97/2557 : ประชาชนอีสแฮปปี้เมื่อพี่เบิ้มขอให้งดพูด

“ขอโทษด้วยนะ ผมต้องยึดอำนาจ”

ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจพูดประโยคนี้ หลังจากนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ยืนกรานแล้วว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี นาทีนั้นประเทศไทยได้ทำสถิติการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์

การรัฐประหารดำเนินการอย่างรวดเร็ว โทรทัศน์และวิทยุ สื่อหลักของประชาชนส่วนใหญ่ถูกปิดชั่วคราว มีเพียงโลโก้ประจำคณะผู้ปกครองคนล่าสุดและเพลงปลุกใจ? สลับกับประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทยอยออกมาเพื่อสนับสนุนอำนาจการบริหารจัดการนับร้อยฉบับ วันต่อมาเริ่มมีรายงานข่าวอย่างสม่ำสมอว่า ประชาชนเริ่มมีความสุขหลังการรัฐประหาร 

ดูเหมือนสื่อจะพร้อมใจกันพูดว่า ทุกคนมีความสุขมากขึ้นจริงๆ  แม้มีสถิติการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ถึง 582 คน พร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยหนึ่งในนั้นคือนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน ที่ได้ตัดสินใจหยุดพิมพ์นิตยสารฟ้าเดียวกันเมื่อถูกเพ่งเล็งหลังการรัฐประหาร ซึ่งต่อมาเขาได้รับเชิญไปดื่มกาแฟก่อนถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติเป็นครั้งที่สอง 
 

การเมืองไม่ปกติ ยกเลิกประกวดวรรณกรรมพานแว่นฟ้า!

2 กรกฎาคม 2557 
การเมืองยังระส่ำระสายรุนแรง คณะกรรมการพานแว่นฟ้าเห็นควรประกาศยกเลิกการประกวดวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวี ของ "รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย"   เหตุการณ์นี้ทำให้คนในวงการวรรณกรรมไทยต้องเสียกระบอกเสียงสำคัญอีกหนึ่งช่องทางในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เมื่อถามถึงเรื่องนี้กับ “วิกรานต์ ปอแก้ว” หนึ่งในนักเขียนผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าในปีนี้

 “ผมรู้สึกเสียดายมากๆ ความเสียดายของผมแบ่งได้เป็นสองด้านนะ ด้านแรกต้องยอมรับว่าเสียดายที่พลาดส่งผลงานเข้าประกวดทั้งที่ผลงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว และปีก่อนได้เข้าถึงรอบสุดท้ายของรางวัลเรื่องสั้น พบว่าเป็นเวทีที่มีผลงานเข้าร่วมประกวดเข้มข้น และหลากหลายมาก ความเสียดายอีกด้าน คือ ในแง่นักอ่าน ผมเสียดายที่ไม่ได้อ่านเรื่องสั้น และบทกวีที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมือง ซึ่งถ้ายังมีการประกวดอยู่ รางวัลพานแว่นฟ้าปีนี้จะเป็นปีที่อยู่ท่ามกลางภาวะขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ความขัดแย้งนั้นไปจนถึงจุดแตกหักแล้วด้วยซ้ำ ผมคิดว่าผลงานที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศหรือแม้แต่เรื่องที่ผ่านเข้ารอบจะเข้มข้นกว่าปีก่อนแน่นอน”

97/2557 พี่เบิ้มมาแล้ว!

 

18 กรกฎาคม 255
คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศที่ทำให้สิทธิและเสียงของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนต้องดับดิ้นไปราวกับหลุดออกมาจากนวนิยายของจอร์จ ออเวลล์ ประกาศฉบับที่ 97/2557 ว่าด้วยเรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ มีใจความสำคัญ คือ การห้ามแสดงความคิดเห็น และห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช.และหากพบว่า ‘บุคคลใด’ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อพิมพ์โดยทันที 

เท่ากับว่าคสช.มีอำนาจปิดกิจการสื่อมวลชนได้ตลอดเวลา แม้ว่าโฆษกของคสช.จะออกมาอธิบายว่าประกาศฉบับนี้เป็นการรวมประกาศฉบับที่ 14 และ 18 ไว้เท่านั้นเอง แต่นั่นมิได้อธิบายรวมถึงการคุกคามการแสดงความคิดเห็น’รายบุคคล’ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตตามฉบับที่ 97 ระบุไว้

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียน-นักแปล และทำนิตยสารในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้คลุกคลีเห็นบรรยากาศในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ให้ความเห็นถึงผลกระทบจากประกาศฉบับที่ 97/2557 ไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

 “ผมเห็นว่าบ้านเมืองเราเข้าสู่ระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบแล้ว คือไม่ว่าฝ่ายไหนจะปกครอง ที่มันเป็นเรื่องตลกร้ายก็คือคุณบอกว่าใช้วิธีการนี้เพื่อคืนความสุขให้คนไทย และต่อให้ไม่ออกกฎห้ามวิพากษ์วิจารณ์บ้านเราก็มีกฎหมายบางอย่างที่มันค้ำไม่ให้เราแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ฉะนั้นการออกกฎควบคุมสื่อมวลชนไม่ให้แสดงความคิดเห็นมันรุนแรงมากเลยนะ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่เราไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารได้ เขาจะทำอะไร จับใคร ลงโทษใคร เราจะรู้ได้ยังไงว่าอำนาจนั้นมันถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน เราไม่มีทางรู้หรอก และนอกเหนือจากประเด็นนี้ การออกประกาศฉบับที่ 97 นี้ ก็ยิ่งสะท้อนทัศนคติจากเขาถึงเราว่าไม่ต้องคิดเยอะ บ้านเมืองจะได้สงบสุข– ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้านะ”

  

ขณะที่วิกรานต์ ก็มีมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบจากการออกประกาศฉบับนี้ไว้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กันว่า ”อันนี้บอกตามตรงเลยนะว่าเป็นความเห็นที่ส่วนตัวสุดๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบค่อนข้างมากและรุนแรงเลยล่ะ เห็นได้ชัดคงเป็นการที่หนังสือหลายเล่มถูกมองกลายๆ ว่าตัวแทนของการต่อต้าน คือพูดไปก็ฟังตลกนะ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วที่บ้านเราในปี ค.ศ.2014 (ต่างจาก 1984 ตั้ง 30 ปี) หนังสือบางเล่มอย่าง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่พยายามต่อต้านอย่างสงบ เน้นว่าอย่างสงบนะครับ

 

ส่วนต่อมาคงเป็นในแง่ของสื่อมวลชนกระแสหลักของประเทศ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำมานานแล้วนะ นับตั้งแต่เริ่มมีความขัดแย้งทางความคิด ทางการเมือง เข้าใจว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากการควบคุมสื่อตามที่คนมีอำนาจต้องการ รวมถึงการแยกข้างอย่างชัดเจน การนำเสนอข้อมูลข่าวสารจึงไม่ค่อยรอบด้านเท่าที่ควร ตัวผมเองก็ไม่เคยคิดพึ่งพาข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักสักเท่าไหร่

ทุกวันนี้ผมเองเลือกอ่านข่าวจากเฟซบุ๊ก และยอมรับตามตรงเลยว่าส่วนใหญ่ติดตามข้อมูล New feed ที่หลายคนแชร์ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งพูดถึงเรื่องราวในประเทศเราเอง (ฟังแล้วตลกดี) และกลายเป็นว่าแหล่งข่าวนั้นน่าเชื่อถือว่าสื่อมวลชนในประเทศอีก โดยเฉพาะวันที่เกิดรัฐประหารผมทำงานอยู่ต่างจังหวัด เข้าใจว่าสื่อทุกช่องโดนยุติการออกอากาศทั้งหมด พอกลับมาถึงโรงแรมก็นั่งดูข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศทั้งบีบีซี ซีเอ็นเอ็น อัลจาซีร่า ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวเป็นภาษาต่างประเทศแต่ภาพเหตุการณ์มันเกิดอยู่ใกล้บ้านเรา นั่นทำให้รู้สึกถึงความน่ากลัวบางอย่างที่จะค่อยๆ ปกคลุมบ้านเมืองเราไปอีกหลายปี"

 

จิรัฎฐ์ยังได้เสริมประเด็นนี้ไว้อีกว่า "ช่วงแรกๆ ข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับหันไปเล่นข่าวอื่นแทนข่าวการเมือง ทั้งข่าวดาราเลิกกับสามีแล้วเดินทางไปต่างประเทศ ข่าวดาราทำนม ข่าวอาชญากรรมอื่นๆ ในประเทศ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง รวมทั้งข่าวความขัดแย้งในต่างประเทศ ฯลฯ เพราะเราพูดเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ต้องหันไปพูดเรื่องอื่นแทน ทั้งๆ ที่ความจริงประเด็นข่าวที่เราต้องถกกันคือประเด็นที่มันอยู่ปลายจมูกเราชัดๆ โดยเฉพาะข่าวที่สื่อมวลชนไปทำข่าวความขัดแย้งทางการเมืองต่างประเทศ แต่เรากลับพูดถึงประเด็นความขัดแย้งในประเทศของเราไม่ได้ พูดได้ก็แค่ประเด็นพื้นผิว

เราแสดงความคิดเห็นไปยังใจกลางของปัญหาไม่ได้ ไหนจะที่ คสช. ยกเลิกการเสวนาวิชาการในสถานศึกษาหลายแห่ง สื่อกระแสหลักในบ้านเรายังเลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่งานเสวนาหลายงานก็ไม่ใช่ประเด็นการวิพากษ์ คสช. โดยตรง แถมยังออกมาบอกว่าคสช.ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการหรอก ยังจัดได้เหมือนเดิม แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง …ตลกดีนะ แต่เราทำความเข้าใจได้ เพราะเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ต้องมองอะไรเป็นมิติเดียว เบลอความคิดเห็นที่หลากหลายให้เหลือเพียงสีเดียว แล้วก็พยายามลบมันให้หมด มันทำลายตรรกะทุกอย่าง เราเถียงไปก็เปล่าประโยชน์ แต่ความจริง สิ่งนี้มันจะสุมไฟต่อความคับแค้นให้กับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ความพยายามที่จะทำให้บ้านเมืองเราดูสงบสุขที่สุด โดยใช้ปืนปิดปากกลุ่มคนที่เห็นต่าง มันไม่มีทางยั่งยืนได้ตลอดไป มันเหมือนฉากบิลบอร์ดรูปอาคารสวยๆ ที่ถูก Print เพื่อให้คนมาถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นั่นแหละ มันเป็นแค่รูปของอาคาร แต่ไม่ใช่สถาปัตยกรรม มองไกลๆ ก็สวยดีหรอก แต่พอดูใกล้ๆ เราจะพบว่าหมึกพิมพ์บนพื้นผิวมันแตกกระจาย โครงสร้างก็ไม่มี วางอยู่บนฐานมิติเดียว คุณจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไรด้วยรูปแบบนั้น คุณจะทำให้คนเราสามัคคีกันได้ยังไง ถ้าไม่คิดที่จะทำความเข้าใจ

 

ไม่นานหลังออกประกาศฉบับดังกล่าวก็ดูเหมือนว่าความหวังการรับรู้ข้อมูลข่าวสารยังพอมีอยู่บ้าง เมื่อสมาคมนักข่าวฯ ได้ออกมาแถลงถึงความกังวลที่มีต่อประกาศฉบับที่ 97 จนทำให้คสช.ตัดสินใจแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวไว้ในประกาศฉบับที่ 103/2557 มีใจความว่ายังคงต้องคุมเข้มกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์โดยตั้งใจทำลายความน่าเชื่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และยกเลิกการลงโทษซึ่งเดิมที่มีสิทธิสั่งปิดหรือยุติกิจการได้ทันที เป็นการพิจารณาส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการสอบสวนจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพแทน  

และเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 108/2557 ตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม โผไปตกอยู่กับหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ตีพิมพ์ข้อมูลอันเป็นเท็จและมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งยังอ้างอิงความผิดตามประกาศฉบับที่ 97 ไว้เหมือนเดิม  โดยจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสื่อในเครือ ASTVผู้จัดการ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงวิงวอนว่าอย่ารังแกกันมากเกินไป พร้อมประกาศยุติการ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ไว้ชั่วคราว ก่อนจะกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

งานหนังสือคนเยอะแค่ไหน ฉันจะตามไปดูแลเธอเสมอ

ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดสำหรับเผยแพร่บนเว็บไซต์ ซึ่งอยู่ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือพอดิบพอดี ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้โพสต์ข้อความหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรุกล้ำพื้นที่การแสดงออกในวงการวรรณกรรมยังปรากฎชัดอยู่ เมื่อทหารได้ติดต่อไปยังสำนักพิมพ์ ให้ลบสเตตัสและรูปภาพการจัดกิจกรรมพบนักเขียน "ประจักษ์ ก้องกีรติ" ออกไปด้วยเหตุผลว่า 'รู้สึกไม่สบายใจ'

 

ต่อมาทหารได้ประสานงานไปถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ขอความร่วมมือให้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันงดจำหน่ายเสื้อยืดทั้งสามแบบชั่วคราว เพื่อนำไปพิจารณาว่ากระทบกับมาตรา 112 หรือไม่ โดยเสื้อยืดนั้นมีรูปหนึ่งเป็นรูปไดโนเสาร์ ปรากฏข้อความ THE LOST WORLD โลกหลงสำรวจ ประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ เสื้ออีกตัวหนึ่งเป็นรูปต้นไม้บนโลกซึ่งเป็นลวดลายข้อความว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนอีกตัวหนึ่ง เป็นภาพอีโมติคอนชื่อดัง "คุณซาบซึ้ง" ที่ปากเป็นซิปถูกรูดปิดอยู่ ด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า Be grateful and shut up! ขณะที่นายจรัญ หอมเทียนทองได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า ตนได้ชี้แจงกับนายทหารและนายตำรวจทั้งสี่ว่า ในฐานะผู้จัดงาน ตนไม่มีสิทธิไปพิพากษาใคร และเห็นว่าคนทำหนังสือเขาก็มีเสรีภาพ มีวิจารณญานในการตัดสินว่าเขาจะออกบูธอะไร ผู้จัดจะไม่ยุ่งกับเนื้อหา 
แม้ภาพของการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน โดยเฉพาะในวงการสิ่งพิมพ์ ไม่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก เหมือนเช่นการบุกยึดแท่นพิมพ์ หรือการเผาหนังสือเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ขณะเดียวกันบรรยากาศของการปิดกั้นและการกดทับซึ่งความคิดเห็นที่หลากหลาย ก็สร้างความอึดอัดที่สะสมในระยะยาว จนชวนให้จินตนาการว่า ในวันที่อำนาจของรัฐบาลทหารหมดลง บรรยากาศทางการเมืองปรับเปลี่ยนไป สื่อมวลชนต่างๆ จะใช้สิทธิเสรีภาพระบายความอึดอัดที่สะสมมายาวนานนั้นออกมาในรูปลักษณะเช่นใด
ไม่มีใครรู้

กัญญาณี | เขียน