สภาปฎิรูปแห่งชาติ: ขั้นตอนมากมาย ความหมายเท่าเดิม

อีกไม่นานเราจะเห็นหน้าตาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในการเมืองไทย ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตของประเทศโดยเฉพาะการมีส่วนเสนอเนื้อหาและเห็นชอบในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะทำความเข้าใจว่า สปช. คืออะไร มีหน้าที่ และที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง
หน้าที่ของ สปช. คือ
(1) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก
(3) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น
(4) สปช.มีหน้าที่เสนอผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน
(5) สปช.เห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ ยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องใดไม่ถูกต้อง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละบุคคลสามารถเสนอแก้ไขได้ แต่ไม่
ผูกพันคณะกรรมาธิการในการพิจารณาแก้ไข
(6) ลงมติในการพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
คณะกรรมการสรรหา แบ่งออกเป็น 3 แบบตามลักษณะที่มา
ระดับจังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด
(2) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
(3) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(4) ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดนั้น
(5) ประธานกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ในกรณีที่จังหวัดใดผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนั้นๆ เลือกบุคคลแทน
ในกรณีที่มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหลายคนให้เลือกผู้ที่อาวุโสที่สุด 
กรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วย
(1) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
(2) อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง
(3) ปลัดกรุงเทพมหานคร
(4) ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตของกรุงเทพมหานคร
(5) ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาประจำจังหวัดในตำแหน่งใด หรือไม่อาจปฎิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการเป็นไปตามจำนวนที่มีอยู่จนกว่าหัวหน้า คสช. จะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรให้เป็นกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแทน
คณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน (ส่วนกลาง) ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน, ด้านกฎหมายและกระบวนยุติธรรม, การปกครองส่วนท้องถิ่น, การศึกษา, เศรษฐกิจ, พลังงาน, สาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม, สื่อสารมวลชน, สังคม, อื่นๆ ซึ่งแต่ละคณะมีกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
กระบวนการพิจารณาเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.
กรณีการสรรหาระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร 
จะมี 5 อรหันต์ คือคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด/กรุงเทพฯ เป็น "แมวมอง" สรรหาบุคคลผู้มีภูมิลำเนาในที่นั้นๆ จำนวน 5 คนเพื่อเสนอชื่อต่อ คสช. โดยผู้ต้องการคัดเลือกต้องแสดงเจตจำนงต่อ กกต.จังหวัด
กรณีสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน ในส่วนกลาง
นิติบุคคลประกอบไปด้วย ส่วนราชการ, รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน, หน่วยงานอื่นของรัฐ, นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือสภา, นิติบุคคลอื่นที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ถ้าไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้ผู้มีอำนาจทำการแทน นิติบุคคลนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ, หรือสถาบันการศึกษา ซึ่งทั้งหมดต้องนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลโดยจะมาจากจังหวัดใด ภาคใด กลุ่มใด ค่ายใดก็ได้ โดยนิติบุคคลนั้นต้องเสนอชื่อภายใน 20 วันนับตั้งแต่แต่งตั้งกรรมการสรรหา 11 ด้าน 
เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อแล้ว บุคคลที่ถูกเสนอชื่อต้องผ่านด่าน 7 อรหันต์ที่เป็นคณะกรรมการในแต่ละด้านเพื่อคัดเลือกให้เหลือไม่เกิน 50 คน และส่งชื่อให้กับ คสช. ภายใน 10 วันนับตั้งแต่เสร็จสิ้นเวลาการเสนอชื่อ 
กระบวนการสรรหาขั้นสุดท้าย
เมื่อทำการรวบรายชื่อเสร็จตามข้อกำหนดแล้วจึงส่งให้ คสช. คัดเลือกอีกที โดย
(1) พิจารณาคัดเลือกจากบัญชีจากที่ได้รับจากการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวมทั่วประเทศเป็น 77 คน
(2) พิจารณาคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากการสรรหาโดยคณะกรรมการแต่ละด้าน ตามจำนวนที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 173 คน
จากนั้นนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหาในแต่ละส่วน ซึ่งรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 250 คน 
ข้อสังเกตที่มาและกระบวนการสรรหา สปช.
เห็นได้ชัดว่ากระบวนการสรรหา สปช.ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพราะ
(1) กระบวนการสรรหาจะมีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด ซึ่งบุคคลที่เป็นคณะกรรมการสรรหามาจากข้าราชการประจำที่เป็นส่วนกลาง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และ คณะกรรมการเลือกตั้ง ในขณะที่กรรมการที่ยึดโยงกับประชาชนจริงมีเพียง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 
จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า การปฎิรูปครั้งนี้น่าจะเป็นการปฎิรูปโดยระบบราชการ มากกว่าการปฎิรูปโดยประชาชน จึงน่าสงสัยว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนหรือไม่ 
(2) คณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน มีโอกาสถูกแทรกแซงโดย คสช.เพราะคณะกรรมการสรรหาทั้งหมดนั้นมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ในกรณีกรรมการสรรหาระดับจังหวัดหากจำนวนบุคคลในแต่ละจังหวัดไม่ครบ คสช.สามารถแต่งตั้งเองตามความเหมาะสมได้