อยากทำการศึกษาในระบบให้เป็นทางเลือกหนึ่ง

กลิ่นอายการปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของขุนทหาร เริ่มคละคลุ้งส่งกลิ่นให้เห็นถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศภายหลังเห็นชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในช่วงของการเสนอชื่อบุคคลเพื่อคัดสรรเข้าสู่ สปช.ทั้ง 11 ด้าน ด้านการศึกษาได้รับความสนใจมากที่สุด สอดรับกับกระแสความของท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พูดถึงปัญหาของการศึกษาไทยหลายประการ จนในที่สุดตกผลึกเป็นค่านิยม 12 ประการที่นักเรียนต้องกันท่องให้ขึ้นใจ
เพื่อไม่ให้ตกขบวนปฏิรูป iLaw สนทนากับ ลำยอง เตียสกุล และ จิรพันธ์ สำเริงเรือง สองสาวใจดีจากเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก ทั้งสองขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยเริ่มทำกิจกรรมกับโรงเรียนและเยาวชน ปัจจุบันก็ยังคงขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นมุมมองต่อปัญหาการศึกษาไทยและทางเลือกทางการศึกษา จากคนในแวดวงการศึกษาแต่อยู่นอกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
จิรพันธ์ สำเริงเรือง (เสื้อแดงอ่อน) และ ลำยอง เตียสกุล (เสื้อเหลือง)
 
กระทรวงศึกษาธิการกับการจัดการศึกษา
ปัจจุบันการศึกษาขึ้นพื้นฐานของไทยถูกกำหนดจากกระทรวงศึกษาธิการ การรวมศูนย์การจัดการศึกษาไว้ที่่กระทรวงฯ เป็นปัญหามาก แม้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะพูดถึงการกระจายอำนาจก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติดูไม่มีดอกผลที่ชัดเจน เช่น เรื่องกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียน การจัดการศึกษาหลายรูปแบบ การให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การเรียนเรื่องภัยพิบัติ เพศศึกษา หรือการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชุน ก็ยังทำไม่ได้จริง
ตอนนี้มีการพูดเรื่องอาชีวะมาก ซึ่งอาจจะเป็นแนวนโยบายที่ดี แต่ยังอธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ว่าการที่เราต้องการแรงงานที่มีฝีมือจำนวนมากนั้นคิดจากอะไร ปัจจุบันเราไม่รู้เพราะกระทรวงศึกษาฯ คิดเองหมด 
อย่างไรก็ตามแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการถือว่าดี แต่ปัญหาคือไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง รามีครูที่อย่างน้อยจบปริญญาตรีแต่ไม่สามารถสอนเด็กประถมศึกษาให้อ่านออกเขียนได้ มันน่าตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น? หลังจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เราประกาศปฏิรูปการศึกษารอบแรกสิบปี ปรากฏว่าล้มเหลวเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คุณภาพการศึกษาทั้งเด็กและครูก็ถอยหลัง และการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ได้เริ่มแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็เห็นและมีการวิเคราะห์กันอยู่ว่าปัญหาการศึกษาไทยอยู่ที่ไหน 
การเมืองกับการจัดการศึกษา
ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลให้งบประมาณการศึกษาเป็นสัดส่วนที่มากแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเท่าไรนัก สาเหตุคือ หนึ่ง ไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดถึงนโยบายทางการศึกษาอย่างชัดเจนหรือถ้ามีก็เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า สอง คนที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาเป็นข้าราชการ ข้าราชการเป็นฝ่ายกำหนดแนวนโยบายให้กับรัฐมนตรี การแถลงนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละท่าน จะพบว่าจะมีแนวนโยบายที่ไม่ต่างกัน เช่น การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปครู การพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น
ปัจจุบันถ้าเราอยากให้รัฐบาลทำเรื่องการศึกษาสำเร็จตามนโยบาย รัฐมนตรีที่เข้ามาต้องไม่เข้ามาเรียนรู้งานใหม่ เพราะตอนนี้เป็นที่รู้กันแล้วว่าปัญหาการศึกษาไทยเป็นอย่างไร ต้องเข้ามาตรวจสอบแผนการปฏิบัติงานของกระทรวงศึกษาฯ ที่วางเอาไว้ และต้องทำให้ข้าราชการปฏิบัติงานตามเนื้อหาของการจัดการศึกษาในทุกแผนให้เกิดจริง เช่น ประเด็นการปฏิรูปครู พูดกันมาสิบกว่าปีที่แล้วก็ไม่มีประเด็นอะไรนอกจากว่าแก้ไขปัญหาเรื่องเงินเดือนครู
อย่างไรก้ตาม แนวนโยบายจัดการศึกษาของเราต้องผูกโยงกับพันธะสัญญากับต่างประเทศ ฉะนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับ “ปฐมวัย” หรือ “เด็กแรกเกิด” โดยการให้งบประมาณหรือพูดถึงสถิติการเข้าเรียนของเด็ก นั่นเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับต่างประเทศ ต้องทำเป็นนโยบาย ไม่ใช่สิ่งที่พรรคการเมืองอยากจะเห็นสังคมไทยเป็นไปอย่างนี้ แต่ระบบราชการก็ไม่นำนโยบายไปปฏิบัติตามที่กำหนดอยู่ดี
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ประเทศไทย มี พ.ร.บ.การศึกษาฯ ดีที่สุดในเอเชีย ในกฎหมายฉบับนี้พูดทุกเรื่อง รวมถึงมีคำว่าการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมถึงบทบาทที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น โรงพยาบาล ชุมชน สถานประกอบการ วัด ฯลฯ (ตามมาตรา 12) แต่ก็ห้อยท้ายว่าทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎกกระทรวง ตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายเรามีกฎกระทรวงที่พูดถึงเรื่องการจัดการศึกษาอย่างหลากหลายแค่สี่ถึงห้าเรื่อง มีสถานประกอบการ มีโฮมสคูล มีศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีศาสนา
ในช่วงสิบกว่าปี กฎกระทรวงเท่านี้นับว่าน้อยมากทั้งที่ไม่น่าจะออกยากนัก ซึ่งกฎกระทรวงมีความสำคัญและจำเป็นให้คนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษาได้ เรามีงานวิจัยที่ทำให้เห็นว่าการจัดการศึกษาอย่างหลากหลายรูปแบบ จะส่งผลให้ รัฐบาลใช้งบประมาณน้อยลง หลายภาคส่วนมีบทบาทและเกิดความร่วมมือขึ้น สำคัญที่สุดคือจะตอบสนองกลุ่มเด็ก แต่การศึกษาในระบบมีหลักสูตรเดียวเวลาจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนพร้อมกันทั้งประเทศ ถ้าว่ากันตาม พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ่อแม่หรือชุมชนสามารถจัดการศึกษาได้แต่ต้นเลย 
สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นสักสิบปีที่แล้วหลัง พ.ร.บ.การศึกษาฯ คือ กระทรวงศึกษาน่าจะไปกระตุ้นหรือำให้เกิดการจัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ตามพื้นที่ต่างๆ หรือทำให้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นจริงยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของการศึกษาทางเลือก
เราทำงานวิจัยโครงการภาษาแม่ กับสมาคมอินเป็ค พบว่าเด็กสามารถจะยึดโยงอยู่กับภาษาของตนเอง วัฒนธรรมรากเหง้าของตนเอง การถ่ายทอดภูมิปัญญาบางอย่างจะสามารถทำให้เด็กมีสิ่งยึดเหนี่ยวได้ แต่การศึกษาระบบปัจจุบันจะทำให้เขาจะถูกตัดจากระบบโครงสร้างครอบครัวแบบเดิมไปทั้งหมด และเข้าสู่การเรียนรู้แบบใหม่ทั้งหมด งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกเหมือนกันว่า การให้เด็กเรียนรู้การศึกษาเบื้องต้นด้วยภาษาของเขาจะทำให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายความว่าเด็กจะเรียนรู้ไปตามธรรมชาติ และจะทำให้เด็กอยู่ในสังคมและทำให้เขากลับมาอยู่บ้านได้ 
หากต้องอยู่ในการศึกษากระแสหลัก การให้ชุมชนเข้ามาจัดการศึกษาไม่ได้หมายว่าจะจัดได้เต็มรูปแบบการศึกษาทั้งหมด แต่ก็ยังไปโรงเรียนด้วย ชุมชนเข้ามาเสริมให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาตัวเองหรือเรียนศาสนาไปด้วย การจัดการศึกษาภายในระบบของรัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำอยู่ แต่ในเมื่อยังไม่สามารถสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ก็ต้องปรับใหม่ 
บ้านจะแนะ โรงเรียนในระบบกับการจัดหลักสูตรโดยชุมชน
การจัดการศึกษาในความหลากหลายให้เหมาะสมกับท้องถิ่นช่วยให้คุณภาพของเด็กจะเพิ่มขึ้น เด็กได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที ตัวอย่าง คือ โรงเรียนบ้านจะเเนะ จังหวัดนราธิวาสเป็นโรงเรียนในระบบ ตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2547 มีผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้นำชุมชนมาร่วมคิดกันว่าเด็กของเราทำไมจึงออกไปเรียนของนอกกันมากขึ้น และเด็กเรียนไม่รอดมากขึ้น สิ่งที่โรงเรียนทำคือเอาศาสนาเข้าไปสอนในโรงเรียนแล้วปรับหลักสูตร แต่เรื่องแบบนี้รัฐส่วนกลางมักมองว่าเป็นปัญหา เพราะว่าศาสนาถูกมองเป็นเรื่องของความมั่นคง โรงเรียนทำเรื่องมาที่ส่วนกลางเพื่อให้มีการสอนศาสนาแต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นโรงเรียนก็สอนศาสนา สอนเด็กทำละหมาด สอนพิธีกรรมวันสำคัญต่างๆ ทำให้ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นศรัทธากับโรงเรียน จากนั้นก็นำเด็กเข้ามาเรียนมากขึ้น จากระดับร้อยคนก็มีเด็กระดับพันคน เด็กไม่ต้องไปเรียนไกล 
บ้านมอวาคี โรงเรียนทางเลือกโดยชุมชน เพื่อชุมชน
โรงเรียนแบบบ้านมอวาคี เป็นชุมชนปกาเกอะญอ โรงเรียนนี้สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) แต่เดิมเป็นโรงเรียนชุมชนจริงๆ ชาวบ้านสอนกันเอง มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปช่วยหางบหาครู ต่อมารัฐกำหนดให้ต้องสังกัดอะไรสักอย่าง เพราะจะไม่ได้วุฒิการศึกษา กศน.จึงส่งคนมาและเอาโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนหนึ่งของกศน. ซึ่งมีชื่อครูอยู่แต่ไม่เคยส่งครูมาเลย 
จากการประสานงานกับราชการ ทำให้มีหลักสูตรขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีหลักสูตรของตนเองโดยองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกับชุมชน  เช่น การทอผ้า การดูทรัพยากร ฯลฯ เด็กที่เรียนที่นี่สามารถไปสอบเข้ามัธยมที่อื่นได้ ทั้งยังเรียนได้ดีด้วย คุณภาพของเด็กกล้าพูด การแสดงออก สิ่งที่ชุมชนภูมิใจคือ เด็กยังได้เรียนรู้รากเหง้าวัฒนธรรมของเขา แต่ถ้าเด็กอยู่ในเมืองเขาไปอยู่ในระบบมากจนกลับไปที่ฐานเดิมของตนเองไม่ได้ เพราะการศึกษาของส่วนกลางทำให้เด็กออกจากพื้นที่ไม่ได้รู้จักตัวเอง
อนาคตของการปฏิรูปการศึกษาไทย ยุค คสช.
แม้จะเห็นโอกาสดีของ คสช. ซึ่งใช้อำนาจได้มาก และดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีเห็นปัญหา แต่คนที่ถูกส่งไปประจำกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นพวกเดียวกับเจ้ากระทรวง(ข้าราชการ) จึงไม่คิดว่าจะทำอะไรได้นัก เพราะทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นระบบราชการที่แข็งตัวมาก ลองดูตอนที่ คสช.จัดประชุมเวทีครั้งแรกที่พูดถึงเรื่องการจัดการการศึกษา คนที่เขาเชิญก็เป็นข้าราชการครู ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการเดิม ไม่มีประชาชนเข้ามาเลยมุมมองทัศนะการศึกษาถูกจำกัดวง แค่ดูรายชื่อคนที่เข้าประชุมก็เห็นแล้ว ส่วนคนที่เข้าไปสมัครสปช. ด้านการศึกษาก็ล้วนเคยทำงานข้าราชการ
อนาคตของการขับเคลื่อนการศึกษาของภาคประชาชน
เรื่องประเด็นการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจตาม พ.ร.บ.การศึกษาฯ ให้เกิดขึ้นจริง เราพยายามทำข้อเสนอให้ทุกรัฐบาลที่ขึ้นมา อีกส่วนพยายามผลักดันแนวนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง เช่น การรณรงค์ เพราะเป็นการผลักดันให้กระทรวงศึกษาขับเคลื่อนนโยบาย ตาม พ.ร.บ.การศึกษาฯ รวมทั้งแผนปฏิบัติการจำนวนมาก เช่น เรื่องการมีส่วนร่วม การปฏิรูปการเรียนรู้ การยกระดับครู เป็นต้น 
ในส่วนของข้าราชการเราจะต้องกระตุ้นกระทรวงศึกษาฯ ให้เขาต้องทำตามแผนงาน ขณะเดียวกันต้องสนองความต้องการของสังคมโลกปัจจุบันด้วย เราเองพร้อมที่จะจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาหลายรูปแบบ แล้วก็พยายามเสนอหลักสูตรเข้าไปที่กระทรวงศึกษาธิการ พูดถึงเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่น หรือการจัดตั้งคณะกรรมการสถานศึกษาให้สามารถตอบสนองกับชุมชนท้องถิ่นได้ ขณะนี้เป้าหมายสำคัญคือทำยังไงให้ตรงกับความต้องการของเด็ก ให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีความสุข