รู้จัก สนช.และการเดินทางของกฎหมายใน สนช.

การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ส่งผลให้รัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องยุติหน้าที่ผู้แทนปวงชนในการพิจารณาร่างกฏหมายไปทันที อย่างไรก็ตามโชคดีที่ รัฐธรรมนูญฉบับ(ชั่วคราว) 2557 กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ส.ส.และ ส.ว. การทำหน้าที่ของสนช.เป็นตามพิมพ์เขียว (Road map) ระยะที่สอง ที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งและมีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสนใจว่าพวกเขาเป็นใคร? มาจากไหน? และมีขั้นตอนการทำงานอย่างไร?    
 
การเดินทางของกฎหมายในสภาฯ ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (ภาพจาก ประชาไท)
 
รู้จัก สนช.กันหน่อย
สนช.คือ กลุ่มบุคคลที่ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ฉบับ 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ เห็นชอบ และกลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ซึ่งจะมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 มีบรมราชโองการแต่งตั้ง สนช.เป็นครั้งแรกจำนวน 200 คน  ประกอบไปด้วย
ทหารทั้งในและนอกราชการ 105 คน แบ่งเป็น 3 เหล่าทัพ ทหารบก 67 คน ทหารเรือ 19 คน และทหารอากาศ 19 คน ตำรวจ 10 คน และพลเรือน 85 คน แบ่งเป็นอดีต ส.ว.สรรหา, อดีต ส.ว.เลือกตั้ง, อธิการบดี และนักธุรกิจ
ต่อมา 25 กันยายน 2557 มีบรมราชโองการแต่งตั้ง สนช.เพิ่มอีกจำนวน 28 คน เป็นทหาร 17 คน และพลเรือน 11 คน ทั้งนี้การประกาศรายชื่อสนช.รอบแรกจำนวน 200 คน มีผู้ที่ขาดคุณสมบัติ และมีบางส่วนลาออกไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เหลือ สนช.192 คน การแต่งตั้งครั้งนี้ทำให้ สนช.มีจำนวนครบ 220 คน
อดีต สนช. 8 คน 
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 หลังการประกาศรายชื่อ สนช. 1 วัน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ทำหนังสือไม่ขอรับตำแหน่ง สนช.โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดในการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม จึงไม่ควรมีสถานะทางการเมือง
ต่อมา 4 สิงหาคม 2557 พล.อ ธวัชชัย สมุทรสาคร ยื่นหนังสือลาออกเนื่องจากเคยลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ มาตรา 8 (1) ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะ 3 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. อีกคนคือ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ยื่นหนังสือลาออกจากสนช.เช่นกัน เนื่องจากเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น สนช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ มาตรา 8(4)
นอกจากนี้วันที่ 28 สิงหาคม 2557 ยังมี อีก 5 คน ที่ลาออกจาก สนช.เนื่องจากต้องการไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายณรงค์ชัย อัครเศรณี  (เป็นรมว.พลังงาน) นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร (เป็นรมว.การกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) นายรัชตะ รัชตะนาวิน (เป็นรมว.การกระทรวงสาธารณสุข) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (เป็นรมช.การกระทรวงคมนาคม) พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (เป็นรมช.การกระทรวงศึกษาธิการ)

 

รู้จักประธานและรองประธาน สนช.
วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมสนช.มติเลือกประธานและรองประธานสนช. ประกอบด้วย 
ประธาน นายพรเพชร วิชิตชลชัย หลังรัฐประหารของ คสช.เขาคือมือร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ร่วมกับวิษณุ เครืองาม เป็นอดีต สนช.หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเคยเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้ความผิดดังกล่าว ครอบคลุมถึง การกระทำความผิดต่อ พระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญนายพรเพชร ในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งคราวนั้นสิ้นผลไป  
รองประธานคนที่ 1 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และอดีตส.ว.สรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในปี 2555 ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ช่วงวิกฤติการเมืองของปี 2557 เมื่อป.ป.ช.ชี้มูลความผิดของนายนิคม ไวยรัชพานิช จากการแก้ไขที่มาของส.ว. ทำให้มีความพยายามผลักดันจากกลุ่ม 40 ส.ว.ให้นายสุรชัย เป็นประธานวุฒิสภาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อสรรหานายกเฉพาะกิจ อย่างไรก็ตามจากนั้นก็เกิดการรัฐประหารและยกเลิกวุฒิสภา   
รองประธานคนที่ 2 นายพีรศักดิ์ พอจิตร อดีตส.ว.อุตรดิตถ์ ลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2549 ได้รับชัยชนะ แต่เกิดรัฐประหารหลังจากนั้น ทำให้ต้องหันเหเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นและชนะเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างปี 2551-2555 ล่าสุดปี 2557 ลงสมัครเลือกตั้งส.ว.อีกครั้งและได้รับชัยชนะ ทั้งนี้เขาได้ถูกรับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง และเป็นหนึ่งในบุคคลที่พยายามสรรหานายกเฉพาะกิจร่วมกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
รายได้ของ สนช.
เมื่อวันที่ 10 พฤษจิกายน 2557 ราชกิจจานุเบกาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ.2557 โดยในกรณีของสนช. กำหนดให้
ประธานสนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท (รวม 125,590 บาท) 
รองประธานสนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 73,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท (รวม 115,920 บาท) 
สมาชิกสนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท (รวม 113,560 บาท) 
ทั้งนี้สนช. ผู้ใดไม่มาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของกำหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือนสำหรับเดือนนั้น เว้นแต่กรณีไม่มาประชุมเพราะเหตุไปราชการของสนช.โดยได้รับอนุญาตจากประธานสนช.
สำหรับกรรมาธิการของสนช.ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งๆ ละหนึ่งพันห้าร้อยบาท ส่วน สนช.ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งๆ ละ หกพันบาท
 
การเดินทางของกฎหมายในสนช. ของรัฐธรรมนูญฉบับ (ชั่วคราว) 2557
การเดินทางของกฎหมายใน สนช.
ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ผู้ที่สามารถเสนอกฎหมายได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 รายชื่อ สำหรับรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ปี 2557 กำหนดให้ผู้ที่สามารถเสนอกฎหมาย ประกอบด้วย
1. คณะรัฐมนตรี(ครม.) สามารถเสนอร่างกฎหมายอะไรก็ได้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้โดยตรง
2. สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสนช.ได้โดยตรง เว้นแต่เป็นร่างที่เกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งไปให้ ครม.พิจารณาก่อนเข้าสู่ สนช.
3. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน เสนอได้เฉพาะร่างกฎหมายที่ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน ทั้งนี้ สปช. และ ครม.อาจนำร่างไปพิจารณาก่อนเข้าสู่วาระหนึ่งได้
4. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เสนอแก้พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เสนอแก้พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจะเสนอได้แต่ พ.ร.ป.ที่ตนเองรักษาการและต้องไม่เกี่ยวด้วยการเงิน      
เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เมื่อร่างกฎหมายจากแหล่งข้างต้นเข้ามาสู่ สนช. สมาชิกสนช.จะประชุมพิจารณาเพื่อจะรับหรือไม่รับร่างกฎหมายในการพิจารณาต่อไปหรือไม่ หากที่ประชุมเสียงข้างมากไม่รับหลักการร่างนั้นก็จะตกไป แต่หากเสียงข้างมากหลักการก็จะเข้าสู่วาระที่สอง  
วาระที่ 2 เข้าสู่คณะกรรมาธิการที่สภาตั้ง เมื่อผ่านวาระที่หนึ่งร่างกฎหมายจะเข้าสู่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้น คณะกรรมาธิการจะพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้งซึ่งอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ต้องไม่ให้เปลี่ยนไปจะหลักการเดิมของร่างกฎหมาย ขั้นตอนนี้เรียกอีกอย่างว่าแปลญัตติ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วร่างกฎหมายจะเข้าสู่วาระสาม
วาระที่ 3 ลงมติเห็นชอบ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระสอง สนช.ทั้งสภาจะต้องลงมติร่างกฎหมายนั้น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างนั้นก็ตกไป แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ จะส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ ให้สนช.ปรึกษาร่างกฎหมายนั้นอีกครั้งหากยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสภาให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย