ร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ข้าราชการดูแลการผลิตสื่อส่งเสริมพฤติกรรมเด็ก

พระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกฎหมายที่เคยนำมาพิจารณาในสภาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยขณะนั้นทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ ของคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์, น.ส.สุนทรี ชัยวิรัตนะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยกับคณะ, นางผุสดี ตามไท ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์กับคณะ และ น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 12,046 คน แต่ภายหลังรัฐประหารกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ถูกพับไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสนอให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
หลักการและเหตุผลของ พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 
ให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เพราะปัจจุบันสื่อมีอิทธิผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็ก และสื่อที่ทำหน้าที่ได้ดีมีจำนวนน้อย ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นานา ทำให้ไม่สามารถผลิตสื่อที่มีคุณภาพได้ จึงสมควรจะจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นแหล่งทุนในการดำเนินการผลิตสื่อที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนและพฤติกรรมที่ดีของเด็ก
นิยามศัพท์
สื่อ หมายถึง สิ่งที่ทำให้ปรากฎด้วยอักษร เครื่องหมาย ภาพ หรือเสียง ไม่ว่าจะได้จัดทำในรูปแบบของเอกสาร สิ่งพิมพ์ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี รูปภาพ ภาพโฆษณา รูปถ่าย ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ การแสดง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือได้จัดทำในรูปแบบอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 3 วรรค 2)
สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หมายถึง สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคีและใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างมีความสุข (มาตรา 3 วรรค 3)
หมวดที่ 1 การจัดตั้งกองทุน 
กองทุนดังกล่าวเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ รณรงค์ ส่งเสริม ทำวิจัย ฝึกอบรม การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อ พัฒนาบุคคลกรและผู้ประกอบการ รวมถึงพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อพัฒนาสื่อให้รู้เท่าทันและระมัดระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย (มาตรา 5) ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 10)
รายได้ของกองทุนดังกล่าวมาจาก การจัดสรรเงินของ กสทช. เงินจากค่าปรับผู้ได้รับการลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของนักแสดง เงินที่มาจากการบริจาค เงินที่ได้จากต่างประเทศหรือองค์กรต่างประเทศ เงินที่ได้จากค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการจัดการเงินกองทุน (มาตรา 6)
หมวดที่ 2 การบริหารกิจการกองทุน 
การบริหารกิจการกองทุนนั้นจะมีคณะกรรมการที่เรียกว่า คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (มาตรา14) 
ซึ่งประกอบไปด้วย 
(1) นายกรัฐมนตรี 
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 
(3) กรรมการโดยตำแหน่งที่มาจาก ปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงเทคโนโลยีฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ เลขา กสทช.
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเจ็ดคน ที่มาจากการสรรหาผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน สุขภาพจิต ด้านละหนึ่งคน และด้านสื่อสารมวลชนอีกสองคน
การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กำหนด ซึ่งการดำรงตำแหน่งจะมีวาระสามปี หากพ้นจากตำแหน่งก่อนให้สรรหามาใหม่แต่อยู่ได้เท่าวาระของผู้ที่ถูกแทน ทั้งนี้ผู้ที่เคยได้รับตำแหน่งจะอยู่ต่อได้ แต่ต้องไม่เกิน 2 วาระ (มาตรา 16)
หน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และมีอำนาจในการ กำหนดนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสื่อ สามารถออกประกาศกำหนดลักษณะของ สื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ กำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังสื่อ กำหนดมาตรการร่วมระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาสื่อ ร่วมถึงให้ความเห็นชอบต่อแผนการดำเนินงานและออกข้อบังคับต่างๆในองค์กร (มาตรา 18)
ให้มีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ที่ประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสี่คน โดยเป็นการแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในด้านการเงิน กฎหมาย และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งคน และผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เป็นอนุกรรมการ และผู้จัดการจะมาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ 
คณะอนุกรรมการทำหน้าที่ ควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับ พิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากกองทุน ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ระดมเงินทุน และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงาน (มาตรา 20)
สำนักงานกองทุน มีอำนาจหน้าที่ รับผิดชอบงานธุรการ เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณ ให้คำแนะนำผู้ประกอบอาชีพในการผลิตสื่อ ให้สามารถผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำบัญชีและรายงานผลการปฎิบัติงาน (มาตรา 22)
หมวดที่ 3 การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน 
ให้มีคณะกรรมการจำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหกคน ที่รัฐมนตรีที่รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้เป็นคนแต่งตั้ง และกำหนดว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลจำนวนสองคน (มาตรา 31)
คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ ประเมินผลด้านนโยบายและกำหนดกิจกรรมของกองทุน ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงาน และรายงานผลการปฎิบัติงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกปี (มาตรา 32)
บทเฉพาะกาล
ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการตามมาตรา 14 (1) (2) (3) โดยให้รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ปลัดกระทรวงมอบหมายเป็นกรรมการและผู้จัดการ ปฎิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 14 (4) แต่ต้องไม่เกิน 120 วันตั้งแต่กฎหมายหมายนี้ประกาศใช้ (มาตรา 34)
 
 
 
 
ไฟล์แนบ