ห้องเวรชี้ : อุตสาหกรรมยุติธรรม

“ห้องเวรชี้” เป็นชื่อเรียกห้องพิจารณาคดีในศาล ที่ใช้สำหรับการพิจารณาคดีที่ถูกส่งมาขึ้นศาลเป็นวันแรก คดีที่จำเลยรับสารภาพและไม่มีรายละเอียดมากนัก ชะตากรรมของผู้ต้องหาจำนวนมากถูกจะตัดสินอย่างรวดเร็วที่ห้องเวรชี้นี้เอง โดยเจ้าหน้าที่ศาลและผู้พิพากษาจะทำงานกันอย่างเป็นระบบคล้ายสายพานโรงงานอุตสาหกรรม

ขั้นตอนปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วันที่จำเลยขึ้นศาลวันแรก ศาลจะถามคำให้การของจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือจะปฏิเสธ และจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ หากจำเลยยังไม่มีทนายความและต้องการทนายความ ศาลต้องแต่งตั้งทนายความให้

 
หากจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลต้องกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน และวันนัดสืบพยาน เพื่อให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากจำเลยรับสารภาพ ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทศสูง คือ โทษจำคุกอย่างต่ำห้าปีขึ้นไป ศาลจะต้องให้โจทก์นำพยานเข้าสืบจนปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะมีคำพิพากษาได้ แต่หากเป็นคดีที่อัตราโทษน้อยกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็อาจพิพากษาได้ทันที

 
วันหนึ่งๆ มีผู้ต้องหาถูกพาตัวมาศาลเป็นจำนวนมาก คนที่ถูกฝากขังระหว่างสอบสวนจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวมาจากเรือนจำ คนที่เพิ่งถูกจับมาใหม่ๆ จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพามาจากโรงพัก คนที่ได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนจะเดินทางมาเอง มากกว่าครึ่งเป็นคดีที่อัตราโทษไม่สูง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ ความผิดฐานครอบครองยาเสพติด ซึ่งผู้ต้องหาส่วนมากรับสารภาพและไม่ต้องการต่อสู้คดี 

 
ด้วยปริมาณคดีที่มาก และไม่ยุ่งยากซับซ้อน “ห้องเวรชี้” จึงเป็นระบบที่ศาลแต่ละแห่งตั้งขึ้นเพื่อจัดการคดีเล็กๆ น้อยๆ ให้เสร็จไปได้คราวละมากๆ ในแต่ละวัน

 
ภาพจาก StockMonkeys.com
 
 
 
ในทางปฏิบัติ เมื่อผู้ต้องหาถูกพาตัวมาจากเรือนจำ โรงพัก หรือเดินทางมาเองตามหมายนัด ก็จะถูกคุมขังอยู่รวมกันที่ห้องขังใต้ถุนศาล เจ้าหน้าที่ศาลประจำห้องเวรชี้ จะเรียกผู้ต้องหาไปถามทีละคนว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีทนายความหรือผู้เกี่ยวข้องร่วมตัดสินใจด้วย (ทนายความสามารถเข้าไปได้หากยื่นคำร้องเป็นกรณีพิเศษ แต่ญาติไม่สามารถเข้าไปได้) เมื่อผู้ต้องหาตอบเจ้าหน้าที่ศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลก็จะร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีเตรียมรอเอาไว้ล่วงหน้า โดยเป็นคำให้การของผู้ต้องหาว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธ และร่างรายงานกระบวนพิจารณาของวันนั้นเตรียมพร้อมไว้

 
เนื่องจากเจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้พิพากษาที่เป็น “เวรชี้” ขึ้นบัลลังก์จึงไม่เหลือขั้นนตอนที่ยุ่งยากนัก ศาลจะได้รับเอกสารที่เตรียมพร้อมไว้แล้วว่าผู้ต้องหาคนไหนจะรับสารภาพและคนไหนจะปฏิเสธ ผู้ต้องหาหลายสิบคนจะถูกพาเข้ามาในห้องเวรชี้พร้อมกัน ศาลจะเรียกชื่อทีละคน และผู้ต้องหาซึ่งเพิ่งถูกเปลี่ยนสถานะเป็นจำเลยก็จะยืนขึ้น ศาลจะอ่านข้อหาตามฟ้องให้ฟังตามแบบพิธี แล้วถามสองคำถามสั้นๆ 

 
ศาล : จำเลยเข้าใจแล้วนะ จะรับสารภาพหรือปฏิเสธ
จำเลย : รับครับ
ศาล : ไม่ต้องการทนายความใช่ไหม
จำเลย : ครับ
 
ถ้าจำเลยตอบตามแบบแผนนี้ ศาลก็จะอ่านคำพิพากษาเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตัดสินไปในแนวทางที่เดินตามๆ กันมาอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า “ยี่ต๊อก” เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับให้จำคุก 1 เดือน รอลงอาญา ปรับ 5,000 บาท คดีเสพยาเสพติดขณะขับรถให้จำคุก 4 เดือน รอลงอาญา เป็นต้น หากคดีไหนจำเลยตอบปฏิเสธหรือเป็นคดีที่อัตราโทษสูงศาลจึงจะกำหนดวันนัดพิจารณาเป็นวันอื่นต่อไป

 
เมื่อเสร็จหนึ่งคน ศาลก็จะเรียกชื่อคนต่อไปให้ยืนขึ้นแล้วก็ทำแบบเดิมซ้ำๆ วนกันไปเช่นนี้คนแล้วคนเล่า กระบวนการแบบนี้ทำให้ศาลสามารถพิจารณาคดีเล็กๆ จำนวนมากให้เสร็จจากศาลไปได้โดยไม่ยืดเยื้อในแต่ละวัน

 
ห้องเวรชี้ของศาลอาญารัชดา ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีได้ทั่วราชอาณาจักร ตั้งอยู่ใต้ถุนศาลติดกับห้องขังซึ่งผู้ต้องหาจะถูกควบคุมไว้ในห้องขังแยกเป็น 4 ห้อง คือ คดียาเก่า คดียาใหม่ คดีทั่วไปเก่า และคดีทั่วไปใหม่ เมื่อถึงเวลา ผู้ต้องหาจะถูกพาเดินเข้าไปในห้องเวรชี้ โดยทางเดินพิเศษไม่ต้องเดินผ่านสาธารณชน

 
ในห้องเวรชี้ ผู้ต้องหาจะเข้ามาพร้อมกันประมาณ 40-50 คน มีลูกกรงใหญ่สีเขียวพร้อมกระจกกั้นระหว่างที่นั่งผู้ต้องหากับพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบัลลังก์ศาล เจ้าหน้าที่สามถึงสี่คนจะง่วนอยู่กับการจัดเอกสารจำนวนมาก ป้อนเข้าสู่ระบบสายพานให้กับผู้พิพากษาอย่างเป็นระบบ ผู้พิพากษาก็จะก้มหน้าก้มตาอ่านเอกสารให้จำเลยฟังและถามคำถามซ้ำๆ ทีละคนๆ เหมือนกันทุกคน โดยศาลและผู้ต้องหาจะสื่อสารกันผ่านไมโครโฟนเท่านั้น

 
สำหรับเหตุผลที่ทนายความและญาติไม่สามารถเข้ามาให้กำลังใจหรือให้คำปรึกษากับผู้ต้องหาได้ ไม่ใช่เพราะศาลต้องการละเมิดสิทธิที่จะมีทนายความของผู้ต้องหา แต่เนื่องจากระบบของห้องเวรชี้ต้องการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว และพิจารณาให้ได้พร้อมกันจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ศาลจึงกลัวว่าคนจำนวนหลายร้อยคนเข้ามาอยู่ในห้องพร้อมกันจะเกิดความวุ่นวาย จึงไม่อนุญาตให้ทนายความและญาติเข้าฟังการพิจารณาด้วย ให้รออยู่แต่ด้านนอกเท่านั้น 

 
ดังนั้น หากจำเลยต้องการรับสารภาพหรือปฏิเสธ จึงต้องปรึกษากับทนายความและญาติมาให้เรียบร้อยก่อนหน้าวันขึ้นศาลวันแรกเลย เมื่อเข้าระบบของห้องเวรชี้แล้วจะไม่สามารถปรึกษาใครได้อีก

 
ในแง่หนึ่ง ระบบงานเช่นนี้ก็ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คำให้การของจำเลยมาจากตัวจำเลยเองไม่ถูกหว่านล้อมหรือชักจูงโดยทนายความหรือบุคคลอื่น แต่ในอีกแง่หนึ่งหากจำเลยไม่รู้กฎหมายและไม่มีโอกาสปรึกษาทนายความมาก่อนก็มีโอกาสเสียสิทธิหรือถูกลงโทษหนักกว่าที่ควรได้ง่ายๆ

 
หลายคดี แม้จำเลยจะรับสารภาพ แต่ตามกฎหมายอาจมีเหตุให้จำเลยได้รับยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ ลดโทษ หรือบรรเทาโทษ ตัวอย่างเช่น จำเลยรับสารภาพว่าทำร้ายผู้อื่นจริงแต่หากเป็นการป้องกันตัวจำเลยก็ไม่มีความผิด หรือจำเลยรับสารภาพว่าฆ่าคนตายแต่หากทำไปโดยบันดาลโทสะก็มีเหตุให้ลดโทษ หรือจำเลยอาจจะยอมรับว่าขายยาเสพติดแต่ทำไปเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัสก็เป็นเหตุให้บรรเทาโทษได้

 
เหตุผลอื่นๆ ที่จำเลยอาจใช้ต่อสู้คดีได้ เช่น กระทำความผิดไปด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากอันตราย ขณะกระทำความผิดอายุไม่ถึงยี่สิบปี ขณะกระทำความผิดมีอาการวิกลจริต กระทำความผิดไปโดยทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน หรือกระทำไปเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงบางประการ ฯลฯ 

 
แม้ว่าจำเลยจะรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่อาจเป็นประโยชน์กับตนเอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลประจำห้องเวรชี้ใช้วิธีการแอบถามเป็นการส่วนตัวโดยไม่มีทนายความว่า รับสารภาพหรือไม่ จำเลยก็อาจจะตอบว่า “รับ” เพราะตัวเองได้กระทำไปจริง ซึ่งหลังจากตอบว่า “รับ” และเข้ากระบวนการของห้องเวรชี้แล้ว ศาลก็จะมีคำพิพากษาทันที ข้อต่อสู้อื่นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยนั้น จำเลยจะไม่มีโอกาสได้นำเสนอเลย ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะจำเลยไม่รู้กฎหมายและไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง เพราะหากรู้ว่ามีข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อคดีแล้ว จำเลยต้องตอบว่า “ปฏิเสธ” หรือ “ให้การภาคเสธ” คือ รับสารภาพบางส่วนปฏิเสธบางส่วนนั่นเอง

 
เมื่อจำเลยไม่เคยมีโอกาสได้นำเสนอพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ เหตุลดโทษ หรือเหตุบรรเทาโทษเช่นนี้ แม้จำเลยจะมาทราบภายหลังว่าตนเองมีสิทธิต่อสู้คดี ก็ไม่สามารถโต้แย้งคำพิพากษาที่ออกมาแล้วได้ และหากจะอุทธรณ์คำพิพากษาก็ไม่มีโอกาสต่อสู้แล้ว เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ได้นำเสนอมาเลยในศาลชั้นต้น

 
ดังนั้น “ห้องเวรชี้” ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสายพานอุตสาหกรรมผลิตผลลัพธ์คดีความหลายสิบหลายร้อยคดีต่อวัน จึงเป็นเหมือนดาบสองคม ทางหนึ่งก็ช่วยให้คดีไม่รกโรงรกศาล แต่อีกทางหนึ่งหากจำเลยไม่มีความรู้ทางกฎหมายก็มีโอกาสมากที่จะเสียสิทธิของตัวเองไปในกระบวนการเหล่านี้ได้ง่ายๆ 

 
ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความต่างๆ จึงควรเตรียมตัวปรึกษาทนายความ ญาติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ดีก่อนวันที่ต้องไปขึ้นศาลวันแรก ว่าจะให้การปฏิเสธหรือรับสารภาพ หากพลาดไปเข้าสู่สายพานของ “ห้องเวรชี้” แล้ว ก็อาจถูกพิพากษาอย่างรวดเร็วและต้องรับโทษหนักกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่มีโอกาสตั้งตัว