เปิดกฎหมายความผิดบนเครื่องบิน “ใช้โทรศัพท์อาจถูกปรับ ปล่อยโคมลอยอาจประหารชีวิต”

ในปี 2557 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นสมควรให้ประกาศใช้กฎหมาย 48 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. …  หรือ  ร่างกฎหมายการกระทำผิดบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงจาก พ.ร.บ.เดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2521 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเพิ่มบทบัญญัติการกระทำความผิดและเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้โดยสารประพฤติตัวไม่เหมาะสมบนเครื่องบินเพิ่มขึ้น จำนวนมาก จากปี 2538 มีผู้โดยสารประพฤติไม่เหมาะสม 1,000 กว่ารายต่อปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 รายต่อปี
ภาพจาก ming 1967
ประเด็นที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่
ใช้มือถือ แท็บเล็ท บนเครื่องบินอาจถูกปรับสองหมื่น 
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจใน มาตรา 8 ที่ห้ามสูบบุหรี่ในห้องน้ำหรือสถานที่ที่ไม่ได้จัดไว้ให้สูบ ห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่ห้ามใช้ และห้ามนำสิ่งของที่ประกาศห้ามขึ้นเครื่องบิน หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ห้ามแสดงกิริยาท่าทางลามก แต่นิยามไม่ชัดเจน
นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตต่อมาตรา 11  ที่กำหนดว่า การกระทำต่อร่างกายผู้อื่นอันเป็นการมุ่งร้ายทางเพศ หรือกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลโดยเปลือยหรือเปิดเผยส่วนของร่างกาย หรือใช้วาจาลวนลามหรือแสดงกิริยาท่าทางอันเป็นการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้ความเห็นว่า ไม่มีการระบุความหมายของคำว่าลามกอนาจารให้ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่ากินความหมายกว้างแค่ไหน การถูกเนื้อต้องตัวเล็กน้อยจะถือว่าลามกอนาจารหรือไม่ ซึ่งการให้นิยามที่กว้างเกินไปจะเป็นผลเสียต่อผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร แค่ไหน จึงจะไม่ผิด
งดบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้เดินทางไกล
ต่อจากนี้ไปการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนเครื่องบินที่ส่วนใหญ่จะบริการแก่ผู้ที่เดินทางไกลๆ อาจจะไม่มีอีก เนื่องจาก มาตรา 12 ระบุว่า ถ้าผู้อยู่ในเครื่องบินกระทำการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลและเครื่องบิน หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบ โดยการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือใช้สารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือก่อความวุ่นวายด้วยวิธีใดก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปล่อยโคมลอย – ปิดสนามบิน โทษหนักถึงขั้นประหาร
ช่วงเทศกาลอยกระทงที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาเตือนประชาชนว่าการปล่อยโคมลอย จุดดอกไม้ไฟรอบอากาศยานมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต เพราะจะทำให้เกิดแสงรบกวนสายตานักบิน และหากโคมลอยถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์จะทำให้เครื่องยนต์ระเบิดและส่งผลให้เครื่องบินตกได้ กรณีอาจจะเข้ามาตรา 18 ที่ระบุว่า การทำลายเครื่องบินระหว่างบริการ หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้เครื่องบินเสียหายจนไม่สามารถบินได้หรือเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 6-8 แสนบาท  ซึ่งเป็นโทษเดียวกับที่ใช้ต่อผู้ที่ใช้อาวุธหรือวัสดุอื่นใดทำร้ายผู้อื่นในสนามบินจนอาการสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ทำให้สนามบินเสียหายร้ายแรง หรือทำให้การบริการของสนามบินหยุดชะงัก (มาตรา 19)
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลายมาตราที่ยังคงโทษประหารชีวิตเหมือนกับ พ.ร.บ.ฉบับเดิม แม้ว่าจะมีการเพิ่มโทษปรับเข้ามา เพื่อเป็นทางเลือกในการผ่อนโทษแล้วก็ตาม แต่การคงโทษประหารชีวิตไว้ก็เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักปฏิบัติสากลที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โดยเฉพาะการที่ร่าง พ.ร.บ.นี้เกี่ยวพันกับพันธะสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ จึงควรคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญ
ไฟล์แนบ