ใช้ประชาธิปไตยเเก้คอร์รัปชั่นดีกว่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ

ปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยที่ต้องเร่งเเก้ไขเพื่อให้สังคมเดินหน้าไปอย่างมีศักยภาพเเละด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โครงการ เศรษฐกิจเพื่อวันพรุ่งนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เเละมูลนิธิ เฟดริค เอเเบร์ท(FES) จึงจัดเวทีเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมออกเเบบรูปเเบบทางเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ที่ยั่งยืน มีพลวัฒ โดยผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ “จะใช้ประชาธิปไตยเเก้ปัญหาคอรัปชั่นได้อย่างไร” ในวันที่ 5 พฤษจิกายน 2557 ณ โรงเเรมเดอะสุโกศล โดยมีวิทยากรที่ทรงความรู้มาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเเก้ปัญหาการคอรัปชั่นในประเทศไทย
มาร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท : fighting corruption in Transformation society
สังคมและเศรษฐกิจกำลังเป็นสมัยใหม่ แต่ความเป็นเหตุเป็นผลในสังคมไทยยังเท่าเดิม
การเปลี่ยนเเปลงทางเศรษฐกิจเเละสังคมในไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว  เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตจากภาคเกษตรกรเหมือนเเต่ก่อน เเต่กลับพัฒนาอย่างรวดเร็วในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ความเป็นสมัยใหม่กับประเพณีท้องถิ่นมีระยะห่างกันมาก เมื่อความเป็นสมัยใหม่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เเละความเป็นประเพณีก็ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ความคิดของคนไทยส่วนใหญ่วางอยู่บนวัฒนธรรมจารีตประเพณี ทั้งที่สังคมสมัยใหม่ความคิดของผู้คนจะมีพื้นฐานจากสถาบันทางความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล 
การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยนั้น ยังติดอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเชิงอุปถัมป์อยู่ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในลักษณะนี้ต้องถูกแทนที่ด้วยหลักนิติรัฐ กับความคิดเชิงหลักการที่มีเหตุมีผล การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มความโปร่งใส ความเท่าเทียม ความมีประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้คือการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพื่อที่จะนำพาเราไปสู่เป็นสังคมสมัยใหม่และการที่สังคมจะเป็นสมัยใหม่ก็ต่อเมื่อชนชั้นกลางผลักดัน เพราะเป็นชนชั้นที่ไม่มีอภิสิทธิ์เหมือนชนชั้นนำเเละสามารถพึ่งพาตนเองได้ดีกว่าชนชั้นล่าง 
ชนชั้นสูงสร้างวาทกรรม ทำให้ชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย
จากรากฐานความคิดแบบจารีตประเพณีที่ยึดติดกับหลักศีลธรม และชนชั้นนำที่พยายามสร้างความคิดว่า นักการเมืองเท่านั้นที่คอร์รัปชั่น  ทำให้ชนชั้นกลางกลัวว่าพวกเขาจะถูกขโมยเงินไปเเจกจ่ายชนชั้นล่างเพื่อให้รัฐบาลได้รับความนิยม จึงเกิดกลไกปกป้องตนเองเพราะรู้สึกว่าเขาไม่อาจเอาชนะชนชั้นล่างผ่านการเลือกตั้งได้ ชนชั้นกลางไทยจึงเข้ากับทหารมากกว่าที่จะสร้างประชาธิปไตย  
ต้องทำให้คนเข้าใจว่าคอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
การเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไทยก่อให้เกิดคำถามเชิงปรัชญาว่า คนที่เข้ามาเเก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องเป็นคนดีหรือไม่? ต้องจัดการคนเลวออกไปโดยให้พวกเขาไม่สามารถเข้ามาคอรัปชั่นได้อีก? 
จะเห็นได้เลยว่าหากเราไม่สามารถเเก้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านเเบบประชาธิปไตยได้ ประเทศไทยก็อาจจะกลายเป็นเเบบอียิปต์ต่อไป ทั้งนี้การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นต้องใช้ประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยเเละเราต้องเเก้ไขทัศนคติที่คิดว่าคอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตยคือสิ่งเดียวกัน
เนื่องมาจากประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ทำให้ผู้คนยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการคอร์รัปชั่นก็มาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลลที่มีมาเเต่ศักดินาเก่าดังนั้นการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นก็คือการสร้างประชาธิปไตย ทำให้ผู้คนสามารถเอาชนะความสัมพันธ์เเบบส่วนตัวให้ได้
สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย : ประชาธิปไตยต้องไปพร้องการตรวจสอบถ่วงดุล
หากมองประชาธิปไตยเฉพาะเรื่องการเข้าสู่อำนาจ มันไม่ช่วยลดคอร์รัปชั่นเเต่อย่างใด
ประชาธิปไตย ในความหมายที่คนไทยทั่วไปเข้าใจ หมายถึงการเลือกตั้งอย่างเสรีเเละเป็นธรรม และสนใจเฉพาะเรื่องการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งประชาธิปไตยแบบนี้แทบจะไม่ได้ช่วยลดคอร์รัปชั่นเเต่อย่างใด
ขณะที่หลายประเทศสามารถกำจัดคอร์รัปชั่นได้โดยไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย เช่น ประเทศจีน ที่มีการเเข่งขันเป็นลำดับชั้น เเละมีการเเก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน ถึงเเม้จีนจะมีรัฐบาลเพียงพรรคเดียวก็ตาม รวมถึงในกรณีของประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราคอร์รัปชั่นต่ำ จะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเเต่ก็มีการเติบโตภายในประเทศไปพร้อมกับมาตราการกำจัดคอร์รัปชั่นที่เข้มงวดเเละมีประสิทธิภาพ 
ส่วนกรณีของประเทศเกาหลีเหนือที่มีการคอรัปชั่นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จะมีห้องสามสิบเก้าทีเป็นเหมือนพระคลังข้างที่ที่ใช้ตอบเเทนพวกสมาชิกพรรคเเละพวกพ้องของตน จะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจที่สมบูรณ์ก็อาจจะก่อให้เกิดแบบจีน สิงคโปร์หรือเกาหลีเหนือก็ได้
ทั้งนี้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องไม่ได้มีเฉพาะการเลือกตั้งเเต่รวมไปถึงการตรวจสอบถ่วงดุลเเละการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนเเละสิทธิเสรีภาพสื่อ ประชาธิปไตยในรูปเเบบนี้เท่านั้นที่จะสามารถต่อสู้กับคอร์รัปชั่นได้อย่างเเท้จริง ดังนั้นหากเรานิยามความหมายของประชาธิปไตยที่เเคบเเค่การเลือกตั้งก็จะไม่สามารถกำจัดการคอร์รัปชั่นได้
สมเกียรติมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาประชาธิปไตยและการกำจัดคอร์รัปชั่น คือ
1. อย่าคิดว่าความเป็นประชาธิปไตยนั้นคือการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องสนใจการใช้อำนาจด้วย
2. อย่าใช้วาทกรรมคอร์รัปชั่นเพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ทางการเมือง เเต่ต้องตรวจสอบทุกคนที่ใช้อำนาจสาธารณะไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะคนที่ตนไม่ชอบ เเต่ไม่ตรวจสอบคนที่อยู่ฝ่ายตน
3. อย่าอ้างความเป็นคนดีเพื่อป้องกันการตรวจสอบ เเต่ก็อย่าปฏิเสธเรื่องจริยธรรมทางการเมือง
4. อย่าปิดกั้นอำนาจท้องถิ่นในขณะเดียวกันก็ต้องกีดกันการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
การใช้กฎหมายเป็นทางออกหนึ่งของการแก้คอร์รัปชั่น
เเต่เดิมภาคธุรกิจจะยอมจ่ายเงินเพื่อเเลกกับความสะดวกสบายบางประการ แต่ปัจจุบันตอนนี้ภาคธุรกิจก็ตื่นตัว เริ่มที่จะไม่สยบยอมกับการคอร์รัปชั่น 
แต่เดิมเครื่องมือการเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในระบอบประชาธิปไตยคือ รัฐสภา เเต่รัฐสภาประเทศไทยกลับไม่ได้ทำหน้าที่นั้นเเละไม่มีอำนาจมากพอที่จะตรวจสอบได้  อย่างเช่น กรณีทุจริตการจำนำข้าว ที่ฝ่ายบริหารสามารถ ใช้อำนาจโดยไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบได้ เพราะใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งหากใช้เงินในงบประมาณก็จะตรวจสอบได้โดยง่ายกว่า 
การคอร์รัปชั่นจะมากน้อยขึ้นอยู่กับ อำนาจดุลยพินิจเเละอำนาจผูกขาดของรัฐ การจะเเก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นต้องลดอำนาจเหล่านี้ เเละเพิ่มหลักความรับผิดชอบ ซึ่งทำได้ด้วยการออกกฎหมาย เช่น กฏหมายข้อมูลข่าวสารเพื่อเปิดทางให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันกฏหมายนี้ยังมีลักษณะปิดมากกว่าเปิดเผย หรือ กฏหมายการจัดซื้อจัดจ้าง เปลี่ยนระเบียบที่ล้าหลังให้เป็นพระราชบัญญัติเเละเอากระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลใส่ไปในตัวบทให้มีโทษทางกฏหมายไม่ใช้เเค่โทษทางวินัย
ออกกฏหมายเเข่งขันทางการค้า เพราะการผูกขาดโดยรัฐเเละรัฐวิสาหกิจก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น 
กฏหมายที่ควบคุมโฆษณาของภาครัฐ ปกติการโฆษณาของภาครัฐในสื่อทำให้รัฐเข้าไปซื้อสื่อได้เเละก่อให้เกิดการปิดกั้นโดยรัฐบาล สื่อก็ไม่กล้าวิจารณ์รัฐบาล
สุดท้ายกฏหมายที่ลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ กฏหมายอำนวยความสะดวกโดยภาครัฐซึ่งปัจจุบันบรรจุวาระอยู่ใน สนช. เเล้ว
ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: จะลดคอร์รัปชั่นและพัฒนาประชาธิปไตย ทุกคนต้องเท่าเทียม
จากดัชนีการวัดการคอร์รัปชั่นขององค์การความโปร่งใสระหว่างประเทศ มีดัชนีชี้วัดสามตัวซึ่งสัมพันธ์กันคือการพัฒนาประชาธิปไตย การเติบโตทางเศรษฐกิจ เเละอัตราคอร์รัปชั่น กล่าวคือมีแนวคิดว่าถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งดีทุกอย่างก็จะดีตามกัน แต่สำหรับประเทศไทยสามอย่างนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน เช่นเเม้บางช่วงเวลาอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจจะดีขึ้น คอร์รัปชั่นก็ไม่ได้น้อย และในบางครั้งการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้นเเต่คอร์รัปชั่นก็ไม่ได้ลดลง
อาจสรุปได้ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความสัมพันธ์ตามเเนวคิดที่ว่า อย่างไรก็ตามการใช้ประชาธิปไตยลดคอร์รัปชั่น ในช่วงแรกอาจทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นสูงเพราะมีการกระจายอำนาจไปหลายกลุ่ม แต่เมื่อกระจายอำนาจไปสักพักจะคอร์รัปชั่นจะลดลงเพราะเกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งถ้าจะใช้ประชาธิปไตยแก้ไขคอร์รัปชั่นต้องใช้เวลา
เมื่อความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นการพัฒนาประชาธิปไตยเเละการลดคอร์รัปชั่นจะเป็นไปได้ยาก หากต้องการพัฒนาทั้งสองอย่างจะต้องทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เช่นที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็ทำให้ทุกคนเท่ากันมากขึ้น ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ชนชั้นกลางเเละชนชั้นล่างอยู่ในฐานะเเถบจะเท่ากัน ก็จะเกิดการเรียกร้องโดยที่ตนจะไม่ได้หรือเสียประโยชน์ ดังนั้นทุกคนพร้อมจะเรียกร้อง 
เปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส เน้นคนรุ่นใหม่ สร้างความเท่าเทียม
ส่วนการเเก้ปัญหาอีกทางหนึ่งคือ การเเก้ปัญหาเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสร้างกลไกที่ไม่โจมตีนักการเมืองโดยตรง เช่น การเปิดเผยข่าวสารสาธารณะ เพราะไม่ได้โจมตีตัวนักการเมืองโดยตรง เเละประชาชนจากทุกสีจะสามารถร่วมตรวจสอบกันได้ 
นอกจากนี้กลไกที่สำคัญในการเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นคือการสร้างความเท่าเทียมในสังคม เเละ การให้การศึกษาไปที่เน้นเปลี่ยนแปลงเด็กเเทนที่จะมาเปลี่ยนคนรุ่นเก่าซึ่งเปลี่ยนยาก
ประจักษ์ ก้องกีรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ทำลายคอร์รัปชั่นต้องสร้างประชาธิปไตย
การเลือกจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นก่อน หรือ สร้างประชาธิปไตยก่อน เป็นการตั้งที่โจทย์ผิด
การผูกขาดอำนาจนั้นเป็นตัวสร้างเเรงจูงใจในการคอร์รัปชั่น ทำให้ตำเเหน่งทางการเมืองมีมูลค่าเกินจริง เเละราคาต่ำ เป็นโครงสร้างรัฐเเบบอุปถัมภ์ อย่างไรก็ตามเราไม่อาจเเยกการเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นกับการสร้างประชาธิปไตยออกจากกันได้  โดยเฉพาะในประเทศไทย มีกลุ่มการเมืองที่เห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเเก้ไขมากกว่าการพัฒนาประชาธิปไตย ในขณะที่กลุ่มการเมืองตรงกันข้ามก็ชูการพัฒนาประชาธิปไตยจนละเลยปัญหาคอร์รัปชั่นไป
ซึ่งเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดเพราะส่วนใหญ่ตั้งว่าจะเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไร เป็นลำดับแรกโดยไม่สนวิธีการ ในขณะที่ความจริงเเล้วสังคมมีหลายปัญหา ดังนั้นการตั้งคำถามในทำนองนี้ทำให้เกิดวิธีคิดที่เราจะต้องเเก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นก่อนที่จะคิดถึงปัญหาอื่นๆ ทั้งที่ความจริงเราควรเเก้ปัญหาประชาธิปไตยเเละปัญหาคอร์รัปชั่นในเวลาเดียวกัน 
การสร้างประชาธิปไตยกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นมีโจทย์ร่วมกันคือการทำลายการผูกขาด ซึ่งเป็นศัตรูของประชาธิปไตย เพราะการผูกขาดอำนาจนำไปสู่การคอร์รัปชั่น ดังนั้นการผูกขาดอำนาจกับการคอร์รัปชั่นจึงเป็นขอคู่กัน
มีหลายประเทศที่น่าเอาเป็นแบบอย่างในด้านประชาธิปไตยและความโปร่งใส แต่คนไทยมักจะชอบสิงคโปร์ 
ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ได้มีเเต่ในระดับบุคคลแต่รวมไปถึงระดับโครงสร้าง คนไทยส่วนใหญ่เป็นสิงคโปร์ซินโดรม เห็นว่าสิงคโปร์เป็นภาพฝันในการพัฒนาต่างๆ ทั้งที่สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดี ในขณะที่มีหลายประเทศในโลกที่มีทั้งระบอบประชาธิปไตยที่ดีเเละมีทั้งความโปร่งใส แต่เราไม่เอาเป็นตัวอย่าง 
ประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทยที่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยไปพร้อมกับการเเก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ เเต่ก่อนประเทศอินโดนีเซียมีคะเเนนอัตราคอร์รัปชั่นรั้งท้าย เเต่ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียขยับนำหน้าประเทศไทยมากขึ้น ความสำเร็จของประเทศอินโดนีเซียเกิดจากเขาตั้งโจทย์ว่าต้องเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อสรุปปัจจัยความสำเร็จ ของการเเก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซียได้เเก่
1) องค์กรที่ตรวจสอบการคอร์รัปชั่นเป็นกลางเเละอิสระอย่างเเท้จริง ไม่ได้ดำเนินคดีเเต่กับเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น  เเต่รวมถึงผู้ใช้อำนาจสาธารณะเช่น ผู้พิพากษา ตำรวจ เป็นต้น
2)  มีสื่อสารมวลชนที่มีการประชาสัมพันธ์องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
3)  มีการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน
4)  ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วม
5)  สุดท้ายความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเอื้อให้เกิดการเเก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ