กฤษฎีกาติง วธ. เขียนร่างวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ อย่าบิดเจตนารมณ์ยูเนสโก

หลังจาก คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากสังคมอย่างกว้างขวางซึ่งโดยส่วนใหญ่ที่มีลักษณะต่อต้าน คัดค้าน ร่างกฎหมายฉบับนี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556  ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดงาน “อารยเสวนา ร่างพระราชบัญญัติมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ที่ห้องประชุมปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมีนักวิชาการ ศิลปิน และคณาจารย์สาขาศิลปะการละคร นาฏศิลป์และศิลปะการแสดงจากหลากหลายสถาบัน พร้อมทั้งตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

นักวิชาการ กังวล เนื้อหาในร่างฯ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์

นักวิชาการจากหลายสถาบัน นำโดย ศ.ดร.นราพงษ์ จรัสศรี จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี และ ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความกังวลต่อร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวว่า หากเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ เนื้อหาในร่างที่ดูจะเน้นเรื่องการควบคุมมากกว่าการส่งเสริมสนับสนุน อาจจะสร้างความกลัวจนส่งผลให้ความเป็นอิสระและการสร้างสรรค์ของศิลปินหายไป

 

 

โดยผู้เข้าร่วมในที่ประชุมได้ยกตัวอย่าง การร้อง ‘เพลงฉ่อย’ ซึ่งในบางครั้งจะมีการสอนเรื่องเพศหากเป็นเช่นนั้นอาจตีความเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีได้หรือไม่  หรือการเล่น ‘หนังตะลุง’ ซึ่งเป็นปกติที่การแสดงนี้มักจะแสดงในลักษณะเสียดสีผู้ปกครองนั้นอาจหมายความได้หรือไม่ว่าการแสดงนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทังนี้เห็นได้จากมาตรา 39 และ 40 ที่บัญญัติไว้อย่างกว้างมาก

นอกจากนี้ กลุ่มนักวิชาการได้เสนอว่า เพื่อให้เป็นมิตรกับคนสร้างสรรค์งานศิลปะ ควรจะมีการเพิ่มเนื้อหาด้านการส่งเสริมให้มากขึ้น

ที่ประชุมยังได้ยกอีกประเด็นที่น่ากังวล เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยที่ประชุมได้ยกตัวอย่างการแสดง ‘มะโย่ง’ ซึ่งเป็นการแสดงที่สามารถพบได้ที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และชายแดนภาคใต้ของไทย ต่อมา มาเลเซียได้ยื่นการแสดงชนิดนี้ขึ้นเป็น ‘มรดกโลก’ ต่อยูเนสโก ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ทั้งๆ ที่จริงการแสดงนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมกัน  ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมจึงตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้  

สุดท้าย นักวิชาการตั้งถามต่อกระทรวงวัฒนธรรมถึงกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมาว่า มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนได้เสียหรือประชาชนทั่วไปมากแค่ไหน หรือหากมีการรับฟังแล้วก็ควรมีการเผยแพร่เอกสารข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นให้สาธารณะได้รับรู้ด้วย

กฤษฎีกาติง วธ.ต้องไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ

ขณะที่ ณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต นักกฎหมายภาคปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นตามที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อดูอนุสัญญาฯ แล้วไม่ได้น่ากลัว แต่ปัญหาอยู่ที่การนำอนุสัญญามาทำเป็นกฎหมายมากกว่า ด้วยเหตุนี้กระทรวงวัฒนธรรมจึงควรกลับไปดูอนุสัญญาฯ อีกครั้งเพราะการนำเนื้อหามาทำ พ.ร.บ. เพียงบางส่วนอาจเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ

ในส่วนของบทลงโทษ ณัฏฐณิชา กล่าวว่า แต่ละรัฐจะเป็นผู้กำหนดบทลงโทษเอง เช่น ประเทศจีนรัฐกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นการลอกอนุสัญญามาเป็นกฎหมาย ขณะที่บทกำหนดโทษมาตรา 40 ของร่าง พ.ร.บ.มีความซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ตามทางกฤษฎีกาจะต้องไปดูว่าจะใช้มาตรา 112 แทนได้ไหม

กระทรวงวัฒนธรรม เชื่อ ร่างฉบับนี้ยังสามารถแก้ไขได้อี

ส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ที่นำทีมโดย นางเรวดี สกุลพาณิชย์ และเทิดศักดิ์ สีสมาน ได้ชี้แจ้งในประเด็นต่างๆ ว่า ที่หลายคนมีความกังวลกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจเป็นเพราะภาษาในตัวบทที่ดูคลุมเครือ ทั้งนี้คงต้องให้ทางกฤษฎีกาไปตีความให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด

สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ นี้ ต้องเข้าใจว่าปัจจุบัน เราอยู่ในเวทีโลก ด้วยเหตุนี้การเข้าไปเป็นภาคีจะทำให้เรามีพื้นที่เข้าไปร่วมเจรจาต่อรองกับประเทศภาคีอื่น เช่น กรณีที่มรดกทางวัฒนธรรมบางส่วนคล้ายคลึงกัน เราจะสามารถใช้เวทีนี้มาตกลงกันได้ แต่ถ้าไม่เข้าเป็นภาคีเราจะเสียเปรียบ เพราะหากในอนาคตมีประเทศอื่นไปขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน เราอาจไม่มีเวทีต่อรองและอาจเสียมรดกวัฒนธรรมนั้นไป  นอกจากนี้การเข้าเป็นภาคีจะทำให้เราได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมวัฒนธรรมจากยูเนสโก เช่น ถ้ามีการนำเสนอโครงการอนุรักษ์มรดกที่ใกล้สูญหาย ยูเนสโกก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุน

อย่างไรก็ดี อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ต้องการให้เราตระหนักถึงความสำคัญ และสืบทอดวัฒนธรรม ฉะนั้น เรื่องที่ว่าแช่แข็งนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตอนนี้กระทรวงวัฒนธรรมกำลังคิดจะนำเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาต่อยอดเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรายืนยันว่าไม่มีคำว่าแช่แข็งอยู่ในสารบบ อีกทั้ง เรากำลังดูอยู่ว่าส่วนไหนของร่าง พ.ร.บ.ที่จะต้องให้กฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้คนเข้าใจความหมายของตัวบทผิดไป

ก่อนหน้านี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้เคยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมีบางส่วนเสนอว่าโทษที่บัญญัติไว้ดูจะน้อยไปด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามแม้ในที่ประชุมนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าร่วมฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ได้จัดเวทีนี้ขึ้นทำให้เราได้รับฟังข้อเสนอใหม่มากขึ้น

ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. นี้ยังไม่ถึงที่สุดหากสังคมส่วนใหญ่ไม่ชอบ เรายังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

 

 

 

 

 

ไฟล์แนบ