คุยกับชัชวาลย์ ทองดีเลิศ “เด็กบนดอยไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกับเด็กกรุงเทพฯ”

“พอได้ยินคำว่าห้องเรียน ทำให้นึกไปถึงห้องสี่เหลี่ยมในอาคารใหญ่โต มีเก้าอี้นั่งสำหรับนักเรียน นักศึกษา เป็นแถว ห้องละ 40-50 คน มีครูยืนอยู่หน้าห้อง พร่ำสอนตามตำราเนื้อหาวิชาในหนังสือ ผู้เรียนจงเพียรอ่านเขียนท่องจำทำการบ้าน จบลงด้วยการสอบให้ผ่านเป็นชั้นๆ ไป จบแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำงานธนาคารหรือบริษัท จะได้นั่งกินนอนกิน” คำกล่าวของต้นมาจากหนังสือ “ห้องเรียนมีชีวิต” ของ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ที่สะท้อนถึงภาพรวมของสังคมไทยที่มีมุมมองต่อการศึกษาในความหมายที่แคบ คือการศึกษาเป็นเพียงการไปโรงเรียนหรือการเรียนหนังสือเท่านั้น
iLaw สนทนากับ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ในด้านการศึกษาชัชวาลย์เป็นครูการศึกษาทางเลือกที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก เพื่อทำความเข้าใจการศึกษาให้มากกว่าแค่ในห้องเรียน นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดเชียงใหม่จัดการตนเอง เราชวน ชัชวาลย์เปิดบทสนทนาเพื่อให้เห็นการศึกษาในความหมายที่กว้างขึ้น โดยเริ่มจากคำถามที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด 
 
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ (ดัดแปลงภาพจาก ประชาไท)
 
 
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเกิดขึ้นได้อย่างไร?
อย่างแรก โฮงเฮียนเกิดขึ้นจากการที่สังคมไทยกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการละทิ้งความรู้เดิม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่เคยใช้แก้ไขปัญหาในอดีต ตัวอย่างเมื่อตอนที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีคำถามเกิดขึ้นว่าเราตามก้นฝรั่งมากเกินไป ดังนั้นทำยังไงจะไม่ตามก้นฝรั่งและยืนอย่างเข้มแข็งด้วยตนเองได้ นั่นก็คือการกลับไปหาภูมิปัญญาเดิมที่เราละทิ้งไป เพราะเดิมสังคมไทยมีองค์ความรู้ ภูมิปัญญา หลักธรรมแห่งศาสนาและวัฒนธรรม อันเป็นทุนทางสังคมอยู่มากมาย ที่สามารถทำให้สังคมผ่านวิกฤติการณ์มาได้โดยตลอด
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ในปี 2539 มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 700 ปี ซึ่งมีส่วนสำคัญให้เกิดกระแสการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดงาน “สืบสานล้านนา” ซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่ด้านศิลปวัฒนธรรม ในงานมีการสาธิตนำเสนอภูมิปัญญาล้านนาของชุมชนต่างๆ มีการจัดกิจกรรมหลากหลายในงานสืบสานล้านนา มีเด็กจำนวนมากให้ความสนใจ และสอบถามว่า “ถ้าอยากเรียนต่อต้องไปที่ไหน” นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จุดประการให้เราคิดตั้งโฮงเฮียนฯ และพ่อครูแม่ครูก็ปรึกษากันว่าท่านใดพอมีเวลาที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กที่อยากจะมาสืบสานภูมิปัญญาล้านนาบ้าง จนในที่สุดก็ตั้งโฮงเฮียนฯ เมื่อปี 2543 
การเรียนการสอนในโฮงเฮียนสืบสานฯ เป็นอย่างไร?
ผู้สอนที่โฮงเฮียนสืบสานฯ คือชาวบ้านในระดับชุมชน ท้องถิ่น ที่มีองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ เป็นปราชญ์ประจำท้องถิ่น ประจำวัด โดยจะเรียกผู้สอนเหล่านี้ว่าพ่อครู แม่ครู รับสมัครเด็กและเยาวชนมาเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละคน วิชาที่เปิดสอน ได้แก่ กลุ่มวิชาดนตรีพื้นบ้าน กลุ่มวิชาฟ้อนพื้นเมือง กลุ่มวิชาเครื่องสักการะล้านนา กลุ่มวิชาศิลปกรรม กลุ่มวิชาภาษาและวรรณกรรมล้านนา เป็นต้น (ดูรายละเอียดหลักสูตร) โดยหลักสูตรจะแบ่งเป็นสามขั้น ได้แก่ ขั้นพื้นฐานคือ เรียนเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาตนเอง ขั้นกลางคือ สามารถนำภูมิปัญญาไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ ขั้นสุดท้ายคือ เรียนเพื่อเป็นครูภูมิปัญญารุ่นใหม่ที่สามารถนำความรู้ไปสืบทอดให้กับรุ่นต่อไปได้
นอกจากการเรียนการสอนที่โฮงเฮียนสืบสานฯ โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วไปยังขอให้โฮงเฮียนฯ ช่วยส่งครูภูมิปัญญาไปช่วยถ่ายทอดความรู้ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน บ้างครั้งโฮงเฮียนสืบสานฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครูจะพานักเรียนมาทัศนศึกษา หรือในช่วงปิดเทอมก็จะมีกิจกรรมจัดค่ายเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ซึมซับภูมิปัญญาจากการเล่น การฟัง โดยมีพ่อครู แม่ครูและพี่เลี้ยงจากกลุ่มเยาวชนสืบสานช่วยดูแล 
สำหรับการวัดผล วัดจากผู้ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนั้นๆ เมื่อเรียนเสร็จแล้วต้อง “ทำเป็นปฏิบัติได้” โดยพ่อครู แม่ครูจะเป็นผู้ประเมินว่าให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่านแล้วโฮงเฮียนก็จะมีใบประกาศว่าได้ผ่านหลักสูตรนั่นมาแล้ว
 
 
ประโยชน์ของการเรียนแบบโฮงเฮียนสืบสานฯ?
ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง มีกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์ การศึกษาในระบบโรงเรียนปัจจุบันทำให้ความรู้ ความคิด ความอ่าน ของผู้ผ่านการเรียนการสอนในระบบศึกษาอ่อนแอในการสร้างสรรค์งานที่จะพึ่งตนเองได้ ไม่สามารถแปลงความรู้ที่มีอยู่มากินมาใช้ได้โดยตรง เด็กไม่สามารถเรียนรู้ตนเอง ถูกตัดขาดจากชุมชน และเป็นคนที่กำพร้าทางวัฒนธรรม 
การเรียนการสอนที่โฮงเฮียนสืบสานฯ มีหลักคิดคือ หนึ่งการเคารพธรรมชาติ สองมีความรักความเมตตาและเคารพเพื่อนมนุษย์ สามการมีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งทั้งหมดหมายถึงการเคารพความหลากหลาย เพราะสังคมเราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เด็กจะได้เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง เรียนรู้ความเป็นสากลที่ดีแล้วนำมาประยุกต์ใช้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้รากเหง้าของเด็กและชุมชนเข้มแข็งขึ้นและจะเป็นพลังในการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมเราสามารถเผชิญหน้าโลกาภิวัฒน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
ดังนั้น เราจะแฝงหลักการเหล่านี้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น เพื่อให้เห็นความแตกต่างหลากหลายการเรียนฟ้อนพื้นเมืองเด็กก็จะได้เรียนฟ้อนของไทลื้อ ฟ้อนของไทใหญ่ ฯลฯ หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่เด็กก็จะได้เรียนรู้กลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่มีส่วนทำให้เกิดเมืองเชียงใหม่ขึ้น หรือบ้างครั้งจะมีการพาไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านปกากะญอ หมู่บ้านชาวลื้อ เป็นต้น
ดูเหมือนการเล่าถึงของดีของโรงเรียนทางเลือกของ ชัชวาลย์ จะทำให้เราเริ่มเห็นข้อเสียบางอย่างของโรงเรียนในระบบ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การศึกษาปัจจุบันผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานการศึกษาทางเลือกจะอยู่อย่างไรก็แนวทางนี้? แล้วถ้าการศึกษาทางเลือกสำเร็จส่วนกลางจะมีบทบาทอะไร?
 
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง
การศึกษาทางเลือกจะส่งผลต่อแนวทางการพัฒนาของประเทศไหม? 
ย้อนกลับไปยุคแรกก่อนประเทศไทยมีระบบการศึกษาสมัยใหม่ การเรียนการสอนจะอยู่กับชุมชนและครอบครัว เมื่อเรียนเสร็จแล้วสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ทันที ต่อมาการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดการเรียนเพื่อผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการ เพื่อให้เป็น “เจ้าคน นายคน” นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่เริ่มเมื่อปี 2504 การผลิตคนก็เน้นเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และระบบแรงงานนี้เองที่ดึงเด็กจำนวนมากออกจากชุมชน ทำให้การกลับไปชีวิตในชุมชนยากขึ้น
การศึกษาปัจจุบันสอนให้เด็กท่องจำแต่ทำไม่เป็น การศึกษารวมศูนย์ทำให้หลักสูตรมีหลักสูตรเดียว คุณภาพการศึกษาต่ำ ทั้งที่พื้นฐานความต้องการของแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนแตกต่างกัน เด็กบนดอยไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกับเด็กกรุงเทพฯ การศึกษาต้องเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง พัฒนาตามศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างพลเมือง สร้างสังคม ไม่ใช่เรียนไปเพื่อรับใช้ตลาดอย่างเดียว เด็กควรจะมีสิทธิเลือกการศึกษาที่หลากหลายแต่ตอนนี้ทำไม่ได้เพราะรัฐผูกขาดการสร้างการศึกษา
การศึกษาในระบบปัจจุบัน เด็กที่จบปริญญาตรีตกงานจำนวนมาก เพราะระบบราชการก็เปิดรับจำกัด ตลาดแรงงานเศรษฐกิจก็อยู่ในช่วงขาลง ประเทศไทยมีบัณฑิตจบใหม่ประมาณห้าแสนถึงหกแสนคนต่อปี พวกเขาเรียนจบมาแล้วต้องเข้าตลาดแรงงาน ถ้าไม่มีงานให้ทำแล้วพวกเขาจะไปไหน? จะกลับบ้านทำนา ทำไร่ ทำสวนก็ทำไม่เป็นแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องเปลี่ยน 
สถานการณ์ขณะนี้เราไม่มีหลักประกันว่าคนที่เรียนจบมาจะมีงานทำ เพราะฉะนั้นควรจะต้องปรับให้มีการศึกษาที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามหากจะต้องผลิตคนเข้าสู่ระบบแรงงานก็ทำแต่ต้องให้เป็นเพียงทางเลือก ดังนั้นใครอยากเป็นเจ้าอาวาส อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากเป็นเกษตรกร ก็ต้องมีสิทธิเลือกที่จะเป็นได้
ถ้ามีการศึกษาทางเลือกที่ดี แล้วยังต้องมีระบบกลางอยู่ไหม? 
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนในสังกัดประมาณ 30,000 โรงเรียน ผลการสอบโอเน็ตเด็กตกเกือบหมด มีโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จะถูกยุบ นั่นแสดงถึงความเหลี่อมล้ำในการจัดการศึกษาที่สูงมาก จัดอันดับออกมาก็อยู่รั้งท้ายของอาเซียน ใช้งบประมาณสูง ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนจะต้องถูกยุบแล้ว ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรทำหน้าที่ในด้านสนับสนุนนวัตกรรม งานวิจัย ส่งเสริมนโยบายเท่านั้น ส่วนการจัดการศึกษาให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ชุมชน วัด เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เพราะในแต่ละพื้นที่เขาต้องการคุณภาพไม่เหมือนกัน
ชัชวาลย์ ให้ภาพของความล้มเหลวจากการศึกษาที่รวมศูนย์ แต่ว่าใครจะปฏิรูป? และเราจะปฏิรูปอย่างไร?
เราจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร?
การปฏิรูปการศึกษาต้องไม่ยกกระบวนการปฏิรูปทั้งหมดไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องลดการรวมศูนย์การบริหาร ทุกภาคส่วนต้องลุกขึ้นมาจัดการการศึกษาของตนเอง แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายการศึกษาที่ดีและท้องถิ่นมีความพร้อม แต่ติดปัญหาทัศนคติของกระทรวงฯ ที่ไม่เข้าใจการศึกษาทางเลือก มองว่าโรงเรียนที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้วจะตั้งเพิ่มทำไม ทำให้การออกกฎกระทรวงที่จะรับรองการศึกษาทางเลือกประเภทต่างๆ ล่าช้า 
ดังนั้นภาคประชาสังคมต้องช่วยกันกดดันรัฐ เพื่อให้อุปสรรคค่อยค่อยปลดล็อกและเปิดขึ้น ตัวอย่างที่ผ่านมาในปี 2557 ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล เพิ่มขึ้นเป็น 500 แห่ง นอกจากนี้ชุมชนหลายแห่งเริ่มขยับตัว ต้องปล่อยให้ชุมชนค่อยๆ ทำไปเรียนรู้ไป
ชัชวาลย์ฉายให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่การที่เราต้องรอคนดีหรือเทวดาจากไหนมาประทานให้ หากเพียงแต่การปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้จะต้องเกิดจากตัวเรา ชุมชุนของเราเป็นสำคัญ 
สุดท้ายหากเราจะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของปฏิรูปการศึกษา เราต้องเชื่อมันว่า การเรียนรู้มิได้เพียงอยู่ในตำราเท่านั้น ความรู้มีอยู่ในตัวคนทุกคน การเรียนจึงเกิดได้ในทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ยอดดอยสูงลงมาสู่พื้นราบลุ่ม จนถึงชายฝั่งทะเล การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเรียนรู้สามารถมีได้ตลอดชีวิต ดังนั้นไม่ควรให้ใครมาจัดการศึกษาให้เรา หรือสังคมเราแต่ถ่ายเดียว