สถานการณ์หลังรัฐประหารที่เมืองอุบล: ความเงียบงันของเสรีภาพ

 

 "ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่เคยมีได้เหือดหายไปแล้ว"

นี่คือเสียงที่สะท้อนจากใครบางคนจากดินแดน(เคย)เสรีอย่างอุบลราชธานี
และหากเปรียบว่าประชาธิปไตยเหมือนหยาดฝนชื่นใจ คราวนี้คงเป็นฤดูแล้งที่ยาวนานไปอีกหลายปี

กรกฎาคม 2557
 
แม่น้ำมูลยังคงไหลเอื่อยเฉื่อย คนในเมืองยังคงทำธุรกิจค้าขาย ทุ่งศรีเมืองยังคงทำหน้าที่รองรับนักท่องเที่ยวและคนอุบลที่เดินทางมาชมงานประกวดเทียนพรรษา เมืองอุบลวันนี้คงไม่ต่างไปจากเมืองอุบลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 อย่างไรก็ตาม ป้าย "คืนความสุขให้คนในชาติ" ซึ่งติดอยู่หน้าเทศบาลก็ดูเป็นสิ่งแปลกปลอมทไว้เตือนใจให้ผู้พบเห็นรู้ว่า เมืองอุบลวันนี้ไม่เหมือนเดิม
สะพานเสรีประชาธิปไตยในวันที่ "ประชาธิปไตย" ไม่มีตัวตน
โดยส่วนใหญ่ ชื่อสะพานในประเทศไทยมักถูกตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญหรือโอกาสพิเศษ แต่ที่อุบลราชธานี สะพานแห่งหนึ่งมีชื่อว่า "สะพานเสรีประชาธิปไตย" ซึ่งถือเป็นการตั้งชื่อสะพานที่แปลกแตกต่างไปจากธรรมเนียมเดิม
 
 
สะพานแห่งนี้สร้างเสร็จปี 2497 ในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ว่ากันว่าชื่อสะพานแห่งนี้ถูกตั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง "เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์" แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความหมายของคำว่า "เสรีประชาธิปไตย" สูญเสียไปแต่อย่างใด
สะพานแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่รณรงค์เชิงสัญลักษณ์คัดค้านการประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 21 พฤษภาคม ดีเจต้อย แกนนำคนเสื้อแดงกลุ่ม "ชักธงรบ" ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้
ดีเจต้อยเปิดเผยภายหลังว่า การร่วมกิจกรรมที่สะพานเสรีประชาธิปไตย น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้เขาต้องเข้ารายงานตัวในค่ายทหารหลังการรัฐประหาร ในวันที่ประชาธิปไตยไร้ตัวตน
คำขอจากปลายกระบอกปืน
ดีเจต้อย เล่าว่า หลังการรัฐประหาร มีทหารแวะเวียนมาที่สำนักงานของเขาเพื่อเชิญไปรายงานตัว แต่วันที่ทหารมาเขาไม่อยู่ จึงฝากเรื่องไว้กับคนที่สำนักงานว่าผู้ร่วมกิจกรรมเดียวกับดีเจต้อยได้เข้ารายงานตัวแล้วและถูกปล่อยตัวในวันเดียวกัน เมื่อดีเจต้อยเข้ารายงานตัวในวันที่ 24 พฤษภาคม เขาถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลาถึง 6 คืนร่วมกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ
ดีเจต้อยตั้งข้อสังเกตว่า ค่ายทหารที่จังหวัดอุบลราชธานีดูจะไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการรับรอง "แขกพิเศษ" มากเท่าที่ควร ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวเขาต้องพักในห้องทำงานของนายทหารท่านหนึ่ง ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวก็มีนายทหารระดับสูงมาพูดคุย "ทำความเข้าใจ" พร้อมทั้งบอกว่า จะเคลื่อนไหวหรือทำอะไรก็ให้ดู "ความเหมาะสม" ด้วย ดีเจต้อยสะท้อนว่าแม้ทหารจะขอร้องอย่างสุภาพ แต่คำขอของผู้ถืออาวุธก็คงไม่ต่างอะไรกับการข่มขู่ เพราะผู้ถูกขอร้อง ไม่อาจปฏิเสธได้
 
นอกจากกรณีของดีเจต้อยซึ่งเป็นแกนนำเสื้อแดงท้องถิ่นแล้ว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ถูกเรียกเข้าไปที่ค่ายทหารเช่นกัน แม้ว่านักวิชาการ 5 คนที่เป็น "แขกรับเชิญ" จะไม่ต้องไปนอนค้างคืนในค่ายทหาร แต่ชะตากรรมของพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากแกนนำเสื้อแดงอย่างดีเจต้อยนัก เพราะ "คำขอ" ของทหารก็คือให้หยุดการเคลื่อนไหวทุกอย่างเช่นกัน การเรียกตัวดีเจต้อยและนักวิชาการม.อุบล เป็นการเรียกตัวแบบไม่เป็นทางการ ไม่มีเอกสารหลักฐาน เหมือนการเรียกตัวระดับท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ แม้จะไม่พบว่ามีกรณี "อุ้มหาย" เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็สร้างความน่ากังวลใจและความกลัวให้ผู้ถูกเรียกไม่น้อย
ใช้ชีวิตปกติ?
แม้ว่าหลังการรัฐประหาร คสช.จะประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะคืนความสุขให้คนไทย ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่สำหรับหลายชีวิตคงใช้ชีวิตไม่ปกติเหมือนเดิมนัก
เมื่อดีเจต้อยถูกปล่อยตัวจากค่ายทหาร ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์แรก เขาต้องไปรายงานตัวที่ค่ายทหารในเวลา 9.00 น. ทุกวัน ก่อนที่จะลดเหลือรายงานตัวทุกวันจันทร์ในเวลาเดิมในภายหลัง นอกจากนั้นหากดีเจต้อยประสงค์จะเดินทางออกจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีก็ต้องแจ้งกับทหารล่วงหน้าก่อนออกเดินทางด้วย
นอกจากไปรายงานตัวแล้ว หลังถูกปล่อยตัว ก็จะมีทหารแวะมา "เยี่ยมเยียน" ดีเจต้อยที่สำนักงานอยู่เป็นระยะ โดยทุกครั้งที่ทหารมา ก็จะมีการถ่ายภาพดีเจต้อยคู่กับสำนักงานไว้ด้วย นอกจากนี้ดีเจต้อยก็ต้องไปร่วมกิจกรรมตามแต่ทหารจะเชิญด้วย เช่น เดินทางไปร่วมกิจกรรมปรองดองซึ่งจัดที่จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งไปร่วมกิจกรรมดูหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวร เป็นต้น ซึ่งในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ดีเจต้อยก็พบเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน คือถูกทหารคอย ”จับตา” การเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ
วิถีชีวิตของดีเจต้อยไม่เพียงเปลี่ยนไปจากการรายงานตัวหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ทหารจัดขึ้น แต่การทำงานในฐานะคนทำสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุก็ได้รับผลกระทบไปด้วย การจัดรายการในวิทยุชุมชนมีอันต้องยุติไป เพราะถูกระงับการออกอากาศตามประกาศคสช. ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ แม้จะยังผลิตได้ตามปกติ แต่ก็มีการเปลี่ยนเนื้อหาไปมาก มีการลดเนื้อหาที่เป็นการเมืองและเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการทำธุรกิจ
นอกจากนี้แล้วนักวิชาการจากม.อุบลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หลังการรัฐประหาร แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะไม่มีการออกหนังสือเวียนสั่งห้ามการทำกิจกรรมหรือแสดงความเห็นทางการเมือง แต่การนำประกาศ/คำสั่งของคสช. มาติดไว้ในมหาวิทยาลัยก็ทำให้เสรีภาพทางวิชาการตกอยู่ใต้บรรยากาศแห่งความกลัว และ "คำขอ" ที่ทหารเรียกร้องกับนักวิชาการทั้งห้า ก็มีผลต่อการทำงานทางวิชาการอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย 
นอกจากการขอร้องกับนักวิชาการแล้ว กลุ่มทหารยังได้เฝ้ามองการจัดกิจกรรมของนักศึกษาอย่างใกล้ชิด ผ่านการดูแลติดต่อพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งจะ "ห้ามปราบ" นักศึกษาที่ต้องการจัดกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยแม้ในช่วงปิดเทอมก็ตาม และสำหรับกลุ่มทำกิจกรรมหลักในพื้นที่ ทหารได้เข้าไปพูดคุยโดยตรงเพื่อขอให้ดู "ความเหมาะสม" แม้ไม่ได้เซ็นเงื่อนไขอะไรเป็นหลักฐาน แต่การมาเยือนของผู้สวมชุดลายพรางก็พอจะส่งสัญญาณให้รู้ว่ามี "สายตา" จับจ้องความเคลื่อนไหวอยู่
แห่เทียนเมืองอุบลฯ ปีที่ชาวต่างชาติซบเซา
ภายในตัวเมืองอุบลฯจะมีแท็กซี่วิ่งรับผู้โดยสารอยู่จำนวนมาก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นยานพาหนะหลักของคนต่างถิ่นที่ไม่คุ้นชินกับเส้นทางภายในเมือง ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวยิ่งเป็นช่วงสร้างรายได้ให้กับแท็กซี่ แต่ในปีนี้กลับไม่เหมือนปีก่อนๆ
 
 
คนขับแท็กซี่รายหนึ่งเล่าว่า ทุกปีของช่วงแห่เทียนพรรษา ทุกโรงแรมจะถูกจองจนเต็ม แม้วัดเองก็ยังมีนักท่องเที่ยวไปนอนอาศัย แต่ในปีนี้ห้องพักหลายที่กลับว่าง ผู้ใช้บริการแท็กซี่น้อยลง เพราะนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักคือชาวต่างชาติไม่มาเที่ยวอุบลฯ ซึ่งคนขับรถตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะหลายจังหวัดเริ่มจัดเทศกาลแห่เทียนพรรษาเหมือนกัน และแม้ว่าการจัดงานงานครบรอบ 222 ปีเมืองอุบลที่เป็นเทศกาลใหญ่นานทีมีครั้ง ก็ไม่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เลย จึงน่าคิดว่าอาจมีปัจจัยอื่นนอกจากการแย่งนักท่องเที่ยวกันเอง หรืออาจเป็นเพราะความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยด้วยเช่นกัน 
เฝ้ารออย่างอดทน?
ในช่วงที่เขียนงานชิ้นนี้ สถานการณ์โดยทั่วไปที่จังหวัดอุบลราชธานียังคงสงบ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีป้ายรณรงค์ทางการเมือง มีเพียงป้ายรณรงค์สร้างความปรองดองและคืนความสุข ขณะที่คนในจังหวัดก็ดูจะมีความสุข? เพราะงานประกวดเทียนพรรษาและงานฉลองครบรอบ 222 ปีเมืองอุบลเพิ่งผ่านพ้นไป
อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ที่ดูสงบนี้ ดีเจต้อยและนักวิชาการม.อุบลต่างกังวลว่า ความสงบที่เห็นเป็นภาพลวงตาที่เกิดจากสภาวะจำยอม ภายใต้กฎอัยการศึกและการกุมสภาพของทหาร ทุกคนต่างเฝ้ารอที่จะแสดงออกซึ่งสิ่งที่ตนเชื่อในวันที่กฎอัยการศึกถูกยกเลิกไป ได้แต่หวังว่าการจำกัดเสรีภาพที่เกิดขึ้น จะผ่านพ้นไปในเร็ววัน
เรื่องและภาพโดย
อานนท์ ชวาลาวัณย์ และ ณัฐพล สุรรัตน์รังษี