ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ‘ขุดของเก่ามาเน่าใหม่’

ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ไม่ใช่ร่างกฎหมายใหม่ที่เพิ่งถูกเสนอขึ้นมาใหม่ในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 แต่เป็นร่างกฎหมายที่ทั้งฝ่ายภาครัฐและภาคประชาชนเคยพยายามเสนอกันมานานแล้ว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในปี พ.ศ. 2550 ต่อมาได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาพิจารณาแก้ไขและส่งให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. … ร่างของรัฐบาลค้างการพิจารณาอยู่ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 255ุ6 และร่างกฎหมายก็เป็นอันตกไป
ขณะที่ภาคประชาชนนำโดยเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เห็นว่าร่างฉบับที่ พม. เสนอนั้นยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะคำนิยาม ที่เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ด้วยเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ 
เครือข่ายภาคประชาชนจึงรวมตัวกันศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นจากองค์กรต่างๆ และจัดทำร่างกฎหมายฉบับประชาชนขึ้นมาใช้ชื่อว่า “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ….” จากนั้นรวบรวมรายชื่อประชาชน 14,994 รายชื่อ เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ร่างของประชาชนอยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และร่างกฎหมายก็เป็นอันตกไป
หากไม่มีการยุบสภา ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ…. ที่เสนอผ่านคณะรัฐมนตรี และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. … ที่เสนอโดยประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญคล้ายกัน จะถูกนำมาพิจารณารวมกันเพื่อผสมผสานหลักการต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการอย่างน้อย 1 ใน 3 
คณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งในปี 2557 ไม่ปล่อยให้ความพยายามที่ผ่านมาสูญเปล่า หยิบกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช. แต่หยิบเพียงร่างฉบับที่เสนอโดยครม.ในปี 2550 ขึ้นมาเท่านั้น ส่วนร่างฉบับที่ประชาชนเสนอ ดูเหมือนจะถูกลืมเลือนไปโดยสมบูรณ์พร้อมกับการยุบสภา
ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่กำลังรอการพิจารณาอยู่นี้ ถูกวิจารณ์อย่างหนักในมาตรา 3 บทนิยาม คำว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ”
“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอัยเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
การกำหนดข้อยกเว้น “ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ” เช่นนี้ หมายความว่า ทุกคนสามารถยกเหตุผลเหล่านี้มาอ้างเพื่อให้การกระทำใดๆ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามกฎหมายนี้ได้ ซึ่งข้อยกเว้นเหล่านี้ล้วนเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำละเมิดต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน และเหตุต่างๆ ล้วนเป็นคำที่มีความหมายกว้าง สามารถตีความได้หลากหลาย การกำหนดไว้เช่นนี้อาจทำให้การเลือกปฏิบัติเกือบทุกประเภทสามารถตีความให้เข้าข้อยกเว้นได้หมด จนกฎหมายฉบับนี้แทบไม่มีโอกาสนำมาใช้ได้จริงเลย
นอกจากประเด็นบทนิยามที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอย่างมากแล้ว ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. … ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช. มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
ให้มี คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) หรือ “คณะกรรมการ วลพ.” ทำหน้าที่วินิจฉัยคำร้องเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งบุคคลที่เห็นว่าตนเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องให้วินิจฉัยได้โดยตรง
 
เมื่อวินิจฉัยแล้ว คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือบุคคล ดำเนินการตามที่เหมาะสมเพื่อระงับและป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
 
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คณะกรรมการ วลพ. ให้มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท โดยคณะกรรมการ วลพ. อาจใช้อำนาจเปรียบเทียบปรับอย่างเดียวก็ได้
 
หากกรณีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เกิดจากกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการ วลพ. ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ผู้เสียหายที่ร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. แล้วอาจฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายอีกก็ได้ โดยศาลอาจกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษให้สูงเป็นพิเศษ แต่ไม่เกินสี่เท่าของความเสียหายจริงก็ได้
 
นอกจากประเด็นที่กล่าวมาแล้ว ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกว่ามีข้ออ่อนต่างจากร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ คือ เน้นไปที่แนวทางการคุ้มครองและการลงโทษ แต่ไม่มีแนวทางที่จะส่งเสริมโอกาสให้เกิดความเสมอภาคขึ้น หรือไม่มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น
ไฟล์แนบ