อุปสรรคชีวิตอดีตนักโทษ: ฟ้าหลังฝนไม่สดใสเสมอไป

                                                                                                     อานนท์ ชวาลาวัณย์
                                                                                                     Edited by ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตมนุษย์ บางครั้งการทำสิ่งผิดพลาดก็อาจไม่มีผลกระทบที่รุนแรงนัก แต่บางครั้ง การกระทำหรือการใช้ชีวิตที่ผิดพลาดก็อาจนำมาซึ่งการถูกลงโทษ คือ การต้องติดคุก สูญเสียอิสระภาพ 
จริงอยู่ โทษจำคุกไม่ใช่จุดจบของชีวิต คนที่ติดคุกยังมีโอกาสที่จะได้อิสระภาพกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อรับโทษครบหรือมีเหตุให้ปล่อยตัว แต่หลังจากพ้นโทษแล้ว ชีวิตของคนที่เคยทำผิดพลาด กลับไม่ง่ายที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติ เต็มไปด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคนานับประการ เหมือนกับว่าหลัง “พายุ” ลูกหนึ่งสงบลง “พายุลูกใหม่” ก็โถมใส่อย่างต่อเนื่อง ไม่มีโอกาสได้เห็นพระอาทิตย์หรือท้องฟ้าที่สดใส 
 
 
 
ข้อจำกัดทางกฎหมาย: ผิดครั้งเดียวเสียโอกาสจนตัวตาย?
กฎหมายบางฉบับมีเนื้อหาในทางจำกัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของอดีตนักโทษ ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ข. (7) บัญญัติห้ามผู้ที่เคยถูกจำคุกเพราะศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุดให้จำคุกในคดีอาญาเข้ารับราชการ ส่วนมาตรา 36 ข. (4) บัญญัติห้ามผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคมเข้ารับราชการ ทั้งนี้คณะกรรมการ ก.พ.อาจพิจารณาให้รับบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 36 ข. (7) เข้ารับราชการได้ โดยมติของคณะกรรมการก.พ.ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มาประชุมโดยลงมติลับ
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 35(5) บัญญัติห้ามผู้ที่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดจดทะเบียน ส่วนมาตรา 35(6) บัญญัติห้ามผู้ที่เคยถูกจำคุกเพราะศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพจดทะเบียน
การที่พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนดไว้เช่นนี้ มีผลให้นักโทษที่แม้จะกลับใจได้และมีวุฒิการศึกษาตามกำหนดไม่มีสิทธิสมัครเข้ารับราชการ ส่วนพ.ร.บ.ทนายความ "หนึ่ง ศรนารายน์" สะท้อนผ่านหนังสือ “เฟซคุก เรื่องเล่าจากบางขวาง”ว่า มีนักโทษหลายคนที่กลับตัวตั้งใจเรียนจนจบปริญญา บางคนจบนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยได้เกียรตินิยมเหรียญทองอันดับหนึ่ง แต่เมื่อพ้นโทษไปพวกเขาอาจไม่สามารถทำตามฝันด้วยการเป็นทนายความหรือสอบเนติบัณฑิตได้ 
ข้อมูลจากส่วนส่งเสริมการศึกษา สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 ระบุว่ามีนักโทษกำลังศึกษาวิชานิติศาสตร์อยู่กว่า 1,159 คน ในจำนวนนี้อาจไม่ใช่ทุกคนที่สำเร็จการศึกษา เพราะผู้เรียนที่อยู่ในคุก ย่อมมีข้อจำกัด และแม้พวกเขาจะสำเร็จการศึกษา เมื่อพ้นโทษออกมาก็อาจจะไม่ได้ใช้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพเพราะติดข้อกฎหมาย ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดาย
พ.ร.บ.ล้างมลทิน: ความหวังที่ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจ
ข้อจำกัดทางกฎหมายที่กล่าวมายังมีทางออกอยู่บ้าง คือ พ.ร.บ. ล้างมลทิน กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อล้างประวัติการรับโทษให้กับบุคคลที่ต้องโทษทางอาญาที่พ้นโทษก่อนและในวันที่ประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทิน เฉพาะในวโรกาสและโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาในปี 2550 อดีตนักโทษจึงต้องรอคอยเป็นเวลานานกว่าที่จะได้รับการล้างมลทินจนบางครั้งโอกาสในชีวิตก็หลุดลอยไป เพราะวโรกาสและโอกาสที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ 
นอกจากนี้ข้อมูลจากข่าวราชการแนวหน้าซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2556 ยังระบุว่า แม้ประวัติการรับโทษจะถูกล้างไปได้โดยผลแห่งพ.ร.บ.ล้างมลทิน ทำให้อดีตนักโทษมีสิทธิสมัครราชการไม่ติดเงื่อนไขตามมาตรา 34 ข. (7) ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แต่พ.ร.บ.ล้างมลทินเพียงแต่ล้างประวัติการรับโทษไม่ได้ล้างประวัติการทำความผิดด้วย คณะกรรมการก.พ.จึงยังมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าอดีตนักโทษคนใดขาดคุณสมบัติสมัครเข้ารับราชการ เพราะเหตุบกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ตามมาตรา 36 ข. (4) (ดูพ.ร.บ.ล้างมลทินที่เคยประกาศใช้ทั้งหมดที่นี่)
  
คุก: ยาแรงที่ผลไม่ชะงัด
 
มีแนวคิดอยู่ว่า การกำหนดโทษจำคุกทำให้คนกลัว ไม่กล้าทำผิด และความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียอิสระภาพน่าจะทำให้คนทำผิดรู้สึกหลาบจำและเมื่อออกมาจะไม่กล้าทำผิดอีก นั่นทำให้ปัจจุบันโทษจำคุกเป็นการลงโทษได้รับความนิยมกันในทางสากล
คำอธิบายนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าความกลัวเป็นปัจจัยสำคัญที่มนุษย์จะใช้ประกอบการตัดสินในเรื่องต่างๆ ซึ่งสมมติฐานนี้ยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง เพราะ การที่คนหนึ่งคนจะทำอะไรผิดมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่มากกว่าความกลัว เช่น อารมณ์ชั่ววูบ ความประมาท ความทะนงตนว่าจะหลบหนีได้ หรือการกระทำผิดเพราะถูกกดดันอย่าง 
ชำนาญ จันทร์เรือง กล่าวว่า แม้โทษร้ายแรงอย่างการประหารชีวิตก็ไม่ช่วยให้คนยับยั้งชั่งใจในการก่ออาชญากรรม เพราะผู้กระทำความผิดมักเชื่อว่าจะสามารถหนีรอดการจับกุมได้ ดังนั้นความกลัวต่อโทษจำคุกซึ่งดูเผินๆไม่น่าสยดสยองเท่าโทษประหารชีวิต จึงเป็นปัจจัยเพียงน้อยนิดในการยับยั้งชั่งใจของผู้ที่จะลงมือทำความผิด
นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยมายืนยันว่า ความเชื่อที่ว่าอดีตผู้ต้องโทษจะกลัวการติดคุกอีกจนไม่กล้าทำผิดซ้ำนั้น เป็นข้อสันนิษฐานที่อ่อน หากมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง ฐานะทางครอบครัวที่ยากจน รายได้ที่ไม่แน่นอนของผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป การที่สังคมไม่ยอมรับ การขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือการต้องกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆที่มีปัจจัยเสี่ยง เหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักให้อดีตนักโทษหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำได้
อดีตผู้ต้องโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพผู้หนึ่งสะท้อนว่า ผู้ที่ต้องโทษเพราะค้ายาหรือลักขโมย เมื่อพ้นโทษไปก็มักทำผิดอีกเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้ จึงไม่มีงาน ไม่มีเงิน ที่ผ่านมาก็เคยรู้จักกับเพื่อนนักโทษ ซึ่งพ้นโทษแล้วก็ทำความผิดอีก ต้องรับโทษจำคุกอีก ดังนั้นลำพังความกลัวที่จะต้องกลับเข้าคุกอีกครั้ง จึงยังไม่เพียงพอที่จะยับยั้งไม่ให้คนทำความผิดซ้ำได้   
 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์: อาหารเสริมช่วยได้?
หากเปรียบการทำผิดกฎหมายเป็นโรคร้าย ยาแรงอย่างคุกก็ยังไม่อาจรักษาให้หายขาดได้  จึงต้องอาศัยมาตรการอื่นมาช่วยเสริมในระหว่างการลงโทษด้วย 
อัจฉรียา ชูตินันท์ชี้ว่า ในอดีตการลงโทษมักเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ในการแก้แค้นแทนเหยื่อและแทนสังคมโดยรวม เป็นการทำให้ผู้กระทำหลาบจำและปรามให้ผู้อื่นกลัวไม่กล้าทำผิด แต่ในปัจจุบันการลงโทษมีวัตถุประสงค์มุ่งทำให้ผู้ทำกระทำความผิดมีโอกาสสำนึกผิดและปรับปรุงตัวเองด้วย การลงโทษจำคุกจึงไม่ใช่แค่การเอาไปขังอย่างเดียว แต่มีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เสริมด้วย
เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและอาชีพมีผลต่อการทำผิดซ้ำ รัฐจึงนำมาตรการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การให้การศึกษาและการฝึกอาชีพมาใช้ควบคู่ไปกับการลงโทษจำคุก โดยหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้อดีตผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมได้หลังพ้นโทษ การศึกษาและการฝึกอาชีพ จึงเปรียบเสมือน "อาหารเสริม" ที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในจุดที่การใช้ยาแรงอย่างการจำคุกไม่อาจตอบโจทย์ได้
ในส่วนของการศึกษา ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ฉบับที่ 8 เรื่องการศึกษาและอบรมผู้ต้องขัง กำหนดให้ทางเรือนจำต้องจัดการศึกษาให้ผู้ต้องขังทั้งในสายสามัญและสายอาชีพ ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2527 กรมราชทัณฑ์ก็เปิดโอกาสให้นักโทษมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีและกำลังจะขยายไปถึงระดับปริญญาโทในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา2557นี้ด้วย  
ด้านการฝึกอาชีพ อดีตผู้ต้องโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเล่าว่า นักโทษที่คดีถึงที่สุด(นักโทษเด็ดขาด) จะมีโอกาสเข้ารับการฝึกอาชีพซึ่งมีหลายสาขาให้เลือก เช่น ช่างตัดผม ช่างยนต์ ช่างไม้ คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่งานด้านศิลปะเช่นการวาดภาพ
การนำมาตรการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาใช้ควบคู่กับการจำกัดอิสรภาพ ทำให้การจำคุกไม่ได้เป็นเพียงการมุ่งลงโทษเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วย ทำให้นักโทษมีโอกาสเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง เพิ่มโอกาสและช่องทางที่จะกลับมาทำงานสุจริตหลังพ้นโทษ เป็นการลดเงื่อนไขที่ผู้พ้นโทษจะไปทำความผิดซ้ำ 
ข้อจำกัดทางสังคม: โลกอย่าเพิ่งหมุนเร็วเกินไป
 
แม้มาตการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะช่วยลดความเสี่ยงที่อดีตนักโทษจะทำความผิดซ้ำเพราะถูกผลักดันด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจได้บ้าง แต่มาตการดังกล่าวก็ยังมีปัญหาที่ต้องขบคิดอยู่ ทั้งเรื่องของความสัมฤทธิ์ผล ว่ามาตการนี้สร้างโอกาสหรืออาชีพให้อดีตนักโทษได้จริงมากน้อยแค่ไหน หรือในเรื่องของการเข้าถึงโอกาสว่า มีนักโทษเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพจริงๆกี่คน อย่าลืมว่าอาหารเสริมแม้มีประโยชน์มากแต่ก็มีราคาแพง จนน้อยคนนักที่จะเข้าถึง
ในด้านการศึกษา แม้นักโทษเด็ดขาดทุกคนจะมีสิทธิเข้าถึงการศึกษา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) สำหรับผู้ต้องขัง ข้อ 1.3 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเข้าเรียนจะต้องเป็นผู้ต้องโทษจำคุกครั้งแรกเท่านั้น หากเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ แม้จะสำนึกได้ภายหลังก็ไม่มีสิทธิเข้าเรียน 
นอกจากนี้ ข้อ 2.7ยังระบุด้วยว่า ค่าเล่าเรียนทั้งหมด ผู้เรียนต้องรับผิดชอบเอง ทำให้ผู้ต้องโทษส่วนหนึ่งที่ไม่มีทุนทรัพย์ หมดโอกาสเรียน แม้จะมีการแจกทุนการศึกษา แต่ก็มีข้อแม้ว่าต้องเป็นผู้มีผลการเรียนดี และต้องศึกษากับมสธ.มาแล้วอย่างน้อยสองภาคเรียน 
ผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าเรียนอย่างน้อยสองภาคเรียนแรก จึงไม่มีโอกาสได้รับทุนการศึกษาเลย รวมทั้งผู้ที่ยากจนที่มีผลการเรียนแค่ระดับปานกลาง แม้จะมีความตั้งใจก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับทุน  
ในด้านการฝึกอาชีพ อดีตนักโทษจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เล่าว่า ในทางปฏิบัติการฝึกอาชีพระหว่างถูกคุมขังเพียงแต่ช่วยทำให้นักโทษมีอะไรทำและไม่เครียดจนเกินไป แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพพอสำหรับการนำไปประกอบอาชีพจริง ทักษะที่ฝึกบางอย่างก็อาจจะไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงาน นอกจากนี้การฝึกอาชีพบางประเภท ผู้ฝึกจำเป็นต้องมีพื้นฐานติดตัวมาก่อนบ้าง หากไม่มีก็ฝึกไม่ได้
อดีตนักโทษเล่าด้วยว่า บางทีข้อจำกัดทางสังคมอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก เพราะบริษัทเอกชนส่วนใหญ่มักไม่ได้ตรวจประวัติอาชญากรรมอย่างจริงจัง แต่ที่สำคัญ คือ การที่โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาที่ถูกคุมขัง นักโทษจะต้องถูกตัดขาดจากความเป็นไปของโลกภายนอก ไม่มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ เพราะถูกควบคุมการรับสื่อ 
เมื่อพ้นโทษออกมา อดีตนักโทษก็มักประสบปัญหาในการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน เพราะความรู้ความสามารถไม่เทียบเท่ากับคู่แข่งคนอื่น ไม่สอดรับกับความต้องการของนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชนิดวันต่อวัน 
โอกาสที่เลือนรางหลังพ้นโทษ: แม้หลังพายุใหญ่ ฟ้าไม่ได้สดใสเสมอไป
เมื่อใครบางคนประสบมรสุมชีวิต วลีอมตะที่ว่า "หลังพายุผ่านไป ฟ้าย่อมสดใสเสมอ" มักถูกหยิบยกมาเพื่อให้กำลังใจ แต่หากผู้ประสบมรสุมที่ว่าคือคนที่พึ่งพ้นโทษ วลีอมตะที่ว่า อาจเป็นได้เพียงคำปลอบใจที่ดูแห้งแล้งเท่านั้น
ในปัจจุบันการจำคุกเป็นวิธีการลงโทษผู้ที่ทำความผิดโดยการจำกัดอิสรภาพซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด แนวคิดของการลงโทษจำคุกได้พัฒนาจากการแก้แค้นตอบแทนมาเป็นการเน้นแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้กระทำความผิดรู้สึกสำนึกและกลับสู่สังคมในฐานะประชากรที่มีคุณภาพได้ การจำคุกในปัจจุบันไม่ใช่แค่การเอาคนผิด(หรือแพะในบางกรณี)ไปขังเพื่อแก้แค้นตอบแทนต่อสิ่งที่เขาทำ(หรืออาจไม่ได้ทำ)เท่านั้น แต่เป็นการมุ่งแก้ไข"ผู้หลงผิด"มากกว่า
แนวคิดแบบใหม่นี้ ถือว่ากรมราชทัณฑ์ของไทยก็ยอมรับแล้วนำมาปฏิบัติแล้ว เห็นได้จากการเปิดโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอาชีพให้นักโทษในเรือนจำ อย่างไรก็ดี หากมาตรการทางกฎหมายและมาตรการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ยังไม่สอดคล้องและเอื้อให้นักโทษสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างแท้จริง การทำผิดซ้ำยังเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา การลงโทษจำคุกอาจกลายเป็นยาแรงที่ส่งผลร้ายต่อผู้ถูกลงโทษและสังคมมากเกินกว่าความผิดที่ได้ทำกระทำลงไปครั้งหนึ่งแล้วก็เป็นได้
“พายุลูกใหม่” ของอดีตนักโทษ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ทั้งสังคมยังต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป
——————————————————————————————————————————
อ้างอิง
หนังสือ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการ. (2556). เฟซคุก เรื่องเล่าจากบางขวาง. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สารคดี (หน้า 100-114)
อัจฉรียา ชูตินันท์. (2555). อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน (หน้า150-151) 
ข้อมูลจากเว็บไซด์
ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ฉบับที่ 8เรื่องการศึกษาและอบรมผู้ต้องขัง (พ.ศ.2483) (ออนไลน์). เว็บไซด์กรมราชทัณฑ์. http://www.correct.go.th/lawcorrects/lawfile/13004.pdf. 4 เมษายน 2557   
ชำนาญ จันทร์เรือง. (2556). โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง. เว็บไซด์กรุงเทพธุรกิจ. http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/chamnan/20130918/530479/%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%87.html. 4 เมษายน 2557
พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 (ออนไลน์). เว็บไซด์ศูนย์ทนายความทั่วไทย แหล่งที่มา: http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538974246&Ntype=19.  4 เมษายน 2557
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ออนไลน์). เว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.). http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/uploads/law/Act_law2551.pdf. 4 เมษายน 2557
พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ (ออนไลน์). เว็บไซด์กระทรวงสาธารณสุข. http://www.moph.go.th/ops/opct/content/%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%9950.pdf. 4 เมษายน 2557   
ราชการแนวหน้า: การกำจัดสิทธิผู้ต้องโทษจำคุกเข้ารับราชการ (พ.ศ. 2556) (ออนไลน์). เว็บไซด์หนังสือพิมพ์แนวหน้า. http://www.naewna.com/politic/58769. 4 เมษายน 2557   
มสธ. จับมือราชทัณฑ์ เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังเรียนระดับปริญญาโท (2557) (ออนไลน์). เว็บไซด์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. http://www.stou.ac.th/meetPresident/answer.aspx?idindex=298.  4 เมษายน 2557   
สถิติจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีย้อนหลัง (2557) (ออนไลน์). เว็บไซด์ส่วนส่งเสริมการศึกษา สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์. http://br.correct.go.th/eduweb/index.php/2010-12-25-12-11-29/150-2011-09-19-15-52-17.html. 4 เมษายน 2557    
เอกสารแนบท้าย หนังสือเรื่องการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของ มสธ. สำหรับผู้ต้องขัง (พ.ศ. 2556) (ออนไลน์). เว็บไซด์กรมราชทัณฑ์. http://os.correct.go.th/correct/a24306_56.pdf.  4 เมษายน 2557