คอรัปชั่นในแวดวงสีกากี: วงจรอุบาทว์ที่การแก้ไข “เป็นไปไม่ได้”

Police and corruption

 
“ตำรวจ” เป็นตัวประกอบที่มีบทบาทมากเป็นอันดับต้นๆของชีวิตผู้คน คนที่ซุ่มซ่ามทำกระเป๋าสตางค์หายบ่อยๆ ก็ต้องเดินขึ้นโรงพักอยู่เป็นนิจเพื่อเอาใบแจ้งความไปประกอบการออกเอกสารใหม่ บางครั้งเวลาเราไปต่างถิ่นแล้วหลงทาง ขอความช่วยเหลือรายทางจากเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีน่าจะปลอดภัยที่สุด เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนหลังอานมอเตอร์ไซค์ย่อมมีโอกาส"ออกเดท"กับตำรวจหัวปิงปองอยู่บ่อยครั้ง

 
ประชาชนทั่วไปในสยามประเทศล้วนมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับด้านมืดของตำรวจอยู่บ้าง ไม่ว่าจากประสบการณ์ตรง หรืออย่างน้อยก็จากคำบอกเล่า ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เหล่านี้ดูจะไม่เป็นที่น่าไว้วางใจในสายตาของประชาชนตาดำๆ  

 
การเมืองที่ปะทุเดือดในช่วงที่ผ่านมา ปลุกกระแสการต่อต้านการคอรัปชันกลับมาเป็นประเด็นร้อนในสังคมอีกครั้ง “ปฏิรูปตำรวจ” เป็นเป้าหมายหนึ่งในความฝันของผู้ชุมนุมบนท้องถนน ไอลอว์ถือโอกาสสนทนากับผู้สัมผัสปัญหาคอรัปชั่นในวงการตำรวจจากวงใน เพื่อสำรวจดูปัญหาให้ละเอียดขึ้น และถามถึงวิธีแก้หรือบรรเทาความรุนแรงลง

 
อดีตนายตำรวจวัยเกษียณท่านหนึ่ง เล่าให้ไอลอว์ฟังว่า ในบรรดางานตามโรงพักทั้งหลายตำแหน่งพนักงานสอบสวนจะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะต้องมีความรับผิดชอบสูงและมีความเสี่ยงถูกฟ้อง ส่วนมากจะเลือกไปอยู่สายปราบปราม สายสืบสวน หรือสายจราจร

 
งานจราจร ดูจะเป็นชิ้นปลามันที่ดึงดูดคนในวงการสีกากีมากที่สุด เพราะสามารถหาลำไพ่พิเศษได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งด่านสะกัดจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรและเรียกเงินหรือรับเงินแทนการออกใบสั่ง การเก็บเงินจากคิวรถตู้ คิวรถสองแถวหรือวินมอเตอร์ไซค์ที่หากคิวหรือวินไหนไม่จ่ายก็จะถูกกลั่นแกล้งด้วยการดำเนินคดีจนประกอบกิจการไม่ได้และต้องยอมจ่ายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเก็บเงินจากร้านอาหารใหญ่ๆ ที่ลูกค้าจอดรถกันริมถนน หากไม่จ่ายก็มีการไปตั้งด่านบริเวณหน้าร้านจนทำให้เจ้าของร้านเดือดร้อน

 
“ผลประโยชน์จราจรนั้นมหาศาล คนถึงอยากจะเป็นสารวัตรจราจรกันมากที่สุด ต้องเป็นคนของนายถึงจะเป็นสารวัตรจราจรได้” อดีตนายตำรวจกล่าว

 
สอดคล้องกับปากคำของสาวใหญ่ผู้ประกอบกิจการหอพักให้เช่ารายหนึ่ง เธอเล่าว่า ช่วงที่ก่อสร้างตึก ไซต์งานก่อสร้างมักตกเป็นที่หมายปองของตำรวจ รถบรรทุกที่วิ่งผ่านทางเป็นประจำ กับรถบรรทุกปูนจะถูกตำรวจเรียกเสมอ เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาก่อสร้างที่ต้องไปเคลียร์ที่โรงพักโดยจ่ายเงินให้เป็นก้อนแบบไม่มีใบเสร็จ จ่ายเป็นรายเดือนจนกว่าจะก่อสร้างเสร็จ ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นราคาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างคิดรวมอยู่ในค่าก่อสร้างตั้งแต่แรก ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่รู้กันเป็นปกติ แต่จำนวนจะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไปตามท้องที่

 
ผู้ประกอบกิจการยังเล่าประสบการณ์ต่อว่า หลังเปิดกิจการได้ไม่นาน รถของผู้เช่าที่จอดหน้าตึกก็โดนล็อคล้อพร้อมกันสามคัน ทั้งที่ไม่ได้จอดล่วงล้ำถนนมากนัก แต่พอไปคุยที่สถานีตำรวจ ตำรวจก็ขอโทษขอโพยว่าไม่อยากจะต้องล็อคล้อให้มีปัญหาเพราะที่บริเวณนั้นน่าจะจอดได้ไม่เดือดร้อนใคร พอคุยกันจบตำรวจก็บอกว่าขอให้รู้จักกันไว้จะดีกว่า ทำให้เข้าใจว่าตำรวจต้องการอะไร หลังจากนั้นตำรวจจราจรจะแวะมาที่ตึกทุกๆ เดือนเพื่อรับซองขาว โดยอ้างว่ามาตรวจความเรียบร้อย

 
อดีตนายตำรวจเล่าต่อว่า นอกจากงานด้านจราจรแล้ว งานด้านสืบสวนก็เป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง โดยที่มาของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของฝ่ายสืบสวน มาจากบรรดาธุรกิจมืดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการที่เปิดเกินเวลา กิจการค้าประเวณีที่ใช้ร้านนวดเป็นธุรกิจบังหน้า รวมไปถึงบ่อนการพนันผิดกฎหมายที่เปิดให้บริการนักเสี่ยงโชคทั่วกรุงเทพ โดยทั่วไป เมื่อจ่ายเงินมาธุรกิจมืดเหล่านี้ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ถูกรบกวน นานๆทีเมื่อ "ผู้ใหญ่"ในวงการสีกากีสั่งให้มีการกวดขันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ก็จะมีการแถลงข่าวบุกทลายบ่อนบ้างเป็นครั้งคราว แต่หากเป็นบ่อนที่จ่ายเงินให้ตำรวจ หลังปิดกิจการไปราวอาทิตย์เศษก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการต่อไป

 
“หลังจากจ่ายให้ระดับสูงแล้วทางโรงพักก็ต้องกันแต่ละส่วนตามลำดับชั้นด้วย ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่านายก็จะมองว่ามีผลประโยชน์แล้วทำไมไม่ให้กู” อดีตนายตำรวจกล่าว

 
งานสายปราบปรามก็มีรายได้บ้าง ในคดีบางประเภท เช่น ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ก่อนพาตำรวจไปจับต้องตกลงกันก่อนว่าเมื่อจับแล้วตำรวจจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ตามจุดที่มีการติดตั้ง “กล่องแดง” เจ้าของสถานที่มักต้องจ่ายเงินให้สายตรวจเป็นพิเศษ ทั้งที่ๆในความเป็นจริงการตรวจตราความปลอดภัยตามตรอกซอกซอยก็เป็นหน้าที่ของสายตรวจ 

 
ด้านเจ้าของหอพักย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ก็มีประสบการณ์การติดตั้งกล่องแดงเหมือนกัน โดยเธอเล่าว่า เมื่อสร้างตึกใกล้เสร็จก็คิดอยู่ว่าอยากติดกล่องแดงเพื่อความปลอดภัย แต่ยังไม่ได้ไปติดต่อตำรวจเป็นคนมาถามเองว่าจะขอติดตั้งกล่องแดงไว้ที่ตึก โดยเรียก “ค่าน้ำชา” เดือนละ 1,000 บาท สำหรับสายตรวจที่จะแวะเวียนมาวันละครั้งช่วงกลางคืน ไม่ซ้ำเวลา ซึ่งเธอก็ยินดี เพราะถือว่าต่างคนต่างได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

 
“อีกเรื่องหนึ่งที่จับกันมากเลยนะ คือ แรงงานต่างด้าว สมัยก่อสร้างอยู่บุกมาทีสองสามคันรถนะ วิ่งไล่กันน่ากลัวมาก ตำรวจท้องที่มาก่อน ตม.ก็มา กองปราบก็มา คือ จับซ้ำๆกันด้วยเรื่องเดิม จ่ายที่นึงแล้วยังไม่พอต้องจ่ายอีกไม่รู้กี่หน่วย ตอนมาบุกก็ทำขึงขังกันทุกคนเหมือนมาจับผู้ก่อการร้าย พอจ่ายแล้วก็จบ” ผู้ประกอบกิจการเล่า

 
อดีตนายตำรวจ เล่าว่า งานของพนักงานสอบสวนก็ไม่ใช่ไม่มีช่องทางอะไรเลย สำหรับการรับเงินเพื่อเร่งคดีหรือทำให้คดีหายเข้ากลีบเมฆนั้นจากประสบการณ์เห็นว่ามีน้อยมาก ยกเว้นนายตำรวจที่กล้าเสี่ยงจริงๆ แต่ในคดีที่เกี่ยวกับการจราจร เช่น การขับรถชนคนตายโดยไม่เจตนา หากผู้ญาติผู้ตายและผู้กระทำผิดสามารถตกลงค่าเสียหายกันได้แล้ว ก็มักมีการจ่ายเงินให้ตำรวจเพื่อให้ทำความเห็นไม่ส่งฟ้อง และตำรวจต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปให้อัยการเพื่อให้สั่งไม่ฟ้องด้วย

 
การซื้อขายตำแหน่งหรือความไม่โปร่งใสในการโยกย้ายอันเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมวงกว้างนั้น อดีตนายตำรวจเล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวไม่เคยเกี่ยวข้องกับการซื้อตำแหน่งและไม่เคยทำงานในหน่วยงานส่วนกลาง ได้ยินมาแต่เพียงว่าก่อนมีการแต่งตั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต้องมีการส่งชื่อไปให้คนในรัฐบาลที่เป็นผู้ดูแลกิจการตำรวจตรวจสอบเสียก่อน นอกจากนี้หากตำรวจคนไหนรู้จักกับนักการเมืองก็มักจะได้อยู่ในโรงพักที่สามารถมีโอกาสเข้าถึง "รายได้พิเศษ"

 
“คือต้องเป็นเด็กของนาย คนที่ทื่อๆ ไม่เข้าหาไม่ส่งส่วยนายก็ไม่มีทางที่จะผุดจะเกิด ถึงมีผลงานดีไม่ใช่เด็กนายก็ไม่ได้ ปัจจุบันคนที่ดำรงตำแหน่งมานานๆ ก็จะได้เลื่อนยศเหมือนกัน แต่ให้ไปทำงานธุรการ” อดีตพนักงานสอบสวนหลายโรงพักกล่าว

 
 
หลังฟังเสียงสะท้อนปัญหามาระดับหนึ่ง ไอลอว์จึงขอให้ผู้ร่วมสนทนาชี้ช่องว่า หากจะแก้ปัญหาการคอรัปชันในควรจะต้องเริ่มแก้ที่ตรงไหน

 
“แก้ยาก แก้ไม่ได้ เพราะว่ามันล่อตั้งแต่ชั้นระดับสูงลงมา ระดับสูงก็สั่งแต่ปาก สั่งเป็นตัวหนังสือแต่ก็รับเงินด้วย” อดีตนายตำรวจตอบอย่างไม่ลังเล

 
“สำหรับตำรวจทุกคน ถ้าจะบอกว่ามือผมสะอาดมันโกหกตัวเอง ทุกคนทุจริตหมดจะมากหรือน้อยเท่านั้น ไม่น่าจะมีคนที่ไม่รับเงินเลย แต่ละโรงพักนั้นพอนายเก็บเงินมา ก็อยู่ที่ว่าจะแบ่งให้พวกลูกน้องหรือเปล่า” ชายวัยเกษีณกล่าวเสริมอย่างตรงไปตรงมา

 
เมื่อถามเรื่องเงินเดือนตำรวจที่ค่อนข้างน้อย อดีตนายตำรวจตอบว่า เงินเดือนตำรวจก็มีส่วน แต่เชื่อว่าถึงจะปรับเงินเดือนแล้วก็ยังแก้ไม่ได้ ถึงแก้ได้ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในแง่โครงสร้างไม่ว่าจะเป็นสมัยเป็นกรมตำรวจ อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย หรือเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี อดีตนายตำรวจก็มองว่าปัญหาการคอรัปชั่นก็มีหน้าตาไม่ต่างกัน

 
ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการคอรัปชั่นในวงการตำรวจไม่ได้มีแค่ตำรวจเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงประชาชนที่ให้ความร่วมมือด้วย หลายครั้งผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรมักเลือกที่จะจ่ายเงินให้ตำรวจโดยตรงแทนการเขียนใบสั่ง เพราะไม่ต้องการเสียเวลาไปโรงพักและต้องเสียเงินมากกว่า ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจมืดคงไม่ยอมให้การคอรัปชันสูญหายไปง่ายๆเพราะมันจะกระทบต่อการประกอบธุรกิจของพวกเขาโดยตรง

 
“มันอยู่ที่ว่าเราเดือดร้อนกับมันแล้วอยากจะแก้มันหรือเปล่านะ” เจ้าของหอพักกล่าว

 
เธอเล่าว่า จำนวนเงินที่ต้องจ่ายแบบไม่มีใบเสร็จให้ตำรวจนั้นถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นๆ และรายได้ของกิจการ ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบกิจการจึงเป็นเงินลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อแลกกับความสงบเรียบร้อยไม่ต้องรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ตลอดเวลา

                                                            
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาชนจะปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยวิธีนี้เพื่อแก้ปัญหา เจ้าของกิจการตอบว่า คนทำธุรกิจก็ต้องคิดแบบธุรกิจ ไม่ใช่คิดแบบทำเพื่อสังคมอย่างเดียว ถ้าทำแบบนั้นธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ หากจะไม่จ่ายเงินให้ตำรวจก็เป็นไปได้ แต่ถ้าต้องมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลโดยที่ไม่รู้จักใครเลย ก็คงไม่พร้อมจะแบกรับความยุ่งยากเหล่านี้

 

เมื่อไอลอว์ถามว่า การถ่ายคลิปตำรวจรับส่วยแล้วมาเปิดโปงผ่านสื่อ ช่วยอะไรได้บ้างหรือไม่ อดีตนายตำรวจวัยเกษีณตอบว่า เดี๋ยวนี้ตำรวจทำอะไรต้องระวังมากขึ้น ต้องเตือนกันว่าระวังจะติดคุกสักวัน ถ้าหากว่าประชาชนช่วยกันทำแบบนี้ให้ตำรวจกลัว น่าจะลดปัญหาได้เยอะ แต่เข้าใจว่าส่วนมากประชาชนมักจะไม่กล้าเปิดเผยเพราะกลัว ไม่อยากมีเรื่องกับตำรวจ แต่ถ้ามีคนกล้าเยอะๆ ก็ดี สังคมจะได้ดีขึ้น