ญาติผู้เสียหายฯ ปรับร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ขยายฐานนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม

หลัง “ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549” เผยแพร่ออกมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2556 ก็มีกระแสตอบรับกันอย่างกว้างขวางจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักวิชาการ นักสื่อมวลชน นักกิจกรรม ฯลฯ และนำไปสู่ข้อถกเถียงที่หลากหลายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว
25 กรกฎาคม 2556 ตัวแทนจากกลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เมษา – พฤษภา 53 นำโดยพะเยาว์ อัคฮาด และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จัดงานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว เพื่อปรับปรุงร่างให้มีความรัดกุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พะเยาว์ อัคฮาด แถลงเจตจำนงว่า เธอรู้สึกดีใจมากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการตอบรับจากสังคม โดยร่างนี้พยายามจะเป็นกลางที่สุดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย โดยที่ผู้สั่งการ แกนนำการชุมนุม และกองทัพ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
ส่วนกระบวนการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวว่า หลังจากกลุ่มญาติฯ ได้รับเชิญจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับอื่นๆ เมื่อฟังแล้วรู้สึกว่าร่างส่วนใหญ่ยังมีปัญหา คือไม่ยุติธรรมและคนผิดไม่ถูกลงโทษ จึงปรึกษาเพื่อนนักกฎหมายและนำมาสู่การตัดสินใจ 'ร่างเอง' ซึ่งหลังจากนี้จะส่งต่อให้พรรคการเมืองต่างๆ ช่วยเสนอโดยส.ส.เข้าชื่อกัน 20 คน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนิรโทษกรรม โดยเขาคิดว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน การนิรโทษกรรมเป็นของแสลงของสังคมไทย เนื่องจากคนจำนวนมากยังมีความแค้นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอยู่ แต่เหตุที่ประเด็นนี้ได้รับการใส่ใจ เพราะบางคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทำให้พวกเขาติดคุกจึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวขึ้น จึงเชื่อว่าหากศาลให้ประกันตัวทุกฝ่าย กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับสามารถเอาถอยกลับได้หมด
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ตัวแทนญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า กองทัพมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชน จนถึงปัจจุบันกองทัพยังไม่เคยยอมรับผิด นอกจากนี้ก็ยังไม่เคยถูกกล่าวโทษทางคดีเลย จึงไม่เข้าใจว่าทำไมร่างนิรโทษกรรมบางฉบับถึงนิรโทษกรรมให้กองทัพ ทั้งที่พวกเขาไม่คิดว่าตนเองผิด นอกจากนี้ นายอดุลย์เห็นว่าร่างแต่ละฉบับที่มีการเสนอไปก่อนหน้านี้ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นเพื่อจะลดความขัดแย้ง จึงควรใช้ร่างของประชาชน
อานนท์ นำภา ทนายความ ร่วมเสนอความคิดเห็น โดยเขาเห็นด้วยกับร่างของญาติผู้เสียหายฯ ในส่วนที่ไม่นิรโทษกรรมให้ทหาร แต่เห็นว่าควรขยายฐานความผิดของประชาชนให้ได้รับนิรโทษกรรมมากขึ้น โดยในความผิดต่อทรัพย์หรือชีวิต หากเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองก็ควรนิรโทษกรรม เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง
ญาติผู้เสียหายฯ รับจุดบกพร้อง แก้ร่างใหม่
หลังจากงานรับฟังความเห็น ทางฝ่ายญาติผู้เสียหายฯ ได้นำร่างไปปรับแก้ โดยมุ่งขยายฐานการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมประชาชนหลายกรณียิ่งขึ้น ซึ่งผู้ร่างยืนยันในเจตนาเดิม ที่จะไม่นิรโทษกรรมให้แก่ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุ และไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่มุ่งเอาชีวิตผู้อื่น (อ่านร่างฉบับได้จากไฟล์แนบ
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 56 นายพันศักดิ์ ศรีเทพ เผยแพร่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับปรับแก้แล้ว ในงานเสวนาที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วิธีแก้ไขในภาพรวมของร่างฉบับญาติคือ ใช้วิธีเขียนให้สั้นลง ตัดถ้อยคำที่อาจสร้างเงื่อนไขให้สามารถตีความให้ประชาชนบางกลุ่มไม่ได้รับนิรโทษกรรมออก อย่างเช่น คำว่า "ที่เป็นความผิดต่อความมั่นคง" หรือ "ต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร" ออกไป การแก้ไขด้วยวิธีนี้ปรากฏให้เห็นทั้งในชื่อกฎหมาย และในมาตรา 3 (3)
การตัดถ้อยคำการกระทำความผิดที่เป็นความผิดต่อความมั่นคงออกไป จะช่วยให้ขยายความหมายของการนิรโทษกรรม ที่ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองแต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น คดีการครอบครองอาวุธปืน คดีความผิดต่อทรัพย์สิน เป็นต้น
ถ้อยคำสำคัญที่ตัดออกไปในร่างฉบับใหม่อีกประเด็นหนึ่ง คือ ตัดเงื่อนไขให้นิรโทษกรรม "เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศ" แม้ในทางกฎหมาย การตัดเรื่องนี้ออกไปจะไม่มีผลมากนักในทางปฏิบัติ เพราะกฎหมายระดับพระราชบัญญัติไม่อาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยลงนามเข้าเป็นสมาชิกได้อยู่แล้ว แต่การตัดประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นเจตนาของร่างฯ ที่ต้องการครอบคลุมการนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยชุมนุมปิดสนามบินด้วย
ทั้งนี้ ร่างฉบับแก้ไขยังขยายฐานการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนธรรมดาได้มากกว่าร่างฉบับก่อนหน้า เช่น กรณีร่างฉบับก่อนหน้าให้เอาผิดกับผู้เผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ เอกชน แต่ร่างฉบับแก้ไขเปลี่ยนมานิรโทษกรรมให้แก่ความผิดกลุ่มนี้ด้วย (มาตรา 3 วรรค 5 ในร่างเดิม แก้เป็น มาตรา 4 (2)) และกรณี ร่างฉบับก่อนหน้าเอาผิดกับการกระทำหรือการตระเตรียมที่มุ่งประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ (มาตรา 3(4)) แต่ร่างฉบับแก้ไขเปลี่ยนมาเอาผิดเฉพาะความผิดต่อชีวิต (มาตรา 4(2))
นอกจากนี้ จากร่างฉบับเดิมที่นิรโทษกรรมให้แก่ความผิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษอันเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ในร่างฉบับแก้ไขขยายเป็น นิรโทษกรรมให้ความผิดดังกล่าวที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (มาตรา 3 (2)) การแก้ไขนี้จะส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ถูกตั้งข้อหาในคดีลักทรัพย์ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย
ไฟล์แนบ