เตรียมแก้กฎหมายอาญา ข่มขืนเด็กปรับเพิ่ม 10 เท่า อ้างไม่รู้ไม่ได้

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศ กำลังอยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไขปรับปรุงความผิดเกี่ยวกับเพศในประมวลกฎหมายอาญา มีการแก้ไขมาตรา 277 โดยเพิ่มเติมข้อความบางส่วน และเพิ่มมาตราเข้ามาใหม่อีกสองมาตรา คือ มาตรา 285/1 และมาตรา 321/1
เนื้อหาหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ มีสี่ประเด็นด้วยกัน คือ 
1. ความผิดฐานข่มขืนเด็ก เพิ่มโทษปรับสิบเท่า โทษจำคุกเท่าเดิม
เพิ่มโทษปรับในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเด็กที่อายุยังไม่เกิน 15 ปี มาตรา 277 วรรค 1 จากโทษปรับเดิม 8,000-40,000 บาท เป็น 80,000-400,000 บาท
เพิ่มโทษปรับ ในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเด็กที่อายุยังไม่เกิน 13 ปี มาตรา 277 วรรค 2 จากโทษปรับเดิม 14,000-40,000 บาท เป็น 140,000-400,000
 
เพิ่มศูนย์มาอีกอย่างละหนึ่งตัว โดยโทษจำคุกยังคงไว้เท่าเดิม ในบันทึกหลักการและเหตุผล ได้ให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
2. ความผิดฐานโทรมเด็ก เด็กจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิด
ความผิดฐานโทรม คือ การข่มขืนกระทำชำเขา โดยมีผู้กระทำความผิดร่วมกันสองคนขึ้นไป
 
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แก้ไขความผิดฐานโทรมเด็กตามมาตรา 277 วรรค 4 ให้ตัดคำว่า "โดยเด็กไม่ยินยอม" ออก เนื่องจากลักษณะการโทรมแสดงความไม่ยินยอมของผู้ถูกกระทำอยู่ในตัว ไม่จำเป็นต้องระบุลงไปอีก ซึ่งเป็นการแก้ไขให้กระชับรัดกุมกว่าเดิม เนื่องมาจากกฎหมายเดิมที่เพิ่งแก้ไขในปี 2550 ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การบัญญัติว่า "โดยเด็กไม่ยินยอม" ไว้ด้วย อาจทำให้การโทรมเด็กโดยที่เด็กยินยอมถูกตีความว่าไม่มีความผิดได้ การตัดข้อความดังกล่าวออกไปจึงน่าจะถูกต้องและครอบคลุมความหมายดีกว่า
3. ให้ศาลเยาวชนฯ พิจารณาอนุญาตให้แต่งงานกับผู้เยาว์ และให้ยกเว้นโทษได้
ตามหลักแล้ว การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีนั้นเป็นความผิดแม้ว่าเด็กจะยินยอมก็ตาม เนื่องจากกฎหมายต้องการคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกฎหมายถือว่าเด็กอายุยังไม่ถึง 15 ปี ยังไม่รู้ผิดชอบในเรื่องเพศและยังไม่สามารถให้ความยินยอมในกิจกรรมทางเพศได้ หากให้ความยินยอมไป กฎหมายก็ไม่รับรอง เท่ากับว่ากฎหมายไม่ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยก่อน 15 ปี แต่เนื่องจากหลักนี้ก็เคร่งครัดมากเกินไป จึงมีข้อยกเว้นอยู่ในวรรคท้ายของมาตรา 277 ว่า หากฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี อีกฝ่ายระหว่าง 13-15 ปีนั้น มีเพศสัมพันธ์ด้วยความสมัครใจทั้งคู่และสามารถแต่งงานกันได้ จะได้รับการยกเว้นโทษยกเว้นโทษ กฎหมายต้องการยืดหยุ่นให้กับคู่รักวัยเด็กที่มีเพศสัมพันธ์กันนั่นเอง
 
แต่ทางปฏิบัติ อาจมีกรณีปัญหา คือ ผู้เสียหายอาจจะแต่งงานโดยไม่สมัครใจ หรืออาจจะถูกข่มขืน ไม่ได้สมัครใจร่วมเพศตั้งแต่แรก แต่อาจรับเงินมา หรือถูกเกลี้ยกล่อย หรือข่มขู่ ให้ยอมสมรสเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้พ้นผิด เดิมกฎหมายจึงกำหนดว่าการสมรสต้องให้ “ศาล” อนุญาต แต่กฎหมายยังไม่เคยกำหนดว่าเป็นอำนาจของศาลใด
ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้จึงกำหนดให้ชัดเจนว่าให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีความชำนาญในคดีที่เกี่ยวกับเด็กเป็นผู้พิจารณา ว่าแต่ละกรณีที่ควรอนุญาตให้แต่งงานกันหรือไม่
 
4. หากผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 13 ปี จะอ้างว่าไม่รู้อายุของเด็ก เพื่อให้พ้นความผิดไม่ได้  
ก่อนหน้านี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายคดีที่ยืนยันว่า หากจำเลยพิสูจน์ได้ว่า ผู้เสียหายเป็นมีรูปร่างสูงใหญ่เกินอายุ ทำงานในสถานที่ที่รับเฉพาะคนอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน จำเลยจึงเชื่อได้ว่า ผู้เสียหายอายุเกิน 15 ปีแล้ว แม้ความจริงผู้เสียหายจะอายุไม่ถึง 15 ปีก็ตาม ศาลก็จะลงโทษจำเลยเพียงแค่ฐานกระทำชำเราหญิงอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามหลักทั่วไปที่ว่า ถ้าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดถือว่าขาดเจตนาในการกระทำผิด ตามมาตรา 59 วรรคสาม
การออกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการยกเว้นหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาที่ใช้กับความผิดอื่นทุกประเภท ทำให้หลังจากนี้ ผู้กระทำความผิดไม่สามารถอ้างข้อเท็จจริงว่าไม่รู้อายุของผู้เสียหายขึ้นมาเป็นเหตุให้พ้นผิดได้อีกแล้ว นับเป็นการคุ้มครองเด็ดขาดให้กับเยาวชนที่เป็นเหยื่อความผิดทางเพศ
ที่มาภาพ niomi niomi
ข้อสังเกต กฎหมายข่มขืนยังต้องปรับปรุงอีกหลายจุด
มีข้อสังเกตว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดทางเพศในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ซึ่งอาจเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากกระแสคดี "น้องแก้ม" และพนักงานรถไฟ คดีที่โด่งดังและถูกกล่าวขานมากที่สุดเมื่อกลางปีนี้ก็เป็นได้ ซึ่งหลังเหตุการณ์นั้นมีการเรียกร้องจากหลายกลุ่มให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน 
การแก้ไขเพิ่มเติมความผิดทางเพศครั้งนี้ อาจเป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาของกฎหมายกระทำชำเรายังมีอีกหลายจุดที่ยังไม่ถูกแก้ไขและสมควรเรียกร้องให้มีการแก้ไขต่อไป อย่างเช่น นิยามการข่มขืนกระทำชำเราที่ไม่ชัดเจนและกำกวมมาก แม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาอธิบายขอบเขตคำนิยามนี้แล้วก็ตาม แต่ตัวบทกฎหมายเองควรจะจำกัดความให้รัดกุมเหมาะสมกับหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด
และการแก้ไขในครั้งนี้ ดูเหมือนจะมุ่งคุ้มครองแต่ผู้เสียหายที่เป็นเด็กเพียงอย่างเดียว และละเลยกรณีข่มขืนผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีไป ไม่ได้มีการแก้ไขโทษทั้งจำคุกและโทษปรับด้วย ความผิดฐานข่มขืนตามมาตรา 276 โทษจำคุกยังคงเป็น 4 ปี ถึง 20 ปี ปรับเพียง 8,000-40,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นอัตราโทษที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และการแก้ไขโทษปรับเพียงบางมาตราอาจทำให้อัตราโทษปรับของความผิดที่ลักษณะคล้ายกันเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก
หวังว่า ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับผู้เสียหายอายุเกิน 15 ปี ที่ได้รับความบอบช้ำจากการถูกข่มขืนมากขึ้นกว่านี้บ้าง หรืออาจจะต้องรอให้มีคดีร้ายแรงอย่างที่ผ่านมาเสียก่อน ถึงจะมีการหันมามองและให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น กฎหมายที่ออกมาทีหลัง ก็ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากกว่านี้แล้ว