หวั่่น ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทำวัฒนธรรมตาย

พลันที่ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เผยโฉมออกมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังขึ้นเซ็งแซ่ ว่าจะนำไปสู่การจำกัดการทำงานของศิลปิน และกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ดัดแปลงมรดกทางวัฒนธรรม ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้” ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้
ดร.อเล็กซานดรา เดเนส (Dr. Alexandra Denes) จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตนของยูเนสโก ถูกจัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จับต้องไม่ได้ เช่น เพลงพื้นเมือง ระยะแรกการคุ้มครองวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทำในลักษณะการเก็บข้อมูล แต่ภายหลังถูกวิจารณ์ว่าลำพังการเก็บข้อมูลไม่สามารถนำไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมหรือพิทักษ์ประโยชน์ของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมได้ ภายหลังจึงมีการร่างอนุสัญญาขึ้นมาเพื่อสร้างระบบที่ให้ความคุ้มครองและอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตน ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ ยังเน้นหลักการที่ต้องให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการวัฒนธรรมทั้งในส่วนของการอนุรักษ์และการพัฒนาต่อยอด
ดร.อเล็กซานดรา กล่าวว่า แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำอนุสัญญาและการจัดให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกอยู่หลายประเด็น เช่น การขึ้นทะเบียนอาจนำไปสู่การแข่งขัน เพราะรัฐต่างๆจะแข่งกันโชว์วัฒนธรรม และยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ และมีปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนวัฒนธรรม ที่แม้หลักการจะถือว่ารัฐและชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมเป็นหุ้นส่วนที่มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ รัฐมักถือว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าชุมชนโดยอ้างว่าชุมชนย่อมอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐ นอกจากนี้ เนื่องจากความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน การเลือกวัฒนธรรมเพื่อขึ้นทะเบียนจึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกครอบงำโดยอคติของรัฐ เชื่อว่ารัฐคงไม่ยอมให้ขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมที่ขัดกับอำนาจของรัฐเช่นดนตรีที่มีเนื้อหาต่อต้านหรือวิพากษ์รัฐเป็นแน่ 
สำหรับร่างพ.ร.บ.ของไทย ดร.อเล็กซานดราตั้งข้อสังเกตว่า ในอนุสัญญาของยูเนสโกเน้นย้ำถึงสถานะที่เท่าเทียมกันระหว่างชุมชนกับรัฐ และเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกๆ กระบวนการ ทว่าร่างพ.ร.บ.ของไทยกลับไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิ หน้าที่ หรือการมีส่วนร่วมของชุมชน
ข้อสังเกตประการต่อมา คือเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกวัฒนธรรมที่จะนำมาขึ้นทะเบียน ในอนุสัญญาไม่ได้ระบุเงื่อนไขเรื่องคุณค่าของวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าคุณค่าของวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับความสำคัญของวัฒนธรรมนั้นๆต่อชุมชน ทว่าในร่างพ.ร.บ.ของไทยกลับมีการกำหนดว่ามรดกที่จะขึ้นทะเบียนได้จำเป็นจะต้องมีคุณค่าทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ หรือจิตใจ ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้ น่าจะผิดไปจากเจตนารมณ์ในอนุสัญญาของยูเนสโกที่ถือว่าชุมชนควรจะเป็นผู้กำหนดว่า วัฒนธรรมใดมีคุณค่า ทั้งนี้มุมมองของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมน่าจะต่างไปจากมุมมองของอำนาจรัฐ
พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา จากห้องภาพเมืองสุรินทร์ ซึ่งเคยทำงานเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของหมอช้าง สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนจากประสบการณ์ตรงว่า ปํญหาข้อหนึ่งที่พบคือความคับแคบในเชิงภูมิศาสตร์ ในการขึ้นทะเบียน จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าวัฒนธรรมที่จะขึ้นทะเบียนเป็นของที่ใด แต่ในความเป็นจริง วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะมาชี้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นของที่หนึ่งที่ใด แต่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ก็มีความกังวลว่า การขึ้นทะเบียนแม้จะดูเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรม แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็อาจทำให้คนมองวัฒนธรรมเป็นสินค้า และอาจมีการแปลงสภาพประเพณีหรือพิธีกรรมให้กลายเป็นแค่การแสดงเพื่อนักท่องเที่ยวก็เป็นได้ 
พัทธนันท์ยังตั้งคำถามที่น่าสนใจอีกสองประการ ประการแรก หากวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไปขัดกับกฎหมายอื่น เช่น วัฒนธรรมการตัดงาช้างของคนเลี้ยงช้างที่ไปขัดกับกฎหมายห้ามค้างาช้าง การขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมจะช่วยธำรงรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ได้หรือไม่ ประการที่สอง จริงอยู่ การได้ขึ้นทะเบียนนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของเจ้าของวัฒนธรรม แต่อยากรู้ว่าเป็นแค่การยกย่องแล้วจบไปหรือมันควรจะมีอะไรที่มากกว่านี้    
ดร. ภาสกร อินทุมาร อาจารย์ประจำหลักสูตรประชากรศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้ เชี่ยวชาญด้านการละคร กล่าวว่า หากเปรียบเทียบระหว่างร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กับอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตนขอยูเนสโก จะพบว่า ตัวบทของอนุสัญญาให้คำนิยามวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไว้ในลักษณะที่เปิดกว้าง พร้อมทั้งระบุว่า วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สามารถนำไปต่อยอดได้ ในขณะที่ในร่างพ.ร.บ.ของไทยกลับนิยามความหมายของวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไว้อย่างคับแคบและไม่เอื้อต่อการนำไปต่อยอด นอกจากนั้น ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เอื้อต่อการนำวัฒนธรรมไปต่อยอด เพราะแม้ตัวบทจะเปิดโอกาสให้ดัดแปลงหรือต่อยอดงานศิลปะได้ แต่ก็ให้อำนาจกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นผู้ชี้ขาดว่าการต่อยอดลักษณะใดทำได้และลักษณะใดทำไม่ได้   
ดร.ภาสกรกล่าวว่า ในฐานะที่ตัวเองอยู่คลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดง รู้สึกเป็นกังวลว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในวงการศิลปะการแสดง  หากพ.ร.บ.ถูกบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ตำนานอย่างเรื่อง “พี่มากพระโขนง” ที่เล่าเรื่องแม่นาคพระโขนงด้วยมุมมองใหม่ การนำมหากาพย์เรื่องรามเกียรติ์ในแง่มุมใหม่โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครที่เพศหญิงอย่างนางสีดา ก็อาจเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับตามร่างพ.ร.บ. นี้ได้ ความคับแคบของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่สุดแล้วจะทำให้ศิลปร่วมสมัยต้องตายไปเพราะศิลปร่วมสมัยคือการดัดแปลง ประยุกต์ หรือผสมผสานศิลปะดั้งเดิมเข้ากับศิลปะหรือเรื่องราวของยุคปัจจุบัน  เช่น เอาท่ารำแม่บทของไทยมาผสมกับแดนซ์แบบตะวันตก เมื่อไม่สามารถดัดแปลงหรือประยุกต์ได้ ก็ย่อมไม่สามารถสร้างงานศิลปะร่วมสมัยได้
ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า การมองวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดยใช้กรอบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการมองเชิงพาณิชย์ เพราะระบบทรัพย์สินทางปัญญามุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเอกชนผู้เป็นเจ้าของผลงาน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการมุ่งคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจของปัจเจกมากเกินไปก็อาจกดทับสิทธิของสาธารณะในการที่จะเข้าถึงประโยชน์ของผลงาน รัฐจึงต้องคอยปรับสมดุลให้สิทธิของปัจเจกและสิทธิสาธารณะสมดุลกันไม่ใช่กดทับซึ่งกันและกัน
เมื่อพิจารณาอนุสัญญาของยูเนสโกจะพบว่า เจตนารมณ์ของอนุสัญญา ไม่ได้มุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากแต่มุ่งคุ้มครองเกียรติและศักดิ์ศรีของชุมชนผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรม จึงเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เมิ่อมีการนำอนุสัญญามาทำเป็นกฎหมายไทย รัฐกลับเขียนร่างพ.ร.บ.ด้วยกรอบคิดแบบสิทธิบัตรที่มุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ทางการค้าซึ่งก็จะมีปัญหาตามมาว่าวัฒนธรรมที่ความเป็นมายาวนานอย่างภูมิปัญญาชาวบ้าน ภาษา จะจดทะเบียนอย่างไร นอกจากนี้ กติกาการขึ้นทะเบียนที่มีการนำเอาคุณค่าของวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องตัดสินว่าวัฒนธรรมนั้นๆ จะได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ ก็มีปัญหาว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรมีคุณค่า อะไรไม่มี และอะไรคือตัวชี้วัด ร่างพ.ร.บนี้จึง.ควรตัดเรื่องคุณค่าออกไป
ที่มาภาพ ประชาไท