสั่งปิดเว็บไซต์ประชาไทดอทคอม เมื่อเว็บไซต์ประชาไทไปฟ้องที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งก็ตัดสินว่ารัฐบาลมีอำนาจเพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้วินิจฉัยถึงเงื่อนไขการใช้อำนาจ และศาลไม่ได้วินิจฉัยตามประเด็นที่ระบุไว้ในคำฟ้อง ที่ถามว่าประชาไทมีเหตุใดที่เข้าข่ายให้ต้องปิดเว็บ ซึ่งเห็นได้ว่าเมื่อเรื่องมาถึงศาลแพ่งที่ใช้นิติวิธีต่างกับศาลปกครอง ก็เป็นปัญหาอยู่ และปัญหาการตีความในลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้ที่ผ่านมามันนำไปสู่การตั้งศาลปกครอง

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ซึ่งนั่งฟังเสวนาอยู่ร่วมตั้งประเด็นว่า การที่พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาแล้วไปตัดอำนาจศาลปกครองนั้นมันถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือเปล่า จริงอยู่ว่ามีกฎหมายหลายฉบับก็เขียนแบบนี้ แต่เราต้องคิดกันเลยต่อไปว่า ถ้าอำนาจเรื่องนั้นเป็นอำนาจโดยแท้ซึ่งมันควรจะเป็นอำนาจศาลปกครอง แล้วฝ่ายนิติบัญญัติไปออกกฎหมายตามใจ คือตัดอำนาจทิ้งไป ให้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม มันจะเกินขอบรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ผมมีความเห็นว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งชี้ต่อไป หวังว่าจะไม่บอกว่า พอเลิกพ.ร.ก.ไปแล้วก็จะไม่พิจารณาประเด็นนี้

เพราะไม่อย่างนั้นแล้วประเด็นนี้ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เลย ซึ่งคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย”

ต่อเรื่องนี้ ปิยะวัฒก์ จากดีเอสไอเห็นว่า แม้ในกฎหมายจะเขียนว่าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ต้องรับผิด แต่ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ถ้าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุไม่สุจริต และมีการเลือกปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย เขาเห็นว่า หากมองที่ประโยชน์สาธารณะ ประเทศก็เสียหายเยอะ มันมีเหตุให้บังคับใช้กฎหมายได้

Information Blocked
Information Blocked

พ.ร.ก.ปิดสื่อ แต่สื่อปลุกระดมเพิ่มทวี

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาใหญ่จากพระราชกำหนดฉบับนี้ คือทำให้เกิดการแทรกแซงสื่อสูงมาก ทีวีถูกแทรกแซงมาก ขณะที่สื่ออื่นๆ ถูกปิดกั้นไป การแทรกแซงสื่อที่เกิดขึ้นอยู่ไม่ได้ทำเพราะกังวลว่าจะเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้าย แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง ที่สื่อเสนอข้อมูลและถ่ายทอดความเห็นของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลซึ่งปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นซึ่งเกิดขึ้นตามมาคือ มันเปิดโอกาสให้เกิดสื่อที่ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง

“ปัญหาใหญ่ๆ ในเรื่องการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่เรื่องเหตุความจำเป็นที่จะประกาศใช้ เมื่อใช้แล้วริดรอนเสรีภาพของประชาชน

เสรีภาพของสื่อ แล้วเวลาที่มันเกินกว่าเหตุไปอย่างชัดเจนก็ดูเหมือนว่าเราไม่มีระบบกฎหมายที่จะมาดูแลตรวจสอบ ไม่รู้ว่าจะไปฟ้องที่ศาลไหน”

ดุลยภาพพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในงานเสวนาครั้งนี้ กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วม ได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนว่า เราควรจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า กฎหมายรักษาดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพกับความความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่

จาตุรนต์กล่าวว่า เหตุการณ์การชุมนุมทีเกิดขึ้นเมื่อกว่า 50 วันที่ผ่านมา มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องความสงบกับเสรีภาพ เขาอธิบายว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการใช้เสรีภาพจนละเมิดคนอื่น คือมีการชุมนุมสองที่ที่สะพานผ่านฟ้าและที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ แล้วรัฐบาลก็ประกาศว่า เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ต้องสลายการชุมนุม แล้วรัฐบาลก็ขอพื้นที่คืนแต่กลับไปดำเนินการที่สะพานผ่านฟ้าก่อน เมื่อเข้าไปจัดการโดยใช้มาตรการทางทหาร จะพบว่ารัฐบาลไม่มีความพร้อม ผู้ปฎิบัติงานไม่ผ่านการฝึก ไม่เข้าใจการชุมนุม ก่อให้เกิดการสูญเสีย โกรธแค้น เกิดข้อสรุปว่าสลายไม่ได้ แล้วรัฐบาลก็จัดการต่อไม่ได้

“การชุมนุมทำให้คนเดือดร้อนไหม ใช่ กระเทือนต่อเศรษฐกิจไหม ใช่ แต่แล้วก็มีตรรกะว่าเมื่อเสียหายเดือดร้อนแล้ว ใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ แบบนี้มันวนไปหาอะไร มันก็เป็นอยู่แบบนี้”

จาตุรนต์บอกว่า การชุมนุมที่จะเลิกกันไป ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ไม่ได้มาจากความเด็ดขาดของอาวุธ แต่มันเกิดขึ้นจากการเจรจาหาทางออก เพราะข้อเรียกร้องของการชุมนุมเป็นข้อเรียกร้องทางการเมือง มันพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยพระราชกำหนด ตรงกันข้ามกลับเกิดปัญหา คือการละเมิดสื่ออย่างร้ายกาจ และกระทบระบบยุติธรรมของประเทศนี้ที่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ และต้องถูกมองว่าเสื่อมหนักเข้าไปอีก

ท้ายสุด วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสริมถึงชุดกฎหมายด้านความมั่นคงว่า ชุดกฎหมายแบบนี้เราต้องว่ากันใหม่ ต้องพูดให้ชัดว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องฉุกเฉินจริงๆ ในรัฐประชาธิปไตยแม้มีสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องพยายามสร้างความชอบธรรม เอาผู้แทนปวงชนเข้าไป หรืออย่างน้อยต้องมีจุดเกาะเกี่ยว ซึ่งในกฎหมายทุกวันนี้ไม่มีเลย ศาลก็ไม่เข้ามาตรวจสอบ เพราะถือเป็นกรณีฉุกเฉิน

ถ้ายังปล่อยใ้ห้สภาพแบบนี้อยู่ต่อไป ในวันข้างหน้า เมื่อสร้างสภาพการณ์ขึ้นมา วางระเบิดสามสี่จุดเราก็อยู่ในภาวะฉุกเฉินแล้วสั่งทหารเข้าจัดการคนที่มีความคิดความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ ซึ่งอันนี้คงไม่ถูกต้อง วันข้างหน้าคงต้องเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายชุดความมั่นคงและฉุกเฉินทั้งหมด

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

สว. ชุดพิเศษ เห็นชอบรับร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระหนึ่ง เหลือพิจารณาต่อวาระสอง-สาม

2 เมษายน 2567 วุฒิสภาชุดพิเศษ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระแรก หลังจากร่างผ่านสภาผู้แทนราษฎร กระบวนการถัดมาเหลือการพิจารณาวาระสอง-สาม ชั้นวุฒิสภา