คณะรัฐมนตรีใหม่ ภารกิจเพื่อชาติ และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

25 สิงหาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ขั้นตอนต่อไปของนายกประยุทธ์ คือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่รับภารกิจอันหนักอึ้งนี้มาราว 4 เดือน ตามคำแถลงหลังรับตำแหน่งของท่านนายกฯ ประชาชนชาวไทยจะได้ยลโฉม ค.ร.ม.ใหม่ในช่วงเดือนกันยายนนี้
รัฐบาลเฉพาะกาลกับการปฏิรูปประเทศ
ประเด็นสำคัญในคำแถลงของนายกประยุทธ์  หลังเข้ารับตำแหน่งมีอยู่ว่า รัฐบาลเฉพาะกาลจะสร้างระบบทุกระบบ ทั้งการเมือง ราชการ หรือ ท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้โดยเร็ว เตรียมการการปฏิรูปที่จะต้องทำให้ฝ่ายการเมืองมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศในระยะต่อไป เพื่อจะได้ร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคต 
ด้านเศรษฐกิจ จะเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการลงทุนในภาคต่างๆ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงสร้างภาษี พลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัญหาปากท้องประชาชน โดยการแก้ปัญหาต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาว 
นอกจากเป็นแขนขาสำคัญในการปฏิรูปแล้ว ในการบริหารประเทศทั่วไป ครม.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ โดยต้องมีมติร่วมกับ คสช.ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เห็นชอบ
ครม.ใหม่กับการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดูจะมีความหวังกับการปฏิรูปโดยท่านนายกฯ คนปัจจุบัน โดยเฉพาะจากคำกล่าวของท่านที่ว่า “ปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น รัฐบาล คสช.และประชาชนทุกคน ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งเราไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือต้องการกำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าในสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปฯ ไม่ได้มีข้อกำหนด ข้อห้ามต่างๆ…ทั้งนี้ไม่ต้องการให้ส่วนหนึ่งส่วนใดตกขบวนประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนาคตของชาติให้มั่นคงและยั่งยืน ไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต”
แน่นอนว่าในการปฏิรูปประเทศขนาดใหญ่ครั้งนี้ ครม.ที่กำลังจะเกิดขึ้นย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ครม.มีส่วนร่วม(กับสภาปฏิรูป)โดยสามารถเสนอชื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จำนวน 5 คน และที่สำคัญ ครม.ยังมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นหรือคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
ใครมีสิทธิอยู่ ครม.ประยุทธ์1?
คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ตามรัฐธรรมนูญผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ คือ ต้องเป็นคนไทยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะเวลาสามปี ไม่เป็นนักบวชในศาสนาต่างๆ ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือทุจริต ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ไม่เป็นตุลาการหรือผู้พิพากษา อัยการ ไม่ตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
จากคุณสมบัติข้างต้น เราอาจได้เห็นหน้าตา ครม.ใหม่ที่ประกอบไปด้วยข้าราชการทั้งที่เกษียณอายุราชการหรือยังปฏิบัติราชการอยู่ใน ครม.ชุดใหม่เป็นหลัก สำหรับข้าราชการเกษียณอย่างน้อยก็น่าจะคาดเดาได้ว่าบรรดาผู้ที่ร่วมทำการรัฐประหารที่จะเกษียณอายุในช่วงกันยายนนี้น่าจะมีตำแหน่งติดไม้ติดมือ ส่วนข้าราชการประจำที่มีเงินเดือนประจำที่ร่วมมือกับการรัฐประหารครั้งนี้ก็มีโอกาสเช่นกัน กระนั้นก็ตามแม้จะมีข้อกังขาในเรื่อง การขัดกันแห่งผลประโยชน์จากการรับตำแหน่งทับซ้อนกัน แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอนาคตของประเทศชาติย่อมสำคัญกว่า
การทำงานร่วมกับคสช.                                                                                                             
แม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะดำเนินการโดย ครม.เป็นหลักแต่รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ คสช.มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศร่วมกันรัฐบาลบ้าง ในบางประเด็นที่ คสช.เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ โดยไม่จำกัดว่าเป็นประเด็นใด ในที่นี้ต้องชื่นชม คสช.ที่ไม่ปล่อยให้รัฐบาลเดินหน้าบริหารประเทศไปตามลำพังโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งนี้ในฐานะที่ คสช.เป็นผู้ยึดอำนาจโดยตรงจึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้ดูแลและตักเตือนรัฐบาล
อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์ข้างต้นอาจจะออกมาในทางตรงกันข้าม กล่าวคือมีแนวโน้มที่ผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.จะเข้ามาควบเข้าตำแหน่งอื่นใน ครม.กันแถบยกแผง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะปัญหาของประเทศไทยมีความสลับซับซ้อน ดังนั้นอำนาจที่เบ็ดเสร็จจึงจำเป็นเพราะจะทำให้แก้ปัญหาต่างๆถูกต้อง รวดเร็ว และต่อเนื่อง นอกจากนี้ คสช.ยังสามารถยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ กระนั้นก็ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวายจนการบริหารประเทศสะดุดเพราะ คสช. เป็น ครม. และ เลือก สนช.ด้วย
ณ ขณะนี้ยังไม่มีการทูลเกล้า ครม.ใหม่ แต่สื่อสำนักต่างๆ เริ่มแบโผรายชื่อ ครม.ใหม่กันแล้ว ทำให้เราพอจะเห็นแนวโน้มของประเทศไทยในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย “เพื่อไม่ให้ตกขบวนประชาธิปไตยของท่านนายกฯ ครม.ใหม่ควรจะเป็นอย่างไร เท่าที่เป็นได้สำหรับคุณตอนนี้”